ปฏิเสธไม่ได้ว่า “คุณภาพ” ของการให้คำปรึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของนักศึกษาปริญญาเอก
แต่จะมีอาจารย์สักกี่คนที่พร้อมทุ่มเทเวลา “คุณภาพ” ให้กับนักศึกษาอย่างแท้จริง
ถึงเวลาหรือยัง สำหรับการให้คำปรึกษานักศึกษาปริญญาเอกนอกชั้นเรียน?
Times Higher Education ตั้งคำถาม ในบทความล่าสุดที่เกี่ยวกับรูปแบบการให้คำปรึกษาในการเรียนปริญญาเอก
Sarahjane Jones อาจารย์และนักวิจัยสาวจาก Centre for Health and Social Care Research มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมซิตี้ ประเทศอังกฤษ ออกปากชวนนักศึกษาปริญญาเอกในการดูแลของเธอไปเดินเล่นริมคลองในเมืองเบอร์มิงแฮม เป็นระยะทางประมาณ 3-4 ไมล์ เป็นประจำ เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์
อาจารย์ Jones ให้สัมภาษณ์ว่า “ขณะที่เราใช้เวลาทั้งวัน อยู่ที่โต๊ะ ได้แต่นั่งมองข้อมูลที่ไม่ได้ช่วยให้เราคิดอะไรออกขึ้นมาเลย การออกเดินจะช่วยสลัดความรำคาญใจเหล่านั้นออกไปได้”
“การเดินเล่นพูดคุยจะให้อิสระกับผู้เรียนในการคิดเกี่ยวกับงานวิจัยของตัวเองอย่างไม่ต้องมีข้อจำกัด นักศึกษากับอาจารย์จะได้ถกปัญหาวิจัยกันอย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งถึงรากเหง้าของปัญหา”
รูปแบบการให้คำปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์แบบใหม่ ที่เรียกว่า “walking supervision” นี้ กำลังเป็นที่ชื่นชอบจากบรรดานักศึกษาปริญญาเอกเป็นอย่างมาก
การออกไปเดินเล่น หรือ ไปนั่งคุยกันในผับรอบๆ มหาวิทยาลัย แทน การให้คำปรึกษาในรูปแบบเดิมให้ผลลัพท์ที่ดีกับนักศึกษา
ในความคิดเห็นของอาจารย์ Jones “การออกจากห้องทำงาน จากบรรยากาศวิชาการแบบเดิมๆ จะช่วยให้นักศึกษาได้เปิดใจกับอาจารย์ ได้เป็นตัวเองอย่างแท้จริง และไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาได้ยินบทสนทนา นักศึกษาสามารถที่จะโกรธ หรือ หัวเราะกับอะไรก็ได้ เพราะมีแค่อาจารย์กับนักศึกษา ในระหว่างการเดินนั้น”
“ช่วงเวลาที่ออกเดินเป็นเวลาที่ได้ ‘คุย’ และ ‘อยู่’ เพื่อนักศึกษาอย่างแท้จริง ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีอีเมล์ หรือแม้แต่คนที่จะมาเคาะประตู ฉันคิดว่านักศึกษาเองก็น่าจะชอบรูปแบบเช่นนี้”
“วิธีการที่ฉันทำอาจจะดูท้าทายกับรูปแบบการให้คำปรึกษาและเกณฑ์การชี้วัดผลผลิตทางวิชาการแบบเดิมอยู่บ้าง เพราะอาจารย์ส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าการวัดผลผลิตทางวิชาการนั้นน่าจะต้องเกี่ยวข้องกับการนั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะ ซึ่งหลายครั้งสิ่งแวดล้อมเช่นนั้นไม่ได้ช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้เลย”
Sarahjane Jones ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Times Higher Education’s inaugural Outstanding Research Supervisor of the Year Award รางวัลที่มอบให้กับอาจารย์ที่ปรึกษาวิจัยยอดเยี่ยมแห่งปี ซึ่งจะประกาศผลผู้ที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้ารอบ ในวันที่ 1 กันยายน 2559 นี้
