วันนี้เราเปิดบ้านต้อนรับนักศึกษาปริญญาเอก ที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศโปรตุเกส ผู้ที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์และมุมมองเกี่ยวกับการเรียนปริญญาเอกของเขา ไปทำความรู้จักเขากัน
แนะนำตัวนิดนึงค่ะ
ชื่อกรภัทร พฤกษ์ชัยกุล ครับ เรียนจบปริญญาตรีและโท สาขาภาษาอังกฤษ จากคณะ
อักษรศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อปี 2544 และ 2551 ตามลำดับครับ
ณ ตอนนี้ ยังแก้ไขงานดุษฎีนิพนธ์เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อส่งคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (Faculdade de Ciências Sociais e Humanas (FCSH)) มหาวิทยาลัยนอวา ดึ ลิฌบัว (Universidade Nova de Lisboa) ประเทศโปรตุเกส ในเดือนพฤศจิกายนนี้อยู่เลยครับ

ทำไมถึงตัดสินใจมาเรียนปริญญาเอก
ตรงๆ เลยครับ ได้ทุนเรียนดีสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เมื่อปี 2556 ครับ คือทุนนี้จะให้สำหรับการศึกษาในสาขาที่ยังขาดแคลนในประเทศไทย เหมือนเป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในสาขานี้ด้วย
ที่ตัดสินใจมาเรียนเป็นเพราะในปีที่ให้ทุนนั้น มีการให้ทุนในสาขาปริญญาเอก ด้านภาษาโปรตุเกสด้วยครับ จริงๆ แล้ว ตั้งใจจะแจ้งอาจารย์ที่คณะอักษรฯ ท่านหนึ่งให้บอกรุ่นน้องป. โทด้วยว่า สกอ. ให้ทุนไปเรียนต่างประเทศในสาขาภาษาอังกฤษ ซึ่งผมไม่สนใจจะไปต่อป. เอกด้านนี้ในต่างประเทศอยู่แล้ว เพราะวิชาความรู้ที่เรียนปริญญาโทจากคณะอักษรฯ ก็เข้มข้นเพียงพอที่จะทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่
แต่พอคุยกับอาจารย์ไปมา เผลอหลุดปากบอกอาจารย์ว่า มีทุนไปต่อปริญญาเอกที่โปรตุเกสด้วย อาจารย์เลยคะยั้นคะยอให้สมัครทุนดู ตอนแรกก็ underestimate ตัวเองว่า จะสอบได้หรือเปล่า ความเห็นส่วนตัวในตอนนั้น ดูเป็นทุนที่ยิ่งใหญ่อลังการดาวล้านดวงมาก เพราะมีนักเรียนที่สนใจมาร่วมสอบกันมืดฟ้ามัวดิน แต่ด้วยความที่หลงลมปากอาจารย์ (หัวเราะ) กับความอยากไปโปรตุเกสด้วย เพราะเคยได้ทุนรัฐบาลโปรตุเกสไปเรียนภาษาเมื่อปี 2544 ถึง 2546 แล้วสนใจประเทศนี้ และอยากเรียนให้สูงขึ้นไปอีก ก็เลยสมัครสอบดู ผลปรากฏว่าได้ทุน ก็เลยได้โอกาสมาเรียนครับ

ทำ thesis เรื่องเกี่ยวกับอะไร
ผมทำดุษฎีนิพนธ์เรื่อง การสร้างข้อความโฆษณาในฐานะการสร้างอัตลักษณ์ กรณีศึกษาแผ่นพับโฆษณาของธนาคารพาณิชย์โปรตุเกส ครับ
ซึ่งเป็นงานวิจัยที่อยู่ในสาขา Text and Discourse Linguistics ของภาควิชาภาษาศาสตร์ ที่คณะฯ แต่มีการเชื่อมโยงทฤษฎีอื่นๆ จากสาขา sociolinguistics, discourse analysis และ social semiotics เข้าด้วยกันครับ โดยใช้เวลาทั้งหมดในการเรียนและทำวิจัยประมาณ 6 ปี คือตั้งแต่ปี 2556-2562
ระหว่างเรียนพบเจอปัญหาอะไรที่คิดว่าหนักที่สุด
ถ้าจะให้เล่านี่ อภิมหากาพย์เลยนะครับ
เริ่มตั้งแต่ตอนได้ทุนก็เกือบจะไม่ได้ไป เพราะคณะกรรมการทุนฯ ประสงค์จะให้ผมทำวิจัยด้านวรรณคดีโปรตุเกศซึ่งเป็นสาขาที่ไม่ถนัดเลย แต่พอเห็นความตั้งใจและเหตุผล ก็พิจารณาอนุมัติครับ
ตอนนั้นยังคิดว่าเจออุปสรรคตั้งแต่หน้างานเลย ยังไม่ได้ไปเรียนก็มาแล้ว เครียดอยู่เป็นเดือนเพราะเราลาออกจากงานมาแล้วเพื่อรับทุนนี้ แต่สุดท้ายก็ผ่านไปด้วยดี

