…วันนี้เพจก็แค่ปริญญาเอกได้รับเกียรติจาก ดร. ยุทธนา เครือหาญชาญพงค์ วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ จากสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2560 และได้รับรางวัลมากมายด้านผลงานวิจัยและนวัตกรรม
ดร.ยุทธนา สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมเกษตร (Doctor of Philosophy in Agricultural Science) University of Tsukuba ประเทศญี่ปุ่น
…กว่าจะมาถึงวันนี้ ดร.ยุทธนา ไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง และประสบการณ์การเรียนปริญญาเอกของเขานั้น ใช้เวลาถึง 9 ปี ทำอย่างไรเขาจึงประสบความสำเร็จเช่นในทุกวันนี้ ไปพูดคุยกับเขากัน
ทำไมถึงตัดสินใจเรียนปริญญาเอก
ก่อนอื่นขอบอกว่าไม่ใช่เป็นเด็กเรียนครับ ค่อนข้างเป็นเด็กไม่เอาไหนเสียด้วยซ้ำไป เรียนจบ ม.ปลาย เกรดเฉลี่ย 1.59 พอสอบ entrance เป็นที่งงในโรงเรียนครับ เพราะติดคณะวิศวะ ม.เกษตร พอเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยจริงๆ เกรดเฉลี่ยน่าช้ำใจมากๆ 2.14 ติดโปรต่ำตั้งแต่เทอมแรก มหาวิทยาลัยส่งจดหมายไปที่บ้านว่า รอพินิจ ความหมายคือมีสิทธิ์ถูกคัดชื่อออกในภาคการศึกษาต่อไป แม่ร้องไห้เลย ว่าไม่ดีแล้วมั้งลูก ก็เลยพยายามขึ้น จนเรียนจบภายใน 4 ปีครับ
หลังจากนั้น ผมได้เข้าทำงานที่สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม งานที่ทำเป็นงานวิจัยล้วนๆ วิจัยออกแบบเครื่องจักรกลการเกษตร ตอนนั้นรู้สึกว่า ความรู้ไม่ค่อยมี แต่ก็ตั้งใจทำงาน อยากเรียนต่อปริญญาโท แต่ก็ไม่สามารถเรียนได้ เพราะเกรดไม่ถึง 2.5 ต้องอาศัยประสบการณ์ในการทำงาน 2 ปีก่อนจึงจะเรียนได้
ตอนเรียนโท ด้วยความที่ทำงานด้านการออกแบบเครื่องจักรกลการเกษตร แล้วไปเรียนโททางด้านสาขาที่ทำงาน น้องๆ ก็เลยเข้าใจว่าเป็นคนเก่ง จะบอกว่า ไม่รู้เรื่องอะไรก็กลัวเสีย ก็เลยต้องอาศัยวิกฤตให้เป็นโอกาส เป็นติวเตอร์น้องๆ โดยใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องสมุดอ่านหนังสือ เกรดตอนจบโทดีมากๆ 3.7 ได้
หลังจากเรียนจบโท กลับมาทำงานวิจัย ปีแรกที่ทำงานวิจัย ได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้น จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นความภูมิใจอย่างมากเลย ชีวิตช่วงนั้นดี้ดี ทำอะไรก็ดีงาม ย่ามใจ ปีหน้าทำงานวิจัยตัวใหม่ ประกวดรางวัลกับ วช. อีก ปรากฏว่า ตกรอบแรก
ก็เลยคิดว่า เราเก่งจริงหรือเปล่า เผอิญมีทุน สวก. ให้เรียนปริญญาเอก ภรรยาก็เลยบอกว่าจะต้องพิสูจน์ตัวเองแล้วนะว่าเราของจริงหรือของปลอม จริงๆ ไม่อยากเรียน แต่ภรรยาทั้งปลอบทั้งขู่ก็เลยไปเรียน
มีเรื่องตลกก็คือ ก่อนไปเรียน เพื่อนชวนไปดูหมอดู หมอดูทายว่า เรียนจบปริญญาเอกแน่นอน แต่จะจบแบบเลือดตาแทบกระเด็น นึกไม่ออกเลยตอนนั้น จบยังไงนะ เลือดตาแทบกระเด็น
ทำ Thesis เกี่ยวกับอะไร
หัวข้อวิทยานิพนธ์เรื่องนี้เลยครับ “Agricultural Mechanization in Thailand: Design and Development of Machinery Implements for Small-Scale Farmers” โดยเน้นที่เครื่องจักรกลขนาดเล็กสำหรับ เครื่องมือเตรียมดินในพื้นที่นาหล่ม จอบหมุนสับกลบใบอ้อยและเครื่องมือเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมัน ครับ
