Dear my advisee,
กี่วัน กี่เดือน (หรือกี่ปี) แล้วนะ ที่เราไม่ได้พบกัน
อาจารย์จำไม่ได้แล้วว่า ครั้งสุดท้าย เราเจอกันเมื่อไหร่
ป่านนี้ พวกคุณจะเป็นอย่างไรบ้างหนอ สุขสบายดีหรือเปล่า ชีวิตวุ่นวายยุ่งเหยิงกันอย่างไรบ้าง
ส่วนอาจารย์ก็ยังสบายดีอยู่นะ คิดถึงพวกคุณขึ้นมา และมีบางอย่างอยากที่จะบอก
สิ่งที่อาจารย์จะบอกกับพวกคุณนี้ อาจไม่ใช่สิ่งที่อาจารย์จะสามารถพูดออกมาได้หมด เมื่อเราเจอหน้ากัน
แต่ล้วนเป็นสิ่งที่อยู่ในใจมานาน และคิดเสมอว่า อยากบอกกับคุณ
นักศึกษาที่รัก,
อาจารย์รู้และเข้าใจว่า การทำวิทยานิพนธ์มันไม่ง่าย และหลายครั้งคุณอาจจะคิดว่า คุณต้องรอให้คุณเขียนทุกสิ่งทุกอย่างจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงจะมาพบหน้ากับอาจารย์ได้
หรือคุณอาจจะคิดไปต่อว่า แล้วคุณจะมาพบอาจารย์ได้อย่างไรกัน ในเมื่อคุณเพิ่งเขียนเสร็จไปได้แค่ “สองหน้า”…
1. อาจารย์อยากบอกคุณว่า…อาจารย์ไม่ได้ต้องการความสมบูรณ์แบบ…
การทำวิทยานิพนธ์…เป็นเรื่องของการเริ่มต้นจากความไม่รู้ คุณต้องเริ่มต้นจากศูนย์และค่อยๆ นับไปจนถึงร้อย
การทำวิทยานิพนธ์…เป็นเรื่องของการ edit และแก้ไขซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกว่าจะได้งานที่ดีที่สุด
เป็นไปไม่ได้ ที่คุณจะเขียนงานออกมาแล้วเสร็จในครั้งเดียว โดยไม่แก้ไขอะไรเลย
เพราะกระบวนการเรียนรู้ เกิดขึ้นจากกระบวนการแก้ไข ปรับปรุง และเขียนซ้ำแล้วซ้ำอีกนั่นเอง
ถ้าคุณไม่ลงมือเขียน คุณก็จะไม่มีหลักฐานที่ปรากฏตรงหน้า ว่าคุณเขียนได้ “แย่” อย่างไร
และถ้าคุณไม่เขียนออกมาได้ “แย่” (หรือ “แย่ที่สุด”) มาก่อน แล้วคุณจะเขียนได้ “ดี” (หรือดีมากๆ) ได้อย่างไร
อย่ารอจนงาน “สมบูรณ์แบบ” แล้วค่อยมาพบอาจารย์
2. อาจารย์อยากบอกคุณว่า…อาจารย์ยินดีที่จะอ่านงานที่ “แย่ๆ” นั้นของคุณ
อาจารย์จะดีใจมากนะ ถ้าคุณจะมาพบอาจารย์บ้าง เอางานของคุณมาให้อาจารย์ดูบ้าง
เพราะอย่างน้อยที่สุด นั่นคือ “จุดเริ่มต้น” ในการ “ไปต่อ” ของคุณ
การทำวิทยานิพนธ์…เป็นเรื่องที่จำเป็นที่ต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษา
ผู้ที่จะเป็นอีกสายตา ที่ช่วยมองเข้ามายังบางจุดของงาน ที่คุณมองไม่เห็น เพราะอยู่ใกล้เกินไป
เอางาน “สองหน้า” ของคุณมาให้อาจารย์ดู
เพราะอาจารย์เอง ก็เคยอยู่ในจุดที่ เขียนได้แค่ “สองหน้า” และ “ไม่รู้จะไปต่ออย่างไร” เช่นกัน
แต่จากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษา นักศึกษาที่ประสบความสำเร็จ คือนักศึกษาที่ขยันมาพบอาจารย์ เพราะเขาขยันที่จะเรียนรู้ ปรับปรุง แก้ไขจนสำเร็จได้ในที่สุด
3. อาจารย์อยากบอกคุณว่า…อย่าตกใจกับคอมเมนท์ของอาจารย์นะ
บางครั้ง คุณอาจจะเคยพบว่า ร่างวิทยานิพนธ์ของคุณที่เอามาส่งไว้
เต็มไปด้วยคอมเมนท์ ชี้จุดผิด ด้วยปากกาแดงเต็มหน้ากระดาษ
การที่อาจารย์คอมเมนท์แบบ “จัดเต็ม” เช่นนั้น เพราะเป็นหน้าที่ของอาจารย์ที่ “ต้องทำ”
การชี้ไปตรงๆ ที่ข้อบกพร่องในงานของคุณ ก็เพื่อการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ในครั้งต่อๆ ไป
การลงมือแก้ไขงานเสียตั้งแต่ต้น เป็นสิ่งที่จะ “ช่วย” คุณเมื่อเจอคอมเมนท์ของกรรมการสอบ ที่อาจจะ “จัดเต็ม” ยิ่งกว่า
คุณจะได้เจอกับกระบวนการ “กำจัดจุดอ่อน” เช่นนี้เรื่อยไป จนกว่าจะถึงวันที่คุณส่งเล่มวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์
อย่าท้อใจ และอย่าท้อแท้
อาจารย์เชื่อเหลือเกินว่า ด้วยกระบวนการทำวิทยานิพนธ์นี้ คุณจะถูกฝึกฝนในหลายทักษะ ที่จะได้นำไปใช้ในชีวิต
คุณจะรู้จักแยกแยะ ประเด็นเล็ก-ใหญ่ คุณจะรู้จักวิเคราะห์และเชื่อมโยง คุณจะมีความละเอียดรอบคอบมากขึ้น และมีมุมมองใหม่ สามารถมองเห็นในมิติและแง่มุม ที่คุณอาจไม่เคยเห็นมาก่อน
กระบวนการทำวิทยานิพนธ์จะขัดเกลาทั้งตัวงาน และตัวคุณ
ท้ายที่สุด อาจารย์อยากให้คุณถามตัวเองอีกครั้ง ถึงวันที่คุณตั้งเป้าหมายที่จะมาคว้าใบปริญญา
ใบปริญญา อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในชีวิต และมีอีกหลายความสำเร็จที่คุณกำหนดได้เอง
แต่การทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จ เป็นบทพิสูจน์หนึ่งในชีวิต
ว่าท่ามกลางความยากลำบาก ปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดทั้งปวงที่คุณมี
คุณสามารถฝ่าฟัน ผ่านทุกด่านไปได้ “ด้วยดี”
หวังว่าเราจะได้ “พบ” กันเร็วๆ นี้
ด้วยความรักและปรารถนาดีจากอาจารย์ของคุณ
(เขียนในวันครู วันที่นึกถึงลูกศิษย์ทุกคน)
#เพจก็แค่ปริญญาเอก #Justaphd