ต่อมา พอได้มาเรียน เจอทฤษฎีภาษาศาสตร์ภาษาโปรตุเกสที่ ไม่เคยสอน ไม่เคยเรียนในเมืองไทย ทำไงล่ะทีนี้ ก็ต้องอ่านตำราและบทความซึ่งมีแต่ภาษาโปรตุเกส เพราะทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีที่ยังไม่แพร่หลายมากนัก ต้องใช้เวลาเกือบปีในการอ่านเพื่อทำความเข้าใจ อาจารย์ก็ให้เขียนเรียงความส่งเพื่อฝึกการเขียน ฝึกการสังเคราะห์ข้อมูล ฝึกการตีความทฤษฎี ผลสุดท้ายคือมาเข้าใจทฤษฎีในหัวข้อที่จะต้องทำวิจัย กลายเป็นบัวพ้นน้ำในวันสุดท้ายของการเรียน (เดือนกรกฎาคม ปี 2557)
หลังจากนั้น ก็ต้องฝึกการนำเสนองานเป็นภาษาโปรตุเกส เพราะต้องสอบปกป้องข้อเสนองานวิจัยเพื่อทำดุษฎีนิพนธ์ ต้องเขียนโครงการวิจัย เขียนดุษฎีนิพนธ์เป็นภาษาโปรตุเกส เก็บข้อมูล ทุกอย่างต้องทำเองและทำทุกวัน มีขยันบ้าง มีขี้เกียจบ้าง
ในระหว่างทำดุษฎีนิพนธ์ ก็ต้องประสานงานกับอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งก็เครียดเหมือนกันเพราะอาจารย์ยุ่งมากและดูแลเราแบบผู้ใหญ่จริงๆ บางครั้งอาจารย์ก็ต้องเลื่อนนัดเพราะติดประชุม คืออาจารย์ที่ปรึกษาของผมเป็นผู้บริหารคณะด้วย ทำให้รู้สึกเหมือนกับมีเราทำวิจัยอยู่คนเดียวในโลกนี้ในบางครั้ง

นอกจากนั้น ยังต้องเรียนภาษาโปรตุเกสเพิ่มเติม เรียนวิชาทางภาษาศาสตร์ที่สนใจ เข้าร่วมประชุม สัมมนาทางวิชาการ นำเสนองานวิจัยอีกร้อยแปด ก็สนุกดีนะ
หลังจากส่งดุษฎีนิพนธ์แล้ว ก็ต้องเตรียมตัวสอบปกป้อง ซึ่งเพิ่งจะเสร็จสิ้นไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา อ่านงานตัวเอง อ่านแล้วอ่านอีก ยิ่งอ่านยิ่งเครียดเพราะเกิดความรู้สึกว่างานเรายังไม่ดีพอ โชคดีว่าได้อาจารย์ที่เตือนสติว่า ด้วยเวลาที่จำกัดเท่านี้ เราทำได้ขนาดนี้ มาถึงตอนนี้ก็ควรจะภูมิใจได้แล้ว ถูกผิดค่อยไปว่ากันตอนสอบปกป้อง อีกทั้งคณะกรรมการที่มาสอบ ส่วนใหญ่มีเมตตามาก ไม่ได้โหดร้ายน่ากลัวเหมือนที่คิดไว้ ก็เลยรอดชีวิตผ่านมาได้ครับ
ถ้าย้อนเวลากลับไป ก็คงจะไม่บอกอะไรกับตัวเองครับ เพราะบอกตัวเองมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่วันที่ได้ตัดสินใจรับทุนแล้ว แต่ถ้าถามว่า เสียดายไหมที่เลือกทางนี้ ตอบเลยว่า บางครั้งก็คิดเหมือนกัน อารมณ์แบบบทกวี The Road not Taken ของ Robert Frost อะไรประมาณนั้น แต่เมื่อเราเลือกแล้ว ก็ต้องเดินหน้าต่อไปครับ เดินมั่ง วิ่งมั่ง คลานมั่ง กลิ้งมั่ง ก็ต้องทำไปเพื่อให้เราไปถึงจุดหมายให้ได้

