‪PhD‬ ‪D‎efend‬ ‪Thesis‬ ‪‎Viva Voce‬ ‪‎Tips‬ ‪#‎no3‬

การสอบเพื่อจบปริญญาเอกนั้น มีหลายชื่อเรียก และหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับระบบการเรียนของแต่ละประเทศ และแต่ละมหาวิทยาลัย

ลักษณะการสอบไม่ใช่การสอบข้อเขียน แต่ เป็นการสอบปากเปล่า ผู้เรียนต้องนำเสนองาน และตอบคำถามข้อสงสัยทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเล่มดุษฎีนิพนธ์ที่ได้ทุ่มเททำการวิจัยและเขียนขึ้นมา

โดยจะมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประจำสาขาวิชาที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อ่าน ตั้งคำถาม และท้ายสุดประเมินว่างานนั้นมีคุณค่าเพียงพอที่จะให้ผู้เรียนสำเร็จเป็น ดร.ได้หรือไม่

…ในส่วนของผู้เรียน ก่อนการขึ้นสอบ เกือบทุกคนน่าจะมีอาการและความรู้สึก ที่คล้ายๆกันอยู่บ้าง นั่นคือ

กลัว หวั่นวิตก พร้อมคำถามที่หลอกหลอนในใจว่า ถ้าฉันไม่ผ่าน? ถ้ากรรมการถามคำถามยาก? ถ้าฉันตอบไม่ได้? ถ้าเขาไม่พอใจกับผลงาน? ถ้าเขาเห็นจุดผิดตรงนี้ ตรงนั้น? ถ้าเขาอยากให้เพิ่มตรงนั้น ตรงนี้? และ ถ้าที่ฉันทำยังไม่ดีพอ?

ยิ่งใกล้วันสอบมากเท่าไหร่ อาการต่างๆก็จะชัดเจนมากขึ้น กระอักกระอ่วน หวิวๆในท้อง มือเย็น เท้าเย็น ประหม่า หวั่นใจ เครียด นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย

(ถ้าใครไม่มีอาการข้างต้น ไม่จำเป็นต้องสร้างให้เกิดขึ้น รักษาระดับความมั่นคงนั้นไว้ ยอดเยี่ยมที่สุดแล้วค่ะ)

…ทุกอาการที่อาจเกิดขึ้นกับผู้เรียนนั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

เพราะ วันสอบป้องกันดุษฎีนิพนธ์ คือ …

วันตัดสินสิ่งที่ทำมาทั้งหมดตลอดชีวิตการเรียนปริญญาเอก

วันที่ต้องกล้าหาญ ยอมรับ และเข้าใจ กับ ผลที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

วันที่รอคอยด้วยใจจดจ่อมานานแสนนาน (บางคน รอคอยวันนี้ ตั้งแต่ ยื่นใบสมัครเรียน กันเลยทีเดียว)

และ วันแห่งการประกาศอิสรภาพของตัวเอง วันแห่งการหลุดพ้นจากพันธนาการทั้งปวง (หากแต่ก้าวไปสู่ พันธนาการใหม่ เช่น การทำงาน หรือ การแต่งงาน วี้ด..วิ้ว ^^*)

…คำแนะนำจากใจ ที่อาจดูสั้น ห้วน และ กำปั้นทุบดิน คือ หยุดกลัว และ หยุดกังวล

เพราะ…

คุณได้ทำทุกอย่างอย่างดีที่สุดแล้ว และผลที่จะเกิดขึ้นจากนี้อยู่นอกเหนืออำนาจของคุณแล้ว

คุณเข้าใจว่า ผลที่จะเกิดขึ้น ในครั้งนี้ เป็น ผลที่ตรงกับ เหตุและปัจจัยที่คุณสร้างขึ้นเองและดีที่สุดในวิสัยที่คุณจะทำได้แล้ว

ก่อนการเข้าห้องสอบ ผลงานของคุณถูกตัดสินมาแล้ว จากการอ่านเล่มโดยกรรมการสอบ

คุณเป็นคนที่รู้งานของคุณดีที่สุด คิดดูสิว่าคุณอยู่กับงานชิ้นนี้มายาวนานมากแล้ว เพราะฉะนั้นทุกคำถามที่อยู่ในงานชิ้นนี้ คุณจะตอบได้ ส่วนทุกคำถามที่ไม่ได้อยู่ในงานชิ้นนี้ คุณอาจตอบไม่ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คุณทำงานชิ้นนี้ไม่ดีพอ

