ดร.ดนัยกันต์ จงเฟื่องปริญญา ::: คอลัมน์แขกรับเชิญ ::: คุยเรื่องเรียนด๊อกเตอร์กับด๊อกเตอร์

วันนี้ เพจก็แค่ปริญญาเอก ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับหนุ่มนักบิน ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราจึงไม่รอช้า ชักชวนเขามาเปิดเผยถึงประสบการณ์การเรียนปริญญาเอก และการบริหารจัดการเวลาเรียนเอกควบคู่กับการทำงาน ให้พวกเราฟังกัน…

แนะนำตัวนิดนึงค่ะ

สวัสดีครับ ผมชื่อ ดนัยกันต์ จงเฟื่องปริญญา ชื่อเล่นชื่อ เป้อ แต่เรียกว่า กันต์ ก็ได้ครับ เพื่อน ๆ ส่วนใหญ่จะเรียกว่าก ันต์ ตามชื่อจริงแบบย่อ ผมเรียนจบ Bachelor of Arts ที่ประเทศ New Zealand เมือง Christchurch และเนื่องจากแผ่นดินไหวใหญ่จึงตัดสินใจกลับมาเรียนปริญญาโท หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาเอกหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันทำงานเป็นนักบินครับ

ทำงานเป็นนักบิน แล้วทำไมถึงคิดอยากเรียนปริญญาเอกคะ

แผนการเรียนปริญญาเอก มีมาก่อนที่ผมจะเป็นนักบินครับ เริ่มตั้งแต่ตอนที่ผมเรียนต่อปริญญาโท ผมมีเป้าหมายเรียนปริญญาเอกอยู่แล้ว เนื่องจากยุคปัจจุบัน มีคนจบปริญญาโทมากมาย ผมคิดว่า การเรียนปริญญาเอกจะสร้างโอกาสในหลากหลายด้านมากกว่าอย่างแน่นอน

ต้องทำงานและเรียนไปด้วยพร้อมกัน ในตอนนั้น บริหารจัดการเวลาอย่างไร

ผมให้ความสำคัญกับงานและการเรียนเท่ากัน ในการบินนั้น ความปลอดภัยจะต้องมาเป็นอันดับแรก การพักผ่อนหรือการเตรียมความพร้อมในการบินเป็นหน้าที่ของนักบิน เมื่อบินเสร็จเรียบร้อย ผมจะหาเวลาในการปรับแก้ไขบทความงานวิจัย 2-3 ชั่วโมง ใช้เวลาไม่มากไม่น้อยเกินไป แต่ถ้าวันที่ไม่มีบิน ก็จะให้เวลาเต็มที่ในงานวิจัย 6-8 ชั่วโมง ทำอย่างสม่ำเสมอและส่งงานให้อาจารย์ที่ปรึกษาดูความคืบหน้าทุกสัปดาห์ เพื่อการทำงานที่ถูกแนวทางจะประหยัดเวลา เพราะเมื่อเราไปถูกทางเราก็จะไม่เหนื่อยฟรี จะได้ไม่ต้องมาคอยแก้งานวิจัยแบบไม่รู้จักจบสิ้น

ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องอะไร

ผมทำดุษฎีนิพนธ์เกี่ยวกับเรื่อง การหาแนวทางการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพด้านแม่และเด็กติดผู้ต้องขังในประเทศไทย งานวิจัยนี้ครอบคลุมเรื่อง แนวทางการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของแม่และเด็กภายในเรือนจำ สุขอนามัยของแม่และเด็กภายในเรือนจำ และเรื่องสิทธิผู้ต้องขังหญิง สิทธิเด็ก ตามข้อกำหนดกรุงเทพด้านแม่และเด็กติดผู้ต้องขัง ซึ่งประกอบด้วย ผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์ ผู้ต้องขังหญิงที่มีลูกอ่อนต้องเลี้ยงดูอยู่ภายในเรือนจำ และเด็กที่อยู่ภายในเรือนจำ ผมใช้เวลาในการเรียนปริญญาเอก 3 ปีครับ

