#คอลัมน์แขกรับเชิญ เรามาพูดคุยกับ ดร.ธรรศ ที่มาแบ่งปันประสบการณ์การเรียนปริญญาเอก สาขาวิชาดนตรี ในประเทศอังกฤษ มาทำความรู้จักเส้นทางสู่ปริญญาเอกของเขากัน
สวัสดีค่ะ ช่วยแนะนำตัวหน่อยนะคะ
สวัสดีครับ ก่อนอื่นผมขอกล่าวสวัสดีสมาชิกทุกคนด้วยนะครับ ผมชื่อ ธรรศ อัมโร เรียนจบปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต เอกดนตรีศึกษา (เกียรตินิยมอับดับ 2) จากสถาบันราชภัฏบ้านสมเจ้าพระยา จากนั้นเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ต่อมา ผมได้รับทุนการศึกษาจากโครงการพัฒนากำลังคนด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (ทุนเรียนดีมนุษยศาสตร์และ สังคมศาตร์แห่งประเทศไทย) พ.ศ. 2552-2562) ไปศึกษาต่อปริญญาโทและปริญญาเอก แขนงวิชามานุษยดนตรีวิทยา (Ethnomusicology) ที่มหาวิทยาลัยเดอแรม ประเทศอังกฤษ (Durham University, UK)
หลังจากจบการศึกษา ในปี พ.ศ. 2561 ผมก็กลับเข้ารายงานตัว ณ มหาวิทยาลัยนเรศวรซึ่งเป็นต้นสังกัด ปัจจุบันผมรับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ครับ
ทำไมถึงตัดสินใจเรียนปริญญาเอก
หลังจากจบปริญญาโทที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ. 2543 ผมก็สมัครเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยทันทีเพื่อทำตามความฝันที่ตั้งใจไว้ ผมทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ 5 ปีก่อนที่จะตัดสินใจย้ายมาบรรจุเป็นพนักงานสายวิชาการ (อาจารย์) ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก
หากถามว่า ทำไมถึงตัดสินใจเรียนปริญญาเอก ผมขอตอบว่า ประการที่หนึ่ง เพราะว่าผมเป็นคนที่ชอบมองไปข้างหน้า (โดยเฉพาะเทรนทางวิชาการ) ผมจึงวางแผนการเรียนต่อระดับปริญญาเอกไว้ล่วงหน้า นั่นก็เป็นเพราะผมทราบดีว่า ไม่วันใดก็วันหนึ่งสถาบันอุดมศึกษาจะต้องออกกฎระเบียบ คำสั่งให้พนักงานสายวิชาการทุกคนจบการศึกษาในระดับปริญญาเอก
ประการที่สอง ผมเป็นคนชอบเรียนหนังสือ ผมทำอะไรไม่เป็นนอกจาก 3 สิ่งต่อไปนี้ คือ เรียนหนังสือ ทำการสอนและงานทางวิชาการ ผมคิดว่า ทุกคนเกิดมาไม่ได้เก่งไปเสียทุกอย่าง เราลืมตาดูโลกเพื่อมาทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราถนัดให้ดีที่สุด เท่านั้น ดังนั้นสิ่งเดียวที่ผมทำสามารถทำประโยชน์ให้กับองค์กรได้หลังจากบรรจุเป็นอาจารย์ คือต้องไปเรียนต่อปริญญาเอก สำหรับผมแล้ว ชีวิตการเรียนปริญญาเอกที่ต่างประเทศมันเป็นสิ่งตอกย้ำทำให้ผมได้รู้ว่า แท้จริง ผมเกิดมาเพื่ออะไร ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่บรรจุใหม่ ๆ ว่าจะต้องไปเรียนเมืองนอกให้ได้ แล้ววันหนึ่งความฝันของผมก็เป็นจริง ความเป็นจริงที่ต้องแลกมาด้วยความอดทน หยาดเหงื่อและน้ำตา
ทำ thesis เรื่องเกี่ยวกับอะไร
วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของผมเป็นรายงานที่หาข้อมูล เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงทางวิชาการ ซึ่งสามารถนำมาจากแหล่งข้อมูลในห้องสมุดหรือข้อมูลออนไลน์ ซึ่งต่างกันสุดขั้วกับดุษฎีนิพนธ์ระดับปริญญาเอกของผมที่เน้นกระบวนการทำงานภาคสนาม (field work) อย่างบ้าคลั่ง
หัวข้อวิจัยระดับปริญญาเอกของผม “Modernising Traditional Musical Culture: A Case Study of Contemporary Piphat Ensembles in Phayao Province, Northern Thailand” พูดเป็นภาษาชาวบ้านที่เข้าใจง่ายก็คือ ศึกษาว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นเครื่องเร้าทำให้วงดนตรีไทยเดิมในตัวเมืองพะเยา กลายมาเป็นวงดนตรีผสมผสานไทย-สากล หรือวงดนตรีสมัยใหม่ และอะไรคือปัจจัยที่ทำให้วงดนตรีประเภทนี้ผันตัวเองเข้าสู่โลกของการแข่งขันในเชิงธุรกิจดนตรี
ใช้เวลาทั้งหมดในการเรียนปริญญาเอกกี่ปี
สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้ผมรับทุนการศึกษาระดับปริญญาโท-เอก รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 4 ปี กล่าวคือ ปริญญาโท 1 ปี ปริญญาเอก 3 ปี แต่กระนั้น ก็สามารถขยายเวลาเรียนปริญญาเอกได้อีก 2 ครั้ง ๆ ละ 1 ปี (นักเรียนทุนส่วนใหญ่ไม่มีใครปฏิเสธการขอขยายเวลา ซึ่งกล่าวได้ว่า จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล)
สำหรับตัวผมเองนั้น ขอขยายเวลาไป 1 ปี แต่กลับเสร็จสิ้นกระบวนการสอบจบแค่ช่วง 9 เดือนแรก จึงกลายเป็นว่า ผมต้องคืนทุน 3 เดือนสุดท้าย (ต.ค-ธ.ค.) ให้กับสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในต่างประเทศ (สนร.)
