1.ระบุและตัดสินใจให้ชัดว่าผู้เรียนต้องการสร้าง “คอนเทนต์” อะไร? เพราะเหตุใด? สร้างแล้วจะมีประโยชน์กับใคร อย่างไร? การกำหนดเป้าหมายได้อย่างชัดเจนแต่ต้นจะช่วยให้การเดินทางราบรื่นและไม่หลงวกวน
2.เมื่อมองเห็นทิศทางที่จะไปชัดเจน ให้เริ่มค้นหา คัดสรร อ่านทบทวน และรวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นอย่างเข้มข้นจริงจัง
3. ขณะที่อ่าน ควรทำการจัดระบบการบันทึก จดประเด็นสำคัญต่างๆ รวมถึงชื่อหนังสือ ชื่อผู้แต่ง เลขหน้าของเอกสารที่อ่านทุกเล่มด้วย เพราะคอนเทนต์ที่ “ปัง” จำเป็นต้องมีแหล่งที่มาและการอ้างอิงที่ถูกต้อง
4. การเชื่อมโยงสิ่งที่อ่านเข้ากับประเด็นวิจัย การเชื่อมโยงเนื้อหาแต่ละเล่มที่อ่านเข้าหากัน ความพยายามที่จะคิด วิเคราะห์ วิพากษ์งานแต่ละชิ้นที่อ่าน เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง “คอนเทนต์” ใน “แบบฉบับของตัวเอง” ที่จะนำสู่ความ “ปัง” ในที่สุด
5.เมื่อได้อ่าน ทบทวน สะสมองค์ความรู้ในระดับหนึ่งแล้ว ให้ออกไปเก็บ “ข้อมูลใหม่ๆ” ของตัวเอง จากพื้นที่วิจัย
6. คอนเทนต์จะปังหรือไม่ปัง ขึ้นอยู่กับช่วงของการเก็บข้อมูลในพื้นที่วิจัยนี้ เพราะสิ่งที่ได้รับจะกลายมาเป็น “คอนเทนต์เฉพาะตัว” ขั้นตอนนี้จึงเป็นหัวใจสำคัญของการทำวิจัย จงใส่ใจและทุ่มเทเต็มร้อย !!
7. ขั้นตอนต่อไปคือการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบคำถามการวิจัย ขั้นตอนนี้เป็นอีกขั้นตอนสำคัญในการนำเสนอ “มุมมองใหม่ๆ” และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างคอนเทนต์ให้ “ปัง”
8. การแบ่งปันและนำเสนอคอนเทนต์ของงานวิจัยผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การเขียนบทความวิชาการ หรือ การนำเสนอผลงานในงานประชุมวิชาการ เป็นการเปิดโอกาสให้คอนเทนต์ได้รับการปรับปรุง พัฒนา และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น
9.คอนเทนต์ที่ “ปัง” ต้องอาศัยการสั่งสมประสบการณ์ ลองผิด ลองถูก แก้ไข ปรับปรุง ใจเย็นๆ ค่อยๆ บ่มเพาะจนกว่าจะถึงวันที่ “ใช่” ของตัวเอง
สำหรับการทำวิจัยในระดับปริญญาเอก การสร้างคอนเทนต์ให้ “ปัง” หรือ การมี “ข้อมูล” และ “มุมมองในการวิเคราะห์” ที่มีคุณค่า มีแบบฉบับเฉพาะตัวนั้น เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะนำสู่ความสำเร็จ