ว่าด้วยการใช้ Calendar และ Research Diary ให้เป็นประโยชน์กับการเรียนปริญญาเอก โดย วัชรพล พุทธรักษา :: Guest Blog Post

การศึกษาในระดับปริญญาเอกเป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนถูกคาดหวังและกำหนดให้เป็นตัวแสดงสำคัญในการแสวงหาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยตัวผู้เรียนเอง ไม่ใช่การเรียนที่มีผู้สอนคอยบอกและป้อนข้อมูลให้เช่นที่เคยพบเจอในการเรียนระดับอื่นๆ ดังนั้นปัญหาใหญ่สำหรับผู้เรียนในระดับนี้ที่มักเกิดขึ้น (โดยเฉพาะผู้ที่เรียนปริญญาเอกในระบบที่มุ่งเน้นการวิจัยอย่างเดียว เช่น ในประเทศอังกฤษ หรือออสเตรเลีย) ไม่ใช่เหตุผลเรื่องการเรียนไม่ไหว หรือไม่มีศักยภาพมากพอที่จะเรียน (กล่าวคือผู้เรียนที่ต้องระงับการเรียนไปด้วยเหตุผลนี้ก็มีอยู่บ้าง แต่ถือเป็นคนส่วนน้อยมากๆ เพราะกว่าที่แต่ละคนจะบากบั่นฝ่าฟันมาในหลายๆด่านเพื่อเข้าเรียนปริญญาเอกได้นั้น ก็ต้องถือว่าทุกคนมีศักยภาพที่ดีพอตัว)

แต่ปัญหาที่พบโดยมากคือ “การที่ผู้เรียนไม่สามารถจัดสรรเวลาในการเรียนได้อย่างลงตัว”  นักเรียนหลายคนเมื่อเห็นว่ามีเวลาว่างค่อนข้างมากเนื่องจากไม่มีการบังคับเข้าห้องเรียน (หรือผู้ที่เรียนรายวิชาครบหมดแล้ว) หลายคนเลือกที่จะรอคอยให้อาจารย์ที่ปรึกษาเรียกไปพบว่าจะทำอะไรกับงานวิจัยของตนเองต่อไป หรือหลายคนก็เลือกที่จะพักผ่อน ท่องเที่ยว หรือใช้เวลาไปกับสันทนาการต่างๆอย่างมากมายเกินไป นักเรียนปริญญาเอกหลายคนเริ่มรู้สึกตัวเมื่ออาจจะ “สายเกินไป” หลายคนคิดว่า “หากรู้เช่นนี้น่าจะแบ่งเวลาให้ดีกว่านี้” หรือ “ทำไมเวลาจึงเดินเร็วเช่นนี้” ฯลฯ

ความเป็นจริงก็คือเวลานั้นก้าวเดินอย่างมั่นคงเท่าเดิมในทุกวัน และทุกๆคนก็ต้องมีเวลาที่เท่ากัน และนั่นเป็นสิ่งที่ยุติธรรมที่สุดคือ 24 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับนักเรียนปริญญาเอกก็คือจะต้องบริหารเวลาอย่างไรภายใต้เวลาที่มีเท่ากันนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด บทความสั้นๆที่นำเสนอในที่นี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์โดยส่วนตัว (ซึ่งผู้เขียนได้เรียนรู้และประยุกต์จากอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ชาวเยอรมันมาอีกทีหนึ่ง)

โดยจะนำเสนอเทคนิคที่แสนธรรมดาแต่มีประโยชน์ 2 เรื่องด้วยกันคือการใช้ประโยชน์จาก “การใช้ปฏิทิน” และ “การเขียนบันทึกเกี่ยวกับงานวิจัย” (ส่วนเทคนิคและประสบการณ์แบบอื่นในการเอาตัวรอดจากปริญญาเอกนั้นหาอ่านได้เพิ่มเติมจากประสบการณ์ของนักวิจัยท่านอื่นๆทางเพจ “ก็แค่ปริญญาเอก” )