กล่าวโดยสรุป คือ ผมใช้เวลาในการศึกษาระดับโทและปริญญาเอกอยู่ที่อังกฤษทั้งสิ้นเพียง 4 ปี 9 เดือนครับ
ระหว่างเรียนในต่างประเทศเป็นอย่างไรบ้าง
ชีวิตการเรียนของผมไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรคเสียเลย แต่ก็ไม่ถึงขั้นที่ทำให้ต้องเสียน้ำตาครับ อาจเป็นเพราะผม “มีโชคเรื่องการเรียน” อีกอย่างผมชอบคาดการณ์ในสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตการเรียน และเตรียมพร้อมรับมือไว้ล่วงหน้าเสมอ จึงทำให้ฝ่าฟัน ก้าวข้ามชีวิตการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลไปได้ บ่อยครั้งที่ผมนำประสบการณ์ของผู้อื่นมาเป็นบทเรียน ว่าคนไทยที่เรียนอยู่ในอังกฤษ หรือคนที่เรียนจบไปแล้วแต่ละคนเจอปัญหาอะไรบ้าง แล้วผมก็หาวิธีป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นกับตัวเอง
แต่ยังไงผมก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่หนีปัญหาเรื่องการเรียนไม่พ้น และปัญหาอะไรที่ผมคิดว่าหนักที่สุดคงเป็นด้าน “ทักษะการพูด” เพราะทุกครั้งที่มีการประชุม เสวนา ผมจะสมองเบลอและครียดมากถึงมากที่สุด ทุกครั้งในที่ประชุม ผมจะเป็นคนสุดท้ายที่ออกความคิดเห็นหรือข้อโต้แย้ง เช่น ระดับบัณฑิตศึกษาจะมีกิจกรรมสัมมนา จัดขึ้นเดือนละ 2 ครั้ง เมื่อใกล้ถึงกำหนดวันทำกิจกรรม ผมจะนอนไม่หลับและเกิดความกังวลอย่างมาก
ความเครียดที่เกิดจากความอ่อนด้อยในทักษะการพูดไม่ได้หยุดอยู่ที่การเสวนาทางวิชาการนะครับ แม้แต่การพูดคุยธรรมดาหรือพบปะสังสรรค์ในงานปาร์ตี้ ก็ทำให้ผมเกิดความเครียดได้ ผมมาวิเคราะห์ดู ก็พบว่า อาจเป็นเพราะผมเป็นคนพูดน้อย ผมถามเพื่อนสนิทที่เป็นฝรั่งว่า ทำยังไงผมถึงจะพูดภาษาอังกฤษโต้ตอบในวงสนทนาได้อย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อนผมตอบมาว่า “คุณจะพูดคล่องได้ยังไงในเมื่อภาษาแม่ของคุณ คุณยังไม่ค่อยชอบพูดออกมาเลย” (เค้ารู้ว่าผมเป็นคนพูดน้อย)
ประการที่สอง ผมเป็นคนที่ภาษาบ้าน ๆ คือ “ตามน้ำ” ไม่ชอบความขัดแย้ง ซึ่งมันเป็นข้อจำกัดของผมในการสนทนาหรือเสวนาทางวิชาการ และเมื่อแอดมินถามว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ ผมจะบอกตัวเองอย่างไร ผมพูดได้คำเดียวว่า รู้งี้หาแฟนฝรั่งซักคนก็ดี อย่างน้อยก็น่าจะช่วยเพิ่มทักษะในการโต้เถียง ครับ
คิดว่าเพราะปัจจัยอะไรที่ทำให้คุณเรียนสำเร็จ
สำหรับผมแล้ว ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการเรียนมี 2 ประการ คือ การวางแผน และความต่อเนื่องในการทำงาน (Time management and perseverance are key to success)
ผมมีเคล็ดลับการเรียนปริญญาเอกมากมาย ซึ่งไม่สามารถใช้พื้นที่ตรงนี้แชร์ทุกประสบการณ์ของการเรียนและการใช้ชีวิตให้ทุกคนทราบได้ ผมเคยปวารณาตัวไว้ว่า หากมีโอกาส ผมจะได้นำประสบการณ์อันโชกโชนที่ประเทศอังกฤษมาเล่าสู่กันฟัง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ของผม และนำไปประยุกต์ใช้ในแนวทางของตนเองครับ
