แบ่งปันประสบการณ์การเรียนปริญญาเอก โดย ดร.พัน ผู้ก่อตั้งเพจก็แค่ปริญญาเอก

ฉันไม่ใช่คนเรียนเก่ง เคยสอบตก เคยโดดเรียน ไม่มีหัวทางคณิตศาสตร์ เคยเป็นเด็กที่เรียนไปวันๆ ไม่เคยคิดฝันว่าจะต้องได้เป็นดอกเตอร์ แต่ใช่ค่ะ ฉันเรียนจบปริญญาเอก และฉันอยากบอกคุณว่า คุณไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เก่งหรือฉลาดถึงจะได้เป็นดอกเตอร์

บนเส้นทางแห่งการเรียนรู้ ตั้งแต่ป.1ถึงป.เอก เมื่อมองย้อนกลับไป แน่นอนว่า ไม่มีอะไรได้มาอย่างง่ายๆ

ตั้งแต่เด็กจนโต ฉันไม่เคยมองว่าตัวเองเก่ง สำหรับการเรียนน่าจะเรียกว่า พอเอาตัวรอดไปได้ บางครั้งก็เรียนแย่ บางครั้งก็เรียนดี สลับกันไป

ตอนที่ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอก ก็เพราะคำของแม่ที่พูดว่า “ลองสมัครดู ถ้าเขารับ แสดงว่าเรามีศักยภาพเพียงพอที่จะเรียนจบ”
ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบปริญญาโทจากอังกฤษ และกำลังจะเริ่มต้นหางานทำ แต่อีกใจหนึ่งก็รู้สึกว่า ไม่อยากปล่อยโอกาสการเรียนต่อทิ้งไป ในขณะที่ยังมีแรง มีไฟ และไม่มีพันธะผูกพันใดๆ เพราะถ้าเวลาและอายุล่วงเลยไปกว่านี้ คงยากที่จะได้ไปเรียน ในที่สุดจึงตัดสินใจสมัครเรียนต่อปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยเดิมที่จบมา

pan1

เมื่อไปเรียนก็พบความจริงว่า การเรียนปริญญาโทกับปริญญาเอกนั้นช่างแตกต่างกันเหลือเกิน

ปริญญาโท ฉันใช้เวลาเรียนแค่ปีเดียว โดยระหว่างเรียนมีข้อกำหนดว่าต้องส่งรายงาน (essays) และเขียนวิทยานิพนธ์ (Dissertation) ที่มีความยาวทั้งสิ้น 20,000 คำ แต่ ปริญญาเอก ฉันต้องเขียนรายงานวิจัยในรูปแบบของดุษฎีนิพนธ์ (Thesis) ที่มีความยาวทั้งสิ้น 80,000 ถึง 100,000 คำ โดยจะต้องเป็นงานวิจัยที่ค้นพบองค์ความรู้ใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน เพื่อเป็นcontribution กลับคืนสู่วงการวิชาการ

ตอนเริ่มเรียน เริ่มต้นจากหัวข้อ “ผลกระทบของอินเทอร์เน็ตต่อนักศึกษาไทย” ซึ่งเป็นหัวข้อที่กว้างเป็นทะเล! และไม่เจาะลึกอะไรเลย และด้วยหัวข้อที่ไม่เฉพาะเจาะจงเพียงพอ ทำให้ในปีแรกฉันเสียเวลากับการทบทวนวรรณกรรมต่างๆ จนเรียกได้ว่า ไม่มีหนังสือหรือบทความเกี่ยวกับการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตเล่มไหนในห้องสมุดที่ฉันไม่เคยอ่าน

ในปีแรกนี้ เวลาของฉันยังคงผ่านไปอย่างเพลิดเพลิน ฉันมีเวลาไปท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ช้อปปิ้งระหว่างอาทิตย์ ดูภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ที่พลาดไม่ได้ และเลือกซื้ออาหารในซุปเปอร์มาเก็ตครั้งละสองชั่วโมง…

pan4
ในปีที่สอง นักศึกษาปริญญาเอกส่วนใหญ่จะต้องเริ่มเก็บข้อมูลวิจัย เพื่อนนักศึกษาต่างชาติมักกลับไปเก็บข้อมูลที่ประเทศของตัวเอง เพราะนอกจากจะได้โอกาสกลับบ้านแล้ว การติดต่อขอข้อมูลจะสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการเก็บข้อมูลในต่างประเทศ สำหรับฉันในตอนนั้นเริ่มมีความรู้สึกมึนงงและเสียศูนย์ เพราะเพิ่งรู้ตัวว่าที่ทำการทบทวนวรรณกรรมมาทั้งปี ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก ยังไม่รู้เลยว่า หัวข้อวิจัยของตนเองจะมุ่งเป้าไปทางไหนดี แต่ก็ขออาจารย์ที่ปรึกษากลับมาเมืองไทย เรียกว่าไปตายเอาดาบหน้า และอาจารย์ก็อนุญาตให้กลับเพราะฉันรับปากว่าจะส่งรายงานความคืบหน้าให้ดูเป็นระยะ

