GUEST BLOG POST ::: การเรียนปริญญาเอกในประเทศอังกฤษ โดย Watcharabon Buddharaksa
ว่าด้วยระบบการยืมหนังสือข้ามห้องสมุดของมหาวิทยาลัยในอังกฤษ
การจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ดีและมีคุณภาพนั้นนอกเหนือไปจากความพร้อมด้านคุณภาพของผู้สอน ความขยันใคร่รู้ของผู้เรียน อาคาร/สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน-การสอนแล้ว “ห้องสมุด” หรือขุมทรัพยากรทางปัญญานับได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่มหาวิทยาลัยจะละเลยการลงทุนและพัฒนาไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมหาวิทยาลัยนั้นๆตั้งใจจะสถาปนาตัวเองเป็น Research-based University ด้วยแล้ว การสร้างสรรค์ห้องสมุดให้มีความพร้อมสูงสุดเพื่อตอบสนองการค้นคว้าและเรียนรู้ทางวิชาการแขนงต่างๆยิ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง (หรือสำคัญที่สุดด้วยซ้ำ)
บันทึกชิ้นนี้ตั้งใจกล่าวถึง “ระบบ“ที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของห้องสมุดในมหาวิทยาลัยที่ประเทศอังกฤษ (กรณีเฉพาะมหาวิทยาลัยยอร์ก) ที่เป็นการเพิ่มศักยภาพในการให้บริการและเป็นการ “ลดช่องว่าง” ของความแตกต่างระหว่างมหาวิทยาลัยที่มีขนาดและทรัพยากรที่แตกต่างกัน ระบบที่ว่านั้นก็คือ “ระบบการยืมหนังสือข้ามห้องสมุด” หรือที่เรียกว่า Interlending System (ทั้งนี้เข้าใจว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆก็จะมีการให้บริการแบบเดียวกันนี้ แต่อาจจะเรียกชื่อแตกต่างกันไปเท่านั้นเอง)
ระบบ Interlending นั้นเป็นการบริการให้นักศึกษาสามารถ request หนังสือ รวมถึงบทความในวารสารที่ไม่สามารถหาได้ในห้องสมุดของยอร์ก โดยที่ห้องสมุดจะทำการไปติดต่อยืมจากห้องสมุดอื่นที่มีหนังสือ/บทความที่เราต้องการนำมาให้เรายืมได้ หากเป็นกรณีที่เราต้องการใช้บทความ หรือต้องการเพียงบางบทของหนังสือเท่านั้น เราสามารถเลือกให้เจ้าหน้าที่จัดการถ่ายเอกสารแล้วส่งมาให้เราทางไปรษณีย์ (ตามที่อยู่ที่เราแจ้งมหาวิทยาลัยเอาไว้) ได้เลย
การขอใช้บริการนั้นก็สะดวกสบายและไม่ต้องวุ่นวายกับแบบฟอร์มหรือว่าต้องไปพบเจ้าหน้าที่ห้องสมุด (ซึ่งถ้าเป็นที่ไทยมักจะชอบทำหน้าตาไม่รับแขกอยู่เสมอๆ) นักศึกษาสามารถ log in เข้าระบบห้องสมุดและกรอกข้อมูลหนังสือที่ต้องการในส่วนของ Interlending Service ได้เลย โดยเราจะต้องบอกชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง ปีที่พิมพ์และสำนักพิมพ์ (หรือ ISBN ได้ด้วยก็จะดีมาก) ค่าบริการนั้นคิดเล่มละ 2 ปอนด์ แต่สำหรับนักศึกษาปริญญาเอกนั้นสามารถติดต่อ Department ของตนเพื่อขอสนับสนุนค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ โดยภาควิชาจะมี workorder number 8 หลักให้เรา และเมื่อเรากรอกข้อมูลทุกครั้งเมื่อใส่เลขตรงนี้ไป ค่าบริการสองปอนด์นั้นก็จะเป็นอันยกเว้นไป
