สวัสดีค่ะ หลังจากที่ห่างหายไปนานหวังว่ายังคงจำกันได้นะคะ ขอแนะนำตัวก่อนเลย ดร.ณติกา ไชยานุพงศ์ แนนค่ะ เคยเขียนคอลัมน์เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วตอนก่อนจะจบปริญญาเอก ไปหาอ่านกันได้ค่ะ
ตอนนี้กำลังทำงานเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งค่ะ วันนี้แนนมีประสบการณ์ที่เคยประสบด้วยตนเอง ที่คิดว่าเข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เราจะเห็นว่ามีข่าวพาดหัวอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับนักศึกษาฆ่าตัวตายกันด้วยภาวะซึมเศร้า แนนเลยอยากจะมาแชร์ประสบการณ์ช่วงหนึ่ง ขณะกำลังศึกษาปริญญาเอก ที่ไม่เคยคิดว่าครั้งหนึ่งตัวเองจะประสบภาวะซึมเศร้า ที่กำลังเป็นปัญหาในสังคมไทยในปัจจุบันนะคะ
ต้องบอกก่อนว่า แนนเป็นนักกีฬาเป็นคนที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้น ภาวะซึมเศร้าไม่น่าจะมีทางได้เป็นเพื่อนกับแนนแน่นอน!
ในช่วงที่เริ่มต้นเรียนปริญญาเอกได้ปีนึง ก็เริ่มเกิดคำถามเวียนไปเวียนมาอยู่ในหัวตัวเองว่า
“ฉันจะเรียนได้ไหม”
“ถ้าฉันเรียนไม่จบจะเป็นยังไง”
“พ่อกับแม่จะเสียใจไหม”
หนักเข้า ก็เริ่มไม่อยากจะออกไปไหน ไม่อยากทำอะไร ไม่รู้ว่า ตัวเองมาทำอะไรอยู่ที่นี่ เคยถึงขนาดนอนจ้องเพดานทั้งวันและร้องไห้ คิดวนไปวนมา
ช่วงนั้นหุ่นจะดีเป็นพิเศษ เพราะทั้งวันแทบจะไม่อยากกินอะไรเลย อยากทำอย่างเดียวคือ “นอน” ให้มันผ่านไปวันนึง
…มาถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยใช่ไหมคะว่า แล้วไม่รู้ตัวเหรอว่าเป็นอะไร
คำตอบคือ…“ไม่ค่ะ”

เมื่อสมัย 8 ปีที่แล้ว คนไทยแทบจะไม่รู้จักว่าโรคซึมเศร้าคืออะไร สำหรับตัวแนนเอง แนนเป็นนักกีฬา แนนมีเพื่อน แนนไม่เคยที่จะนึกเอะใจว่า ตัวเองกำลังเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าหรือเปล่า
…ตัดกลับมาที่แนน ในสภาพซึมเศร้า ไม่อยากออกไปไหน ไม่อยากกินอะไรหรือทำอะไร ทุกครั้งที่คุณพ่อกับคุณแม่โทรมา แนนพยายามจะเข้มแข็งบอกกับตัวเองว่า ไม่เป็นไร เพราะเราคือความหวังของเค้า มีในบางครั้งที่แนนบอกทั้งสองท่านนะคะ แต่ไม่ได้พูดว่าเพราะอะไร แค่บอกว่าเรียนยาก พอมองย้อนไปทำให้รู้ว่า เราควรจะบอกความจริง เพราะท่านจะช่วยหาทางออกเราได้ดีที่สุด
…อยากทราบไหมคะว่า อาการนอนมองเพดาน ไม่ทานอะไร ไม่ออกไปไหน ไม่อยากลุกไม่อยากตื่น เอาแต่ร้องไห้ อยู่กับแนนกี่อาทิตย์…คำตอบคือ 2 อาทิตย์ค่ะ จนแนนเริ่มสะกิดใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวแนนเอง นี่มันไม่ใช่เรานี่นา ต้องมีอะไรผิดปกติแน่ ๆ
แนนจึงฝืนดึงตัวเองออกจากที่นอน ทั้งที่ยังมีอาการหดหู่อยู่ จึงตัดสินใจออกไปวิ่งค่ะ แนนเริ่มวิ่งตอนเย็น เริ่มเข้าไปหาอะไรทำในมหาวิทยาลัย จนได้เจอเพื่อนชาวต่างชาติที่มาเรียนก่อนหน้าแนนปีหนึ่ง เพื่อนแนนเรียนจิตวิทยามา เราเลยคุยกันถึงอาการที่แนนเป็น
