สวัสดีค่ะ วันนี้เพจก็แค่ปริญญาเอก มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่จะแนะนำให้แฟนเพจทุกท่านได้รู้จักกับ ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ อาจารย์คนเก่งประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ให้เกียรติกับทางเพจมาแบ่งปันประสบการณ์การเรียนปริญญาเอก ณ ประเทศญี่ปุ่น และถ่ายทอดแรงบันดาลใจดีๆ รวมทั้งสิ่งที่ได้รับจากการเรียนปริญญาเอก ไปทำความรู้จักกับอาจารย์ณัฏฐ์ กันเลยค่ะ

แนะนำตัวหน่อยค่ะ
สวัสดีครับชื่อ ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ เรียนจบปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ จากภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครับ ในระหว่างช่วงเรียนภาคฤดูร้อนปี 3 ได้มีโอกาสไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่นผ่านโครงการที่ทาง SIIT ร่วมกับ KEIDANREN (Japan Business Federation) และในช่วงปีสุดท้ายได้จับกลุ่มกับเพื่อนทำโครงงาน Senior Project เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมเกมผจญภัย 3 มิติ และนั่นก็ทำให้เรารู้จักตัวเองว่า.. คงไม่ใช่ละ สำหรับอาชีพแนวการพัฒนาเกม เราคงไม่เหมาะ
หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ก็ได้เริ่มชีวิตการทำงานครั้งแรกที่ธนาคารแห่งประเทศไทยครับ ตอนนั้นทำงานเป็นนักวิเคราะห์ระบบ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้รับมอบหมายให้ทำงานในส่วนระบบงานบริหาร เป็นงานวิเคราะห์ ออกแบบ และพัฒนาระบบ ตอนนั้นเป็นช่วงที่เรารู้สึกว่าความมั่นใจในตัวเองลดลงไปพอสมควร หลังจากที่ออกจากรั้วมหาวิทยาลัย ตอนแรกเรามีความมั่นใจว่า เรามีความรู้ความสามารถอยู่พอตัว แต่ก็พบว่า ความรู้เรายังไม่เพียงพอ ประสบการณ์และการมองในมุมๆ หนึ่งของเรามันเป็นอะไรที่เล็กมากๆ เมื่อเทียบกับพี่ๆ ที่ทำงาน จึงตัดสินใจเริ่มมองหาที่เรียนต่อ เนื่องจากอาจารย์หลายท่านที่เราเคยเรียนด้วยในระดับปริญญาตรีสำเร็จการศึกษามาจากประเทศญี่ปุ่น เราเองก็เคยไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น แถมเรายังมีเพื่อนรูมเมทที่หอพักเป็นลูกครื่งญี่ปุ่นด้วย จึงรู้สึกว่าเราสนใจอยากจะไปศึกษาต่อที่นั่น

เราอยากจะศึกษาต่อในด้านที่มองอะไรต่างจากเดิมไปบ้างเพื่อให้เรามองอะไรได้กว้างขึ้น จึงเลือกเรียนภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการและการจัดการ ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (Tokyo Institute of Technology หรือ Tokyo Tech) ด้วยทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ในตอนแรกเราสนใจด้าน ERP (Enterprise Resource Planning), e-Business, และ e-Commerce จึงเริ่มทำวิจัยในด้านนี้ และต่อมาเปลี่ยนหัวข้อเป็นด้านการจัดการระบบสารสนเทศภัยพิบัติ
ในระหว่างเรียนปริญญาโท อาจารย์ที่ปรึกษาของเรา ศ. ดร. Junichi Iijima ก็แนะนำว่าที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังโปรโมทการสร้างดุษฎีบัณฑิตที่นอกจากจะจบปริญญาเอกแล้วต้องมีทักษะมากกว่าหนึ่งสาขาและมีความเป็นผู้นำที่พร้อมจะไปสร้างสิ่งต่างๆให้กับสังคมโลกด้วยภายใต้แนวคิด “Programs for Leading Graduate School” ที่ Tokyo Tech เองจึงมีการเปิดหลักสูตรใหม่ คือ Academy for Co-creative Education of Environment and Energy Science (ACEEES) เป็นหลักสูตรที่จะสร้างผู้นำในด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เราจึงลองสมัครดูและเราก็ได้รับตอบรับตอนที่เป็นนักศึกษาปริญญาโทและอยู่ในโครงการนี้ตลอดช่วงการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เราจบหลักสูตรนี้มาด้วย Major วิศวกรรมอุตสาหการและการจัดการ และ Sub-major สถาปัตยกรรมศาสตร์และวิศวกรรมอาคาร

หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ในปี พ.ศ. 2559 เราย้ายไปทำงานเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก ที่ห้องวิจัยวิศวกรรมสึนามิ สถาบันวิจัยนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยโทโฮคุ เมืองเซนได และต่อมาได้รับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ เป็นอาจารย์ประจำสถาบันวิจัยนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยโทโฮคุ
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เราตัดสินใจกลับมาประเทศไทย คิดว่าถึงเวลาที่ควรจะทำอะไรให้กับประเทศบ้านเกิดแล้ว เราเข้ารับตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จะมีประสบการณ์การเป็นอาจารย์ที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ก็มีอะไรหลายๆ อย่างที่ท้าทายและเราก็ตั้งใจทำงานที่นี่เรื่อยมาครับ

คิดอย่างไร ตอนที่ตัดสินใจเรียนปริญญาเอก
ในวันที่เราต้องเจอกับสิ่งที่ตัดสินใจยากมากคือวันที่เราทราบว่าเราได้รับทุน เพราะว่าเป็นวันที่เราต้องตัดสินใจว่าเราจะลาออกจากตำแหน่งหน้าที่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สุดท้ายด้วยหลายๆ ปัจจัยเราคิดว่า เราอยากจะเรียนรู้อะไรมากกว่านี้ จึงตัดสินใจรับโอกาสและไปเริ่มใช้ชีวิตนักศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น
นอกจากนี้ จำได้ว่า มีวันนึงที่เรากำลังเดินทางกลับจากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยที่เราเรียนตอนช่วงมัธยมศึกษา ได้คุยกับคุณปู่ นพ. โกวิท ลีละวัฒน์ บนรถที่คุณพ่อเป็นคนขับ คุณปู่บอกว่า คุณปู่สนับสนุนเต็มที่ในด้านการศึกษา คุณปู่แม้ว่าปัจจุบันจะเป็นแพทย์ที่เกษียณมานานแล้ว แต่ท่านก็ยังศึกษาสิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ ใครจะรู้ว่าคุณปู่ที่ทุกวันนี้อายุ 90 กว่าปี แต่ท่านมีงานอดิเรกเป็นการปลูกผักไร้ดิน การทดลองผสมสารไคโตซานกับสิ่งรอบตัว การประดิษฐ์เครื่องใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และการค้นคว้าเรื่องใหม่ๆ ทางอินเตอร์เน็ทอยู่เสมอ จำได้ว่าคุณปู่เป็นคนซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องแรกให้เราตอนเราอยู่ชั้น ป. 6 ปกติเวลาคุณปู่จะให้อะไรเราคุณปู่จะให้เราทำรายงาน เราต้องสามารถบอกอธิบายคุณสมบัติ ฟังก์ชั่นการใช้งาน ราคา รวมทั้งสรุปข้อดีข้อเสีย และประโยชน์ของสิ่งที่เราอยากได้เราส่งเป็นรายงานให้คุณปู่ก่อน มันเหมือนเป็นการฝึกให้เราได้เขียนรายงาน Requirement มาตั้งแต่เด็กๆ เลย วันนั้นคุณปู่บอกเราว่า ถ้าเราอยากจะเรียนอะไรเราต้องเรียนให้เต็มที่ เรียนให้ไกลที่สุดถ้าเรามีโอกาส ในวันที่เราเรียนอยู่มัธยมศึกษาตอนปลาย คุณปู่บอกว่าคุณปู่อยากให้เราเรียนให้ถึง ‘ปริญญาเอก’

ระหว่างเรียนพบเจอปัญหาอะไรที่คิดว่าหนักที่สุด
จากที่บอกว่า ตอนแรกเราสนใจอยากทำวิจัยด้าน ERP และ e-Business สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2554 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิภูมิภาคโทโฮคุในเดือนมีนาคม และเกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยประเทศไทยในช่วงปลายปี เนื่องจากเราอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นจึงไม่สามารถช่วยเหลืออะไรคุณพ่อคุณแม่รวมทั้งน้องหมาที่บ้านที่กรุงเทพฯ ได้ แต่ละวันได้แต่รับฟังและพูดคุยสิ่งที่เกิดขึ้นรวมทั้งอัพเดทสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ที่บ้านมีการเตรียมการป้องกันทำกำแพงกันน้ำเข้าบริเวณบ้านหลังจากทราบว่า