หนังสือที่เรา request ไปนั้นโดยรวมแล้วใช้เวลาราวๆ 1 สัปดาห์ (ช้าหรือเร็วกว่านั้นแล้วแต่กรณี) ก็จะถูกส่งมาถึงห้องสมุดของยอร์กและจะมีอีเมล์แจ้งให้เราได้ทราบว่าหนังสือที่สั่งไปนั้นมาถึงแล้ว เราสามารถยืมได้ครั้งแรกเป็นเวลา 1 เดือน แต่สามารถยืมต่อได้เรื่อยๆหากห้องสมุดต้นทางไม่มีคนอื่นมา request หนังสือเล่มนั้นซะก่อน ด้วยระบบบริการเช่นนี้ทำให้แม้ว่านักศึกษาจะเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยที่มีขนาดเล็กหรือมีห้องสมุดที่ไม่พร้อมนัก ก็ยังสามารถใช้หนังสือเล่มที่ต้องการได้ทัดเทียมกับผู้ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยอาจจะต้องใช้เวลารอหนังสือบ้างเล็กน้อยเท่านั้น
ตลอด 2 ปี 8 เดือน (นับถึงวันที่เขียน) ที่ผมมาเรียนที่ยอร์กนั้นผมได้ใช้บริการ Interlending ไปแล้ว 74 รายการ หนังสือเล่มใดก็ตามที่ผมต้องการใช้และยอร์กไม่มี ก็สามารถนำมาใช้ได้โดยสะดวก โดยมากหนังสือจะมาจาก British Library ที่ Boston Spa หรือบางครั้งก็มาจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ความประทับใจที่พบเจอจากบริการนี้มีหลายครั้งมาก แต่ครั้งที่ประทับใจมากที่สุดก็คือครั้งหนึ่งในปี 2010 เมื่อผม request หนังสือเกี่ยวกับกรัมชี่เล่มหนึ่งที่เพิ่งวางขายในอเมซอนไปไม่นาน ทางห้องสมุดยอร์กได้อีเมล์มาแจ้งว่าทาง British Library นั้นยังไม่ได้ซื้อหนังสือเล่มดังกล่าวและถามกลับมาว่าเรายังจะคอยหรือไม่ หรือว่าจะยกเลิกรายการไปเลย ผมตอบเมล์ไปว่าสามารถคอยได้เพราะไม่ได้รีบใช้อะไร ผ่านไปเพียงสามวันหลังจากนั้นทางห้องสมุดยอร์กเมล์กลับมาบอกว่าหนังสือเล่มนั้นทาง British Library ได้ซื้อแล้วส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษมาให้ผมใช้ที่ยอร์กก่อนเป็นคนแรก (โดยยังไม่ได้เข้าห้องสมุดของ British Library เลยด้วยซ้ำไป)
ผมได้แต่จินตนาการว่าหากระบบห้องสมุดของมหาวิทยาลัยที่ไทยทำเช่นนี้ได้บ้าง โดยอาจจัดให้มีเครือข่ายความร่วมมือโดยรัฐบาล ห้องสมุดแห่งชาติและมหาวิทยาลัยของรัฐ (และเอกชน) ที่ต่างๆ หากทำเช่นนี้ได้จริงก็จะลดความเหลื่อมล้ำของทรัพยาการของมหาวิทยาลัยในกรุงเทพและต่างจังหวัดไปได้อย่างมาก การค้นคว้าและการทำวิจัยก็ก้าวหน้าและเป็นกิจกรรมทางปัญญาที่แท้จริง ไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่เน้นการกรอกภาระงานและแบบประเมินมากมายอย่างที่เป็นอยู่ในบ้านเราทุกวันนี้ 😦
ว่าด้วยระบบติดตามความก้าวหน้าวิทยานิพนธ์ของ York
การเรียนปริญญาเอกในระบบอังกฤษ มีกลไกบางประการที่สำคัญที่โดยส่วนตัวคิดว่ามหาวิทยาลัยในไทยน่าจะนำไปใช้อย่างเคร่งครัดนั่นก็คือระบบติดตามความก้าวหน้า (Monitoring) วิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาเอกซึ่งในแต่ละมหาลัยก็จะมีวิธีการและชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ที่มหาวิทยาลัยยอร์กเรียกระบบนี้ว่า Thesis Advisory Panel Meeting หรือที่เด็กที่นี่เรียกกันง่ายๆว่า “แทป” (TAP)
การแทปนั้นมหาลัยบังคับให้นักเรียนป.เอกทุกคนต้องมีอย่างน้อยสองครั้งต่อปี โดยมีองค์ประชุมคือ Supervisor และ Second supervisor ทั้งนี้บางภาควิชาอาจจะมีคนที่สามเพิ่มเข้ามา โดยมากเป็น Chair of Research หรือ Postgraduate Director แต่ที่ภาควิชาการเมือง (Department of Politics) นั้นโดยหลักแล้วจะจัดให้มีแทปโดยอาจารย์แค่สองคนเท่านั้น
