ดร. กับ การมีอัตตาสูง?


“พวก ดร. เหรอ อีโก้สูงชะมัด พูดกับใครไม่รู้เรื่อง”

“พวก ดร. เหรอ อวดเก่ง ถือดี หลงตัวเอง”

“พวก ดร. เหรอ หมั่นไส้มาก ถือว่าเรียนมาสูงกว่า แล้วชอบมาข่มพวกเรา”

“พวก ดร. เหรอ จบมาก็เป็นได้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัย สอนนักศึกษาเท่านั้นแหละ ทำงานกับใครเขาไม่ได้หรอก ยอมฟังใครซะที่ไหนล่ะ”

เคยได้ยินความคิด หรือ คำพูดทำนองนี้ บ้างหรือไม่คะ?

ถึงแม้คำพูดเหล่านี้จะดูเป็นการเหมาเข่ง ยกโหล และรวมมิตร เพราะแท้จริงแล้ว มี ดร. อีกจำนวนมาก ที่ อ่อนน้อมถ่อมตน รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสงบสุข

แต่คำพูดข้างต้น ก็ยังเป็น ความคิดยอดฮิต ที่มีคนเชื่อ และ ถูกใช้ในการบรรยายภาพ ดร. ในสังคมอยู่เป็นนิจ

คำว่า อัตตา หรือ ego หมายถึง การถือตนเองเป็นใหญ่ มีความเป็น “ฉัน” สูง ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น ชอบอวดเก่ง อาจมีท่าทีหรือสีหน้าที่สะท้อนว่าดูถูกและข่มผู้อื่นอยู่บ่อยๆ มักจะเข้าใจไปว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของโลกและผู้อื่นเป็นบริวาร

ตามหลักจิตวิทยา คนที่มีอีโก้สูง ลึกๆแล้วขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ต้องการการยอมรับนับถือ มักจะเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นอยู่เสมอ

เป็นผู้ที่พยายามใช้ปมเด่นหรือปมเขื่องเพื่อปิดบังปมด้อยของตัวเอง หลอกตัวเองและหลอกผู้อื่นว่า ตัวเองเก่งทุกทาง แน่ทุกอย่าง มองตัวเองดีกว่าความเป็นจริง และมักมองไม่เห็นข้อเสียของตัวเอง เป็นแก้วที่มีน้ำล้น และยากต่อการพัฒนา

ซึ่ง คำว่า อัตตา หรือ ego นี้มีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่า self-esteem

self-esteem หมายถึง การเคารพนับถือตนเอง เห็นคุณค่าในตนเอง มีความภูมิใจในตนเอง มีความอิ่มเต็มในตัวเอง สงบอยู่ภายใน และไม่ต้องเหนื่อยที่จะโอ้อวดหรือพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นเพียงเพื่อเรียกร้องการยอมรับ

คนที่มี self-esteem จะเข้าใจตัวเองตามสภาพตามความเป็นจริง เข้าใจว่าบนโลกใบนี้ไม่มีใครเพอร์เฟ็ค มนุษย์ทุกคนมีข้อดีและข้อเสียในตัวเอง

คนกลุ่มนี้จะมีจุดยืนของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะเรียนรู้และเข้าใจจุดยืนของผู้อื่นจากมุมมองของผู้อื่นเช่นกัน

คนที่มี self-esteem จะไม่เปรียบเทียบตัวเองกับใคร และไม่รู้สึกแย่เมื่อเห็นใครเก่งกว่าหรือดีกว่า คนกลุ่มนี้จะพอใจและยอมรับในสิ่งที่ตนเองเป็น เชื่อว่าตนเองดีพอและในขณะเดียวกันก็ยอมรับในข้อด้อยของตนเอง และพร้อมที่จะแก้ไขและพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นไปได้เรื่อยๆ

เมื่อเข้าใจความหมายของคำสองคำนี้แล้ว จะเห็นว่า อัตตา หรือ ego มีความหมายในแง่ลบ และ self-esteem มีความหมายในแง่บวก

ผู้เขียนจึงอยากชวนคิดกันต่ออีกสักนิดว่า …ทำไมสังคมถึงได้มีความคิดเกี่ยวกับผลผลิตหรือผลลัพธ์ของการศึกษาระดับปริญญาเอก ออกมาในแง่ลบมากกว่าแง่บวก

และเพราะอะไรจึงปรากฎภาพและคำอธิบายที่ว่า ดร.มีอีโก้สูง ทำงานกับคนอื่นไม่ได้ ไม่เข้าใจประโยชน์ส่วนรวม ดร.หัวสูง ดร.ไม่ติดดิน ดร.ไม่เข้าใจความจริงแท้ของโลกและสังคม และ อื่นๆอีกมากมาย (ไม่ว่าผลผลิตเช่นนั้นจะมีอยู่จริงในสังคม หรือ เป็นเพียงความเข้าใจและความนึกคิดของสังคมเองก็ตาม)

