การเรียนปริญญาเอกถึงกับต้องเข้าถ้ำกันเลยหรือ? ต้องตัดขาดกับผู้คนขนาดนั้นเลยหรือ?
หลายคนที่ไม่ได้เรียน หรือ บางคนที่เรียน แต่ยังเดินทางไปไม่ถึงฤดูกาลเข้าถ้ำ ถาม
ในขณะที่ผู้เรียนที่อยู่ในถ้ำ ก็ไม่สามารถที่จะตอบหรืออธิบายความรู้สึก หรือสภาวการณ์นั้นๆออกมาเป็นคำพูดได้
แอดมินเลยขอมาตอบแทนใจผู้เรียนในโพสต์นี้
แน่นอนว่า การเขียนงานวิทยานิพนธ์ให้สำเร็จ ผู้เรียนจำเป็นต้องใส่ใจ ให้เวลา มุ่งมั่น และวางใจจดจ่ออยู่ที่งาน
แต่ การเข้าถ้ำ หมายถึง การ ใส่ใจ ให้เวลา มุ่งมั่น และวางใจจดจ่ออยู่ที่งาน ในระดับที่สูงที่สุดของที่สุด เพื่อตกผลึกและให้ได้มาซึ่งชิ้นงานที่มีความเป็นต้นฉบับ เลอค่าและหนักแน่นอยู่ในตัวเอง
ในช่วงเวลาแห่งการเขียนเล่ม (writing-up) เป็นช่วงเวลาที่ต้องมีการอ้างอิงข้อมูล แนวคิด ข้อถกเถียงของนักวิชาการคนโน้น คนนี้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และนำมาเชื่อมโยงกับ ข้อมูล แนวคิด และข้อถกเถียงต่างๆ ของผู้เรียนเอง
การตกผลึกซึ่งความคิด และนำมาเขียนเป็นงานวิชาการไม่ใช่เรื่องง่าย
โดยเฉพาะ ผู้เรียนปริญญาเอกที่ต้องทำงานชิ้นนี้เป็นครั้งแรก เป็นเรื่องที่สุดยอดท้าทาย ที่จะฝ่าแต่ละด่าน แต่ละบทไปได้
ที่ว่าไม่ง่ายเลย เพราะการเขียนงานวิชาการเป็นการเขียนที่มีหลักการและมาตรฐานเฉพาะ การเขียนงานวิชาการไม่ใช่เรื่องที่คิดอยากจะเขียนอะไรก็เขียนได้ตามใจฉัน แต่การเขียนงานวิชาการนั้นต้องมีรูปแบบและลักษณะที่เป็นไปตามที่วงการวิชาการคาดหวังและประพฤติปฏิบัติกันมา และในที่สุดงานแต่ละชิ้นต้องได้รับการตรวจสอบและยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงสาขาวิชานั้นๆ
การเขียนแต่ละประโยคลงไปในวิทยานิพนธ์ให้ประสบผลสำเร็จ หมายถึง ความสามารถในการถ่ายทอดและเรียบเรียงความคิดและข้อมูลต่างๆ ที่มาจากการอ่าน การเก็บข้อมูลมาแล้ว มานำเสนอให้กับผู้อ่าน ด้วยภาษาที่เรียบง่าย ตรงประเด็น ในขณะเดียวกัน ต้องมีความหนักแน่น เป็นวิชาการ พร้อมเพรียงไปด้วยตรรกะที่ชัดเจน และแหล่งอ้างอิงข้อมูลที่ถูกต้อง
ดูเหมือนง่าย แต่เมื่อลงมือทำจริง การรวบรวมความความคิดต่างๆ ทั้งที่มีอยู่จริง และคิดว่ามีแต่ยังไม่มี ที่คิดว่าแม่นตรงแล้ว แต่ในความเป็นจริง ยังกระจัดกระจาย บิดเบี้ยว ไม่ครบถ้วน ซึ่งการจะตระหนักรู้ว่าความคิดในหัวนั้น พร้อมหรือไม่พร้อม สมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อได้นั่งลงเขียนเรียบเรียงออกมานั่นเอง
ความคิดในหัวเป็นเช่นไร งานเขียนของเราก็เป็นเช่นนั้น และบางทีนั่นคือสาเหตุที่ผู้เรียนต้องแก้ไข ปรับปรุง ดราฟท์แล้ว ดราฟท์เล่า เพื่อให้ได้ในงานเขียนที่มีความชัดเจนและพร้อมสรรพที่สุด
เพราะการเขียนประโยคใดๆ ที่ขาดเหตุผล หลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจน ย่อมจะทำให้งานนั้นๆ ถูกตีตกเอาง่ายๆ จากอาจารย์ที่ปรึกษาบ้าง จากกรรมการสอบบ้าง เพราะผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ คือ ผู้ที่ได้รับการฝึกฝน เพื่อมากำจัดจุดอ่อน ค้นหารูโหว่ของตรรกะของงานวิชาการแต่ละชิ้นอยู่แล้ว ด้วยต้องการให้งานแต่ละชิ้นมีคุณภาพ มีคุณประโยชน์ในการสร้างสรรค์ความก้าวหน้าให้กับแวดวงความรู้ให้มากที่สุด
การสร้างข้อถกเถียงทางวิชาการ อาจเปรียบได้กับการออกรบกับข้าศึก หรือไม่ก็เปรียบกับการคลอดลูก กว่าจะเบ่งออกมาได้สักหนึ่งประโยค หนึ่งย่อหน้า หรือ หนึ่งบท นั้น ผู้เรียนต้องมีสติ สมาธิ อย่างแรงกล้า ในการปล่อยและนำพาซึ่งข้อเขียนที่ดีมีคุณภาพขึ้นสู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ของตัวเอง
