ไม่ใช่แค่ปริญญาเอก Pakapa Thiangpak Petrov, Ph.D. (Materials Engineering)

สวัสดีค่ะเพื่อน ๆ วันนี้เราขออนุญาตมาแชร์เรื่องราวและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของการเรียนปริญญาเอกของเราค่ะ ว่าต้องผ่านอะไรมาบ้าง

ขอแนะนำตัวคร่าว ๆ ก่อนนะคะ เราชื่อ Patty ปัจจุบันเราเป็นแม่บ้านฟูลไทม์ อาศัยอยู่ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา จบปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมวัสดุ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี 2020 ค่ะ และก่อนที่เราจะออกมาเรียนเต็มตัว เราทำงานในตำแหน่ง Senior corrosion and materials engineer ของบริษัทข้ามชาติในไทยที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการออกแบบแท่นน้ำมันและท่อขนส่งน้ำมัน

เราได้ทุนจากบริษัทในการมาเรียนต่อปริญญาเอกที่ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ภาคปกติ) ใน 4 ปีแรกของการเรียน เราเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ผ่านการเรียนครอสเวิร์คและสอบเสนอโครงร่างงานวิจัยไปเรียบร้อยแล้ว แต่ด้วยงานที่บริษัทค่อนข้างเยอะและบางครั้งบริษัทก็ส่งเราไปไซท์งานต่างจังหวัดและส่งไปทำงานที่ต่างประเทศบ้าง ทำให้เราไม่สามารถทำงานวิจัยได้เต็มที่และไม่ค่อยจะคืบหน้าเลย

ตอนนั้นเราคิดว่า ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป เราคงเรียนไม่จบแน่ ๆ ในตอนนั้นมีเงินก้อนหนึ่งที่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายทุกอย่างแบบไม่ทำงานราว ๆ 2-3 ปี เราเลยตัดสินใจลาออกเพื่อที่จะได้เต็มที่กับการทำวิจัยปริญญาเอกของเรา แต่สุดท้ายแล้วเราก็ได้ทุนคณะและทุนความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ที่เป็นทุนให้เปล่า ไม่มีข้อผูกมัด เราโชคดีมากที่เราได้ทุนไปทำวิจัยที่ University of science and technology ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเวลา 1.5 ปี นี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวการเรียนปริญญาเอก (อย่างจริงจัง) ของเราค่ะ


“การทำวิจัยเปิดโลกกว้าง”
เป้าหมายของเราในการทำวิจัยที่จีน คือ ต้องได้เปเปอร์ 2 ฉบับกลับมา มันคือความท้าทายมากๆเลยค่ะ และด้วยที่เราไปที่นั่นคนเดียว ไม่รู้จักใครมาก่อนและพูดภาษาจีนไม่ได้เลย ยิ่งเพิ่มความท้าทายยิ่งขึ้นไปอีก เราโชคดีมากอีกครั้งที่ได้อาจารย์ที่ปรึกษาคนจีนที่เป็นคนเก่งมากเรียกว่าอัจฉริยะได้เลย เพื่อน ๆ ในกลุ่มวิจัยก็น่ารัก เพื่อน ๆ จะอายุ 20 ต้น ๆ กันทั้งนั้นเลยค่ะ ซึ่งเราในตอนนั้นก็ 30 ปลาย ๆ แล้ว อายุห่างกันราว 12-15 ปีกันเลยทีเดียว แต่ไม่มีปัญหาระหว่างวัยเลยค่ะ ทุกคนเป็นเพื่อนกัน ช่วยเหลือเราในหลาย ๆ เรื่องมาก ยกเว้นเรื่องงานวิจัยนะคะ ซึ่งเราต้องคิดหัวข้อใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มและอุปกรณ์เครื่องมือที่มี ทำแล็บเอง หาซื้อของเอง ทั้งที่พูดจีนไม่ได้ เราใช้วิธียื่นรูปของที่เราจะซื้อให้ร้านดู หรือไม่ก็ให้เพื่อนคนจีนเขียนคำพูดใส่กระดาษให้ แล้วเราก็แค่ยื่นกระดาษให้ทางร้าน เป็นการเอาตัวรอดที่ใช้ได้เหมือนกันค่ะ

พอเราทำวิจัยที่จีนไปได้เกือบปี เริ่มมีผล เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว เราต้องกลับไทยเพื่อมาสอบสอบวัดคุณสมบัติ (QE) และสอบเสนอโครงร่างงานวิจัยอีกครั้งกับหัวข้อใหม่ ช่วงนั้นเครียดมากเลยค่ะ แต่ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดีค่ะ หลังจากนั้น ก็กลับมาทำวิจัยที่จีนต่อค่ะ เราทำแล็บเป็นบ้าเป็นหลังเลยค่ะ เพราะเวลาที่มี 1.5 ปี นั้นน้อยมาก เราขยันจนอาจารย์และเพื่อน ๆ ชมเลยค่ะ ว่าคนไทยขยันมาก