จึงได้ทราบว่า ที่แนนเป็นนั่นเป็นกลุ่มอาการ “ภาวะซึมเศร้า” ซึ่งเพื่อนแนนบอกว่า ถ้าเมื่อไหร่มีอาการอีก หรือถ้าอยากคุยกับใครสักคนให้มาหาเค้าได้เสมอ
แต่แนนค้นพบว่า การวิ่งเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้แนนดีขึ้นได้ค่ะ แนนเลยออกวิ่งทั้งเช้า-เย็น วิ่งไกลขึ้น เริ่มลงแข่งรายการต่าง ๆ จาก 5 กิโลไป 10 กิโลถึง 21 กิโล ไกลสุดก็คือ วิ่งผลัด12 คน 193 ไมล์ ก็ประมาณ400 กิโลเมตรค่ะ วิ่ง 2 วัน 1 คือผลัดกันวิ่งคนละ 3 ผลัดจริง ๆ แล้วการวิ่ง นอกจากจะช่วยให้แนนดีขึ้นจากอาการซึมเศร้าแล้ว ยังช่วยให้หายเครียดจากการทำวิทยานิพนธ์ด้วยนะคะ ซึ่งมีงานวิจัยหลาย ๆ งานยืนยันแล้วว่า การออกกำลังกายช่วยลดความเครียดได้

เขียนมาตั้งยืดยาว สิ่งที่แนนอยากจะแชร์กับทุกคน คือการสังเกตตนเองกับวิธีการช่วยเหลือคนเองและคนใกล้ชิดที่กำลังเผชิญอาการซึมเศร้า ตามที่แนนเคยมีประสบการณ์ผ่านมานะคะ
การสังเกตตนเอง
- อารมณ์เปลี่ยนแปลงกระทันหัน ถ้าคุณเคยเป็นคนร่าเริงสดใส ไม่มีปัญหาในการอยู่คนเดียว ไม่เคยย่อท้อเมื่อเจอปัญหาอยู่มาวันนึง คุณรู้สึกว่า คุณไร้สมรรถภาพ เริ่มสงสัยในความสามารถของตัวเอง หมดความมั่นใจนั่น อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า
- เริ่มเก็บตัวอยู่คนเดียว ถ้าคุณชอบที่จะออกไปข้างนอกทำกิจกรรมกลางแจ้ง แต่เลือกที่จะอยู่แต่ในห้อง ไม่อยากเจอใคร นี่คืออีกหนึ่งสัญญาณ
- วัน ๆ ไม่อยากทำอะไรนอกจากนอน เพื่อให้เวลามันผ่าน หรือเพราะไม่อยากตื่นขึ้นมารับสภาพความเป็นจริง นี่เป็นอีกสาเหตุนึง ที่ผู้ป่วยจากโรคซึมเศร้าเสียชีวิตด้วยการรับประทานยานอนหลับเกิน ขนาดเนื่องจากเมื่อทานยานอนหลับมาก ๆ จะดื้อยา ต้องเพิ่มจำนวนเรื่อย ๆ สุดท้ายทานยาเกินขนาด
- ประเมินศักยภาพตัวเองต่ำในทุกเรื่อง ขาดความมั่นใจท้อแท้ หดหู่วิตก คิดเยอะ อันนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยนำเข้าของแต่ละบุคคลค่ะ ว่าสาเหตุที่ทำให้เราเกิดภาวะซึมเศร้าเกิดจากอะไร
…มาถึง แนวทางเอาตัวเราเองออกจากสถานการณ์ที่จะนำตัวเราไปสู่ภาวะซึมเศร้า กันค่ะ
- หาที่ระบายค่ะ ไม่ใช่สีไม้ระบายน้ำนะคะ แต่เป็นที่ปรึกษาหรือคนที่เรารู้สึกว่า ปลอดภัยพอที่เราจะเล่าหรือระบายสิ่งที่อัดอั้นอยู่ในใจเราได้ แนนต้องขอน้ำนะคะว่า ที่ระบายเท่านั้นเราไม่ได้ต้องการคนแนะนำ ในบางครั้งเราแค่ต้องการผู้รับฟังที่ดีที่เข้าใจ และเปิดอกฟังเรื่องที่เราพูด โดยไม่วิจารณ์ด่าว่า นอกเหนือไปจากนั้น คือสามารถให้กำลังใจหรือส่งพลังงานทางบวกให้เราได้
