“ปริญญาเอก: ความสำคัญของอาจารย์ที่ปรึกษา” :: โดย ดร. อนุชิต ตู้มณีจินดา :: PhD (Applied Linguistics), Lancaster University, U.K.

ผมเชื่อครับว่า หลายคนคิดว่าการมีคำนำหน้าชื่อเป็นอย่างอื่น นอกจาก “นาย” “นางสาว” หรือ “นาง” โดยเฉพาะคำนำหน้าว่า “ดร.” อาจจะช่วยเพิ่มสถานภาพทางสังคม เศรษฐกิจ หรือการยอมรับอย่างกว้างขวาง ซึ่งนั่นก็อาจจะจริง หรืออาจจะไม่จริง ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละคน แต่นั่นก็เป็นแค่เพียงผลพลอยได้เท่านั้น ไม่ใช่เป้าหมายหลักของการได้ปริญญาสูงสุดอย่างปริญญาเอก

43106695_240743626607869_9067584673856618496_n.jpg
การเรียนปริญญาเอกสำหรับผม คือการสร้างและพัฒนาทักษะในการทำวิจัย
รวมไปถึงการสร้างและขยายองค์ความรู้ในสาขาที่เราสนใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ได้มาง่ายๆ เลยครับ
เหมือนกับที่อาจารย์ที่ปรึกษาผมบอกมาตลอดว่า “ถ้าปริญญาเอกได้มาง่ายๆ แจ๊คก็คงเห็นคนเป็นด็อกเตอร์กันเต็มไปหมด” ในโพสต์นี้ผมขอแบ่งปันประสบการณ์การเรียนปริญญาเอกของผม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญของอาจารย์ที่ปรึกษา ตั้งแต่วันแรก (2556)
จนถึงวันนี้ (2561) วันที่ผมสำเร็จการศึกษา

IMG_8664

การเรียนปริญญาเอกสำหรับผมอาจจะยากกว่าคนอื่นๆ ครับ ทั้งนี้เพราะเป็นคนติดบ้าน มีข้อจำกัดมากมายในเรื่องอาหารการกิน ปรับตัวยาก และไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง…
ความยากลำบากเกิดขึ้นทันทีเมื่อเราเดินทางมาถึงประเทศอังกฤษ ประเทศที่มีความแตกต่างทั้งสภาพอากาศ อาหาร ผู้คน ภาษา และวัฒนธรรม หลายคนอาจจะคิดว่า แค่เรื่องพวกนี้เองหรอ สำหรับผมมันสำคัญครับโดยเฉพาะสภาพอากาศ ประเทศนี้เป็นประเทศที่ฝนตกชุกมาก และเมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง หรือฤดูหนาวจะมืดเร็วมาก บางช่วงแค่บ่าย 3 โมงกว่าๆ พระอาทิตย์ก็ตกดินแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกับผม (และเพื่อนอีกหลายคน) คือ เราจะรู้สึกหดหู่ และรู้สึกแย่กับวันที่หมดไปอย่างรวดเร็วในขณะที่งานไม่ได้คืบไปไหนเลย และวงจรนี้เกิดขึ้นมากกว่า 6 เดือนต่อปี และเป็นแบบนี้มาตลอดเป็นระยะเวลาเกือบ 5 ปี

IMG_3408

ความยากลำบากต่อมาคือความพยายามปรับตัวให้เข้ากับการเรียนในระดับปริญญาเอก และการทำงานกับอาจารย์ที่ปรึกษาที่เป็นฝรั่ง (ออสเตรเลีย) เด็กไทยอย่างผม แน่นอนครับอยู่ในห้องเรียน ผมนั่งเงียบกริบเหมือนคนเป็นใบ้ โดยเฉพาะเมื่อต้องเรียนกับเพื่อนๆ ชาวยุโรปที่พูดภาษาอังกฤษเป็นไฟ เพราะกว่าเราจะคิดว่าจะเรียงประโยคยังไง เพื่อนเค้าพูดไปไหนถึงไหนต่อไหนละ สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมคือ เราเริ่มสงสัยความสามารถของตัวเอง (self-doubt) และความเป็นไปได้ที่เราจะอดทนจนเรียนจบแล้วได้ปริญญาเอกกลับบ้าน
สิ่งนี้เกิดขึ้นกับผมมาตลอดครับ แล้วมันก็บั่นทอนกำลังใจผมไปเรื่อยๆ

IMG_1234
แต่ผมยังนับว่าโชคดีกว่าคนอื่นครับ เพราะผมมีอาจารย์ที่ปรึกษาที่ดีกับผมมาก แต่ความรู้สึกที่ว่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีหรอกครับ เพราะก่อนที่จะสำนึกได้ ผมก็บ่นและนึกด่าอาจารย์เค้าอยู่ในใจเยอะเหมือนกัน (ซึ่งรู้สึกผิดมาก เพราะเมื่อได้ยินประสบการณ์จากเพื่อนคนอื่น ทำให้รู้เลยว่า อาจารย์ที่ปรึกษาผมคือเทวดาเดินดินเลยทีเดียว ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ว่า เค้าทำให้ผมเรียนจบ แต่ผมพูดถึงความพยายามของอาจารย์ที่ต้องการ groom ผมให้เป็นนักวิจัยที่ดี)

