ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณเพจ พี่ ๆ แอดมินที่มีเพจดี ๆ และสมาชิกที่น่ารัก ที่คอยให้กำลังใจกันมาตั้งแต่ในช่วงแรก ๆ ของการมีเพจนี้ เหมือนเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางใจอีกพื้นที่หนึ่งที่คนเรียนปริญญาเอกหลาย ๆ ท่านได้รับประโยชน์และคำแนะนำต่าง ๆ ที่ดีมากจากเพจเพื่อนำไปปรับใช้ในการเรียนและการทำงานจริง เป็นเพจที่สร้างแรงบันดาลใจให้หลาย ๆ คนเลยค่ะ
ผู้เขียนเคยได้รับโอกาสมาครั้งหนึ่งจากการให้สัมภาษณ์กับพี่ ๆ แอดมินผู้ก่อตั้งเพจนี้ ในหัวข้อ “Super busy day with a PhD student” และได้รับเกียรติอีกครั้งในครั้งนี้ ที่จะมาร่วมแชร์ข้อมูล หลังจากที่ได้ฝ่าฟันการเป็นนักศึกษาจนถึงการสำเร็จการศึกษาและเปลี่ยนบทบาทชีวิตมาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ได้มีบทบาทของการเป็น “อาจารย์ที่ปรึกษาของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท)” โดยครั้งนี้ถือว่าได้สะสมประสบการณ์ในบทบาทของทั้งการเป็นครูและนักเรียนและนักวิจัยไปในตัว แม้ว่าจะยังมีประสบการณ์ไม่มากเท่าพี่ ๆ หลาย ๆ คนที่เก่ง ๆ และแกร่งกล้าในวิทยายุทธ์แล้วก็ตาม แต่ก็จะพยายามสะท้อนมุมมองและความคิดให้ออกมาเพื่อให้สามารถเป็นวิทยาทานแก่เพื่อน ๆ พี่ ๆ หรือน้อง ๆ ที่กำลังเรียนอยู่ ให้สามารถฝ่าพายุในระหว่างเรียนนี้ให้ถึงฝั่งฝันได้ทุก ๆ คนนะคะ

ขอเริ่มจากการแชร์ประสบการตามหัวข้อที่น่าสนใจในประเด็นต่าง ๆ เลยละกันค่ะ….
เราชื่อ ดร.เจษฎานันท์ เวียงนนท์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “อาจารย์เจษ” (ชื่อแม๊นแมนค่ะ555) ตอนนี้เป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรการพัฒนาและจัดการเมือง (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต) วิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มหาวิทยาลัยเล็ก ๆ ที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการศาสตร์เฉพาะทางด้านศาสตร์เขตเมือง จบการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม(สหสาขา) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยค่ะ
ความรู้สึกวันที่เรียนจบ
ในช่วงการเรียนจนถึงตอนที่รู้และมั่นใจว่าจบแน่ ๆ จะขอแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลานะคะ ช่วงแรกขอเรียกว่า “เรียนจบครบตามกระบวนการ (จบอย่างไม่เป็นทางการ)” ตอนนั้นเราก็เหมือนยกภูเขาออกจากอกค่ะ เป็นความรู้สึกเบาสบาย โล่งไปหมด เหมือนได้ปลดล็อคความยากลำบากที่เราเคยคิดว่ามันไม่มีที่สิ้นสุดให้จบลง