1)       การใช้ประโยชน์จากปฏิทิน

การใช้ปฏิทินนั้นอ่านดูแล้วเป็นเรื่องสามัญที่ใครๆก็ใช้กัน ผู้คนใช้ปฏิทินเพื่อดูวันและเดือนกันเป็นปกติอยู่แล้วก็จริง แต่ปฏิทินนั้นสามารถนำมาใช้ช่วยในการวางแผนการทำงานวิจัยให้นักเรียนปริญญาเอกได้ดีมาก การใช้ปฏิทินในที่นี้จะใช้ปฏิทินที่เป็นกระดาษจริง (หากมีขนาดใหญ่หน่อยก็จะดีมากเพื่อให้สามารถเขียนสิ่งที่ต้องการทำลงไปได้มากขึ้น) หรือจะใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์โดยใช้ปฏิทินของ Google หรือ Applications ต่างๆในระบบของโทรศัพท์มือถือก็ได้เช่นกัน

แต่ในกรณีของผู้เขียนนั้นเลือกใช้ปฏิทินตั้งโต๊ะที่มีขนาดใหญ่พอสมควรเพื่อให้มีพื้นที่ในการเขียนมากขึ้น หลักการใช้ปฏิทินในที่นี้ก็เป็นเรื่องสามัญที่หลายคนสามารถคาดเดาได้ซึ่งก็คือการวงและขีดเขียนลงไปบนปฏิทินของเราว่ากำหนดการสำหรับการส่งงานให้อาจารย์ที่ปรึกษาครั้งถัดไปคือวันที่เท่าไร ในกรณีของผู้เขียนนั้นทุกครั้งที่ไปพบอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อรับฟังความเห็นจากงานที่ได้ส่งไป ก่อนจบการพบกันทุกครั้งอาจารย์จะนำปฏิทินตั้งโต๊ะมากางแล้วถามผู้เขียนว่า ด้วยเนื้อหางานใหม่ที่จะต้องเขียนซึ่งมีความยาวระดับนี้ (เช่น 1 บท 12,000 คำ ในสายสังคมศาสตร์) ผู้เขียนคาดว่า จะใช้เวลาเท่าไรและจะส่งงานได้เมื่อใด เมื่ออาจารย์ที่ปรึกษาพิจารณาแล้วเห็นว่าวันและเดือนที่เราเสนอไปนั้นสมเหตุสมผล (เช่น เป็นเวลาสามเดือนนับจากนี้) อาจารย์ที่ปรึกษาจะอนุญาตแล้ววงลงไปในปฏิทินของท่านว่าอีกสามเดือนนับจากวันที่คุยกันนักเรียนปริญญาเอกผู้นี้จะต้องส่งงาน (อย่างไรก็ตามสามารถส่งก่อนหรือหลังจากวันที่กำหนดได้เล็กน้อยโดยมีข้อแม้ให้เขียนอีเมล์มาขออนุญาตก่อนเสมอ)

อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่การมีปฏิทินไว้เพื่อเพียงเขียนวันที่จะต้องส่งงานลงไปเท่านั้น สิ่งที่สำคัญกว่านั้นมากคือนักเรียนปริญญาเอกต้องมี “Spirit” ที่จะ “เคารพ” ต่อเส้นตายที่ได้ขีดเขียนไว้ในปฏิทินด้วยตัวเราเอง เมื่อเรากำหนดไว้แล้ว เช่น งานจะต้องส่งภายในวันที่ 31 สิงหาคม ให้เราตั้งเป้าที่จะต้องทำงานชิ้นนั้น/บทนั้นให้แล้วเสร็จภายในวันที่กำหนดแล้วทำให้ได้อย่างแท้จริง ข้อดีของการยึดมั่นในเส้นตายที่กำหนดไว้ในปฏิทินก็คือผู้เรียนจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าขณะนั้นเรากำลังจะทำอะไรและควรจะทำอะไรต่อบ้าง อาจารย์ที่ปรึกษาเองก็จะได้ทราบด้วยเช่นกันว่าขณะนั้นผู้เรียนกำลังทำอะไรอยู่และอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องในการก้าวไปสู่ PhD หรือไม่ และที่สำคัญกว่านั้นก็คือผู้เรียนก็จะสามารถจัดสรรวันว่างเพื่อไปใช้ชีวิต พักผ่อน ดูหนัง ชมฟุตบอลที่สนาม ชมละครเวที หรือสันทนาการอื่นๆ ได้ตราบเท่าที่ภายใต้เส้นตายนั้นเรายังสามารถควบคุมหรือจัดการงานชิ้นที่ได้รับมอบหมายได้ดี เส้นตายในปฏิทินไม่ได้มีไว้เพื่อบอกว่าต้องทำเฉพาะงานเท่านั้น แต่ในทางกลับกันมันทำให้เราสามารถวางแผนเพื่อ Balance การใช้ชีวิตของเราได้ดีขึ้นอีกด้วย