ทุนที่ผมได้รับ เป็นทุน Ronpaku (Dissertation Ph.D) เป็นทุนที่ไม่ต้องลงเรียน แต่ต้องตีพิมพ์เปเปอร์ให้ได้ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด ที่ University of Tsukuba ต้องตีพิมพ์ 5 เปเปอร์ถึงจะจบได้
ใช้เวลาทั้งหมด 9 ปีครับ เป็น 9 ปี ที่ต้องเจออะไรเยอะแยะมากๆ ที่ย่ำแย่ที่สุดคือ ปีที่ 4 อาจารย์ของผมเริ่มป่วยครับ เราเลยเหมือนต้องหยุดไปเหมือนกัน จนปีที่ 7 เปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษาไปเป็นอาจารย์ที่ปรึกษารอง ก็เหมือนเริ่มใหม่อีกครั้ง เริ่มเขียนเปเปอร์ใหม่ทั้งหมด จนได้รับการตีพิมพ์และสอบจบในปีที่ 9 ครับ
ระหว่างเรียนพบเจอปัญหาอะไรที่คิดว่าหนักที่สุด
ทุนแบบที่ผมเรียน ปีแรกและปีที่สองต้องไปเขียนเปเปอร์ที่ญี่ปุ่นปีละ 3 เดือน ด้วยความที่เราต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ทำให้รู้สึกกังวลกับการเรียนมากๆ อาจารย์เป็นคณบดีด้วยไม่ค่อยมีเวลาให้เรามากนัก
เวลาไปที่โน่น ต้องเขียนๆๆ อย่างเดียวเลย เขียนไปแก้ไป อาจารย์ด่าไป จนวันหนึ่งรู้สึกเครียด เป็นเหมือนอาการเริ่มแรกของภาวะซึมเศร้า รู้สึกแย่เลยครับ แต่ก็พยายามคุยกับภรรยา แม่ให้กำลังใจ น้องๆ ในแลปให้กำลังใจ ทำอาหารให้ทาน ไม่ปล่อยให้เราอยู่คนเดียว แทบจะจัดเวรมาเฝ้า ให้เราผ่านภาวะวิกฤตไปให้ได้ จนสุดท้ายเราก็ตั้งหลักได้
เรื่องหนักสุดในชีวิตเรียน คือเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษาเพราะอาจารย์ป่วย แต่ไม่รู้สึกเสียใจเลย ถือเป็นแรงบันดาลใจด้วยซ้ำว่า เราต้องทำให้สำเร็จ อาจารย์จะได้ดีใจ
การตีพิมพ์เปเปอร์ต้องวางแผนกันใหม่ กับ อาจารย์ที่ปรึกษารอง เขียนเปเปอร์ใหม่หมด ในขณะที่ผมต้องทำงานที่เมืองไทยไปด้วย เขียนเปเปอร์ไปด้วย เป็นอะไรที่ยาก และ กดดัน สุดๆ โชคดี ที่ได้รับการช่วยเหลือหลายฝ่าย ทั้งให้กำลังใจ ทั้งช่วยอ่านเปเปอร์ก่อนส่งไปให้อาจารย์ที่ปรึกษารองที่ญี่ปุ่นตรวจก่อนการตีพิมพ์ ต้องพยายามแก้ไขปัญหาทุกอย่าง เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ ต้องเรียนให้จบปริญญาเอกให้ได้ครับ
ตอนนั้นก็บอกตัวเองเสมอว่า เราต้องมีเมตตาให้ตัวเองครับ เมตตาให้ตัวเองคืออะไร ผมมองจุดหมายแห่งความสำเร็จไปแบบใกล้ๆ ความที่ต้องตีพิมพ์เปเปอร์ให้ได้ 5 เปเปอร์เพื่อจบ ถ้าเรามองความสำเร็จไปที่ปลายทางคือจบการศึกษา มันจะทำให้ชีวิตเราเครียด
ผมมองความสำเร็จเป็นวันๆ ครับ วันนี้ทำได้เท่านี้ ก็ชมตัวเอง ว่าเราทำได้ดีแล้วนะ พรุ่งนี้มาเพิ่มอีกนิดนึง ก็จะได้เปเปอร์แล้วนะ ผมมองใกล้ๆ แบบนี้มาตลอด พยายามไม่เครียด แต่จริงๆ แล้วมันเครียด แต่ก็พยายามฝึก เพื่อให้ตัวเองผ่านจุดนั้นให้ได้
ช่วงที่ชีวิตแย่สุดๆ โชคดีเจอสัจธรรม วันหนึ่งผมไปปล่อยปลาในแม่น้ำครับ ซื้อปลามาเยอะมากๆ ปลาที่ถูกปล่อย บางตัวลงน้ำปุ๊ปว่ายน้ำไปเลย บางตัวอีกสักสองสามนาทีกว่าจะว่ายได้ บางตัวประมาณ 5 นาที ถึงจะว่ายน้ำได้ แต่บางตัวเป็น 10 นาทีเหมือนกัน เหมือนมึนน้ำ ได้แง่คิดเลยว่า เราก็เหมือนปลาเมาน้ำ ถ้าเราตั้งหลักได้ สักพักมันก็จะว่ายน้ำได้ คิดแบบนั้น คลายเครียดไปเยอะครับ
อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คุณเรียนสำเร็จ
ปัจจัยที่ทำให้สำเร็จในท้ายที่สุดคือ การที่เราไม่ยอมแพ้ ล้มแล้วลุก ลุกแล้วเดิน เดินแล้วทำ ทำแล้วชนะครับ
ปีแรกที่ผมไปเขียนเปเปอร์ที่ญี่ปุ่น ผมซื้อไทด์ของมหาวิทยาลัยมาเส้นหนึ่งครับ ผมบอกกับตัวเองว่า ผมจะใส่ไทด์เส้นนั้นในวันรับปริญญา โดยที่จะไม่เอามาใส่ตราบใดที่ยังเรียนไม่จบ ผมไม่เคยเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังเลย แม้กระทั่งภรรยา
ผมได้บอกอาจารย์ที่ปรึกษาของผมในวันก่อนสอบ defend ครั้งสุดท้าย อาจารย์ที่ปรึกษารองจึงบอกว่า พรุ่งนี้ให้ใส่มาสอบ ผมรอการใส่ไทด์เส้นนี้มา 9 ปีครับ สุดท้ายผมก็ได้ใช้มันจริงๆ อาจารย์ที่ปรึกษาของผมที่ป่วย มองผมด้วยสายตาขอบคุณที่ทำให้แกหมดห่วงว่า ในท้ายที่สุด ผมก็สามารถเรียนจบได้
ส่วนปัจจัยที่ผมเรียนสำเร็จนั้น ผมมองไปที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ครับ ผมรับทุนกาญจนาภิเษก เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ผมรับทุนในหลวงมา ผมเป็นข้าราชการของพระองค์ท่าน ผมต้องทำอะไรสักอย่างถวายพระองค์ท่าน พระองค์ท่านต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถมาพัฒนาวงการเกษตรไทย ผมไม่เคยคิดว่าเรียนจบแล้วจะหนีทุนเลย ผมอยากเรียนให้จบ เพื่อใช้ความรู้ที่เรียนมาเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เพื่อให้เกิดประโยชน่ต่อเกษตรกรไทย ผมต้องพยายามพัฒนาตัวเอง ต้องสู้ เพื่อให้สำเร็จให้ได้ อันนี้เป็นแรงผลักดันอย่างเต็มที่ ให้ผมสำเร็จการศึกษาเลยครับ
คิดว่าการเรียนปริญญาเอก ยากตรงไหน
สิ่งที่ยากที่สุดในการเรียนปริญญาเอกก็คือ การชนะใจตัวเอง ถ้าชนะใจตัวเองได้แล้ว ไม่มีอะไรยากกว่านี้อีกแล้วครับ การชนะใจ ก็เช่น ท้อหรือสู้ นอนหรือตื่น ค้นคว้า แบบนี้แหละครับ ความยากของปริญญาเอก
ได้ใช้ทักษะที่ได้จากการเรียนปริญญาเอกมาใช้กับงานปัจจุบันอย่างไร
ได้ใช้แนวทางในการคิดที่เป็นระบบในการเรียนปริญญาเอกมาใช้ได้เยอะทีเดียวเลยครับ การคิดที่เป็นระบบ ทำอะไรก็ง่ายขึ้นเยอะครับ นับว่า ประสบการณ์ 9 ปีสำหรับการเรียนปริญญาเอกไม่เสียเปล่าครับ
มีข้อคิดอะไรที่อยากฝากกับผู้ที่เรียนปริญญาเอกอยู่บ้าง
ข้อคิดง่ายๆ ครับ อะไรที่ผ่านมาในชีวิต สิ่งนั้นดีเสมอ 9ปีที่ผมเรียนปริญญาเอก ในเวลาที่มีเรื่องราวแย่ๆ เกิดขึ้น ในเวลานั้น อะไรมันก็แย่ แต่พอจบเอกแล้ว มองย้อนกลับไป ในความแย่ๆ นั้นก็ยังมีความดีนะ ขอให้คิดไว้นะครับ อะไรที่ผ่านมาในชีวิต สิ่งนั้นดีเสมอ แล้วจะประสบความสำเร็จครับ
————————-
ดร. ยุทธนา เครือหาญชาญพงค์
รางวัลผลงานวิจัยที่ได้รับระหว่างการเรียนปริญญาเอก 9 ปี
- รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2549 ขลุบหมุนติดพ่วงท้ายรถไถเดินตาม งานวิจัยสิ่งประดิษฐ์คิดค้น จาก กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น รางวัลชมเชย ประจำปี 2551 ผลงาน ขลุบหมุนติดพ่วงท้ายรถไถเดินตาม จาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