ส่วนช่วงท้ายขอเรียกว่า “การจบอย่างเป็นทางการ” ความรู้สึกตอนนั้นเราจะเห็นมันเป็นรูปธรรมแล้วเพราะมีกระบวนการมากมายที่สุดท้ายเรามักเรียกติดปากว่า “กระดาษแผ่นเดียว” และเอกสารพวกนั้นเอง ที่ทำให้เราถึงกับน้ำตาซึมออกมาเมื่อได้เห็นมันในมือ ในคราบน้ำตานั้นเต็มไปด้วยความรู้สึกมากมาย ภาพในหัววนขึ้นมาเหมือนเป็นหนังไตรภาคที่รวมฉากสำคัญไว้ แต่ละฉากก็สารพัดอารมณ์ ณ ตอนนั้นและเราฝ่ามันมาสำเร็จแล้ว เพราะกระดาษใบเดียวนั่นล่ะที่มันเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดที่บ่งบอกว่าเราผ่านอะไรมา ระดับความดีใจนี่บอกเลยว่าถ้าเรามีสเกลถึง 100 ครอบครัวและเพื่อนฝูงเรานี่คือ 10,000 (หัวเราะ) คนอื่นอาจฉลองจุดพลุ สำหรับผู้เขียนนี่คือจุดบั้งไฟล้านค่ะ (หัวเราะดัง)
หัวข้อวิทยานิพนธ์
เราจบมาทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม จึงทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการมลพิษขยะในพื้นที่สูงที่เป็นเมืองท่องเที่ยว หัวข้อนี้ทำให้ผู้เขียนต้องเอาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่คุ้นชินเป็นเวลานาน เพื่อเรียนรู้สภาพความเป็นจริงของพื้นที่ในประเด็นต่าง ๆ ที่ตำราไม่มีบอก เหมือนนักวิจัยในนิยายสมัยโบราณเลยค่ะ (หัวเราะ)
แต่นั่นแหละ พอเราได้ออกจากคอมฟอทโซนแล้วเราก็ได้พบว่า จริง ๆ แล้วเรามีศักยภาพด้านไหนบ้าง เรามีจุดอ่อนของเราเรื่องไหนที่เราพึ่งรู้ การออกไปเผชิญโลกความจริง เจอความยากลำบาก พื้นที่ใหม่ ๆ คนใหม่ ๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เป็นอีกความท้าทายของการมี “บทเรียนของชีวิต“ ที่เราหลายคนไม่ค่อยกล้า และกลัวที่จะต้องก้าวขาออกไปเผชิญ แต่นี่ล่ะ ทีเด็ดของชีวิตของคนเรา เหมือนเป็นช่วงจังหวะชีวิตที่ทำให้เกิด “การค้นพบตัวตน” ในหลาย ๆ มิติของเราด้วยตัวเราเอง ในสภาวการณ์ที่เต็มไปด้วยข้อแม้และข้อจำกัดมากมาย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “เกิดการยอมรับตัวเองและการเอาชนะใจตัวเอง” สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญมากอีกสิ่งหนึ่งในการเรียนปริญญาเอก
เมื่อเรายอมรับตัวเองได้ในที่สุด เราจะประเมินตัวเองได้ และเราจะเข้าใจและเคารพตัวเองตามมา เมื่อสิ่งเหล่านี้ตกผลึก เราจะเกิดสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนขอเรียกมันว่า “ชุดความคิด (Mind set)” ที่มันจะเปลี่ยนวิธีการคิด วิธีการมองสิ่งต่าง ๆ รอบตัวและเปลี่ยนพลังในตัวเราได้ สุดท้ายเราจะเข้าใจเองว่า คำตอบของ “กระดาษแผ่นเดียว” คืออะไร
อย่าลืมว่า..ความสำเร็จมักจะทดสอบเราด้วยความล้มเหลวก่อนเสมอ อุปสรรคจะเดินหน้าเข้ามาท้าทายเราทุกเมื่อ แม้ว่าเราไม่เคยถามถึงมันเลยก็ตาม
ทำไมตัดสินใจเรียนปริญญาเอก
การตัดสินใจเรียนปริญญาเอก เป็นปัญหาโลกแตกสำหรับหลาย ๆ คนที่ยังไม่เริ่ม เริ่มไปแล้ว และเริ่มเจอปัญหาแล้วมาหยุดคิดว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ (กลับตัวยังทันรึเปล่าหนอ) สำหรับผู้เขียนแล้ว การตัดสินใจเรียนคือคำถามที่คำตอบจะมีในใจตัวเองตั้งแต่ก่อนเรียน และมีมากขึ้นในระหว่างเรียน เพราะเมื่อไหร่ที่เราเริ่มนับ 1 นั่นคือ การเริ่มออกจากวิถีชีวิตเดิมทันที การเดินทางที่พร้อมเผชิญทุกปัญหา มันคือการเตรียมตัวเตรียมใจ เตรียมพลังกายพลังใจและพลังทรัพย์หากมีความจำเป็น
