จากข้อคิดครั้งที่แล้ว เรื่อง ดร. กับ การมี “อัตตา” สูง? ได้ปิดท้ายด้วยคำถามที่ว่า …เพราะอะไรที่ทำให้ ดร. (บางคน) มี อัตตา สูง? ในความเป็นจริงบนโลกใบนี้ มีคนจำนวนมาก (ไม่จำเป็นว่าต้อง ดร. เท่านั้น) ที่มี “อัตตา” สูง …การที่บุคคลแต่ละคนมีความเป็น “ตัวฉัน” มากเกินไป นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่หลากหลาย เช่น บุคลิก อารมณ์ นิสัยใจคอเฉพาะตัว ประสบการณ์ในวัยเด็ก สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมและสังคม และปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย และเหล่านี้เป็นเรื่อง “ปกติ” ที่เข้าใจได้ …
ข้อคิดวันนี้มุ่งเน้นเฉพาะ เรื่องของ ดร. กับ การมีอัตตาสูง
และจะพิจารณาเฉพาะไปที่ กระบวนการและขั้นตอนของการเรียนปริญญาเอก
ที่ตั้งสมมติฐานไว้ว่า อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อ การมี “อัตตา” สูง ของ ดร.
แต่หากส่งผลจริง ก็คงมีผลอยู่ในระดับน้อย
เพราะการเรียนปริญญาเอกมีระยะเวลา ประมาณ 3-6 ปี ซึ่งถ้าเทียบเคียงกับปัจจัยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนและหลังปริญญาเอก ปัจจัยอื่นๆเหล่านั้น ก็น่าจะมีผลต่อ การมี “อัตตา” สูงของแต่ละบุคคล ในระดับที่มากกว่า
ถึงแม้จะเป็นเพียงปัจจัยที่อาจส่งผลในระดับน้อย กระบวนการและขั้นตอนการเรียนปริญญาเอก ก็ยังคงน่าหยิบยกขึ้นมาพิจารณา เพื่อให้มั่นใจได้ว่า การที่ผู้เรียน ได้ “ตั้งจิต” ไว้อย่างถูกต้อง ในทุกๆขั้นตอน จะเอื้ออำนวยให้ปรากฎดุษฎีบัณฑิตที่ตรงตาม ปรัชญา ปณิธาน เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการศึกษา ที่มุ่งผลิตปราชญ์ผู้รู้ที่ทรงคุณธรรม เข้าใจโลก สังคม เห็นคุณค่าในตนเอง มีความอิ่มเต็มในตัวเอง สงบอยู่ภายใน มีจุดยืนของตัวเอง ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะเรียนรู้และเข้าใจจุดยืนของผู้อื่นจากมุมมองที่หลากหลายด้วย ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นลักษณะของบุคคลที่มี self-esteem ที่ดี
หากจะแบ่งการเรียนปริญญาเอกแบบคร่าวๆ เป็น 3 ขั้นตอน คือ: ก่อนเรียน ระหว่างเรียน และหลังจากเรียนสำเร็จ ในแต่ละขั้นตอน มี 2 แนวทางการพัฒนา คือ:
1) แนวทางการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และเป็นรากฐานแห่งการเกิด “อัตตา”
และ
2) แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นรากฐานแห่งการดับ “อัตตา”
ในความเป็นจริง ระหว่างสองแนวทางนี้ ไม่มีการแบ่งที่ตายตัวและเด็ดขาด
มีความเป็นไปได้เสมอ ที่ผู้เรียนจะเกิดภาวะสับสน และไม่ได้เลือกแนวทางที่ “ถูกต้อง” เสมอไป …และ อาจเลือกใช้ทั้งสองแนวทางผสมผสานปนเปในการตัดสินใจหรือแก้ไขปัญหา
เพราะระหว่างเส้นทางการเดินสู่ปริญญาเอก ผู้เรียนเผชิญปัญหาร้อยแปดพันประการที่แตกต่างกัน
ผู้เรียนแต่ละคนจำเป็นต้องผสมสูตรเฉพาะเพื่อหาแนวทางที่ “ใช่“ สำหรับตนเอง