ระหว่างเรียนพบเจอปัญหาอะไรที่คิดว่าหนักที่สุด

ปัญหาที่หนักที่สุดมักจะเป็นปัญหาในขั้นตอนที่เราอาจไม่สามารถดำเนินการด้วยตนเองได้ เช่น การตีพิมพ์บทความทางวิชาการ ที่อาจมีการพิจารณาตอบรับล่าช้ากว่าที่วางแผนไว้มาก เช่น ส่งบทความไปคาดว่าจะได้รับผลพิจารณาภายใน 2 เดือน แต่เรื่องเงียบต้องตามเรื่องโทรแล้วโทรอีก เราไม่โทรเร่งก็ไม่มีความคืบหน้า เหมือนเอาชะตากรรมของตัวเองไปฝากไว้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตีพิมพ์บทความ เพราะเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้พิจารณาหาผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย 2 ท่าน มาอ่านงานเขียนของเรา ถ้าหากเจ้าหน้าที่ไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควรก็อาจทำให้ผลพิจารณาบทความยาวนาน 4-6เดือน ส่งผลให้เสียสุขภาพจิตและเสียแผนที่วางไว้

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะส่งบทความล่วงหน้าให้นานกว่านี้ และส่งบทความเผื่อไปอีก 2-3 บทความ กันความเสี่ยงที่บทความจะไม่ผ่านมาตรฐานของที่ที่เราส่งไป ต้องโทษตัวเองที่เผื่อเวลาไว้ไม่พอเอง มันเป็นเรื่องที่ไม่มีใครเดือดร้อนยกเว้นตัวเราเอง จะไม่มีใครเตือนเราได้ดีเท่าเราเตือนตัวเอง เพราะทุกครั้งที่เวลาผ่านไปอาจทำให้จบช้าไปอีกเทอม และค่าเทอมก็ใกล้หลักแสน ไม่ควรประมาท ควรคิดถึงสิ่งเลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ โชคดีที่ตอนนั้นบทความผมผ่านรอบแรก ทำให้ประหยัดค่าเทอมไปได้อีกเทอม ไม่อย่างนั้นเดาไม่ได้เลยว่า จะเกิดผลเสียยืดเยื้ออีกนานแค่ไหน

มีวิธีสร้างกำลังใจให้ตัวเองอย่างไร

ผมให้กำลังใจตัวเองโดยการคิดเสมอว่า “คนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้” ผมไม่เคยท้อถ้ามันมีสาเหตุมาจากตัวผมเองและผมจะหาทางแก้ไขปัญหานั้นให้เร็วที่สุด ผมจะเหนื่อยใจกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้แต่ส่งผลกระทบกับตัวผมโดยตรงมากกว่า เช่น การรอคอนเฟิร์มการตีพิมพ์บทความ หรือ การขอจริยธรรมในงานวิจัย เมื่อต้องมีคณะกรรมการประเมินใช้เวลานานและส่งผลต่อการเรียนจบที่ล่าช้า

คิดว่าเพราะปัจจัยอะไรที่ทำให้คุณเรียนสำเร็จ

ต้องมีการวางแผนสำรองที่ดีพออยู่เสมอทุกขั้นตอน บวกกับความพยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่า นับครั้งไม่ถ้วน แรงสนับสนุนจากคนรอบข้าง ทั้งอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก อาจารย์ที่ปรึกษาเสริม คณะกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์ทุกท่าน เจ้าหน้าที่ภาคที่ช่วยเรื่องการทำจดหมายขออนุญาตและประสานงานกับเจ้าหน้าที่ส่วนต่าง ๆ ครอบครัวที่ให้กำลังใจและคนรักที่คอยสนับสนุน ทุ่มเทเวลาให้งานวิจัยออกมาละเอียดและมีคุณภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในเวลาที่จำกัด

ปัจจุบัน ได้ใช้ทักษะความรู้จากการเรียนมาประยุกต์ใช้กับงานหรือไม่

ความรู้เรื่องอาชญาวิทยาสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกสายอาชีพ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์และแนวโน้มที่จะนำไปสู่การก่ออาชญากรรม เพื่อหาแนวทางป้องกันและวิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยส่วนตัวผมมีเป้าหมายว่า เมื่อวันหนึ่งได้มีโอกาสเป็นกัปตันในสายการบิน อยากมีโอกาสทำหน้าที่เป็นผู้สัมภาษณ์คัดเลือกนักบินใหม่ จึงตั้งใจเรียนสาขานี้เพื่อสร้างความปลอดภัยสูงสุดให้กับผู้โดยสารและลูกเรือที่ต้องฝากชีวิตไว้กับนักบินครับ