หลาย ๆ อย่างที่มันไม่ใช่สิ่งที่คิดไว้ หลาย ๆ ปัจจัยที่เราควบคุมแทบไม่ได้ หลาย ๆ อย่างที่ไม่เป็นไปตามแผนงาน และก็ไม่ใช่ว่าบางสิ่งบางอย่างจะใช้เงินแก้ปัญหาได้อย่างที่หลายคนแอบคิด ผู้เขียนขอเรียกรวม ๆ ว่าเป็น “อุบัติเหตุทางวิทยานิพนธ์” ซึ่งพูดง่าย ๆ ก็คือ อะไรก็ตามที่ไม่เป็นอย่างที่คิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องปัจจัยต่าง ๆ ร้อยแปดพันอย่าง โดยเฉพาะเรื่องคน “เวลาเปลี่ยนคนเปลี่ยน” เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราหลายคนเจอในระหว่างเรียน จนสร้างปัญหาส่งผลมาถึงเรื่องสุขภาพทางใจจนทำให้เจ็บป่วยทางกายได้อีก (ทุกคนจะเริ่มมีโรคเป็นของตัวเองก็ช่วงนี้ล่ะนะ)
การบริหารจัดการความเครียด จึงสำคัญมาก พลังใจหากมีน้อยก็ให้หามาเติม จากครอบครัว อาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อน และคนรักที่เข้าใจเรา สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการเดินทางสายนี้ทั้งนั้น ผู้เขียนยอมรับเลยว่าผ่านช่วงเวลาสาหัสนั้นมาด้วยพลังใจจากครอบครัวเป็นหลัก เพราะสภาพตอนนั้นย่ำแย่ไปหมด ทั้งสุขภาพ งาน เงิน ผู้คนที่เกี่ยวกับงานที่ต่างสร้างปัญหาแบบที่เราไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้เลย จนตัวเองเหมือนแบตเตอรี่ที่พลังงานอ่อนเต็มที่แถมไม่เห็นว่าจะมีปลั๊กไฟตรงไหนให้เราได้ชาร์ทบ้าง แต่เราจะเอาแต่พร่ำบ่นและหยุดเดินต่อไม่ได้หรอก เพราะมาไกลแล้ว (หมดไปเยอะแล้ว)
หลังจากนั้นไม่นาน พลังบวกจากรอบข้างก็เริ่มมีบทบาทให้เราค่อยๆแข็งแรงขึ้น ผู้เขียนเริ่มดึงตัวเองออกจากจุดที่เราเห็นแล้วว่าควร Move on ตัดผู้คนที่เราเห็นแล้วว่าเขา Toxic พาตัวเองไปอยู่ใกล้ ๆ คนเก่ง ๆ ช่วงนั้นคำคมแคปชัน Life coach ต่าง ๆ จะอินเป็นพิเศษ (หัวเราะ) จุดพลัง จุดไฟให้ตัวเองด้วยการพาตัวเองไปเที่ยว(เพราะเป็นคนชอบเดินทางอยู่แล้ว) และจบด้วยการให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ กับตัวเองทุกครั้งที่ทำงานสำเร็จทีละขั้น “การไปต่อไม่ได้” อาจไม่ได้หมายถึง “การจบเรื่องนั้น”เสมอไป เราอาจเสียเวลาเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างทาง เราไม่ได้เดินทางตามเวลาเป๊ะ ๆ ก็ไม่เห็นเป็นไร (ถ้าเป็นก็หาทางแก้ไขกันไประหว่างทางนี่ล่ะค่ะ) เราแค่อาจเดินช้าบ้าง เร็วบ้าง หยุดพักเหนื่อยบ้าง แต่สุดท้ายเราก็ยังเดินต่อ ถึงจะขาสั่นไปหน่อยแต่ก็ถึงเส้นชัยอยู่นะ แม้สภาพจะสะบักสะบอมและสีผมจะเปลี่ยนจากดำเป็นขาวแค่ไหนก็ตาม(หัวเราะ)
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้…