เพราะฉะนั้น สูตรที่กำลังจะกล่าวถึงนี้เป็นเพียงแนวทางกว้างๆ เท่านั้น ไม่ต้องการให้นำไปใช้ทันที หากแต่ให้นำไปคิดต่อและอาจประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม
แต่เราเชื่อว่า เหตุที่ดีย่อมนำมาซึ่งผลที่ดี เมื่อใดก็ตาม ที่ผู้เรียนให้ความใส่ใจกับเหตุ และลงมือแก้ไขที่เหตุ (หากจำเป็น) ได้อย่างทันท่วงที ผลที่ดีย่อมเกิดขึ้นกับตัวผู้เรียนในที่สุด
…ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวไว้ว่า “การเกิดขึ้นแห่ง “อัตตา” ก็คือ การ “ตั้งจิต” ไว้ผิด เพราะฉะนั้น การตั้งจิตไว้ให้ถูกจึงเป็นรากฐานแห่งการดับ “อัตตา””
ดังนั้น สำหรับการเรียนปริญญาเอก การ “ตั้งจิต” ไว้ผิด สามารถเป็นรากฐานแห่งการเกิด “อัตตา” ได้
ผู้เรียนหรือผู้จะเริ่มเรียนจึงควรหมั่นตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบการ “ตั้งจิต” ของตนเอง ในแต่ละขั้นตอนของการเรียนปริญญาเอก ว่าได้ตั้งไว้ อย่างถูกต้องหรือไม่?
…ขั้นตอนแรก คือ ช่วงก่อนเรียน
ลองถามตัวเองดูว่า มาเรียน ปริญญาเอก เพื่ออะไร?
1) เพื่อแสวงหาทรัพย์ภายนอก เช่น เงินทอง ชื่อเสียง ลาภ ยศ สรรเสริญ อำนาจ บารมี เช่น ต้องการคำนำหน้าว่า ดร. หรือ การยอมรับจากสังคม
2) เพื่อแสวงหาทรัพย์ภายใน เช่น สนใจในการพัฒนาตัวเองในทุกด้านและทุกมิติ ได้แก่ ปัญญา จิตใจ คุณธรรม และ จิตวิญญาณ
…ขั้นตอนที่สอง คือ ช่วงระหว่างเรียน
ในช่วงนี้ เป็นช่วงสำคัญมากช่วงหนึ่ง เป็นช่วงที่ผู้เรียนจะพบเจอกับความท้าทายในทุกรูปแบบ เป็นช่วงที่ผู้เรียนจะได้สัมผัส เรียนรู้และเข้าใจว่า ความพร้อมในด้านสติปัญญา ความฉลาด และ ความเก่งอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถนำพาผู้เรียนไปถึงฝั่งฝันได้
ผู้เรียนต้องอาศัยความพร้อมของกาย ใจ และจิต เพื่อก้าวข้ามผ่านอุปสรรคนานับประการไปให้ได้
ลองถามตัวเองดูว่า
จะใช้แนวทางใดเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทาย?
1) ยอมรับความล้มเหลวและความผิดหวังไม่ได้ ท้อถอย สูญเสียความมั่นใจ เก็บกดกับคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ไม่ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหา สร้างปมให้ตนเอง เก็บความผิดหวังมาเป็นฝันร้ายของชีวิต จมอยู่กับความทุกข์ จมกับความรู้สึกที่ว่า “น่าจะทำได้ดีกว่านี้” แต่ไม่ได้ทำ ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ไม่ยอมรับกับความไม่สมบูรณ์แบบ
2) ยิ้มยอมรับกับความผิดหวัง มีความเพียร ยืนหยัดต่อสู้ กัดไม่ปล่อย พยายามแบบสุดแรงเกิด ไม่เก็บกดความเศร้าหมองใดๆไว้ในใจ มีกิจกรรมและงานอดิเรก มีความสุขทุกวัน น้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ เข้าใจอย่างถ่องแท้ ยอมรับกับความไม่สมบูรณ์แบบ และปล่อยวางผลลัพธ์เพราะได้ทำดีที่สุดแล้ว
…ขั้นตอนที่สาม คือ ช่วงสุดท้ายของการเรียนปริญญาเอก:
ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญที่สุดก็ว่าได้ เมื่อคุณเดินทางมาถึงเป้าหมายและประสบความสำเร็จแล้ว ลองถามตัวเองดูว่า:
คุณออกจากความสำเร็จอย่างไร?
