“การเรียนปริญญาเอกไม่ใช่การเรียน แต่เป็นการเปลี่ยนระบบความคิดคน” บทความโดย ดร. กฤษฎา ภาณุมนต์วาที

สวัสดีครับ ผมนายกฤษฎา ภาณุมนต์วาที อายุ 28 ปี ปัจจุบันจบการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (PhD in Natural Resources and Environment) จากมหาวิทยาลัยนเรศวร  โดยจบการศึกษาปริญญาตรีสาขาเดียวกัน ที่มหาลัยนเรศวรด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง และศึกษาต่อระดับปริญญาเอกเลย ในแผนตรีต่อเอกครับ ปัจจุบันประกอบอาชีพอิสระ เป็นที่ปรึกษาด้านสมาร์ทโฮมระบบบ้านอัจฉริยะและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT ภายในบ้าน (บริษัท สาระรูป จำกัด) และอยู่ระหว่างการสมัครงานอาจารย์มหาวิทยาลัย

เนื่องด้วยส่วนตัวไม่ได้เป็นเด็กเรียนมากมายสมัยปริญญาตรี จะทำกิจกรรมเยอะมาก ทั้งกิจกรรมคณะ สาขาวิชา และกิจกรรมอิสระ จึงทำให้เป็นคนที่รู้จักคนเยอะคนนึง และเมื่อเรียนต่อระดับปริญญาเอกจึงหารายได้เสริมจากการเป็นผู้ช่วยวิจัย การวิเคราะห์ตัวอย่างทางสิ่งแวดล้อม การออกแบบนั้นนี่ (มีพื้นฐานออกแบบเพราะเป็นสิ่งที่ชอบ) รับถ่ายภาพ ลงทุนในการลงทุนรูปแบบต่างๆ (มีทั้งเจ๊ง ทั้งได้ปน ๆ กันไป) ซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ และงานอะไรก็ตามที่ได้เงิน (ต้องถูกกฎหมายนะครับ)

โดยปัจจุบันมีความสนใจและความเชี่ยวชาญในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เทคนิคไมโครอิมัลชัน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ GIS อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) วงจรอิเล็กทรอนิกส์ การเขียนโปรแกรม การสร้างเว็บแอปพลิเคชัน และงานทางด้านฐานข้อมูล  จากที่กล่าวมาทั้งหมด ฟังดูก็เหมือนเป็ดดี ๆ นี่เอง แต่เนื่องด้วยบุคลิกของผม เป็นคนที่ชอบทำอะไรได้เองหลาย ๆ อย่างจึงทำให้สนใจ และมีความรู้ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ครับ โดยวิทยานิพนธ์ที่ได้ทำคือ ”การใช้แนวคิด HLD พัฒนาสูตรไมโครอิมัลชั่นที่มีสารลดแรงตึงผิวเป็นองค์ประกอบเพื่อสกัดน้ำมันพืชตกค้างจากกากดินฟอกสี” โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช)

ในปี 2558 ผมจบปริญญาตรีและเลือกที่จะเรียนต่อเพราะคิดง่าย ๆ อยู่สองอย่างครับ อย่างแรกคือถ้าเรียนต่อแล้วตกงาน เราสามารถทำงานในระดับปริญญาตรีได้ แต่ถ้าเราไม่เรียนต่อ วันไหนที่จำเป็นต่อการเลื่อนขั้นงาน แล้วต้องกลับมาเรียน เราอาจะไม่มีความพร้อม ณ ตอนนั้น แล้วอาจเสียดายได้ อย่างที่สองคือผมอยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งในปัจจุบันเงื่อนไขที่สำคัญคือจบปริญญาเอก โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายอมรับว่าเหนื่อยครับ ทั้งในเรื่องการเรียน การใช้ชีวิต การหารายได้ ซึ่งนี่จะเป็นหนึ่งในจุดอ่อนของคนที่เลือกศึกษาต่อเลย โดยที่ไม่ผ่านการทำงานมา นอกเหนือจากในเรื่องของประสบการณ์