ปัจจุบันได้ใช้ทักษะ/ความรู้จากการเรียนมาประยุกต์ใช้กับงานปัจจุบันอย่างไรบ้างคะ
หลังจากจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษปลายปี พ.ศ. 2561 ในปีนี้ พ.ศ. 2564 ผมได้ยื่นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการในระดับรองศาสตราจารย์ ซึ่งผลงานทางวิชาการประกอบด้วย
1. งานวิจัยฉบับสมบูรณ์และบทความทางวิชาการ
2. หนังสือวิทยาศาสตร์กายภาพการดนตรี และ
3. หนังสือก้าวย่างทางมานุษยวิทยาดนตรีล้านนาและสารัตถะที่เกี่ยวข้อง (หนังสือแปลจาก Musical Journeys in Northern Thailand : adventures in ethnomusicology and other miscellaneous music making by Gerald P. Dyck)
ซึ่งผลงานวิชาการทั้ง 3 ชิ้นดังกล่าว หากเป็นในสมัย 10-15 ปีก่อน น่าจะสามารถนำไปยื่นขอตำแหน่งศาสตราจารย์ได้ไม่ยาก ดังนั้น จึงเป็นคำตอบที่ชัดเจนในตัวของมันเองว่า ทักษะและประสบการณ์ในการการเรียน รวมทั้งการใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอังกฤษตลอดระยะเวลา 4 ปี 9 เดือน ได้ให้อะไรกับผมบ้าง
และเช่นเดียวกันครับ ผมไม่สามารถใช้พื้นที่ตรงนี้แชร์รายละเอียดได้ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความกรุณาจากแอดมิน ให้ผมได้แชร์สิ่งดี ๆ กับสมาชิกในโอกาสต่อไปครับ
ยินดีมากค่ะ หากมีโอกาสแวะมาแบ่งปันกันนะคะ
สุดท้ายแล้ว ดร.ธรรศ มีข้อคิดอะไรอยากฝากอะไรไว้ให้ผู้ที่กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่
อุปสรรคทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตมันคือ “บททดสอบ” ครับ ใครที่กำลังท้อแท้ในการเรียน จงมองกลับไป ณ จุดเริ่มต้น ณ จุด ๆ นั้นที่เราตัดสินใจแน่วแน่ที่จะขออุทิศตนเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ให้ได้มาซึ่งความสำเร็จ จงมองไป ณ จุดเริ่มต้นที่เราเคยตื่นเต้นไปกับความฝัน จุดที่หัวใจเราพองโตไปด้วยความมุ่งมั่น และในวันนี้ ขอจงอย่าให้อุปสรรคหรือความท้อแท้ มาเป็นเครื่องขัดขวางความตั้งใจของเราในวันนั้นนะครับ จงก้าวต่อไป แม้ว่าก้าวนั้นจะเป็นเพียงก้าวเล็ก ๆ แต่ขอให้ในแต่ละก้าวนั้น เป็นก้าวที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในทุก ๆ วัน และขอให้เป็นก้าวที่มั่นคงที่จะนำพาทุกคนไปสู่ความสำเร็จตามที่ใจปรารถนา
ผมขอส่งกำลังใจ ส่งเสียงเชียร์ให้ทุกคนลุกขึ้นอีกครั้ง และทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริงครับ
…………………………….
เพจก็แค่ปริญญาเอก ขอขอบคุณ ผศ.ดร. ธรรศ อัมโร เป็นอย่างยิ่ง สำหรับการแบ่งปันประสบการณ์ที่มีค่า และมุมมองแง่คิดที่เป็นประโยชน์สำหรับคนที่สนใจหรือกำลังเรียนปริญญาเอกอยู่
เพจก็แค่ปริญญาเอก ยินดีเปิดพื้นที่สำหรับการแบ่งปันประสบการณ์การเรียนปริญญาเอก เชิญชวน inbox มาหาเรา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ให้กับเพื่อน ๆ คนอื่นกัน…