สำหรับวิธีให้คำปรึกษาแบบไม่ปกติอื่น ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนี้ด้วย ได้แก่ การจัดงานแสดงการร้องเพลง ของ Julie Andrews ชื่อเพลง “I Have Confidence” จากภาพยนตร์เรื่อง The Sound of Music ในวันก่อนที่นักศึกษาจะสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ (viva) เป็นประจำทุกปี โดย คณบดี Enlli Thomas จาก Bangor University’s School of Education
Times Higher Education ระบุว่า นักศึกษาปริญญาเอกอีกหลายคนยังชื่นชอบและพูดถึงการที่อาจารย์ที่ปรึกษาย้ายสถานที่ให้คำปรึกษาไปนั่งคุยในร้านกาแฟ หรือในผับใกล้มหาวิทยาลัย เปิดโอกาสให้กลุ่มนักศึกษาได้พูดคุยกันอย่างอิสระ
Peter Hegarty ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Surrey หนึ่งในผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนี้ จากแนวทางที่เขาสนับสนุนให้นักศึกษาปริญญาเอกได้มีโอกาสพูดคุยปรึกษาปัญหากันเอง
ศาสตราจารย์ Hegarty อธิบายว่า “การพบปะอย่างไม่เป็นทางการในรูปแบบกลุ่ม เป็นวัฒนธรรมการเรียนปริญญาเอกในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ฉันไปเรียนปริญญาเอกจบมา”
เขาเห็นด้วยกับการเปลี่ยนรูปแบบการให้คำปรึกษาจากแบบหนึ่งต่อหนึ่งระหว่างอาจารย์ที่ปรึกษากับนักศึกษาที่เป็นทางการ มาเป็นการพูดคุยถกเถียงกันในผับ
“แนวทางนี้เป็นแนวทางที่ดีในการสร้างชุมชนวิชาการ ให้นักศึกษาได้สร้างเครือข่ายกับนักวิชาการจากหลากหลายคณะและสาขาวิชา และน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาความเป็นนักวิชาการของพวกเขา”
“ถึงแม้รูปแบบนี้จะยังไม่ได้รับการจัดอยู่ในกรอบมาตรฐานรูปแบบการสอนของหน่วยงานการประกันคุณภาพ (Quality Assurance Agency) แต่การพูดคุยให้คำปรึกษาแบบไม่เป็นทางการนี้แหละที่จะเอื้อให้นักศึกษาได้ “คิด” เกี่ยวกับความสนใจในงานวิจัยหรือในการมาเรียนปริญญาเอก” ศาสตราจารย์ Hegarty กล่าวทิ้งท้าย
จากบทความข้างต้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า วิธีการให้คำปรึกษาในรูปแบบใหม่ นอกพื้นที่เดิมๆ กลับกลายเป็นช่องทางที่ผู้เรียนปริญญาเอกจะได้เรียนรู้ เติบโต ค้นพบผู้อื่น และค้นพบตัวเองได้มากที่สุด
ถึงเวลาหรือยังที่เราจะ “go the extra mile”?
เพราะบางที การทำอะไรเกินกว่าที่ใครคาดหวัง ลองค้นหาเส้นทางของตัวเอง ไปไกลกว่าที่ที่เคยอยู่ ท้าทายการเดินตามรูปแบบเดิม พื้นที่แห่ง “ความสุข” และ “ความสำเร็จ” อาจรออยู่ข้างหน้า
อย่างน้อยการได้ทำอะไรที่ต่างออกไปบ้าง จะช่วยเปิดมุมมอง ทำให้เราได้ออกจากกรอบที่เคร่งครัดและเคร่งเครียด ที่ไม่ได้เอื้อให้เราคิดอะไรออก รวมถึงอาจกำลังนำเราไปสู่ทางตันก็เป็นได้…
#ไม่ลองไม่รู้ #justaphd #gotheextramile
Credit text: https://www.timeshighereducation.com/…/is-it-time-to-take-p…