มวลน้ำกำลังเข้ามาใกล้พื้นที่ สุดท้ายแม้่น้ำจากรอบบ้านจะเข้าบ้านไม่ได้แต่กลับมีน้ำจากท่อระบายน้ำภายในห้องน้ำไหลท่วมภายในบ้านแทน เนื่องจากบ้านของเรามีสัตว์เลี้ยง การจะไปหาโรงแรม หรือบ้านเช่าที่ไหนนั้นนับเป็นเรื่องลำบากมาก แต่สุดท้ายที่บ้านก็พบว่า มีบ้านเช่าที่ต่างจังหวัดอนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงไปอยู่ได้ อย่างไรก็ดี ณ เวลานั้นถือว่าสายเกินไปแล้วที่จะอพยพด้วยรถยนต์หรือการเดินเท้าเพราะว่าพื้นที่ตั้งแต่ปากซอยถึงตัวหมู่บ้านมีน้ำท่วมระดับสูง ทางบ้านจึงได้โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือและได้รับความช่วยเหลือจากทหารจากกองทัพบกส่งเรือเข้าไปช่วยอพยพออกจากตัวบ้าน ในวันและเวลาที่คุณแม่พยายามอุ้มน้องหมาตัวใหญ่ขึ้นเรือทหาร และเดินทางไปต่างจังหวัด เราก็พูดคุยทางโทรศัพท์กันอยู่ตลอด สิ่งที่ทำได้คือการนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ น้ำตาซึม และทำได้แค่พิมพ์ข้อความ ‘ขอบคุณ’ กองทัพบกในเฟสบุ๊คส่วนตัว
เรากลับมานั่งคิดว่า เราจะนำความรู้ความสามารถของเราไปทำอะไรให้ดีขึ้นได้ไหม เรามาอยู่ในประเทศญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงภัยธรรมชาติมากมาย และเราจะทำอะไรมากกว่านี้ได้ไหม จึงตัดสินใจแจ้งเรียนอาจารย์ที่ปรึกษาว่า เราขอเปลี่ยนหัวข้อวิจัยเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ‘ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการภัยพิบัติ’ ซึ่งอาจารย์ก็สนับสนุนหัวข้อวิจัยนี้ ด้วยประเทศญี่ปุ่นเอง ณ ตอนนั้นก็พึ่งประสบภัยครั้งใหญ่มาหมาดๆ เราจึงได้เริ่มต้นการเดินทางในด้านการจัดการระบบสารสนเทศและการจัดการภัยพิบัตินับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

ช่วยเล่าเกี่ยวกับ thesis
เราใช้เวลาในการเรียนระดับปริญญาเอก ทั้งสิ้น 3 ปี ทำดุษฎีนิพนธ์เรื่อง ‘การจัดการภัยพิบัติในมุมมองของระบบสารสนเทศ’ เป็นการนำทฤษฎีด้านระบบสารสนเทศมาวิเคราะห์กระบวนการจัดการความเสี่ยงภัยธรรมชาติ การศึกษาการจัดการภัยพิบัติด้วยศาสตร์วิศวกรรมองค์กร และการศึกษาการใช้เทคโนโลยีของประเทศต่างๆ กับการจัดการภัยพิบัติด้านการเตรียมความพร้อม การรับมือ การฟื้นฟู และการมีมาตราการบรรเทาลดความความเสี่ยงของประเทศนั้นๆ ทั้งกรณีศึกษาของประเทศญี่ปุ่น ประเทศไทย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีภัยธรรมชาติใหญ่ๆ เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ระหว่างที่เราเรียนปริญญาเอก ปีที่ 1 เรามีโอกาสไปฝึกงานที่สถาบันวิจัยนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ภัยธรรมชาติ ในช่วงนั้นเองได้ลองนำข้อมูลอาคารที่เสียหายจากคลื่นสินามิที่ประเทศญี่ปุ่นไปวิเคราะห์ด้วยโมเดลทางสถิติและนำไปสู่การตีพิมพ์บทความวิชาการในวารสารนานาชาติฉบับแรกของเราและยังทำให้ได้รับรางวัล Dean Award จาก Tokyo Tech อีกด้วย
เราปิดท้ายส่วนสุดท้ายของงานวิจัยปริญญาเอกด้วยการนำเสนอการออกแบบตัวต้นแบบเทคโนโลยีการพยากรณ์ความเสียหายของอาคารจากคลื่นสึนามิ โดยใช้กรณีประเทศญี่ปุ่น และนั้นก็นำไปสู่บันไดที่ทำให้เราได้เป็นหนึ่งในตัวแทนจาก The Falling Walls Lab Sendai ประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งใน 100 ผู้เข้ารอบสุดท้ายจากทั่วโลก Falling Walls Young Innovator of the Year 2016 ที่ประเทศเยอรมนี ได้ถูกสัมภาษณ์โดยรายการ Sciences et Avenir จากประเทศฝรั่งเศส

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของคุณคืออะไร
สิ่งแรกสุดเลยคงเป็นกำลังใจและการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกคนในครอบครัว รวมทั้งคุณแฟนที่ได้เจอกันที่รั้วมหาลัยเดียวกัน ทุกครั้งที่มีโอกาสกลับมาประเทศไทยคุณพ่อคุณแม่จะเตรียมตัวล่วงหน้า เพราะว่าท่านรู้ว่าเรามีเวลาว่างน้อย หลายๆ อย่างท่านเลยจัดเตรียมให้เป็นอย่างดี เรามี Role Model คุณปู่ นพ.โกวิท ลีละวัฒน์ (พ.บ. รุ่น 3 จุฬาฯ) และคุณตา สุคนธ์ สุวัฒนวิโรจน์ (วศ.บ. 2496 วศ.ม. (โยธา) จุฬาฯ) ให้เรามีความตั้งใจในด้านการศึกษา
ถัดมาคือการให้ความสนับสนุนจากอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญมากมาย ต้องยอมรับว่า งานของเราการจะได้ข้อมูลมาทำวิจัยนั้นถ้าขาดเครือข่ายแล้วคงเป็นไปได้ยาก เราได้มีโอกาสรู้จักกับรุ่นพี่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย รศ. ดร. อนวัช สรรพศรี จากมหาวิทยาลัยโทโฮคุ คอยให้ความช่วยเหลือด้านนี้เสมอมา

อีกอย่างคือความชอบของการ์ตูน ‘โดราเอม่อน’ อันนี้ก็พูดจริงๆ นะครับ เราชอบการ์ตูนเรื่องโดราเอม่อนมาตั้งแต่เด็กๆ เราคิดว่าสิ่งต่างๆ ของการ์ตูนเรื่องนี้สอนอะไรไว้มากมาย ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และด้านสังคม ผู้เขียน อาจารย์ Fujiko F Fujio ได้แสดงให้เห็นถึงคำว่า จินตนาการ ที่เป็นเส้นทางของการรังสรรค์ผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลองคิดดูสิครับว่า มีของวิเศษจากกระเป๋าสี่มิติของหุ่นยนต์โดราเอม่อนกี่ชิ้นแล้วที่ทยอยถูกพัฒนาในโลกใบนี้ การสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใดก็จำเป็นจะต้องเริ่มจากคนที่มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ สำหรับด้านสังคม แม้การ์ตูนโดราเอม่อนจะเป็นตอนสั้นๆ (ถ้าไม่นับซีรีส์ชุด The Movie หรือภาพยนตร์ Stand by Me) แต่ในทุกตอนเราจะเห็นข้อคิดต่างๆ อยู่เสมอ หลายคนจะอาจจะมองว่าโนบิตะเป็นคนที่รอคอยแต่ของวิเศษจากโดราเอม่อน แต่ในท้ายที่สุดโนบิตะก็จะสอนให้เห็นว่าของวิเศษเป็นเพียงเครื่องมือที่สร้างความน่าสนใจหรือจุดประกายบางอย่าง ต่างจากการพึ่งตนเอง การใช้ความพยายามและความสามารถของตนเองที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จ
เราชอบโดราเอม่อนและอะไรหลายๆอย่างจากการ์ตูนเรื่องนี้ รวมทั้งมีความตั้งใจว่า วันที่เราเรียนจบปริญญาเอก เราจะไปใส่ชุดครุยถ่ายรูปกับโดราเอม่อนที่พิพิธภัณฑ์ Fujiko F Fujio เพื่อบอกโดราเอม่อนและขอบคุณผู้แต่งว่า มีเด็กไทยคนนี้ที่ชื่นชอบและได้รับแรงบันดาลใจในการใช้จินตนาการต่างๆสำหรับเริ่มต้นเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อยู่อีกคนนะ
อีกกลุ่มคนที่สำคัญกับการสำเร็จในการเรียนของเราคือ เพื่อนชาวไทย ทั้งจาก Tokyo Tech และมหาวิทยาลัยอื่นๆ การเข้าไปทำงานสมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่น ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตลอดช่วงการเป็นนักศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นทำให้เรามีเครีอข่าย มีกลุ่มคนให้คำปรึกษา มีกิจกรรมต่างๆที่ได้ทำร่วมกันมา เรามีโอกาสได้เป็น Co-chairperson งานประชุมวิชาการ Thailand-Japan International Academic Conference และอื่นๆมากมาย รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือจากพี่ๆ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว เวลาที่พวกเรามีปัญหาอะไร หรือต้องการความช่วยเหลือต่างๆ
ท้ายที่สุดสิ่งที่เล่ามาคงเป็นไปไม่ได้ถ้าเราไม่ได้รับโอกาสจากรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้โอกาสเด็กไทยคนนึงไปเรียน ไปทำวิจัย ไปลองทำอะไรที่ตัวเองสนใจ โอกาสจากผู้ใหญ่ใจดีหลายๆคนที่มองเห็นสิ่งที่เด็กคนนี้ตั้งใจและฝันที่จะทำให้เป็นจริง