- กีฬา กีฬาเป็นยาวิเศษ…ใช่ค่ะ ออกกำลังเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่จะทำให้ผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าดีขึ้น แม้มันจะยาก ที่จะเอาตัวเองออกจากห้องหรือภาวะที่คุณเป็น แต่เมื่อไหร่ที่คุณได้เริ่มออกกำลังกายและเหงื่อคุณออก เมื่อนั้น คุณจะรู้สึกดีขึ้น เหมือนที่แนนบอกค่ะ สำหรับแนน วิ่งสามารถทำให้แนนลดความเครียดและหดหู่ได้ ลองหากีฬาที่คุณรักแล้วชวนเพื่อนไปค่ะ อย่าไปคนเดียวนะคะ พยายามไปที่ที่มีคนเยอะ ๆ
- สำหรับนักเรียน นักศึกษาทุกท่าน รวมไปถึงประชาชนทั่วไป ปัจจุบัน มีหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาที่คุณสามารถเดินเข้าไปพูดคุยได้ โดยไม่ต้องเสียเงินสักบาทเดียว โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัย อย่าอายที่จะเข้าไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญค่ะ เพราะผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นค้าสามารถช่วยหาทางออกให้คุณได้ หรืออย่างน้อยก็สามารถรับฟังคุณได้ ในกรณีที่คุณไม่มีใครให้ปรึกษา
นั่นก็คือแนวทางเอาชนะภาวะซึมเศร้าในแบบของแนน โดยที่ไม่ต้องพึ่งยาและ(ยัง)ไม่ต้องถึงมือหมอ ที่แนนอยากมาแบ่งปันให้กับเพื่อน ๆ นะคะ

ท้ายที่สุด แนนขอฝากไว้ในฐานะของคนที่เคยผ่านอาการซึมเศร้ามาก่อนว่า
สิ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องการ ไม่ใช่กำลังใจ ไม่ใช่คำพูดว่าสู้ ๆ หรือคำปลอบใด ๆทั้งสิ้น เพราะเค้าสู้มามากพอแล้ว จนมาถึงจุดที่ตัวเค้า หมดกำลังจะสู้ต่อ
แต่เค้าแค่ต้องการคนที่ “เข้าใจ” สภาพของเค้า ณ ขณะนั้น เท่านั้นเอง
ดังนั้น การรับฟังจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก สำหรับผู้ที่กำลังเจ็บปวดกับภาวะซึมเศร้าค่ะ
……….
#JustaPhD #GuestBlogPost
Credit text: ดร.แนน ณติกา ไชยานุพงศ์
ดูบทความก่อนหน้าของ ดร.แนน >>>
กว่าจะเป็นดุษฎีบัณฑิต :: ดร.แนน ณติกา ไชยานุพงศ์
อาจารย์เก่งมากเราอยู่ใกล้ตัวแท้ๆๆเรายังไม่เคยคิดเลยว่าอาจารย์จะมีอาการซึมเศร้าทั้งที่ไหนมาไหนด้วยออกวิ่งด้วยกันฝนตกก็วิ่งแต่เราเพิ่งจะมารู้วันนี้เองว่าอาจารย์มีอาการซึมเศร้าด้วยเก่งมากค่ะอาจารย์
ถูกใจถูกใจ
บทความดีมากครับ
ถูกใจถูกใจ
ขอบคุณครับสำหรับบทความดีๆ
ผมเรียน ป.เอก ที่อังกฤษ ปีนี้เป็นปีสุดท้าย
ช่วงสองสามเดือนก่อนหน้านี้เครียดมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บอกไม่ถูกว่าเป็นอะไร รู้แต่ว่าตัวเองไม่ปกติ ไม่สดใส อาการเพิ่งเป็นในปีสุดท้ายของการเรียนนั่นคือ writing up มันมีภาวะเหม่อลอย แล้วก็ติดของหวานมากครับ กินจนน้ำหนักขึ้นไปมาก ทั้งๆที่ไม่รู้สึกอยากกิน แต่สมองอีกส่วนก็บอกตัวเองว่าให้กินเข้าไปเพราะเชื่อว่าจะช่วยลดความเครียดลงได้ แต่มันก็ไม่ได้หายหรอกครับ
จริงอย่างที่อาจารย์แนนพูดครับ เราไม่ได้ต้องการกำลังใจ แต่ต้องการคนรับฟัง
ตอนนี้อาการเหล่านั้นก็ลดลงไปบ้าง หันมาออกกำลังกายครับ ที่สำคัญคือลดกินของหวานๆลงไปครับ
ขอบคุณอาจารย์แนนอีกครั้งครับ
ถูกใจถูกใจ