ลองคิดภาพว่าเราต้องเถียงกับใครสักคน (ในงานเขียนวิทยานิพนธ์ คือ การเถียงกับตัวเอง) และต้องหาเหตุผลมายืนยันข้อถกเถียงนั้นๆตลอดเวลา ต้องพยายามหาทุกเหตุผลที่มีอยู่ หาทุกวิถีทางในการอุดรูโหว่ต่างๆ เริ่มจากแต่ละคำ แต่ละประโยค แต่ละวรรคตอน แต่ละย่อหน้า จนถึงแต่ละบท จนเป็นเล่มวิทยานิพนธ์ ที่มีปริมาณคำประมาณ 80,000 คำ (อ้างอิงจากวิทยานิพนธ์สายสังคมศาสตร์ในประเทศอังกฤษ)
ด้วยข้อเรียกร้องทั้งหมดที่กล่าวมา จึงมีความจำเป็นที่ผู้เรียนต้อง “เข้าถ้ำ” โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลาประมาณ 1 ปีสุดท้ายของการเขียนเล่ม การเข้าถ้ำสำคัญมาก
หลายครั้งที่ทำสุดพลัง ก็ยังไม่พอ หลายครั้งต้องดึงพลังงานสำรองทั้งหมดที่เก็บสะสมไว้มาใช้ การลุกขึ้นมาเปิดตู้เย็น คว้าช็อกโกแล็ต ขนมหวาน ผลไม้ ในตู้เย็น จับใส่ปาก เคี้ยวๆๆ แล้วไปลุยงานต่อ เป็นกิจกรรมที่ต้องทำเป็นปกติ
ก่อนเข้าถ้ำ ต้องแน่ใจว่าในถ้ำมีเสบียงอาหารพร้อม เพราะพลังทั้งหมดที่ใช้ไปต้องได้รับการทดแทน
ในถ้ำ คือ ช่วงเวลาของตัวเองกับงานตรงหน้า ไม่สุงสิงกับใคร งด ละ เลิกโซเชียล เป็นเวลาที่ผู้เรียนจะได้อยู่กับตัวเอง พิจารณาความคิดของตัวเอง วนเวียนอยู่กับความคิดชุดเดียวนี้ เวลาเข้าถ้ำเป็น me time อย่างแท้จริง ผู้เรียนจะจมอยู่ในภวังค์แห่งการคิดและคุยกับตัวเอง
ในถ้ำ คือ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุด ไม่ต้องแต่งตัว ไม่ต้องเจอใคร ไม่ต้องยุ่งกับการคิดเพื่อผู้อื่น ไม่ต้องเสียเวลาในการประเมินว่าคนอื่นคิดอะไรกับเรา ไม่ต้องเสียเวลากับสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเวลาของการฝึกสติ มีสมาธิ และดึงเอาปัญญาของตัวเองออกมาทำงานตรงหน้าให้ดีที่สุด
การอยู่ในถ้ำ ด้วยใจที่นิ่ง ได้ใช้เวลาเต็มที่ในการสื่อสารกับงาน กับสมอง และกับใจของตัวเอง เป็นช่วงเวลาของการได้เติมเต็มตัวเองอย่างหนึ่ง สังเกตให้ดี สิ่งนี้จะนำมาซึ่งความสุขอย่างประหลาด
ถึงพลังทางกายจะค่อยๆลดระดับต่ำลงบ้าง แต่พลังทางใจ ความอิ่มเต็มสมบูรณ์ของการได้ลงมือทำจะค่อยๆเพิ่มระดับสูงขึ้น
ถ้าไม่ใช่ในถ้ำ คงทำไม่ได้ แม้เพียงชั่วขณะที่กำลังเรียบเรียงความคิดต่างๆอยู่นั้น หากมีใครมารบกวน สติและสมาธิที่หลุดจากภวังค์ตรงนั้น การจะกลับมาเริ่มใหม่ เรียบเรียงความคิดให้เชื่อมโยง สอดคล้องอีกครั้ง ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา
ในการเข้าถ้ำแต่ละครั้ง ผู้เรียนสามารถกำหนดเป้าหมายระยะสั้นของงานได้ และเมื่อใดที่งานสำเร็จตามเป้าหมาย ก็อนุญาตตัวเองออกมาจากถ้ำสักครั้งหนึ่ง
ถ้างานเสร็จตามเป้า เวลาเดินออกมาจากถ้ำ เราจะสามารถยิ้มกว้างให้คนอื่นได้เต็มที่
ทำและอยู่ ให้ถูกที่ถูกเวลา
ในถ้ำ ทำเต็มที่และดีที่สุด เพื่อตัวเองและงานตัวเอง เมื่ออิ่มเต็ม รู้สึกชอบงานตัวเองแล้ว ออกจากถ้ำ
นอกถ้ำ ทำเต็มที่ เพื่อผู้อื่น ไม่ต้องคิดถึงตัวเองและงานอีก
เมื่อถึงเวลาก็กลับเข้าถ้ำใหม่ ทำซ้ำๆแบบนี้ ตลอดการเรียนปริญญาเอก …
และในวันหนึ่ง มนุษย์ถ้ำทุกคนย่อมสำเร็จดังที่ตั้งใจ ตามเป้าหมายระยะยาวที่วางไว้อย่างแน่นอน
—————————-
โหลด #สติ๊กเกอร์ไลน์ จากเพจก็แค่ปริญญาเอก ไว้ใช้เวลาเข้าถ้ำ ได้แล้ววันนี้ที่
http://line.me/R/shop/detail/1229828
[หรือค้นหา Just a PhD]