การขอตำแหน่งทางวิชาการหลังเรียนจบปริญญาเอก ::: ผศ.ดร. ณัฐนันท์ พรหมสุข ::: คอลัมน์แขกรับเชิญ

วันนี้ เพจก็แค่ปริญญาเอก บินไกลมาถึงจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อมาพูดคุยกับ ดร.“นันท์” หรือ “หนูนัน” ณัฐนันท์ พรหมสุข ที่เคยมาพูดคุยกับเราครั้งหนึ่งแล้วในคอลัมน์แขกรับเชิญ ในวันนั้น ดร.นันท์ได้แบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จจากการศึกษาปริญญาเอก จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) สาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม (Telecommunications) ด้วยอายุเพียง 27 ปีเท่านั้น

จากวันนั้น ถึงวันนี้ ดร.นันท์ เข้าทำงานเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นนักวิจัยผู้มี passion ในการค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับ Computer Network, AI, Cybersecurity และ Carbon Capture and Storage (CCS) Technology และเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ (สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์) ด้วยอายุไม่ถึง 30 ปี

Credit pic: ขอบคุณรูปภาพจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อทราบข่าว ทางเพจจึงรีบติดต่อขอคิวสัมภาษณ์ ดร.นันท์ ถึงเคล็ดลับความสำเร็จทั้งในเรื่องการเป็นอาจารย์และการขอตำแหน่งทางวิชาการ เราเริ่มถาม ดร.นันท์ ถึงความท้าทายของการปรับตัวเป็นอาจารย์ในช่วงแรกและขอคำแนะนำในการทำงานวิจัย หลังจากปริญญาเอก นี่คือคำตอบที่จะพาให้เราไปรู้จักอาจารย์ ดร.นันท์ มากขึ้น

ปรับตัวอย่างไรในการเข้าทำงานเป็นอาจารย์

ถ้าถามผมสิ่งที่ท้าทายที่สุดในการปรับตัวเป็นอาจารย์ในช่วงแรก คือ การต้องเตรียมความพร้อมเพื่อนำความรู้ที่เราได้เรียน หรือ ได้ทำงานวิจัยผ่านมา นำมาสังเคราะห์เพื่อให้เป็นประโยชน์และสามารถสอนนักศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

โดยบางท่านอาจจะประสบปัญหากับการไม่รู้ว่าจะสอนวิชาเลือก (Elective Course) อะไรดี เพราะเพิ่งจบมาใหม่ ร้อนวิชา และบางท่านอาจจะไม่มั่นใจในตัวเอง เหมือนผมในช่วงแรก ดังนั้นผมในช่วงแรกก่อนเริ่มบรรจุงานนั้นจึงมานั่งคิดกับตัวเองว่าวิชาไหนที่เรามีความถนัดมากที่สุด และจะสอดคล้องกับงานวิจัยเรามากที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาที่สนใจให้เข้าใจได้มากที่สุด และเป็นเนื้อหาวิชาที่เรามีความมั่นใจมากที่สุด

ยกตัวอย่างในกรณีของผม ผมจึงได้มีโอกาสเปิดวิชา Computer Network Traffic Analysis หรือ การวิเคราะห์ปริมาณการใช้งานเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยรวมเอาความรู้ที่ได้เรียนมาทั้ง Telecommunications, Computer Network, Traffic Analysis, AI, รวมไปถึง Cybersecurity มาประยุกต์ให้นักศึกษาเข้าใจในเนื้อหาให้ได้มากที่สุด

ความท้าทายต่อมาคือ การต้องมาทำงานวิจัย โดยที่ไม่มีอาจารย์ที่ปรึกษาค่อยดูแลเราแล้ว เราต้องค้นคว้าเอง และยังต้องเติบโตดูแลนักศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรี และในระดับบัณฑิตศึกษาอีกด้วย โดยถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับผมในช่วงแรก ๆ

มีคำแนะนำอะไรอยากฝากบอกถึงอาจารย์ใหม่ ๆ บ้าง

ด้วยความที่เราเป็นอาจารย์ใหม่ สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะแนะนำทุก ๆ ท่านเลย คือ พยายามขอทุนสนับสนุนงานวิจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกสังกัดของท่าน เพื่อนำมาช่วยเป็นทุนในการพัฒนางานวิจัยของท่าน นอกจากนั้นผมยังอยากจะเป็นกำลังใจให้อาจารย์ใหม่ทุกท่านเลยครับ รวมถึงผมด้วย (หัวเราะ)

การเขียนทุนก็เหมือนการแข่งขันมีแพ้ มีชนะ มีผู้ผ่านการคัดเลือก และมีผู้ไม่ผ่านการคัดเลือก แต่ผมมองว่าการที่เราพยายามทำอะไรสักอย่างต่อให้ผลมันจะเป็นอย่างไง แต่ผมว่าอย่างน้อยเราก็ได้ลองทำไปแล้วครับ ไม่มีอะไรติดค้างคาใจ และมันย่อมดีกว่าไม่พยายามอยู่แล้วครับผม อย่างน้อยก็ถือว่าได้ฝึกฝนครับ