2)       การเขียนบันทึกเกี่ยวกับงานวิจัย

หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ในการเขียนสมุดบันทึกเรื่องราวประจำวัน (Diary) อยู่บ้าง ผู้เขียนเองไม่เคร่งครัดกับการเขียนสมุดบันทึกประจำวันในแบบการจดบันทึกเรื่องราวทั่วไปนัก แต่ผู้เขียนมองเห็นว่าการเขียนบันทึกเกี่ยวกับเรียนปริญญาเอกเป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อการติดตามความก้าวหน้าและสถานะของผู้เรียนเอง สำหรับผู้เขียนนั้นเลือกใช้วิธีการพิมพ์บันทึกในโปรแกรมเวิร์ดและตั้งชื่อไฟล์ว่า “My PhD Journey” แล้วบันทึกเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับการเรียนปริญญาเอกทั้งหมดไว้ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการหาที่เรียน การหาอาจารย์ที่ปรึกษา การไปมหาวิทยาลัยวันแรก การส่งงานบทแรก การประเมินความก้าวหน้าครั้งแรก ฯลฯ และทุกๆรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการเรียน

ผู้เขียนพบว่า การทำเช่นนี้มีประโยชน์อยู่สองทางเป็นอย่างน้อย ประการแรก คือ ทำให้ผู้เรียนปริญญาเอกสามารถทบทวนสิ่งที่ได้ทำไปแล้วตั้งแต่เริ่มต้นการเรียนว่าผู้เรียนนั้นกำลังอยู่บนเส้นทาง (Track) ที่ถูกต้องหรือไม่ เช่น ในบางมหาวิทยาลัยระบุว่าจะต้องมีการสอบเพื่อเลื่อนสถานะ (จาก MPhil กล่าวคือในระบบอังกฤษดั้งเดิมนั้นแม้ผู้เรียนจะสมัครเพื่อเข้าเรียนปริญญาเอกก็ตาม แต่ในปีแรกผู้เรียนจะถูกให้ลงทะเบียนเป็นนักเรียน MPhil โดยอัตโนมัติ) ไปสู่การเป็น PhD Candidate  (Upgrading Examination แต่ทุกวันนี้หลายมหาวิทยาลัยเริ่มเปลี่ยนมาเรียกกระบวนการนี้ว่า First Year Review หรือ Confirmation of PhD Status แทน) ภายในระยะเวลา 12-18 เดือน การที่ผู้เรียนจดบันทึกกระบวนการเรียนที่สำคัญไว้ทั้งหมดนั้นทำให้เราสามารถทบทวนตัวเองได้อย่างง่ายดายและชัดเจนว่าเรากำลังเดิน “ช้าหรือเร็ว” เกินไปหรือไม่เมื่อเทียบกับกระบวนการปกติที่มหาวิทยาลัยกำหนด