ใช้ทักษะความรู้จากการเรียนมาประยุกต์ใช้กับการทำงานอย่างไร
ปัจจุบันเราได้นำความรู้และประสบการณ์จากการศึกษาและทำวิจัยมาใช้ในการประกอบอาชีพอาจารย์ เราคิดว่า ประเทศไทยต้องก้าวต่อไปสู่สังคมที่มีการพัฒนาที่ยั่งยืน เราอยากเป็นคนหนึ่งที่ได้ร่วมสร้างเมล็ดพันธุ์ของคนรุ่นใหม่ให้กับบ้านเกิดของเรา เมื่อเราได้รับโอกาสมาเป็นอาจารย์แล้วเราก็อยากจะตั้งใจทำงานนี้ให้เต็มที่ เราตัดสินใจยื่นขอเปิดรายวิชา การจัดการภัยพิบัติและเทคโนโลยี ตั้งแต่ภาคการศึกษาแรกที่เราเริ่มทำงาน เพื่อนำความรู้และประสบการณ์มาถ่ายทอดให้นิสิต
เมื่อมีผู้บริหารทราบว่า เราทำงานทำวิจัยด้านนี้จึงได้รับการเชิญชวนให้มาเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาการจัดการความเสี่ยงและภัยพิบัติ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราได้เป็นอาจารย์รายวิชาหลัก การจัดการภัยพิบัติ ในหลักสูตรนี้ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญาโทใหม่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและรองรับเหตุฉุกเฉิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2561 เราก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นที่ปรึกษาภูมิภาค (Regional Advisory Committee) ตัวแทนประเทศไทย ให้กับ Asia Oceania Geosciences Society (AOGS) อีกด้วยครับ
อีกสองเรื่องที่มาเสริมไฟแห่งความมุ่งมั่นในการตั้งใจถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์สู่เด็กรุ่นใหม่ คือ การได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมสุดยอดนักวิทยาศาสตร์เยาวชนโลก ครั้งที่ 6 ณ สาธารณสิงคโปร์ ในปี พ.ศ. 2561 และในปีเดียวกันเมื่อเราปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ครบปี เราก็ได้รับการเสนอชื่อและได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล ‘ศักดิ์อินทาเนีย ด้านการเรียนการสอนประเภทอาจารย์รุ่นใหม่’ ประจำปี พ.ศ. 2561 จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัจจุบันนอกจากการเป็นอาจารย์ประจำแล้วก็ยังเป็นนักเขียนให้กับวารสาร TPA News ของสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) โดยนำเสนอบทความสำหรับผู้อ่านทุกท่านทุกระดับเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือบทเรียนด้านการจัดการภัยพิบัติในคอลัมน์ Risk Reduction และเป็นนักเขียนรับเชิญให้กับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็นพิธีกรรายการวิทยุ ‘พูดจาประสาช่าง’ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกอากาศทาง FM 101.5 MHz และบรรยายความรู้ รวมถึงการแนะแนวให้กับน้องๆ นักเรียนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่างๆ ด้วยครับ
มีข้อคิดอะไรสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาต่อปริญญาเอก
สำหรับเราเชื่อว่าทุกคนเรียนระดับปริญญาเอกได้ครับ แต่ควรถามตัวเองก่อนว่าสิ่งที่คุณสนใจและอยากจะทำคืออะไร เราเชื่อว่าตราบใดที่คนเรามีชีวิตอยู่ เราจะมีความฝัน แล้วเมื่อเราได้รับโอกาสที่จะทำความฝันให้เป็นจริงแล้ว ก็ควรตั้งใจทำในสิ่งที่เราได้รับโอกาสให้เต็มที่จนเราสำเร็จในจุดหมาย สู้ๆ นะครับ
———
เพจก็แค่ปริญญาเอก ขอขอบคุณสำหรับการแบ่งปันข้อคิด และประสบการณ์อันมีค่าของ ดร.ณัฏฐ์ เป็นอย่างสูงค่ะ
เพจก็แค่ปริญญาเอก ยินดีเปิดพื้นที่สำหรับการแบ่งปันประสบการณ์การเรียนปริญญาเอก เชิญชวน inbox มาหาเรา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ให้กับเพื่อนๆ คนอื่นกัน