อะไรคือความเหมือนและแตกต่างระหว่างปริญญาโทและเอก?

red-sneakered-feet-walking-towards-phd.jpg

ปริญญาโทและปริญญาเอกมีความเหมือนกันตรงที่

ทั้งสองเป็นการเรียนในระดับอุดมศึกษา หรือ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า higher education ซึ่งหมายถึงการศึกษาในระดับที่สูงกว่าขั้นพื้นฐาน โดยปริญญาโทและเอกนั้นถูกจัดอยู่ในกลุ่มของการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (graduate studies/ postgraduate studies)

อันเป็นการเรียนที่ต่อยอดมาจากปริญญาตรี เป็นการเรียนในระดับที่ก้าวหน้าและสูงขึ้น โดยทั่วไปแล้วหมายถึง การเรียนที่แคบลง เฉพาะเจาะจง และมีความลึกซึ้งมากขึ้น รวมถึงเป็นการเรียนที่เน้นการฝึกนำความรู้ทางทฤษฎีไปวิเคราะห์ และทำความเข้าใจปรากฎการณ์ต่างๆ เรียนรู้ทักษะการประยุกต์และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ นอกเหนือจากการเรียนเพื่อเพิ่มพูนตัวความรู้เพียงอย่างเดียว ปริญญาโทและปริญญาเอกจึงเป็นการเรียนที่เน้นการนำศาสตร์ไปใช้ได้จริงอย่างเหมาะสม

สำหรับทักษะการประยุกต์ใช้ความรู้นี้ อาจจะทำผ่านการเรียนในระดับบัณฑิตศึกษาหรือไม่จำเป็นก็ได้ เพราะบางคนเรียนจบระดับปริญญาตรี พบอาชีพที่เหมาะกับตัวเอง มีโอกาสพัฒนาทักษะต่างๆในที่ทำงานจริง เมื่อฝึกฝนจนชำนาญก็ส่งผลให้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเป็นอย่างมาก โดยไม่ต้องจบปริญญาโทและปริญญาเอกเลยก็ได้

ด้วยเหตุนี้ ใบปริญญาจึงเป็นเครื่องหมายการันตีการสำเร็จการศึกษาในระบบ เพื่อแสดงให้ผู้จ้างงานทราบว่าบุคคลนี้ได้ใช้ช่วงระยะเวลาหนึ่งในการเพิ่มพูนความรู้ ฝึกฝนทักษะต่างๆ ตามมาตรฐานข้อเรียกร้องของมหาวิทยาลัยมาแล้ว แต่ใบปริญญาไม่สามารถสะท้อนทุกแง่มุมของบุคคลนั้นได้ หรือไม่สามารถการันตีความสำเร็จนอกรั้วมหาวิทยาลัยได้ เพราะการที่จะก้าวหน้าในชีวิตได้หรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นกับใบปริญญาเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ว่าบุคคลนั้นจะต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ยังคงตั้งมั่นอยู่กับการฝึกฝน ขัดเกลา พัฒนาทักษะความรู้ให้เหมาะสมกับงานและชีวิตอย่างต่อเนื่อง

ปริญญาโทและปริญญาเอกมีความต่างกันตรงที่

ปริญญาโท เน้น การเรียนการสอนรายวิชา (Course work) ในระดับที่ก้าวหน้าและสูงขึ้น โดยอาจจะมีหรือไม่มีการทำวิจัยก็ได้

ปริญญาเอก เน้น การทำวิจัย (Research) ในระดับที่ก้าวหน้าและสูงขึ้น โดยอาจจะมีหรือไม่มีการเรียนการสอนรายวิชาก็ได้

จึงเห็นได้ชัดว่า การเรียนปริญญาเอก เป็นการเรียนที่เน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนทักษะการทำวิจัยเป็นสำคัญ เพราะเชื่อว่าในที่สุดของการเรียนรู้ ผู้เรียนจำเป็นต้องค้นคว้าและสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ๆได้ด้วยตนเอง โดยให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติผ่านการทำวิจัยในหัวข้อที่มีขนาดเล็ก แต่ลงไปให้ลึกถึงแก่นของความรู้ และในที่สุดสามารถสร้างองค์ความรู้ในแบบฉบับของตัวเองและขยายองค์ความรู้นั้นให้เป็นประโยชน์ในวงกว้าง

ตลอดระยะเวลาการเรียนปริญญาเอก 3-6 ปี ทักษะที่จะได้รับ คือ ทักษะการวิจัย ทักษะในการแสวงหาความรู้ และการต่อยอดองค์ความรู้ด้วยตัวเอง

ในขณะที่ การเรียนปริญญาโท เป็นการเรียนที่เน้นให้ผู้เรียนได้ทราบในองค์ความรู้ที่เฉพาะเจาะจงและลึกซึ้งกว่าระดับอื่นๆที่ผ่านมา อีกทั้งได้ฝึกฝนประยุกต์ความรู้ทางทฤษฎีไปใช้ในบริบทต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม แต่ไม่ถึงกับต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ ลึกซึ้งถึงแก่นเท่ากับปริญญาเอก ในเชิงเปรียบเทียบ การเรียนในระดับปริญญาโทจึงจะมีความกว้างขวางในแง่ขององค์ความรู้มากกว่าการเรียนในระดับปริญญาเอกที่ใช้เวลาโดยส่วนใหญ่มุ่งศึกษาหัวข้อวิจัยเพียงเรื่องเดียวอย่างลึกซึ้ง