เริ่มเข้าเรียน อุปสรรคแรกคือระบบความคิดของตัวเองครับยังติดนิสัยการเรียนรู้แบบเด็กปริญญาตรีอยู่ จะมีคำจำพวก “ก็อาจารย์บอกมา/ก็อาจารย์ไม่ได้สั่ง” อะไรทำนองนี้ในหัว ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปก็ทำให้รู้ว่า ในการเรียนปริญญาเอก เขาไม่ได้สอนให้เป็น “นักปฏิบัติการ” แต่เขาสอนให้เราเป็น “นักคิด” เขาไม่ได้สอนให้เรา “จำ” แต่เขาสร้างให้เรา “หาและสร้างความรู้” ซึ่งต้องใช้เวลาปรับตัวพอสมควรครับ ตรงนี้น่าจะเป็นจุดอ่อนของคนที่เรียนปริญญาตรีต่อปริญญาเอกเลยครับ เพราะไม่ผ่านกระบวนการวิจัยในระดับปริญญาโทมาก่อน เรียกได้ว่า กว่าจะจบมาได้ “พาราก็คือแป้งดี ๆ นี่เอง”

อีกหนึ่งอุปสรรคที่สำคัญคือภาษาอังกฤษครับ โดยส่วนตัวนี่เป็นข้อด้อยของตัวเองมากที่สุด แล้วดันเป็นจุดสำคัญอันดับต้น ๆ ของการเรียนต่อ ผมใช้เวลาสอบภาษาอังกฤษจนกว่าจะผ่านทั้งหมด 2 ปี สอบเป็นสิบ ๆ รอบครับ สอบจนกว่าจะผ่าน แต่ละรอบก็วิเคราะห์ตัวเองว่า อ่อนด้านไหน ซึ่งแรก ๆ ก็ยอมรับว่า ทุกด้านครับ แต่พอผ่านมา เราเริ่มได้เรียนรู้มากขึ้น ก็เหมือนเด็กเลยครับ เด็กเกิดมาพูดภาษาไทยก็ยังไม่ได้ ภาษาถิ่นก็ยังไม่ได้ แต่ที่เขาพูดได้ เขียนได้ ฟังได้ เพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขาทำให้เขาเป็นแบบนั้น ผมเพียงแค่ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นภาษาอังกฤษให้กับตัวเอง ฟังเพลง ดูการ์ตูน ดูหนัง ฟังข่าว อ่าน journals/text (ตรงนี้ช่วยเยอะครับ เพราะยังไงก็ต้องอ่าน)

เมื่อผ่านมาแล้วเราจะเป็นคนมองย้อนกลับซึ่งจะทำให้คิดว่า เราผ่านมันมาได้แล้ว แต่คนในเกมส์อึดอัดครับ ทั้งความท้อ ความกดดัน ต่าง ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้คือความอดทน+ความพยายาม  ความอดทนทำให้เราไม่ทิ้งครับ เพราะถ้าทิ้งไปยังไงก็ไม่จบ ท้อได้ เหนื่อยได้ แต่ยังไงก็ตามห้ามทิ้งเพราะเราตัดสินใจเรียนต่อไปแล้ว ยังไงก็ต้องจบไม่ว่าจะกี่ปีก็ตาม อันดับถัดมาคือความพยายามครับ ด้านบนผมได้เขียนถึงเรื่องภาษาไปแล้ว ซึ่งจริงๆ เราต้องอดทนกับทุกๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูล ยิ่งถ้าเป็นสายวิทยาศาสตร์ต้องมีการทดลองในห้องปฏิบัติการและสิ่งที่ทำให้ผลเราไม่ได้ ผลคลาดเคลื่อน หรือทดลองแล้วไม่เป็นไปตามทฤษฎีมันมีเยอะมากครับ ไหนจะเครื่องมือเฉพาะทางที่ไม่สามารถหาได้โดยทั่วไป ซึ่งบางทีต้องติดต่อขอใช้จากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ แทน