การเรียนจบปริญญาเอกมีความหมายอย่างไรสำหรับคุณ

การเรียนจบปริญญาเอก ได้สร้างโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนจำนวนหนึ่ง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในงานวิจัยของผม จากผลการวิจัยที่สามารถนำไปสู่การวางนโยบายต่างๆ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการ ผลงานวิจัยระดับปริญญาเอกนี้จะเปลี่ยนชีวิตของเยาวชนมากมายไปในทางที่ดีขึ้น

ผมได้พัฒนาตัวเองจากการเป็นผู้รับมาเป็นผู้ให้ ผมได้รับความช่วยเหลือจากผู้มีส่วนร่วมในงานวิจัยหลายท่าน และวันนี้เมื่องานวิจัยสำเร็จ ผมได้เป็นผู้นำเสนอผลงานวิจัยที่มีคุณค่าทางวิชาการและคุณประโยชน์ต่อสังคม

ปริญญาเอก ในความคิดของผมคือ การลงมือสร้างองค์ความรู้เพื่อสาธารณะประโยชน์ เพื่อให้คนรุ่นหลังสามารถนำไปพัฒนาปรับปรุงให้เหมาะกับยุคสมัย ผลงานวิจัยนี้จะอยู่ไปอีกนานแสนนาน พร้อมกับชื่อของตัวเราเองเป็นหลักฐานของความอุตสาหะ ความภูมิใจนี้จะอยู่กับตัวเราคนรักของเราและครอบครัวตลอดไป

สุดท้าย มีข้อคิดอะไรอยากฝากอะไรไว้สำหรับผู้เรียนปริญญาเอก

ผมอยากฝากถึงผู้ที่กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ ในเรื่องของการวางแผนสำรองในทุก ๆ ขั้นตอน ขอให้มีแผน A แผน B แผน C อย่าประมาท อย่าพึ่งคนอื่น ไม่มีใครช่วยเราได้มากเท่าเราช่วยตนเอง เพราะเรื่องนี้ไม่มีใครเดือดร้อนนอกจากเรา เราเลือกเองชีวิตเรากำหนดเอง คนอื่นเรียนจบได้เราก็ต้องจบได้ มันจะยากเกินความสามารถเราได้ยังไง เว้นแต่เราไม่พยายามและความพ่ายแพ้ก็จะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต อยากเป็นคนแบบไหนเราเลือกเอง

สำหรับผู้ที่สนใจเรียนปริญญาเอก อย่ากลัวที่จะตัดสินใจ คนอื่นทำได้ เราก็ทำได้ ไม่มีอะไรเกินความพยายาม แล้ววันหนึ่งมองย้อนมา มันคุ้มค่าที่เราตัดสินใจพิสูจน์ตัวเอง เพราะการลงทุนกับการพัฒนาตัวเองไม่มีทางขาดทุนครับ

สุดท้ายนี้ ผมมีข้อคิดจาก Thomas Edison ในตอนที่เขาถูกถามเรื่องการประดิษฐ์ หลอดไฟ

ผู้สัมภาษณ์ ถามว่า “คุณรู้สึกยังไงในตอนที่คุณล้มเหลวมา 10,000 ครั้ง ก่อนที่จะประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าได้สำเร็จ”

Thomas Edison ตอบว่า “I have not failed. I’ve just found 10,000 ways that won’t work.”  “ผมไม่ได้ล้มเหลว แต่ผมค้นพบวิธีที่ไม่ได้ผลถึง 10,000 วิธี”

คำตอบของ Thomas Edison ทำให้ผมคิดว่า พลังการคิดบวกคือสิ่งที่ทำให้เราก้าวข้ามทุกปัญหาไปได้ แม้ว่าเราต้องแก้เล่มดุษฎีนิพนธ์ของเราเป็นหมื่นครั้ง มันก็ต้องมีครั้งที่สำเร็จรอเราอยู่อย่างแน่นอน

…………………………….

เพจก็แค่ปริญญาเอก ขอขอบคุณ ดร.ดนัยกันต์ จงเฟื่องปริญญา เป็นอย่างยิ่ง สำหรับการแบ่งปันประสบการณ์ที่มีค่า และมุมมองแง่คิดที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจหรือกำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ 

เพจก็แค่ปริญญาเอก ยินดีเปิดพื้นที่สำหรับการแบ่งปันประสบการณ์การเรียนปริญญาเอก เชิญชวน inbox มาหาเรา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ให้กับเพื่อน ๆ คนอื่นกัน…

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s