- รางวัลรองขนะเลิศอันดับ 1 ด้านสังคม รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2551 จาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลงาน ขลุบหมุนติดพ่วงท้ายรถไถเดินตาม
- รางวัลผลงานเด่น เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 36 ปี กรมวิชาการเกษตร 2552 จาก กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลงาน ขลุบหมุนติดพ่วงท้ายรถไถเดินตาม
- เครื่องมือเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันระบบสปริง ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับ ชมเชย สาขาวิศวกรรมเกษตร ในการประชุมวิชาการการอารักขาพืชแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ปี 2552
- เครื่องมือเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมัน ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2555 รางวัลประกาศเกียรติคุณ จาก สภาวิจัยแห่งชาติ
- เครื่องมือเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันแบบสปริง ได้รับรางวัลผลงานวิจัยที่กลุ่มเป้าหมายนำไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาการเกษตร ประจำปี 2556 จาก กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- ผู้มีผลงานวิจัยดีเด่น ของสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม ประจำปี 2555 ประเภท งานวิจัยประดิษฐ์คิดค้น จาก กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลงาน จอบหมุนกำจัดวัชพืชและสับกลบใบอ้อยสำหรับรถแทรกเตอร์ขนาดกลาง
- รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น อันดับ 2 สาขาวิชาวิทยาการวัชพืช ประจำปี 2556 จาก คณะกรรมการจัดการประชุมวิชาการอารักชาพืชแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ผลงาน จอบหมุนกำจัดวัชพืชและสับกลบใบอ้อยสำหรับรถแทรกเตอร์ขนาดกลาง
- รางวัลชมเชย ด้านเศรษฐกิจ ในการประกวดผลงานรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2556 จาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลงาน จอบหมุนกำจัดวัชพืชและสับกลบใบอ้อยสำหรับรถแทรกเตอร์ขนาดกลาง
- รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2557 รางวัลระดับดี จาก สภาวิจัยแห่งชาติ ผลงาน จอบหมุนกำจัดวัชพืชและสับกลบใบอ้อยสำหรับรถแทรกเตอร์ขนาดกลาง
- รางวัลประกาศเกียรติคุณ สิ่งประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2557 ระดับดี จาก สภาวิจัยแห่งชาติ มอบโดย กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลงาน จอบหมุนกำจัดวัชพืชและสับกลบใบอ้อยสำหรับรถแทรกเตอร์ขนาดกลาง
- รางวัลผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปี 2557 ผลงาน ไถระเบิดดินดานสำหรับรถแทรกเตอร์ขนาดกลาง
- รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2559 ระดับดี จาก สภาวิจัยแห่งชาติ ผลงาน ไถระเบิดดินดานสำหรับรถแทรกเตอร์ขนาดกลาง
- ได้รับคัดเลือกให้เป็นผลงานที่กลุ่มเป้าหมายนำไปใช้ประโยชน์จาก กรมวิชาการเกษตร ในปี 2559 ผลงาน จอบหมุนกำจัดวัชพืชและสับกลบใบอ้อยสำหรับรถแทรกเตอร์ขนาดกลาง
- ข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2560