ถ้าย้อนไปได้แค่สั้น ๆ จะไปบอกตัวเองสั้น ๆ ว่า “ขอบคุณที่อดทน” เพราะเรามาถึงตรงนี้ เป็นเราในแบบทุกวันนี้ เพราะเราคิดและตัดสินใจในวันนั้นแบบนั้น และเราจะบอกตัวเราอีกว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรก็ตาม สิ่งนั้นดีเสมอ ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง และจะยิ้มสวย ๆ ให้ตัวเราในวันนั้นด้วย (ยิ้มกว้าง)
ทักษะที่ได้จากการเรียนปริญญาเอก
ด้านองค์ความรู้ก็นำมาใช้ในการเรียนการสอน และการทำวิจัยในบทบาทการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และบทบาทของการเป็นครู สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากการที่เราเป็นนักศึกษาในตอนนั้น ทำให้เราเข้าใจแล้วว่า การได้รับความเมตตาจากผู้คนรอบข้าง คือสิ่งดีงามอย่างหนึ่งของชีวิต ตอนที่เราได้มีโอกาสเป็นครู เราจึงพยามถอดบทเรียนของการที่เราได้พบเจออาจารย์ที่น่ารักหลาย ๆ ท่าน หยิบสิ่งดี ๆ ของแต่ละท่านมาเป็นแบบอย่างในการทำอาชีพนี้

ในเรื่องของการใช้ชีวิต เราก็พยายามนำสิ่งที่เราได้รับจากการฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ มา ถ่ายทอดให้เป็นพลังงานด้านบวกและส่งต่อให้กับนักศึกษา ที่ล้วนมาจากต่างพื้นที่ ต่างพื้นฐานการเรียน ต่างสายงาน ร้อยพ่อพันธุ์แม่ ให้เขามีกำลังใจและมั่นใจว่าตัวเขาจะผ่านกระบวนการเรียนรู้นี้ และฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ด้วยตัวเอง ทุกคนล้วนต้องการ “การได้รับโอกาส” ทั้งนั้น เวลาของทุกคนมีเท่ากัน แต่รูปแบบชีวิตอาจทำให้เรารู้สึกว่า บางครั้งเร็ว บางครั้งนาน ให้เขาได้มีโอกาสพิสูจน์ตัวเขาเองในแบบของเขา เหมือนกับที่เราได้เคยผ่านจุดต่าง ๆ มาแล้ว “เราแค่วางอัตตาลง เพิ่มความเป็นคนให้มากขึ้น”

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการเรียนปริญญาเอก
จริง ๆ แล้วการเรียนปริญญาเอก เราคงต้องวางแผนชีวิตกันมากหน่อยเพราะค่อนข้างคาดเดายากว่าจะเกิดเหตุการณ์ หรือสถานการณ์อะไรบ้างในบ้านเมืองเรา ณ เวลานั้น หลายครั้งที่มีเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนเลยแต่มีผลต่อการเรียนของเราอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของการมีปัญหาเรื่อง “การแบ่งเวลา” โดยเฉพาะผู้เขียนที่จะต้องแยกเวลางานและเวลาเรียนออกจากกันอย่างชัดเจน เพราะจะมีช่วงเวลาที่ย้ายไปอยู่ในพื้นที่ศึกษา การแบ่งเวลาเพื่อมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยบ้าง
การมีเวลาให้ครอบครัวและคนรอบข้างจะช่วยชะลอความเครียดเราได้มาก การสร้างสมดุลชีวิตจึงเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย การตั้งเป้าหมายที่มีกรอบเวลา ทำเช็คลิสกระบวนการทำงานจึงสำคัญมาก งานวิจัยที่มีทั้งการสำรวจใหม่ที่เป็นเชิงปริมาณและคุณภาพจะทำให้เราหมดพลังมากกับช่วงแรกของการเรียน (ไม่นับรวมช่วง coursework ที่หนักหนาสาหัสมาก่อนแล้ว) การเตรียมความพร้อมด้านการเงิน แหล่งทุน สิ่งสนับสนุนการทำงานจึงต้องมีความพร้อมเพื่อให้งานขับเคลื่อนตามระยะเวลาที่เราคิดไว้