อาจารย์ที่ปรึกษาผมเป็นคนใจดี ใจเย็น และสุภาพมากครับ (ไม่ใช่ผมคนเดียวที่ประจักษ์เรื่องนี้ แต่สิ่งเหล่านี้ได้รับการยืนยันจากทุกคนที่รู้จักอาจารย์ผมครับ) นี่ก็น่าจะเป็นข้อดีนิ แล้วทำไมผมถึงนึกว่าเค้า เพราะอาจารย์เค้างานเยอะมากครับ และที่สำคัญเค้าก็เป็นคนใจเย็นมาก มากจนผมอาจจะพูดได้ว่าเป็นน้ำแข็งเลยก็ว่าได้
ในขณะที่ผมก็ใจร้อนเป็นไฟบรรลัยกัลป์ (ไฟที่พร้อมจะเผาตัวเองไปได้ในพริบตา)

IMG_8637
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ อาจารย์ไม่ค่อยตอบอีเมล์ผมครับ ในปีแรกๆ มีบางช่วงที่อาจารย์ไม่ตอบอีเมล์ผมเป็นเดือนๆ ปัญหาก็คือ งานผมไม่ได้คืบไปอย่างที่ “ผมต้องการ” ผมรู้สึกแย่กับอาจารย์เค้ามากครับ
ผมได้คุย (ฟ้อง?) เรื่องนี้กับกรรมการที่มาสอบผมในปีแรก คำตอบที่ผมได้ มันทำให้ผมต้องกลับมานั่งคิด และผมก็ตระหนักได้ว่า อาจารย์ไม่ได้มีปัญหา วิธีคิดของผมเองต่างหากที่เป็นปัญหา ในตอนนั้นกรรมการบอกกับผมว่า “การเรียนปริญญาเอกคือ การฝึกให้เราคิด วิเคราะห์และสามารถทำงานด้วยตัวของเราเอง ไม่ใช่มัวแต่หวังแต่จะให้อาจารย์ที่ปรึกษามาช่วย และถ้าเค้ายังไม่ว่างตอบ ก็อย่าอยู่เฉยๆ ให้อ่านหนังสือและพยายามคิดและเขียนอยู่เสมอ”
จากวันนั้นมาความอดทนในการรอคอยของผมก็สูงขึ้น (บ้าง)
หรือถ้าต้องการอยากให้อาจารย์ที่ปรึกษาตอบอีเมล์โดยเร็ว
ก็จะใช้วิธีการเรียกร้องความสนใจด้วยการเติมคำว่า “urgent” เข้าไปในหัวข้อของอีเมล์

นอกจากอาจารย์ที่ปรึกษาผมจะมีงานเยอะ และใจเย็นมาก (และอาจจะมากเกิ๊นในบางครั้ง) อาจารย์ยังชอบหาสิ่งต่างๆ ให้ผมทำเสมอ ทั้งๆ ที่เค้าก็รู้ว่าผมไม่อยากทำ อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นครับว่า ผมเป็นคนไม่ชอบพูดครับ โดยเฉพาะการต้อง present เป็นภาษาอังกฤษ อาจารย์ที่ปรึกษาทราบข้อมูลนี้มาตลอด
แต่สิ่งที่เค้าทำคือ เค้าให้ผมไปนำเสนอ work in progress ใน research group ที่มหาวิทยาลัย
และพาผมไปนำเสนองานวิจัยที่ประเทศฟินแลนด์ อาจารย์ผมพยายามอธิบายเหตุผล และประโยชน์ต่างๆ มากมายที่ผมจะได้รับโดยเฉพาะการพัฒนาทักษะการนำเสนอผลงานวิชาการ
แต่ปัญหาคือ ผมไม่ใช่คนง่ายครับ ผมก็อิดออด แถไปแถมา อาจารย์ก็ยืนยันว่าจะให้ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง conference ใหญ่ของสาขาที่จัดขึ้นที่ประเทศฟินแลนด์ อาจารย์ต้องยอมสละเวลาไปเป็นเพื่อนผมทั้งๆ ที่เค้ายุ่งมากกกก เพราะกลัวว่าไอ้เด็ก (เวร) นี่จะเปลี่ยนใจ…

IMG_5461
และจริงอย่างที่อาจารย์ว่าครับ ผลของการไปนำเสนอผลงานใน conference ทำให้ผมเปลี่ยนวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมด (ขอย้ำนะครับว่าทั้งหมด)
ผลก็คือผมต้องเขียนงานใหม่เกือบทั้งหมดทั้งๆ ที่อยู่กลางปีของปีที่ 4 มันเป็นช่วงเวลาที่เครียดที่สุด เพราะอากาศก็หนาว ฟ้าก็มืดเร็ว ทุนก็ใกล้จะหมด แต่ผลจากการที่อาจารย์บังคับให้ผมไปนำเสนอผลงาน ก็เป็นที่มาของวิทยานิพนธ์ที่สามารถสอบผ่านได้ และได้รับการตีพิมพ์…นี่ถ้าไม่ใช่อาจารย์ผมที่หวังดีกับผมแล้วจะเป็นใคร