ในแง่นี้ ความรู้ในระดับปริญญาโทก็จะเหมาะและตอบโจทย์กับงานที่มีความกว้างและหลากหลาย และก็เพียงพอในการนำไปปรับใช้กับชีวิตและงานต่างๆ ได้ เพราะในความเป็นจริงเมื่อไปทำงานนั้นๆ ผู้เรียนจบไม่ว่าจะในระดับใด ก็จำเป็นต้องไปสั่งสมประสบการณ์และความชำนาญต่างๆ ในสายอาชีพนั้นๆ เพิ่มเติมอยู่ดี

ก่อนจะตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทหรือปริญญาเอก

ผู้เรียนจึงจำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของการศึกษาในแต่ละระดับ อีกทั้งต้องพิจารณาไปที่ความต้องการของตัวเองว่าสนใจทำอาชีพอะไร สายงานที่มีความชอบ มีความถนัดคืออะไร และสำหรับเส้นทางแห่งวิชาชีพของตนนั้น การเรียนต่อในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกนั้นจะช่วยเอื้อประโยชน์ใดให้กับตัวผู้เรียนและให้กับงานนั้นๆ หรือไม่อย่างไร

เพราะในบางสายงาน การเรียนจบปริญญาเอกก็ไม่มีความจำเป็น หรืออาจถูกมองว่าเป็นความฟุ่มเฟือยที่เกินตัว เพราะผู้จ้างงานอาจไม่มีความสนใจพนักงานที่มีทักษะการวิจัย การถ่ายทอดความรู้ หรือการต่อยอดองค์ความรู้ ในขณะที่บางสายงาน ทักษะการวิจัย การถ่ายทอดความรู้ และ การต่อยอดองค์ความรู้ นั้นเป็นที่ต้องการอย่างมาก

แต่หากผู้เรียนมองทะลุลงไปและเห็นว่า ถึงแม้ผู้จ้างงานจะไม่สนใจ แต่ตัวผู้เรียนเองนั้นมีความสนใจที่จะเพิ่มพูนทักษะการวิจัย ต้องการเรียนรู้ ฝึกฝน เกี่ยวข้องอยู่กับ การวิจัยในประเด็นใดประเด็นหนึ่งในช่วงระยะเวลา 3-6 ปี

เพราะเห็นประโยชน์ของการฝึกฝนเคี่ยวกรำตัวเองในทางนี้ การเรียนปริญญาเอกก็จะเอื้อประโยชน์ที่สอดคล้องตามสิ่งที่ผู้เรียนเข้าใจและเห็นซึ่งประโยชน์แล้วนั้น

ดังนั้นการจะเรียนหรือไม่เรียนปริญญาเอกนั้น จะต้องพิจารณาไปที่ ฉันทะและความสนใจของผู้เรียน รวมถึง เส้นทางการเจริญเติบโตในสายวิชาชีพที่สนใจ และความต้องการของผู้จ้างงาน เป็นสำคัญ เพราะในประการแรก ถ้าผู้เรียนไม่ได้มีความรักชอบ ในการทำงานวิจัย ในการแสวงหาความรู้ และการแบ่งปันมุมมองใหม่ๆ ในเชิงวิชาการ และในประการที่สอง หากปริญญาเอกที่เรียนนั้นจะไม่ได้สร้างประโยชน์ใดให้กับงานหรือผู้จ้างงาน การไขว่คว้าให้ได้มาซึ่งปริญญาเอกก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำหรือจำเป็นนัก 

ก่อนจะตัดสินใจเรียนปริญญาเอกจึงจำเป็นต้องตรวจสอบปัจจัยต่างๆของตัวเอง เช่น ความสนใจและความพร้อมของตัวเองด้วย  เพราะภาระในการทำวิจัยเพื่อให้แล้วเสร็จเพื่อบรรลุตามมาตรฐานของปริญญานั้น มีความท้าทายและความยากในตัวของมันเอง ผู้เรียนจึงจำเป็นต้องจัดการกับสภาวะแวดล้อมและปัจจัยอื่นๆ ของตัวเองให้แล้วเสร็จก่อนตัดสินใจสมัครเรียน ต้องแน่วแน่ ชัดเจน กับตัวเองและทางที่เลือกเดินว่าใช่แล้ว ดีแล้ว เพราะเมื่อเจอความท้าทายข้างหน้า อย่างน้อยความตั้งใจและเข้าใจในเบื้องแรกก็จะทำให้ผู้เรียนมีกำลังใจที่จะมุ่งมั่นไปให้ถึงซึ่งความสำเร็จได้ในที่สุด

#เพจก็แค่ปริญญาเอก
@Copyright 2016 Dr. Pad Lavankura #เพจก็แค่ปริญญาเอก

ติดตามข้อคิด มุมมอง และเก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจดีๆ เกี่ยวกับการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาได้ที่ Facebook ก็แค่ปริญญาเอก

Credit Photo from: https://www.timeshighereducation.com/news

 

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s