บทคัดย่อสื่อรัก”
สิ่งที่เราได้ในช่วงทำวิจัยที่จีนนั้น เกินคาดมากๆค่ะ อาจจะด้วยพรหมลิขิตหรือบุพเพสันนิวาสก็ตาม เพื่อนๆเชื่อมั๊ยคะว่าเราเจอสามีที่จีนและแต่งงานกันในปีถัดมาที่อเมริกา สามีเราเป็นวิศวกรชาวอเมริกันที่มาบิสซิเนสทริปที่จีนพอดี เลยทำให้เราได้เจอกันค่ะ การที่เราเจอสามีเราขอเรียกว่า “บทคัดย่อสื่อรัก” นะคะ ถ้ามีโอกาสเราจะมาเล่าให้ฟังนะคะ ว่าเราเจอกันยังไง“ไปต่อหรือพอแค่นี้”

เราขอเริ่มจากตอนที่เรารู้ว่าท้อง ในช่วงที่เรากำลังทำวิจัยที่จีนและพร้อมๆกันนั้น สามีเราประสบอุบัติเหตุที่อเมริกา ซึ่งหมอบอกว่าอาจจะพิการ กลับมาเดินอีกไม่ได้อีก เรารีบบินไปอเมริกาเลยค่ะ พอเราเห็นสภาพสามี ใจเราวูบเลยค่ะ เราเป็นห่วงสามีมากและยังท้องอ่อน ๆ ด้วย เราคิดหลายรอบว่า เราจะไปต่อหรือพอแค่นี้ดีสำหรับการเรียนปริญญาเอกของเรา

งานวิจัยของเรายังเหลือเวลาอีก 4 เดือนที่เราต้องทำให้เสร็จ เราอยากดูแลสามี อยากดูแลลูกที่อยู่ในท้องให้ดีที่สุด เลยคิดว่าเราจะพอแค่นี้ดีกว่า เราคงไม่มีวาสนาที่จะเรียนจบปริญญาเอกแล้ว พอเราบอกสามี เค้าบอกให้เราสู้ อย่ายอมแพ้ บอกให้เราทำให้สำเร็จ เพราะอีกเพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้นเอง เค้าเข้มแข็งมากและกำลังใจดีมาก เค้าบอกเค้าจะดูแลตัวเอง รอเรากับลูกกลับบ้าน น้ำตาเราไหลเลยค่ะ

หลังจากนั้น เราก็บินกลับมาจีน เพื่อทำภาระกิจให้สำเร็จ เรากับลูกในท้องต้องช่วยกันทำแล็บทั้งวัน ทุกวัน บางวันตั้งแต่ 7 โมงเช้า จนถึงตี 1 ตี 2 ของอีกวัน เราทำแบบนี้ตลอด 4 เดือน และด้วยความที่เราเรียนทางด้านวิศวกรรม มีการใช้เครื่องมือหนักในการทำแล็บและสารเคมีอีกหลายตัว เราระมัดระวังมากเพราะกำลังท้องอ่อน ๆ ไหนจะเรื่องอาหารการกินที่ต้องเลือกที่มีประโยชน์ ซึ่งยากมากสำหรับเรา จะเลือกกินไม่ได้เลย เพราะเราพูดภาษาจีนไม่ได้ ทำให้สื่อสารกับร้านค้าไม่ได้ ในระหว่าง 3-4 เดือนนี้ เราบินกลับอเมริกาทุกเดือน เพื่อมาฝากท้องและกลับมาดูแลสามี ที่อาการดีขึ้นตามลำดับ


“การเขียนเล่ม”
สิ่งที่ไม่คาดคิด เกิดขึ้นได้เสมอ”หลังจากที่เราทำแล็บที่จีนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็กลับมาอเมริกาถาวร ตอนนั้น เราท้องราวๆ 4 เดือนแล้ว เราต้องทำการประมวลผลการทดลอง เขียนเล่มงานวิจัย เตรียมคลอดและเตรียมเลี้ยงลูก พอถึงกำหนดคลอดลูก สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น หลังจากที่ลูกคลอดออกมาแล้ว เรามีอาการหัวใจวาย ไตวาย ปอดไม่ทำงาน อยู่ในภาวะโคม่า ต้องอยู่ ICU หลายวันและต้องพักฟื้นหลายเดือน พอแข็งแรงก็กลับมานั่งเขียนเล่มงานวิจัยอีกครั้ง เพื่อที่จะบินกลับมาสอบจบที่เมืองไทย