เพราะแท้จริงแล้ว ปรัชญา ปณิธาน เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการศึกษาปริญญาเอกไม่ได้มุ่งที่จะผลิตดุษฎีบัณฑิตที่มีอัตตาสูง หากแต่ต้องการผลิตปราชญ์ผู้รู้ ที่ทรงคุณธรรม เข้าใจโลก สังคม และตนเอง อีกทั้งต้องสามารถนำพาผู้อื่นไปเข้าใจและค้นพบสิ่งที่ลึกซึ้ง เยี่ยมยอด และเป็นประโยชน์ได้อย่างมากมายด้วยต่างหาก

และถ้าจะพิจารณาโดยละเอียดไปที่ขั้นตอนต่างๆระหว่างการเรียนด้วยแล้ว ยิ่งจะเห็นว่าทุกขั้นตอนของการเรียน ต่างมุ่งที่จะสลายอัตตาของผู้เรียนด้วยซ้ำ

ยกตัวอย่าง เช่น …การที่ผู้เรียนต้องเผชิญกับความล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วนในช่วงของการทำวิจัย

…การที่ผู้เรียนต้องเข้าใจว่าความเก่ง หรือ ความเป็นที่ 1 ที่เคยได้รับมาในช่วงปริญญาตรีหรือโท ไม่ช่วยอะไร และทุกคนเท่ากันเมื่อเริ่มเรียนปริญญาเอก

…การที่ผู้เรียนต้องน้อมรับการวิพากษ์วิจารณ์จากอาจารย์ที่ปรึกษาและนำไปปรับปรุงแก้ไข

…การเรียนรู้ว่า สิ่งที่ตัวเองคิดว่าแน่และใช่แล้ว อาจไม่มีอะไรใช่เลย ในสายตาของอาจารย์ทั้งหลาย

…หรือ การเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับคำกล่าวที่ว่า “ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน”

ดังนั้น หาก สถาบันการศึกษาที่มอบใบปริญญา ได้ มุ่งมั่นกับ ปรัชญา ปณิธาน เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการศึกษาอย่างแน่วแน่

อีกทั้งผู้เรียนปริญญาเอกได้ผ่านทุกขั้นตอนมาอย่างถูกวิธี เขาและเธอเหล่านั้น ควรจะจบการศึกษาออกมา เป็น ดร. ที่ไร้อัตตา เข้าใจโลก เข้าใจผู้คน และ เข้าใจตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง

เพราะฉะนั้น หาก ดร. คนใดจบมาแล้วมีอัตตาสูงจึงถือเป็นเรื่องแปลก ผิดแผก ไม่ใช่ภาวะปกติ และ ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะปล่อยให้เป็นไป

เพราะหากมองไปจนสุดปลายทาง การยึดถือไว้ซึ่งความเป็นตัวฉัน การหลงใหลกับความเยี่ยมยอดของตนเองจนไม่สามารถยอมรับผู้อื่นได้ คือ ทุกข์อย่างใหญ่หลวง ที่ก่อให้เกิดความเครียด หมกมุ่น โดดเดี่ยว นอกจากจะเป็นโทษระยะยาวกับตนเองแล้ว ก็ยังไม่สร้างประโยชน์ให้สังคมโดยส่วนรวมด้วย

ผู้เขียนจึงพยายามคิดต่อว่า เพราะอะไร ที่ทำให้ ดร.(บางคน) มีอัตตาสูง? และเพราะอะไร สังคมจึงมีความนึกคิดและเข้าใจว่า ดร. เป็นเช่นนั้น?

ในโอกาสหน้าจะขอมาแจกแจง แต่ละเหตุ แต่ละปัจจัย อย่างละเอียด ต่อไปนะคะ …

#เพจก็แค่ปริญญาเอก  #JustaPhD
Credit photo from: http://www.lifehack.org

1 ความเห็น

  1. เคยถูกดร. คนนึงมาหลอกจีบ ใช้คำว่า สู่ขอ, แต่งงาน มาหลอกให้ตายใจ เพราะ ดร. คนนั้นต้องการลูกมือไว้ทำงานแปลเอกสาร, ทำข้อมูล, ไฟล์นำเสนอ พอสอบ pre-proposal เสร็จ ก็หาทางถีบหัวส่ง โดยออกอุบายให้เปลี่ยนงานใหม่ จะได้อยู่ห่างกันและตีจากแบบเนียน ๆ พอย้ายไปทำงานที่ใหม่ ดร. คนนั้นก็ไม่เคยโทรหาเลย มีแต่เราเป็นฝ่ายโทรไป แต่ก็ไม่ว่างคุย ติดนู่นนี่เยอะแยะ พอคาดคั้นถึงความสัมพันธ์, ทวงถามคำสัญญาต่าง ๆ ที่ให้ไว้ ก็ตอบแค่ว่า เราเข้ากันไม่ได้ และเขาไม่ได้หลอก แค่คบแล้วมันไม่ใช่

    ถูกใจ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s