การแทปนั้นเป็นระบบที่บังคับให้นักเรียนป.เอกต้องมารายงานว่าในรอบหกเดือนโดยประมาณที่ผ่านไปนั้นตนได้ทำงานอะไรไปบ้างหรือว่ามีความคืบหน้าในการวิจัยและเขียนงานหรืออื่นๆอย่างไรบ้าง และในอีกหกเดือนข้างหน้าเราจะทำอะไรต่อ และฟังความคิดเห็น/ข้อวิจารณ์จากอาจารย์ทั้งสองท่าน ทั้งนี้ผลการแทปแต่ละครั้งจะถูกส่งไปยังมหาลัยเพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานให้ตรวจสอบได้ว่านักเรียนแต่ละคนนั้นมีความก้าวหน้าอย่างไร (หรือไม่ก้าวหน้าอย่างไร) ระบบนี้มีข้อดีอย่างมากคือเป็นการกระตุ้นนักเรียนป.เอกให้อยู่ on track ที่ถูกต้องในการทำงานวิจัยของตน ใครที่ช้าไปก็จะถูกกระตุ้น ใครที่ออกทะเลไปก็ถูกตบแต่งให้เข้าร่องรอยได้ แต่ทั้งนี้ความน่ากลัวของระบบแทปก็คือว่ามันสามารถมีอำนาจสั่งหยุดนักเรียนป.เอกที่มีผลงานไม่เข้าเป้าให้ไม่อนุญาตให้ทำการวิจัยต่อไปได้ (เหมือนบ้าน AF ที่ถูกโหวตออกประมาณนั้น) ดังนั้นนักเรียนป.เอกที่นี่จึงต้องมีชีวิตอยู่แบบเสียวสันหลัง/ขวัญผวาอย่างน้อยทุกๆหกเดือนเมื่อถึงเวลาที่ตนจะต้องเข้าแทปในแต่ละครั้ง
หากมหาวิทยาลัยไทยได้นำระบบ monitor ที่จริงจังเข้ามาใช้กับนักศึกษาปริญญาเอก รวมถึงกำหนด limit ความยาวของ thesis ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ก็จะช่วยให้นักเรียนป.เอกมีวินัยในการทำงานและเรียนจบได้เร็วมากยิ่งขึ้น แต่การจะทำระบบแบบนั้นได้อาจารย์ที่ปรึกษาเองก็ต้องอุทิศเวลาและพลังกาย/ใจในการอ่านงานและคอมเม้นต์ให้นักศึกษาอย่างมากด้วยเช่นกัน อย่างกรณีของผมนั้นอาจารย์ที่เป็น second supervisor นั้นอยู่ระหว่างการ on leave และไม่ได้อยู่ที่ยอร์ก เค้าก็ยังเสียสละเวลาเดินทางกลับมาแทปให้ หรือบางครั้งที่ไม่สามารถเดินทางกลับมาได้จริงๆ การจัดแทปที่เป็น video conference ก็เป็นสิ่งที่ทำได้และผมได้เคยมีประสบการณ์นั้นมาแล้วเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ ซึ่งก็ไม่ผิดกติกาแต่ประการใด
ท้ายสุดทุกครั้งที่มีการแทป second supervisor จะขอให้ supervisor หลักของเราออกไปจากห้อง และสอบถามเราว่ามีปัญหาหรือข้อคับข้องใจเกี่ยวกับการทำงานของ sup ของเราบ้างหรือไม่ หากมีก็ขอให้บอกได้เลยและเค้าจะไม่บอก sup แต่จะรายงานไปยังมหาลัยให้ ระบบนี้ดีตรงที่ว่าถ้ามีความขัดแย้งกันตั้งแต่ต้นๆระหว่างนักเรียนกับ sup ก็จะสามารถแก้ไขได้ทัน หรือเปลี่ยน sup ได้ทัน (หากเป็นไปได้) โดยไม่เสียเวลาในการทำงานวิจัย
ว่าด้วยระบบการพัฒนาและสนับสนุนนักวิจัย
การเรียนปริญญาเอกในระบบอังกฤษแบบดั้งเดิม (Traditional British PhD) นั้นเป็นอย่างที่หลายคนพอทราบก็คือเป็นปริญญาเอกโดยการวิจัย (Research degree) ที่เน้นการวิจัยและเขียนงานขนาดใหญ่ภายใต้จำนวนคำที่กำหนด ซึ่งโดยปกติแล้วปริญญาเอกสายสังคมศาสตร์จะมี word limit อยู่ที่ไม่เกิน 100,000 คำ (หรือราวๆ 250-300 หน้า แล้วแต่ขนาดฟอนต์ หรือการเว้นบรรทัด)