นอกจากนั้นผมได้มีโอกาสเข้ามาร่วมวิจัยในกลุ่มวิจัยขั้นแนวหน้าการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS Frontier Research Group) ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการชักชวนของ ผศ.ดร.สุพฤทธิ์ ตั้งพฤทธิ์กุล (อ.มิก) จึงทำให้มีโอกาสได้ช่วยศึกษาและวิจัยในเรื่องที่ท้าทายและมีความจำเป็นมากในปัจจุบันเพื่อนำทางไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

ระหว่างทำงานในช่วงแรกพบเจอปัญหาอะไรบ้างไหม

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดเสมอตอนนั้นคือ พยายามทำทุกวันให้ดีที่สุด และมีความสุขไปกับการทำงาน พยายามไม่กดดันตัวเองมากไป เพราะท้ายที่สุดแล้ว มันมีแต่จะส่งผลต่อสุขภาพกายและใจ ถ้าย้อนกลับไปได้ก็ต้องขอบคุณตัวเองจริง ๆ ที่ผ่านช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นมาได้ครับ

อีกหนึ่งข้อแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ นะครับ สำหรับผู้ที่เพิ่งผ่านช่วงการทำงานในช่วงแรก ๆ มา ทุกท่านอย่าลืม ขอบคุณตัวเองนะครับ เพราะผมว่าการขอบคุณตัวเอง เคารพตัวเอง และรักตัวเอง เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เรามีแรงตื่นไปทำงานในทุก ๆ วัน ครับ

คิดว่าเพราะปัจจัยอะไรที่ทำให้คุณสามารถขอตำแหน่งวิชาการได้สำเร็จอย่างรวดเร็ว มีคำแนะนำอะไรไหม

สำหรับการขอกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ของผมนั้น เอาจริง ๆ ผมใช้เวลา 1 ปีนิด ๆ ในช่วงวัยอายุก่อน 30 ปี โดยตอนนั้น ผมเตรียมตัวตั้งแต่รอบรรจุเข้ามาเป็นอาจารย์ โดยเริ่มคิดว่าจะสอนวิชาอะไร ที่ใกล้เคียงกับความรู้และงานวิจัยที่เรามีมากที่สุด เพื่อให้สามารถเขียนเอกสารประกอบการสอนได้อย่างครบถ้วนตามหลักเกณฑ์เพื่อนำไปสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเตรียมเอกสารให้พร้อมก่อนเริ่มสอน

นอกจากนั้น ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ในคณะเพื่อศึกษาและเริ่มทำงานวิจัยที่ตนเองสนใจ หรือเพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองได้รู้จักอาจารย์ท่านอื่น ๆ เพื่อสามารถนำความรู้ของเรามาปรับบูรณาการออกมาเป็นงานวิจัยร่วมกันได้ นอกจากนั้นก่อนที่เราจะเริ่มเตรียมตัวขอกำหนดตำแหน่งวิชาการ อย่าลืมอ่านเงื่อนไขประกาศให้ครบถ้วนด้วยนะครับ จะได้เตรียมเอกสารแค่ครั้งเดียวครับ

สำหรับการทำงานในช่วงแรกปัญหาที่หนักที่สุดคงเป็นปัญหาเรื่องการปรับตัวจากเป็นนักศึกษาปริญญาเอกเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เพราะหน้าที่และความรับผิดชอบที่มากขึ้น ไหนจะต้องดูแลนักศึกษา การเตรียมงานสอน และงานวิจัย ที่ต้องทำคู่ขนานไปพร้อมกัน

มีข้อคิดอะไรอยากฝากอะไรไว้ให้ผู้ที่กำลังจะเข้ามาเป็นอาจารย์หรือผู้ที่กำลังจะขอกำหนดตำแหน่งวิชาการไหม

“อย่าให้ใครดูถูกความสามารถของเรา เพราะความสามารถมันเริ่มจากการเชื่อมั่นในตัวเองเป็นอย่างแรก”

ต่อให้จะมีคนมองว่าคุณไม่เก่ง ไม่มีความสามารถ แต่สิ่งหนึ่งที่คุณต้องเชื่อมั่นในตัวเองอยู่เสมอ คือ คุณทำได้ เพราะกำลังใจที่ดีที่สุดคือ กำลังใจที่ได้จากตัวเอง และ อย่าลืมอีกหนึ่งกำลังใจหลักคือ ครอบครัวของเรา คุณพ่อ คุณแม่ สุดท้ายมันไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้หรอกครับ มันมีแค่ว่าคุณพยายามทำมันแล้วหรือยังครับ

โดยท้ายที่สุดนี้ ผมขอถือโอกาสขอบคุณครอบครัว คุณพ่อ คุณแม่ อาจารย์และพี่ ๆ ธุรการภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ทีม Future Intelligent Network ทีมกลุ่มวิจัย CCS มช. และ อาจารย์มิก (สุพฤทธิ์) ทุกท่านที่ให้การสนับสนุนและให้กำลังใจเสมอมาตลอดการทำงานถึงปัจจุบันนี้ครับ

ย้อนอ่านบทความสัมภาษณ์ ดร.ณัฐนันท์ พรหมสุข คอลัมน์แขกรับเชิญ ::: คุยเรื่องเรียนด๊อกเตอร์กับด๊อกเตอร์…..

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s