อาจารย์ที่ปรึกษาผมไม่ไช่แค่คนที่หวังดีกับผมครับ แต่เค้ายังเป็นนักวางแผนชั้นเลิศอีกด้วย ที่มหาวิทยาลัยผมเพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนจบได้ตามเวลาและมีงานที่มีคุณภาพมากพอ ทางมหาวิทยาลัยบังคับให้มีการ(ตรวจ)สอบทุกๆ ปีโดยกรรมการผู้เชี่ยวชาญ แต่การเลือกกรรมการ คือการเลือกคนที่มีความเชื่อ หรือมีความคิดคล้ายๆ กับเรา เช่น เชื่อว่าทฤษฎีนี้เหมาะที่จะนำมาวิเคราะห์ปรากฎการณ์แบบนี้ หรือคิดว่างานในลักษณะนี้ควรจะมีการนำเสนอแบบนี้ เป็นต้น

ทุกปีอาจารย์จะคอยถามผมว่าอยากได้ใครมาเป็นคนดูงานผม ผมไม่เคยตอบอาจารย์ครับ ผมบอกอาจารย์ไปแค่ว่า “ผมขอไม่เลือก เพราะผมเชื่อว่า ถ้าให้อาจารย์เลือก อาจารย์จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผมเสมอ” แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ครับ เพราะกรรมการเชื่อในสิ่งที่เรา (ผมกับอาจารย์) ทำครับ สิ่งที่ไม่น่าเชื่อคือ สิ่งที่เราส่งไปให้กรรมการ เนื้อหาหลายส่วนไปตรงกับสิ่งที่ปรากฎในหนังสือที่กรรมการเขียนและตีพิมพ์ออกมาภายหลังจากที่ผมส่งวิทยานิพนธ์เพื่อสอบจบ นี่ยังไม่รวมถึงการเป็นตัวอย่างของนักวิจัยที่ดี และการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาที่ใส่ใจนักศึกษาในที่ปรึกษา โดยเฉพาะการวางแผนหลังเรียนจบให้กับพวกเราทุกคน (supervisee คนอื่นๆ ของอาจารย์ทุกคน)

43185900_375078853032679_6253147284016463872_n.jpg

สำหรับผมความสัมพันธ์กับอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าความตั้งใจ และความพากเพียรของนักศึกษาเลยครับ ดังนั้น สิ่งนึงที่ผมพยายามทำมาตลอดคือการทำให้อาจารย์เค้าไว้วางใจและเชื่อมั่นในตัวผม สำหรับผมแล้ว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สร้างยากมากครับ เพราะมันต้องอาศัยเวลาเป็นแรมเดือน แรมปี
และต้องอาศัยหลักฐานเชิงประจักษ์ต่างๆ มากมาย ในขณะที่มันสามารถถูกทำลายได้ในชั่วพริบตาเดียว

ผมจำได้ว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปี ผมขออาจารย์ที่ปรึกษาเลื่อนส่งงานเพียงแค่ครั้งเดียว เนื่องจากไม่สบาย และไม่เคยสายกับนัดของอาจารย์เลย (ถ้าไปถึงก่อน ก็จะไม่เคาะประตู)
และที่สำคัญคือ ผมไม่เคยไปพบอาจารย์ด้วยสมองที่กลวงโบ๋เลย เพราะการไปพบอาจารย์แต่ละครั้งคือการต้องเตรียมตัว และทำการบ้านอย่างหนัก (ต้องอ่านหนังสือไปก่อน หรือมีงานเขียนเพื่อไปพูดคุยกับอาจารย์)
ผมอยากจะขอบคุณอาจารย์ที่อาจารย์เชื่อมั่นในตัวผมมาตลอดทั้งๆ ที่ผมไม่เคยเชื่อมั่นในตัวผมเองเลย

สิ่งที่ผมอยากย้ำตรงนี้คือ การเรียนจบปริญญาเอก มันไม่ใช่เรื่องของการที่เราต้องแสดงอภินิหาร โชว์ความเฉลียวฉลาด แต่มันคือการรักษาความสัมพันธ์และการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างตัวเราและอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ตำราไม่ได้บอกเอาไว้ แต่กลับกลายเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

43151025_255779668612778_6450932666890977280_n.jpg—————————–
ขอขอบคุณ บทความเลอค่าจาก ดร. อนุชิต ตู้มณีจินดา จบการศึกษาปริญญาเอก สาขาภาษาศาสตร์ประยุกต์ จาก Lancaster University ประเทศอังกฤษ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ใส่ความเห็น