คุณก้าวออกมาจากความสำเร็จ ด้วย ความรู้สึกอะไร? คุณแอบพูดอะไรกับตัวเองบ้าง? และคุณออกไปทำอะไรเป็นสิ่งแรก?
1) ฉันยอดเยี่ยมมาก ไม่มีใครเก่งเท่าฉันอีกแล้ว ธีสิสของฉันสุดยอดและดีกว่าทุกเล่มที่เคยอ่านมา ลึกๆคุณมีความรู้สึกยังไม่อิ่มเต็ม คุณต้องการการยอมรับจากสังคม เช่น รีบพิมพ์นามบัตรใหม่แจกทันที หรือ รีบออกไปแสวงหาทรัพย์ภายนอก อันได้แก่ ลาภ ยศ คำสรรเสริญเยินยอ ต่างๆ จากสังคม
2) ให้เวลาเต็มที่ที่จะดีใจกับความสำเร็จ ภูมิใจในตัวเอง ฉลองกับครอบครัวและคนที่รัก อิ่มเต็มอยู่ภายใน คิดถึงและขอบคุณครูบาอาจารย์และแรงสนับสนุนรอบข้างที่ทำให้คุณมีวันนี้ ต่อจากนั้นให้เวลาตัวเองในการผ่อนคลาย มองเห็น ภาพของตัวเอง และ ธีสิสของตัวเอง ค่อยๆลอยไกลออกไป รวมเป็นส่วนหนึ่งของภาพขนาดใหญ่ ที่มีตัวเองไปยืนรวมกับ ดร. อีกหลายหมื่นหลายแสนคน และ องค์ความรู้ที่ค้นพบในธีสิสก็ลอยไปรวมอยู่กับองค์ความรู้อื่นๆอีกมากมายบนโลกใบนี้ เข้าใจปรากฎการณ์นี้อย่างลึกซึ้ง มองเห็นความรู้อีกมากมายบนโลกใบนี้ที่ยังรอให้คุณไปค้นคว้าและแสวงหาเพิ่มเติม
โดยสรุป ในกระบวนการและขั้นตอนการเรียนปริญญาเอก มีทั้ง แนวทางการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และเป็นรากฐานแห่งการเกิด “อัตตา” และ แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นรากฐานแห่งการดับ “อัตตา”
หากการเดินทางบนเส้นทางปริญญาเอกของคุณ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และ ปลายทาง ได้หมั่นตรวจสอบ และ เลือกที่จะ “ตั้งจิต” ให้ดี ผลลัพท์ที่ได้ย่อมดีตาม
หากหลงไปเดินในเส้นทางแรกที่ไม่ยั่งยืนบ้างบางครั้ง ก็เป็นเรื่อง “ปกติ” ที่เข้าใจได้…
…และรู้ไว้เถิดว่าการเริ่มต้นใหม่เกิดขึ้นได้เสมอ
ไม่ว่าแต่ละคนจะเดินผ่านเส้นทางใด ขอให้มีเป้าหมายเดียวกัน ที่จะเป็น ดร. ที่ ไม่มี “ตัวฉัน” มากเกินไป
เป็น ดร. ที่เข้าใจโลก เข้าใจสังคม และ เข้าใจตนเอง หมั่นสร้าง “ทรัพย์ภายใน” ที่ไม่มีใครมาแย่งชิงไปได้ และสามารถแบ่งให้เพื่อนร่วมโลกได้อย่างเหลือเฟือและไม่มีวันหมด อีกทั้งยังเป็นทุนในการสร้างทรัพย์ภายนอกได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนด้วย
#เพจก็แค่ปริญญาเอก #JustaPhD
Credit photo: http://www.bloglovin.comค