เมื่อลงมือเก็บข้อมูล ฉันพบว่าจริงๆ แล้ว สิ่งที่ฉันอ่านทบทวนมามีค่า และเป็นประโยชน์ เพราะถ้าฉันไม่ได้อ่านอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งในปีแรก ไม่รู้ว่ามีอะไรเขียนไว้แล้วบ้างในแวดวงวรรณกรรมที่สนใจ ฉันก็คงไม่รู้เลยว่าข้อมูลอะไรจะเป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์กับงานวิจัยของฉัน

และด้วยงานวิจัยที่ทำเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ที่ต้องหาข้อมูลเชิงลึกจากกรณีศึกษา การเริ่มต้นคลำทางเพื่อเก็บข้อมูลจากความรู้ที่น้อยนิดเป็นเรื่องธรรมดา ณ ตอนนั้น หัวข้อวิจัยของฉันได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แคบลง และเฉพาะเจาะจงชัดเจนมากขึ้น ประสบการณ์การเรียนปริญญาเอกของฉันนี้แหละ ที่ทำให้ฉันเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับสำนวนที่ว่า “ตาบอดคลำช้าง”

pan2

ปีที่สามของการเรียน เป็นช่วงเวลาของการเขียนเนื้อหาในเล่ม (writing-up) ฉันเครียดมาก พอจะเริ่มเขียน ก็เขียนไม่ออก ไปไม่ถูก เป็นเพราะไม่เคยเขียนงานที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้นมาก่อน

ตอนนั้นพบว่า ไม่ว่าจะทำอย่างไร สิ่งที่เขียนออกมาก็ไม่ได้เรื่องเอาซะเลย ไม่กล้าเอาไปให้ที่ปรึกษาดูด้วยซ้ำ ยิ่งเครียด งานก็ยิ่งแย่ สุขภาพกายและระบบต่างๆในร่างกายรวนไปหมด เรียกว่าพังมาก! หาทางออกไม่เจอ ครั้งนึงล้มลงขาพลิก เดินออกไปไหนก็ไม่ได้ รู้สึกเศร้าและหดหู่มาก ตอนนี้ให้มองกลับไปก็เห็นเลยว่าที่เศร้าและหดหู่ได้มากขนาดนั้น คืออาการป่วยทางใจ ไม่ใช่แค่กาย

ช่วงพีคสุด ฉันหมดอาลัยตายอยาก ไม่อยากลุกขึ้นมาทำอะไร ใช้เวลากับการนอนเยอะมาก อยู่ในจุดที่คิดว่า ทำไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น

ในการเรียนปริญญาเอก สิ่งที่ยากและท้าทาย คือช่วงเวลาที่รู้สึกว่า อยากจะก้าวทะยานไปข้างหน้า แต่หลายครั้งไปไม่ได้เร็วเท่าที่ใจคิด การเผชิญกับความรู้สึกว่าท้อและมืดมน มองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายทางอุโมงค์ ใจอยากยอมแพ้และเลิก แต่ก็เหมือนคนที่ขึ้นหลังเสือ จะลงก็ลงไม่ได้ และจะอธิบายให้ใครฟังก็ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร

pan3.jpg

ก้าวข้ามมาอย่างไร?
กำลังใจสำคัญสำหรับฉันตอนที่เรียนปริญญาเอก ก็คือพ่อ แม่ โดยเฉพาะพี่สาว (พี่พัด) ที่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่อังกฤษเหมือนกัน แต่อยู่กันคนละเมือง การมีคนที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับเรานั้นให้ปรับทุกข์ ช่วยได้มาก ทำให้ช่วงเวลาเลวร้ายผ่านไปได้

สิ่งที่อยากบอกหลายคนที่กำลังไม่มีทางออกเกี่ยวกับงานวิจัยของตนเองว่า มันจะมีวันนึงนะในระหว่างเส้นทางที่มืดมนที่เผชิญอยู่ ที่เราจะได้พบกับคำตอบบางอย่างที่เป็นแสงสว่าง แสงสว่างนั้นอาจเข้ามาเพียงแว่บเดียว แต่เป็นชั่วขณะที่อาจเปลี่ยนชีวิตของเราไปตลอดเลยก็ได้ อาจจะเกิดขึ้นระหว่างที่เรากำลังคิดหมกมุ่นเกี่ยวกับงานของเราซ้ำๆ, ระหว่างที่จะเอนหลังนอน หรือ ระหว่างที่เราพูดคุยกับใครสักคนที่เราไว้ใจ เกี่ยวกับปัญหาทั้งหมดของงานวิจัยของเราให้เขาฟัง