การสอบป้องกันดุษฎีนิพนธ์
“Super baby”เราได้เดินทางกลับเมืองไทยพร้อมกับสามีและลูกสาว ซึ่งตอนนั้นลูกสาวอายุ 8 เดือน ตลอดเวลาการเดินทาง น้องเป็นเด็กดีมาก ไม่งอแงในระหว่างการเดินทางเลย และเนื่องจากสามีลางานได้แค่ 2 สัปดาห์แล้วต้องกลับอเมริกาไปทำงานก่อน เราต้องลุยต่อกับลูก 2 คน หอบหิ้วกันไปทุกที่ ทั้งขึ้นแท๊กซี่ รถไฟฟ้า รถเมล์ ลูกเรารู้เรื่องมาก ไม่งอแง ไม่ร้องไห้เลย ไปไหนไปกัน เป็นเบบี้สายลุย“แม่ลูกสายอึด”

เรากลับมาไทยในครั้งนี้เพื่อที่จะสอบจบ เราต้องทำเล่มงานวิจัยให้เสร็จสมบูรณ์และอ่านหนังสือสอบ อาจจะดูเหมือนไม่มีอะไร แต่การที่เราต้องเลี้ยงลูกไปด้วย ทำเล่มไปด้วย อ่านหนังสือไปด้วย มันจะเหนื่อยกว่าปกติมาก พอลูกนอนเราถึงได้ทำงาน เวลาเราทำงานที่คอม น้องก็นั่งเล่นเอง กินขนมเอง ไม่ค่อยกวนเราเลย แต่เราก็จะไม่ปล่อยให้ลูกเล่นคนเดียวนาน ๆ นะคะ พยายามเล่นกับลูกให้บ่อยที่สุด สงสารลูกค่ะ บางวันเราทำงานถึงเช้าแล้วเข้ามหาวิทยาลัยต่อเลย ต้องไปส่งงานอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อจะเตรียมตัวสอบ น้องก็ไปหาอาจารย์ด้วยกัน ฟังแม่กับอาจารย์คุยกันเป็นชั่วโมง น้องก็นั่งเล่นของเล่นบนรถเข็นอย่างเงียบ ๆ ไม่งอแง ไม่กวนเราเลย เราเองก็ต้องเข้ามาส่งงานบ่อยๆ ก็กระเตงกันไป 2 คนแม่ลูก เราใช้เป้อุ้มเด็กบ้าง รถเข็นบ้าง บางทีเอาไป 2 อย่างเลยค่ะ รถก็ไม่มี ต้องขึ้นแท็กซี่กัน พลังมาจากไหนไม่รู้ค่ะ เราแบกของหนักมาก ด้านหน้ามีเป้อุ้มน้อง 10 กก. ด้านหลังเป็นเป้ใส่ของลูกและของเรา ทั้งเอกสารต่าง ๆ คอมพิวเตอร์ นมลูก ขนมลูก ของเล่นลูก ชุดสำรองลูก ไดเปอร์…ฯ ร่วม ๆ 10 กก. รวมแล้วที่ตัวเราต้องแบกน้ำหนักราวๆ 20 กก. เลย

ยังไม่หมดค่ะ มือขวาก็ลากรถเข็นเด็กด้วย คือ ต้องใช้พลังเยอะมาก แถมอากาศเมืองไทยก็ร้อน สงสารลูกมาก แต่น้องไม่เคยงอแง ไม่เคยร้องไห้เลยเวลาออกไปข้างนอกกัน มีแต่เราร้องไห้สงสารลูกที่เราพาลูกมาลำบากเราสองแม่ลูกต่อสู้ด้วยกันจนกระทั่งวันที่เราสอบดีเฟนส์ เป็นวันที่เราสองคนอยู่ห่างกันนานที่สุดในชีวิตถึง 6 ชั่วโมงเลยค่ะ ในช่วงที่เราสอบดีเฟนส์เราให้เพื่อนมาเลี้ยงลูกให้ที่คอนโดให้ น้องก็ไม่งอแง ไม่ร้องไห้เลยค่ะ คงรู้ว่าแม่กำลังสอบอยู่เลยไม่ทำให้แม่เป็นกังวล พอเราใกล้สอบเสร็จ เพื่อนเราก็พาลูกมาหาเราที่มหาวิทยาลัย หลังจากที่เราออกมาจากห้องสอบพร้อมข่าวดี เราก็เห็นหน้าลูกเลย ลูกดีใจมากที่เจอเรา เราแทบจะร้องไห้เลย ทั้งดีใจที่เราสอบผ่าน ทั้งดีใจที่เห็นหน้าลูกด้วย

“การเขียนบทความผลงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์”
The show must go on”หลังจากนั้นเรากลับมาอเมริกา เราก็ต้องเร่งเขียนบทความงานวิจัย 2 ฉบับ ให้ได้ตีพิมพ์ระดับนานาชาติเพื่อจะได้เอาไปยื่นมหาวิทยาลัยในการจบการศึกษาอย่างเสร็จสมบูรณ์ ด้วยความที่เราเป็นแม่บ้านฟูลไทม์ ตอนกลางวันเลี้ยงลูก ดูแลสามี ดูแลบ้าน ตอนกลางคืนก็นั่งเขียนงานหลังจากที่พ่อลูกนอนแล้ว เรานั่งเขียนงานจนถึงเช้าเป็นประจำ โชคดีที่ลูกเราตื่น 10-11 โมง เราเลยได้พอมีเวลานอนบ้าง ในบางวันเราต้องอุ้มลูกนั่งตักมือนึง อีกมือนึงต้องพิมพ์งาน ช้าหน่อยแต่ยังดีกว่าไม่ได้ทำ เราใช้ชีวิตแบบนี้เป็นระยะเวลา 8 เดือน และในระหว่างแก้บทความเราได้ตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง แต่ด้วยที่เราเครียดและพักผ่อนไม่เต็มที่ ทำให้เราเสียลูกในท้องไป เราเสียใจมากและในช่วงนั้นเราต้องไปโรงพยาบาลวันเว้นวัน สภาพร่างกายและจิตใจไม่มีความพร้อมเลย แต่ความรับผิดชอบเราก็ต้องมี

เราเดินหน้าแก้งานต่ออีกฉบับละ 2 รอบ จนในที่สุดบทความเราก็อนุมัติให้ตีพิมพ์ ทั้ง 2 ฉบับ เราบอกได้เลยว่า การเขียนผลงานวิจัยให้ได้ตีพิมพ์เป็นด่านที่ยากที่สุดสำหรับการเรียนปริญญาเอกเลยก็ว่าได้ค่ะ เราไม่คิดว่าคนอย่างเราจะทำได้ แต่ในที่สุดเราก็ทำได้แล้ว ดีใจและภูมิใจมาก ๆ กับปริญญาใบนี้ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมวัสดุ (PhD. in Materials Engineering) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน

“We are team”
เราโชคดีที่มีทีมเวิร์คที่ดีเยี่ยมอย่างสามีและลูกสาว เราทำงานกันเป็นทีม ถ้าไม่มีพวกเค้าสองคน เราคงไม่ได้มาถึงวันนี้ ลูกอยู่กับเราตั้งแต่เราทำแล็บที่จีน จนกระทั่งกลับมาสอบจบที่ไทยและช่วงเวลาการเขียนบทความ ซึ่งเป็นช่วงที่ยากลำบากมากแต่เราสองคนก็ผ่านมันไปได้ด้วยดี ลูกไม่งอแง ไม่ร้องไห้ ไม่ทำให้แม่รู้สึกเหนื่อยเลยซักนิดในส่วนของสามีเรา เค้ามีส่วนช่วยเรามาก เราเขียนเล่มและบทความเสร็จ แล้วส่งต่อให้สามีเช็คความถูกต้องของแกรมม่า แล้วเราเอามาไฟนอลเช็คอีกครั้งก่อนส่งไปที่สำนักพิมพ์ ขอบคุณคุณสามีกับคุณลูกสาวมาก ถ้าไม่มีกำลังใจและการสนับสนุนที่ดีเยี่ยมจากพวกเค้าทั้งสองคน เราอาจจะเรียนปริญญาเอกไม่สำเร็จก็ได้

“อุปสรรคมีไว้ฝ่าฟัน”
ขอบคุณทุกคนมากนะคะที่อ่านมาถึงตรงนี้และขอบคุณอุปสรรคและความยากลำบากที่คอยเป็นแรงผลักดันจนทำให้เรามาถึงวันนี้ เราอยากบอกว่า อุปสรรคและความลำบากจะเข้ามาพิสูจน์ความแข็งแกร่งของเรา ซึ่งความแข็งแกร่งในตัวเรามันมีมากกว่าที่เราคิดอีกค่ะ อุปสรรคเป็นบทเรียนและเป็นบททดสอบความสามารถของเรา การที่เราฝ่าฟันอุปสรรคมาได้ จนนำไปสู่ความสำเร็จ เราจะภูมิใจในตัวเองมาก ความมุ่งมั่นและความตั้งใจจะทำให้คุณประสบความสำเร็จค่ะ ลำบากตอนนี้จะสบายในภายภาคหน้า อย่ายอมแพ้นะคะ เป็นกำลังใจให้กับเพื่อน ๆ ทุกท่านค่ะ สู้ ๆ ค่ะ


จาก Pakapa Thiangpak PetrovPh.D. (Materials Engineering)
#คอลัมน์แขกรับเชิญ#คุยเรื่องเรียนด็อกเตอร์กับด็อกเตอร์#เพจก็แค่ปริญญาเอก

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s