ประการที่สอง การเขียนบันทึกการเดินทางสายปริญญาเอกนั้นยังสามารถช่วยในการมองไปข้างหน้า (Looking forward) ได้อีกด้วย หากผู้เรียนบันทึกภาพเป้าหมายในอนาคตเอาไว้เพื่อเป็นแรงจูงใจในการเรียน เช่น ระบุไว้ตั้งแต่เริ่มเรียนว่าในอีก 12 เดือนจะต้องสอบเลื่อนสถานะให้สำเร็จ เมื่อครบ 24 เดือนจะต้องเก็บข้อมูลภาคสนามได้ครบถ้วน เมื่อครบ 36 เดือนจะต้องเสร็จสิ้นกระบวนการวิจัย เป็นต้น เมื่อกระบวนการเรียนปริญญาเอกผ่านไปในแต่ละสัปดาห์แต่ละเดือน เราก็จะสามารถมองเห็นภาพรวมของกระบวนการได้ว่า เรายังคงอยู่ห่างจากเป้าหมายที่ตั้งไว้อีกไกลแค่ไหน และนั่นหมายถึงว่าเราจะสามารถวางแผนได้ว่าเราจะยังสามารถเย็นใจได้อยู่ หรือควรจะร้อนใจได้แล้วหรือไม่หากเราตามหลังเป้าหมายที่กำหนดไว้เสียแล้ว

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการใช้ปฏิทินและการเขียนบันทึกนั้นเป็นสิ่งที่ปกติธรรมดาและเราก็ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตามผู้เรียนสามารถใช้กลยุทธ์สองอย่างนี้ได้เพื่อสร้างแรงจูงใจ/แรงกระตุ้นในการทำงาน วางแผนการใช้ชีวิตให้สมดุลระหว่างการทำงานวิชาการและการใช้ชีวิตทั่วไป รวมถึงการพักผ่อน อีกทั้งยังทำให้ผู้เรียนมองเห็นภาพรวมความก้าวหน้าของกระบวนการเรียนทั้งหมดของตนเองได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ทั้งนี้หากผู้เรียนมีวินัยในตัวเอง รักษาความก้าวหน้าด้วยตนเองได้ก็จะเป็นพื้นฐานที่ดีมากในการเดินทางสู่สิ่งที่เรียกว่า (ก็แค่) “ปริญญาเอก” ได้ในท้ายที่สุด

received_10153652251522339
ดร.วัชรพล พุทธรักษา

ป.ล. 1 ขอขอบคุณเพจ “ก็แค่ปริญญาเอก” ที่ให้เกียรติผู้เขียนนำเสนอบทความในที่นี้ และขอขอบคุณที่ทำเพจที่ดีและมีประโยชน์ให้กับชุมชนวิชาการไทย

ป.ล. 2 ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทความอื่นๆของผู้เขียนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนปริญญาเอกได้ดังต่อไปนี้

–          “ข้อคิด 10 ประการเพื่อการเรียนปริญญาเอกในระบบอังกฤษให้ประสบความสำเร็จ” ที่ https://goo.gl/5on6UI

–          “ว่าด้วยระบบการยืมหนังสือข้ามห้องสมุดของมหาวิทยาลัยในอังกฤษ” ที่ https://goo.gl/BvsTrt

–          “ว่าด้วยระบบติดตามความก้าวหน้าวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยยอร์ก” ที่ https://goo.gl/E8kzgF

กี่ยวกับผู้เขียน

วัชรพล พุทธรักษา สำเร็จการศึกษา PhD (Politics) จาก University of York สหราชอาณาจักร เมื่อปี 2557 และได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ: รางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดีมาก สาขารัฐศาสตร์ จากสภาวิจัยแห่งชาติ และได้รับรางวัล The Anglo-Thai Society Educational Awards of Excellence in Humanities and Social Science ในปี 2556 มีหนังสือวิชาการตีพิมพ์ล่าสุดเรื่อง “บทสำรวจความคิดทางการเมืองของอันโตนิโอ กรัมชี่” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สมมติ ปัจจุบันเป็นอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ติดต่อผู้เขียนได้ที่ watcharabonb@nu.ac.th
———

เพจก็แค่ปริญญาเอก ขอขอบคุณบทความที่มีค่าและน่าติดตามจาก ดร.วัชรพล เป็นอย่างมากค่ะ
เรายินดีเปิดพื้นที่สำหรับการแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับ “การเรียนปริญญาเอก”
มาร่วมแบ่งปัน ช่วยกันสร้างชุมชนดีดี

1 ความเห็น

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s