อาจารยที่ปรึกษาเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีผลโดยตรงกับการจบของเรา การเตรียมข้อมูลการเผยแพร่งานวิจัยในวารสารที่ใช้จบก็สำคัญมาก (การไหว้พระจะเริ่มมีบทบาทตอนนี้ค่ะ555) เมื่อภาพรวมของการเตรียมตัวออกมาเป็นเรื่องของ เวลา งาน เงิน กำลังใจ กำลังกาย และกำลังสมอง เมื่อทุกอย่างพร้อม ระยะทางต่อจากนี้จะเกิดอะไร เดี๋ยวค่อยแก้ไขหน้างานกันไปค่ะ นอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ เราหลายคนอาจจะต้องเจออะไรแตกต่างกันไปอีก ขึ้นอยู่กับบริบทของงานและฟิลงานของใครของมัน
คำว่า “เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” ยังใช้ได้อยู่เสมอในทุกยุคทุกสมัยนะ

ความหมายของ “ก็แค่ปริญญาเอก”
บางทีความหมายของปริญญาเอก อาจไม่ได้แสดงเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตาเสมอไป ปริญญาเอกในความหมายส่วนตัวของผู้เขียน คือ เครื่องมือชนิดหนึ่งที่ใช้ฝึกกระบวนการคิด การทำงานและฝึกวิชาชีวิต ที่เราหลายคนต่างมีอยู่แล้วแต่อาจไม่ได้ตกผลึกมากพอเท่านั้นเอง มันคือเครื่องมือการฝึกสกิลการยอมรับตัวตน การค้นหาศักยภาพตัวตน และเป็นเครื่องมือที่สร้างการเคารพตัวตนของเราได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อเรายอมรับตัวตนของเรา เราจะเคารพตัวเราและมันจะช่วยให้เรารู้จักเคารพผู้อื่น (โดยไม่ต้องไปตามหาว่าเขาจบปริญญาอะไร) เคารพความแตกต่าง ๆ ด้วยการไม่ตัดสิน จะว่าไปก็คล้าย ๆ โลโก้ที่บ่งบอกว่าเราผ่านกระบวนการอะไรสักอย่างมาแล้ว คนอื่น ๆ ก็อาจจะเคยผ่านมาบ้างแหละ แต่เราก็แค่ผ่านมาแบบเข้มข้นมากกว่านิดนึงเท่านั้นเอง
จะเรียนจบปริญญาอะไร ถ้าเรียนจบก็ถือว่าจบการฝึกแล้ว แต่ถ้าจบปริญญาเอกมานั้น ผู้เขียนขอเรียก ปริญญาเอก ว่า “ปริญญาใจ” ด้วยก็แล้วกันนะคะ เพราะต้อง “ใช้ใจ” สำหรับปริญญานี้มากหน่อย ไม่ว่าเราจะจบอะไรระดับไหน พอเวลาผ่านไป มันก็จะกลายเป็นเรื่องราวธรรมดาๆเรื่องหนึ่งของชีวิต เพราะมีคำพูดจากพี่ ๆ หลายคนที่พูดอยู่เสมอว่า สุดท้ายแล้ว…เก่งไม่กลัว กลัวดวงดี (หัวเราะ) จบด้วยประโยคนี้ละกันค่ะ
“เพราะความซับซ้อนขั้นสูงสุด คือ ความเรียบง่าย”
ก็ไม่ต่างกับ ปริญญาเอก ที่หลายคนหลงไปกับความหมายอีกด้านนึงของมัน สุดท้าย…มงกุฎปริญญาเอก ก็คือสิ่งธรรมดาสิ่งหนึ่งที่แสนเรียบง่ายที่เราเลือกหยิบมาใส่บนหัวเรา บนตัวเรา ทั้งที่ไม่ใส่บ้างก็ได้ เป็นตัวเราที่แสนธรรมดาบ้างก็ได้
เพราะมัน…ก็แค่..ปริญญาเอก เท่านั้นเอง (ยิ้มหวาน)
Credit text: ดร.เจษฎานันท์ เวียงนนท์
…เพจก็แค่ปริญญาเอก ขอขอบคุณการแบ่งปันข้อคิดและประสบการณ์ของ ดร.เจษฎานันท์ มาก ๆ นะคะ ย้อนกลับไปอ่านบทสัมภาษณ์ของ ดร.เจษฎานันท์ ในคอลัมน์ A Super Busy Day with a PhD Student ได้ ที่นี่ ค่ะ