ความพยายามอีกเรื่องคือการตีพิมพ์ผลงานครับ ผมตีพิมพ์ในฐาน Web of Science ซึ่งใช้ระยะเวลาในการตีพิมพ์ทั้งหมด 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ส่งบทความ ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดความล่าช้าจากการระบาดของโควิค 19 ที่ส่งผลต่อทั้งโลก อีกส่วนเกิดจากผลการศึกษาของเราเองครับ ที่ต้องมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม แก้ไขบทความ ซึ่งเรียกว่า เขียนใหม่เลยก็ได้ แต่ผมยังโชคดีที่งานไม่โดน Reject จากวารสารนี้ (แต่จากวารสารอื่นโดนครับ) ส่วนหนึ่งมาจากการช่วยเหลือจากอาจารย์ที่ปรึกษาที่ผลักดัน แนะนำ แก้ไขให้ไปในทิศทางที่ดีมากยิ่งขึ้น จนในปัจจุบัน ผมมีงานตีพิมพ์ 1 งานในฐาน Web of Science 2 งานในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ (เพิ่มเติมอีก 2 เรื่องซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการ) และอีก 2 งานในฐานข้อมูลระดับชาติ

อย่างที่ผมได้กล่าวไปข้างต้นการเรียนต่อบัณฑิตศึกษาไม่ใช่แค่ใบปริญญาครับ ทักษะที่ได้จากการเรียนผมมองว่าเอาไปใช้ได้กับทุกเรื่องเลย ถ้าจะเอาเข้าจริง ๆ แม้ในชีวิตประจำวันเราก็ใช้ได้ ทักษะปริญญาเอกที่ได้ใช้เลยคือการหาความรู้ต่าง ๆ เพื่อมาสร้างเป็นองค์ความรู้ให้เราต่อยอดนวัตกรรม ผมไม่ได้เรียนเขียนโปรแกรม ภาษาคอมพิวเตอร์ IoT หรืออิเล็กทรอนิกส์มาก่อนเลย แต่ใช้หลักการที่ได้จากการเรียนมาเข้าใจเรื่องพวกนี้ ผสมกับความชอบที่เราจะเรียนรู้มันด้วย  นอกจากนี้ สิ่งที่ได้จากการวิจัยคือ “Dissension tree” ครับ ทำให้เราคิดแบบมีตรรกะและวางแผนตัวเองได้ เช่น การประยุกต์หลักการที่ว่า “ถ้าเกิดสิ่งนี้ ให้ทำแบบนี้ ถ้าไม่ใช่ ให้ทำแบบนี้” ครับ   

สุดท้ายนี้นะครับ ผมในวัย 28 ปี สามารถจบปริญญาเอกได้ ผมไม่ได้บอกว่าสบาย แต่ผมเชื่อว่า ถ้ามีส่วนผสมที่ครบเครื่องคือ อยากเรียน+ไม่ทิ้งงาน+ไม่เทอาจารย์ที่ปรึกษา (อันนี้สำคัญนะครับเป็น key man ของการศึกษาต่อเลยก็ว่าได้) +อดทน ผมเชี่อว่าทุกคนก็ประสบความสำเร็จได้ครับ อยากเรียนต้องเรียนเลย อย่าคิดว่ายาก เพราะถ้ามันยากเกินความสามารถโลกนี้ต้องไม่มี ดร. ใช่ไหมครับ

ส่วนคนที่กำลังเรียนผมขอเป็นกำลังใจให้ครับ ผมเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่ากำลังใจใด ๆ บางทีเราก็ไม่เข้าใจมัน แต่เชื่อผมเถอะครับว่า วันใดที่เราสำเร็จเราจะมองกลับมาแล้วพูดว่า “เราก็ทำได้” 

ขอฝากถึงคนที่อ่าน blog นี้ แล้วสนใจศึกษาเรียนต่อทางด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ หรือประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็อยากเรียนเชิญมาเรียนที่เดียวกันนี่ครับ เพราะที่นี่มีอาจารย์ที่ค่อนข้างครอบคลุมเนื้อหาในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใครสนใจสามารถเข้าดูได้ที่เว็บไซต์ของทางมหาวิทยาลัยได้เลยครับ

#GuestBlogPost #JustaPhD

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s