สำหรับฉันคือกรณีหลัง และวันนั้นต้องขอบคุณพี่สาวของฉันที่อยู่ตรงนั้นเพื่อฉัน ในวันที่ฉันร้องไห้หนักมาก และระบายทุกความผิดหวัง เสียใจ ผิดพลาด แย่ๆ พังๆ เกี่ยวกับงานของตัวเองให้เขาฟัง

และเพียงบางถ้อยคำ บางคำถามของพี่ที่เข้ามาในช่วงเวลาหลังจากฉันระบายทุกอย่างออกไปแล้ว ใจที่ละทุกข์จึงค่อยๆเริ่มเปิดรับ และในชั่วขณะนั้นเอง ฉันเกิดช่วงเวลายูเรก้า! ที่ทำให้ฉันสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวทุกอย่างเกี่ยวกับงานวิจัยได้ทั้งหมดในทันที และรู้เลยว่าทุกความรู้ที่ฉันได้เก็บเกี่ยวไว้ ฉันจะเชื่อมโยงมันเข้าด้วยกันได้อย่างไร

ปาฏิหาริย์ที่เกิดในชั่วขณะเดียวนั้นเปลี่ยนฉันไปอย่างสิ้นเชิง ฉันรู้ทันทีว่า “เฮ้ย! ฉันทำได้นี่” ความกลัวหมดไปจากหัวใจ ฉันมีเป้าหมาย และมองเห็นรายละเอียดของเส้นทางที่จะเดินไปอย่างแจ่มชัด

หลังจากวันนั้น ฉันเกิดมีพลังอย่างมหาศาล ฉันลงมือเขียนงานทุกวันๆ ช่วงเวลากว่า 6 เดือน ที่ทุกลมหายใจเข้าออกของฉันคือ thesis ฉันมุ่งมั่น จดจ่อ ตั้งใจ เขียนงานวันละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง ทุกอย่างที่เขียนออกมาเป็นสิ่งที่ ใช่ ๆๆ จนกระทั่งเข้าสู่ขั้นตอนของการตรวจเช็คทุกคำ ทุกประโยค อย่างละเอียดถี่ถ้วน และในที่สุดทุกอย่างก็เสร็จ“สมบูรณ์”

ฉันเดินทางถึงเส้นชัย กับวันที่ทุกอย่างจบลงพร้อมกับคำกล่าวของกรรมการสอบว่า Congratulations!

ฉันเคยวาดภาพไว้นะว่า ถ้าถึงวันนั้น…ฉันคงจะกระโดดโลดเต้น เต้นระบำ ตัวลอย ลั้ลลา สุดๆ แบบนึกไม่ออกว่าจะควบคุมอารมณ์ดีใจไว้อยู่หรือไม่ แต่พอถึงวันนั้นเข้าจริงๆ ความรู้สึกของฉันกลับเป็นความรู้สึก ที่ อิ่มเต็มอยู่ภายใน สงบ โล่งใจ สมดุลย์ มั่นคง เคารพตัวเอง รู้ถึงศักยภาพภายในตัวเราอย่างลึกซึ้ง โดยที่ไม่จำเป็นต้องกู่ร้องตะโกนบอกใครให้หันมามองหรือได้ยิน

…และจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ปริญญาเอกสำหรับฉัน ก็เป็นเพียง แค่ปริญญาเอก และฉันเชื่ออยู่เสมอว่า ดร.ก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง และ ยังต้องพัฒนาและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา จะหยุดตัวเองและความรู้ไว้ที่ปริญญาเอกไม่ได้

ฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประสบการณ์ของเราสองคนพี่น้อง จาก เพจแค่ปริญญาเอก จะช่วยย่นย่อระยะทางของการศึกษาปริญญาเอกของใครหลายๆคน และที่สำคัญช่วยเสริมสร้างแรงฮึดจากภายใน ให้ลุกขึ้นมาและก้าวไป จนถึงปลายทางให้จนได้

ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนว่า ปริญญาเอกไม่ได้มีไว้สำหรับคนเก่งหรือฉลาดแต่มีไว้ให้นักสู้ที่มีความเพียรพยายามในการลงมือทำเท่านั้น

ดร.พัน ฉัตรไชยยันต์
PhD in Mass Communications, University of Leicester ประเทศอังกฤษ
ผู้ก่อตั้งเพจก็แค่ปริญญาเอก

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s