คิดว่าเพราะปัจจัยอะไรที่ทำให้คุณเรียนสำเร็จ
ความอึด ความอดทน ความชอบในสิ่งที่ทำ ในสาขาที่เรียน ในการเขียนงานครับ บางวันเขียนได้เป็นสิบๆ หน้า แต่ก็มีบางวันที่เขียนได้น้อย เคยเกิดความเครียด กลัวเรียนไม่จบ เขียนงานไม่ได้เลยก็มี วิธีแก้คือ เดินไปคุยกับใครต่อใคร คุยกับเพื่อนมั่ง คุยกับอาจารย์มั่ง คุยกับยามเฝ้าคณะก็เคยมาแล้ว ทำให้รู้ว่าทุกคนก็มีปัญหาของตนเอง ปัญหาของเราเป็นสิ่งที่รุ่นพี่ที่เรียนจบไปเคยเจอมาแล้ว ก็เลยเลิกเครียด คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา กลับมาเขียนงานต่อ

สุดท้าย มีข้อคิดอะไรอยากฝากอะไรไว้ให้ผู้ที่กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่
เมื่อก่อน ถ้ามีใครมาถามว่าเรียนปริญญาเอกดีมั้ย จะรีบตอบว่า ดีสิๆ เรียนเลยๆ แต่ตอนนี้ อยากจะบอกว่า “ไม่ได้สนับสนุน แต่ก็ไม่ได้คัดค้านนะ” เพราะการเรียนระดับนี้ ไม่ใช่ว่าจะมานั่งในห้องเรียนแล้วสอบๆ ให้จบกันไป มีปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้เราสามารถเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อเป็น ดร. ได้ ทั้งปัจจัยภายใน (ส่วนบุคคล) และปัจจัยภายนอก (สังคม) มากมาย
เอาเป็นว่า ถ้าคุณตั้งใจจะเรียนปริญญาเอกแล้ว ก็เดินหน้าชนไปเลย ไม่ต้องไปสนใจคำพูดคนอื่นประมาณว่า “เขาไม่จำเป็นต้องเรียนปริญญาเอกก็ทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้” เพราะคำพูดแบบนี้มีแต่จะบั่นทอนจิตใจเรา ไม่ได้ทำให้สถานการณ์การเรียนของเราดีขึ้นและคนที่พูดแบบนี้ ส่วนใหญ่ไม่เคยเรียนปริญญาเอกมาก่อน พอเห็นผู้อื่นจะเรียนบ้าง ก็เลยพูดดักคอไว้ก่อน
“เป็นดุษฎีบัณฑิตนั้นว่ายากแล้ว แต่เป็นดุษฎีบัณฑิตที่ดีนั้นยากยิ่งกว่า” เราเรียนจบปริญญาเอก คนส่วนใหญ่ก็มีความคาดหวัง มีความคิด ทัศนคติที่แตกต่างไป ต้องเรียนรู้ที่จะ compromise กับสิ่งเหล่านี้ครับ ที่ผมพูดนี่ไม่ใช่ว่าทำได้แล้วนะ แต่ก็ยังพยายามทำให้ได้ในทุกๆ วัน

ผมเคยเจอดุษฎีบัณฑิตบางคน เรียนจบเมืองนอก ยังอายุน้อยอยู่เลย ไม่มองใคร ไม่เห็นหัวเพื่อนที่เคยเรียนร่วมกันมา ไม่ยกมือไหว้ผู้ใหญ่ ในขณะที่ดุษฎีบัณฑิตบางคนน่ารักมาก สุภาพจนเราเกรงอกเกรงใจ ของแบบนี้ สถานศึกษาไม่มีสอนครับ อยู่ที่การประพฤติตัวของดุษฎีบัณฑิตแต่ละคนมากกว่า
เราเรียนปริญญาเอกกันแค่ 5-6 ปีเท่านั้น ที่เหลือก็ต้องออกไปเรียนรู้ต่อภายนอกมหาวิทยาลัย การเรียนปริญญาเอก สอนให้เรารู้ตัวว่าเราไม่รู้และจะทำอย่างไรให้เรารู้ นอกเหนือจากการอ่านตำราในห้องสมุด อาจารย์ เพื่อนๆ ก็มีส่วนสำคัญในการให้ความรู้เรานะครับ
สรุปแล้วก็คือ ผมคิดว่า มี IQ สูงแล้ว EQ ก็ต้องสูงตามด้วยครับ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นดุษฎีบัณฑิตที่แท้ทรู