โดยที่นักเรียนวิจัย (Research student) นั้นจะไม่ได้มีคอร์สเวิร์คจำนวนมากให้ต้องเรียนแบบระบบอเมริกัน แต่จะมีวิชาบังคับนิดหน่อยเท่านั้นในปีแรก อย่างเช่นที่ภาควิชาการเมืองนั้นก็จะบังคับให้นักเรียนวิจัยปีแรกต้องเรียนวิชา Political Research and Analysis และ Personal and Professional Skills นอกเหนือจากนั้นก็แล้วแต่อาจารย์ที่ปรึกษาของแต่ละคนจะสั่งให้นักเรียนวิจัยไป sit in หากยังเห็นว่าจำเป็นต้องปูพื้นฐานทางทฤษฎีหรือว่าวิชานั้นๆมีประเด็นสำคัญต่องานวิจัยของเรา นอกเหนือจากการเรียนวิชาเหล่านี้ชีวิตของเด็กวิจัยก็หนีไม่พ้นห้องสมุดซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ ด้วยเหตุที่เป็นระบบการศึกษาที่เน้นการวิจัยด้วยตนเองเป็นหลัก
ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและน่าศึกษาเป็นแบบอย่างสำหรับมหาวิทยาลัยไทยก็คือระบบพัฒนานักวิจัย ซึ่งที่ยอร์กนั้นจัดให้มีหน่วยงานที่เรียกว่า Researcher Development Team (RDT) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดคอร์สอบรมให้กับนักเรียนปริญญาเอกและ academic staff ตลอดทั้งปีการศึกษาเพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะในด้านต่างๆให้กับนักเรียนวิจัยให้มีความพร้อมสูงสุดในการทำวิจัย ตลอดจนความพร้อมในการก้าวเข้าไปสู่ตลาดแรงงานหลังสำเร็จการศึกษาอีกด้วย คอร์สอบรมของ RDT นั้นจะจัดการสอนโดยทีมพัฒนานักวิจัยที่ไม่ได้สังกัดภาควิชาใดในมหาวิทยาลัยเป็นการเฉพาะเจาะจงแต่มีหน้าที่ในการสอน/อบรมคอร์สของ RDT เท่านั้น คอร์สอบรมนั้นก็มีลักษณะหลากหลายมีทั้งที่เป็นการอบรมชนิดครึ่งวัน 3 ชั่วโมงจบหรืออบรมเต็มวัน หรือบางครั้งก็มีคอร์สชนิดหลายวันจบก็มี นักเรียนวิจัยจะสามารถเข้าไปเลือกรายวิชาที่สนใจได้ผ่านทางเว็บไซต์ Skillsforge (ระบบข้อมูลส่วนตัวของนักเรียนวิจัยที่หลักๆแล้วใช้บันทึกการประชุมทุกครั้งกับ supervisor) เราสามารถจองคอร์สที่สนใจได้ออนไลน์และสามารถยกเลิกได้ก่อน 48 ชั่วโมงก่อนคอร์สจะเริ่ม หากยกเลิกคอร์สไม่ทันจะต้องเสียค่าปรับซึ่งวิธีนี้เป็นการป้องกันการจองที่เรียนแล้วไม่มาเรียนเพราะจะเป็นการกันที่ผู้อื่น
คอร์สของ RDT นั้นก็จะมีหลากหลายทั้งคอร์สที่มุ่งพัฒนาทักษะส่วนตัวของเราเช่น การนำเสนอในที่สาธารณะ การจัดการกับปัญหา การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ การทำงานเป็นทีม คอร์สเกี่ยวกับระบบการเรียนปริญญาเอกเช่น การเริ่มต้นการวิจัย เตรียมความพร้อมสู่การอัพเกรด เตรียมพร้อมเพื่อสอบจบ ทำอย่างไรให้งานได้ตีพิมพ์ เป็นต้น ส่วนตัวแล้วคิดว่าระบบเช่นนี้มหาวิทยาลัยที่เมืองไทยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ไม่ยากอะไร อาจตั้งหน่วยงานเล็กๆขึ้นมาสักหน่วยหนึ่งที่อิสระจากงานสอนหรืองานวิจัยอื่นๆเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริม/สนับสนุนให้นักวิจัยทั้งระดับปริญญาโทและเอกในไทยได้มีศักยภาพในการวิจัยและมีความพร้อมเข้าสู่การต่อสู้ในตลาดงานได้อย่างมีคุณภาพ
Credit Text: from Watcharabon Buddharaksa https://politicsofsocialrelations.wordpress.com/