ศัพท์ปริญญาเอกวันละคำ
Self-doubt หมายถึง การสงสัยและไม่แน่ใจในความสามารถของตัวเอง การสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง ผู้เรียนปริญญาเอกเกือบทุกคนต้องประสบกับความรู้สึกเช่นนี้ ณ ช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งของการเรียน ความรู้สึกเช่นนี้อาจมีผลกระทบกับแต่ละคนมากหรือน้อยแตกต่างกัน
เมื่อตกอยู่ในภาวะดังกล่าว ผู้เรียนมักจะเกิดความสงสัยว่า งานวิจัยที่ตนทำอยู่ ถูกต้องแล้วหรือไม่? มาถูกทางหรือยัง? และ มีคุณค่าเพียงพอหรือเปล่า? บ่อยครั้งที่ผู้เรียนมักจะด่วนประเมินและตัดสินงานของตนเอง ว่าผิดพลาด ล้มเหลว ไม่น่าสนใจ และไม่สำคัญเพียงพอ นอกจากวิพากษ์งานของตนแล้ว ผู้เรียนก็มักจะเลยมาวิจารณ์ตัวเองด้วยว่า ตัวเองไม่เก่งและไม่ดีพอสำหรับการเรียนปริญญาเอก
ภาวะ self-doubt นี้ทำให้ผู้เรียนลังเล ถดถอย ขาดพลังในการก้าวต่อ ภาวะ self-doubt นี้ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมต่างๆ (ไล่ระดับจากขั้นเบาสุดไปถึงขั้นร้ายแรง) ได้แก่ เวิ่นเว้อ เลี่ยง หลบ กลบเกลื่อน เก็บตัว ซึมเศร้า จนอาจถึงขั้นถอนตัวจากการเรียนก็เป็นได้
ณ จุดนี้ หากผู้เรียนได้ถอยออกมาพิจารณาปัญหาของตัวเองจากมุมที่กว้างขึ้น จะมองเห็น
ความจริง 5 ประการ อันเป็นที่มาของความรู้สึก self-doubt ดังนี้
1 เป็นเรื่องปกติ ที่การทำวิจัยระดับปริญญาเอกจะต้องเกี่ยวข้องอยู่กับความสงสัย (doubt) การตั้งคำถาม และการมุ่งที่จะหาคำตอบ ด้วยคำตอบที่ตายตัวและถูกต้องไม่มีอยู่ตรงหน้า ผู้วิจัยจึงต้องค้นหาความรู้ (อย่างเอาเป็นเอาตาย) เพื่อรังสรรค์งานใหม่ในแบบฉบับของตนเอง (originality) ที่ก่อให้เกิดคุณูปการ (contribution) ต่อแวดวงวิชาการ ซึ่งความสงสัยนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำงานวิจัย ของกระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนาตนเอง
2 เป็นเรื่องปกติ ที่ผู้เรียนต้องเริ่มต้นทำงานวิจัยจากความสงสัย ความไม่รู้ อีกทั้งต้องทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้วอยู่ตลอดเวลา เพราะความไม่รู้นี่แหละจะเปิดโอกาสให้ผู้วิจัยได้พินิจพิเคราะห์ประเด็นต่างๆ และนำมาสู่การสร้างองค์ความรู้และมุมมองใหม่ๆในงานของตนเอง หากผู้วิจัยวางตัวเป็นผู้รู้ หรือ ไม่หมั่นตั้งคำถามใดๆ ก็หมายถึงการยอมรับกับกระบวนทัศน์เดิมๆอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาความรู้ใหม่
3 เป็นเรื่องปกติ ที่ผู้เรียนจะพบความผิดพลาดและล้มเหลว พบข้อบกพร่องหรือปัญหาของงานวิจัยที่ต้องแก้ไข ในกระบวนการทำวิจัยที่ประกอบไปด้วยขั้นตอนต่างๆมากมาย และก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องเจอการวิพากษ์วิจารณ์จากอาจารย์ที่ปรึกษา (บ้างจัดเบา และบ้างจัดหนัก!) ด้วยหวังว่าการ “ติเพื่อก่อ” นั้น จะช่วยปรับปรุงและพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น
4 เป็นเรื่องปกติ ที่ผู้เรียนจะผูกพันกับงานที่ตัวเองทำจนอยู่ในระดับที่รู้สึกว่า งานเป็นส่วนหนึ่งของเราและเราเป็นส่วนหนึ่งของงาน และคุณค่าของงานคือคุณค่าของตัวเรา และเมื่องานถูกตั้งคำถาม สงสัย หรือถูกวิพากษ์วิจารณ์ (ไม่ว่าจะโดยตัวเอง หรือ โดยอาจารย์ที่ปรึกษา) ก็เป็นเรื่องปกติที่ผู้เรียนจะหันกลับมาสงสัยและไม่แน่ใจในความสามารถของตัวเอง
5 เป็นเรื่องปกติ ที่นักศึกษาปริญญาเอกที่ยังไม่เคยเดินผ่านเส้นทางในลักษณะนี้ จะมองว่า เรื่องปกติสี่ประการข้างต้น เป็นเรื่องไม่ปกติและวิตกกังวลกับภาวะที่ตนเองเผชิญอยู่ เราอยากบอกคุณว่า ความสงสัยในตัวเองและในงานของคุณนี้ จะยังอยู่กับคุณไปจนกว่าวันที่คณะกรรมการสอบจะตัดสินผลงานของคุณ ดังนั้น หน้าที่ของผู้เรียนจึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่และจัดการกับภาวะ self-doubt นี้ให้ได้โดยตลอด
ทางออกสำหรับผู้ที่กำลังตกอยู่ในภาวะ self-doubt ก็คือ เข้าใจให้ได้ก่อนว่าสิ่งที่เป็นอยู่คือเรื่องปกติธรรมดา ต่อจากนั้นพยายามเรียกความศรัทธาและความเชื่อมั่นในตัวเองกลับคืนมา คิดดูสิว่าคุณเดินทางมาไกลแค่ไหนแล้ว และที่ผ่านมาคุณเคยทำได้ยอดเยี่ยมอย่างไร จงยืนหยัดอยู่ข้างตัวคุณเอง อย่าเอาความรู้สึกด้านลบมาทำร้ายตัวเอง บอกตัวเองว่า ความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าที่เจอไม่ได้หมายถึงว่าคุณจะไม่สำเร็จ ลองเข้มแข็งและฮึดสู้อย่างสุดกำลังความสามารถ เพราะการลุกขึ้นครั้งนี้หมายถึงการลุกขึ้นต่อสู้เพื่อตัวเองและเป้าหมายที่วางไว้ในชีวิต
อดทน รอคอย และเดินไปให้ถึงวันส่งเล่มธีสิส
#เพจก็แค่ปริญญาเอก #JustaPhD
Credit photo: from https://www.flickr.com/photos/108976733@N05/11673061885/
ตอนนี้มึนๆไปไม่ถูกเลยคะ โครงร่างไม่เดินเลย
ถูกใจถูกใจ