…ในความเป็นจริง คุณมักจะพบว่า …

กรรมการผู้สอบใจดีกว่าที่คุณคิดจินตนาการภาพไว้

คุณเห็นจุดอ่อนในงานของคุณ มากกว่า ที่คนอื่น เห็น

คุณวิพากษ์วิจารณ์งานของตัวเอง มากกว่า ที่คนอื่น ทำ

ถ้าคุณพอใจกับงานของคุณจริงๆ คนอื่นจะยิ่งพอใจกับงานของคุณ

มองให้เห็น รู้จักชื่นชม สิ่งที่ดีในงานของคุณ

…อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ในห้องสอบนั้นย่อมไม่เหมือนกับการเดินเล่นบนชายหาด แน่นอน

ประสบการณ์นี้ต้องยากและสามารถท้าทายผู้เรียนในระดับหนึ่ง

ประสบการณ์นี้ต้องการให้ผู้เรียนก้าวออกจากความหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง

ประสบการณ์นี้ไม่ได้ต้องการให้ผู้เรียน อับอายขายหน้า (humiliation) แต่ ต้องการให้ผู้เรียน ก้าวสู่ การอ่อนน้อมถ่อมตน (humility) ให้เป็น

คุณอาจจะเจอคำถามที่ตอบไม่ได้ งานของคุณอาจถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้กล่าวในบางสิ่ง หรือไปไม่ถึงในบางจุด

ยอมรับความเป็นจริง ยอมรับว่าไม่รู้ ทุกงานวิจัยมีจุดอ่อน เรียนรู้ที่จะมองเห็น และ วิจารณ์จุดอ่อนงานตัวเองให้เป็น มองให้ออกว่าสิ่งเหล่านี้คือโอกาสในการพัฒนาต่อ

ในห้องสอบ วางตัวสบายๆ หนักแน่น สร้างความมั่นใจในแบบที่เหมาะสม พูดในสิ่งที่ควรพูด ทำในสิ่งที่ควรทำ และพร้อมเปิดรับคำแนะนำจากผู้อื่นด้วย

คุณมีหน้าที่เพียงแค่ป้องกันดุษฎีนิพนธ์ ไม่จำเป็นต้องตั้งป้อม แก้ตัว และปกป้องตัวเองจนเกินงาม …

ทั้งหมดในห้องสอบ เป็นเพียงการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่า คุณพร้อมและมีความเหมาะสมที่จะไหลรวมไปอยู่ร่วมกับผู้อื่นๆในโลกแห่งวิชาการอย่างสงบสุข

… ดังนั้น ควรรักษาความกลัวและความวิตกกังวล ให้อยู่ในระดับที่พอเป็นแรงกระตุ้นให้จดจ่อและพยายามทำทุกนาทีในช่วงเตรียมตัวและระหว่างการสอบอย่างดีที่สุด

อย่าปล่อยให้ความกลัว หรือ วิตกกังวล อยู่ในระดับที่มากเกินไป เพราะจะเสียสุขภาพ กาย ใจ และจิตโดยไม่จำเป็น

ผ่อนคลาย และรอคอยวันสำคัญนั้นอย่างเป็นสุข

ยิ้ม กอดตัวเอง อย่าลืมเตรียมชุดเก่งที่ดูดีและภูมิฐานไว้สำหรับวันนั้นด้วย …

ลองหลับตา จินตนาการภาพของตัวเอง ในวันที่กรรมการสอบพูดว่า “ยินดีด้วย ผลสอบคือผ่าน กรรมการทุกคนชอบงานของคุณมาก งานของคุณมีคุณค่าเหลือเกิน”

หากเป็นเช่นนั้น ท่าทาง แววตา กิริยา คำพูด ของคุณ หลังจากได้ยิน จะเป็นแบบไหน คุณจะมีความมั่นใจ มั่นคง และ รู้คุณค่าตัวเอง แค่ไหน อย่างไร

นำตัวคุณคนนั้นที่ได้เห็น เข้าห้องสอบไปด้วย นำทัศนคติของความสำเร็จเช่นนั้นไปนำเสนองานและตอบคำถามต่างๆ ในวันสำคัญนั้นเลย

เชื่อว่า คุณจะดูพอดี ไม่มากและไม่น้อย เกินไป และ เมื่อคุณเชื่อในตัวคุณเองได้ลึกซึ้งเช่นนั้น กรรมการก็จะเชื่อในตัวคุณเช่นกัน

เมื่อคุณได้ทุ่มเททั้งกาย ใจ สติปัญญา จิตวิญญาณ ในการผลิตผลงานอย่างเต็มที่ตลอดมา ในวันนี้ ไม่มีอะไรต้องกลัว และ วิตกกังวลอีกแล้ว

เชื่อเถอะว่า วันสอบจะเป็นเพียงวันแห่งการย้ำเตือนให้คุณตระหนักรู้ว่า ตัวคุณคู่ควรกับทุกความสำเร็จและทุกความน่าปิติยินดีค่ะ

ลองคลิกลิ้งค์ยูทูปที่แนบมานะคะ‬ คลายเครียด‬ 

 

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s