ดร.เตย อรัชมน พิเชฐวรกุล ::: ปริญญาเอก สาขา กฎหมายอวกาศและกิจการโทรคมนาคม จาก Université Paris-Saclay (Paris-sud) ประเทศฝรั่งเศส ::: คอลัมน์แขกรับเชิญ ::: คุยเรื่องเรียนด๊อกเตอร์กับด๊อกเตอร์

แขกรับเชิญคนล่าสุดของเรา หอบกลิ่นอายความสดใส มาจากเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกับความสำเร็จในการคว้าปริญญาโทและปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยชื่อดังในปารีส ไปทำความรู้จักกับเธอกัน

a5

แนะนำตัวหน่อยค่ะ

สวัสดีค่ะ ‘เตย’ อรัชมน พิเชฐวรกุล ค่ะ เรียนจบปริญญาโทใบแรก สาขากฎหมายธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ส่วนปริญญาโทใบที่สอง และปริญญาเอก ที่ Université Paris-Saclay (Paris-sud) สาขา กฎหมายอวกาศและกิจการโทรคมนาคม (Droit des activités spatiales et des télécommunications) ตอนปริญญาโท และ สาขากฎหมายโทรคมนาคม (Droit public : spécialité de droit des télécommunications) ปริญญาเอกค่ะ

a8.jpg

ทราบว่าเพิ่งเรียนจบ ขอแสดงความยินดีด้วยนะคะ ความรู้สึกในวันที่รู้ตัวว่าเรียนจบ รู้สึกอย่างไรบ้างคะ

ถ้าถามถึงความรู้สึกแรกหลังจากที่ได้ยินประธานการสอบประกาศว่า “ขอแสดงความยินดีด้วย…docteur en droit…” นั้น ขอตอบว่า ไม่มีความรู้สึกใดๆ เกิดขึ้นเลยค่ะ คิดแค่ว่า “โอเค จบแล้ว การสอบที่ยาวนาน และการเรียนที่เหมือนไม่มีวันสิ้นสุด” เท่านั้นจริงๆค่ะ

หลังจากนั้น สามวันก็ค่อยเริ่มรู้สึกว่า สิ่งที่ต้องทำทุกวันเป็นกิจวัตรประจำวันนั้นมันหายไป ก็เลยมารู้สึกตัวจริงๆว่า คงต้องหาอะไรอย่างอื่น ทำทดแทนการนั่งเขียนงานหน้าคอมซะแล้ว

แต่ก็โชคดีที่สอบเสร็จปุ๊บก็ทำงานปั๊บ เพราะว่าสลับวันทำงานกับเพื่อนๆ ไว้เพื่อมาเตรียมตัวสอบ พอสอบเสร็จก็ต้องตามเก็บงานชดใช้กรรมไปค่ะ ไม่ได้มีเวลาที่จะรู้สึกดีใจ หรือเลี้ยงฉลองอะไรขนาดนั้นค่ะ

a1

ทำไมถึงตัดสินใจมาเรียนปริญญาเอก?

ตอนที่สมัครเรียนปริญญาเอก คิดแค่ว่า การเรียนก็เหมือนกับการที่เราเดินทางท่องเที่ยว ค้นหาสิ่งแปลกใหม่ที่เราไม่เคยรู้จัก และรู้สึกว่า เราน่าจะมีศักยภาพมากพอที่จะจบปริญญาเอกได้ค่ะ

พอได้นั่งลงเขียนเค้าโครง อ่านหนังสือ ไปห้องสมุด นัดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา จนกระทั่งได้รับการตอบรับจากอาจารย์ที่ปรึกษา ก็เริ่มรู้สึกว่า เราลงมือทำมาถึงขนาดนี้แล้ว ก็เริ่มเสียดายโอกาส ที่สร้างมาเองกับมือ และคิดแค่ว่าในเมื่อเราสร้างโอกาสนี้มาแล้ว ก็ไม่ควรปล่อยให้โอกาสหลุดมือ แล้วมานั่งเสียดายทีหลังว่า ทำไมไม่เดินต่อไปจนสุดทางค่ะ

a2.jpg

ระหว่างเรียนปริญญาเอกเป็นอย่างไรบ้างคะ เล่าให้เราฟังหน่อย?

ระหว่างการเรียนนั้น คิดว่า ตัวเองใช้ชีวิตได้คุ้มมากค่ะ เนื่องจากไม่ได้เป็นนักเรียนทุนแบบเพื่อนๆ คนอื่นๆ ดังนั้นก็ต้องทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย และถ้ามีโอกาสก็หาเวลาไปเที่ยวบ้างค่ะ

เพราะบอกตัวเองเสมอว่า ที่สุดแล้วระหว่างทางนั้นสำคัญกว่าปลายทาง อาจจะเป็นเพราะไม่ใช่ นร ทุนด้วย อีกอย่างก็ทำงาน และใช้ชีวิตด้วยตัวเองมั้งคะ เลยไม่ได้มีความกดดันว่าจะต้องรีบจบตามที่ได้รับทุนมา

สำหรับตัวเองคิดว่า การเรียนและการใช้ชีวิตที่ปารีส ก็เหมือนกับการที่เราออกเดินทาง เพื่อตามหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในชีวิต และสุดท้ายก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ค่ะ มันเป็นช่วงเวลาที่ให้ประสบการณ์ที่คุ้มค่ามาก เรียกได้ว่า มีทั้งทุกข์และสุขปนเปกัน

ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ เยอะค่ะ เพราะเราทำงานไปด้วยนี่แหละ เลยได้มองชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่งทำให้มีกำลังใจและเก็บสิ่งต่างๆ มาคิดมากขึ้น และรู้ว่า มีอย่างอื่นที่สำคัญสำหรับชีวิตที่ไม่ใช่แค่ใบปริญญา

 

a9

ระหว่างเรียนเจออุปสรรคอะไรบ้างไหมคะ

อุปสรรคที่สำคัญอันดับแรก ก็คงไม่พ้นภาษาฝรั่งเศสนี่แหละค่ะ เพราะมาเริ่มเรียน a b c d ที่ปารีสเลยก็ว่าได้ เพราะตอนอยู่ไทยก็ไม่ได้เรียนจริงจังคะ อีกอย่าง พอเข้าเรียนกฎหมายที่เป็นสาขาเฉพาะแล้ว

จริงๆ ตอนปริญญาโท ก็รู้ซึ้งเลยว่า ภาษาเป็นสิ่งสำคัญมากจริงๆ เพราะมีศัพท์เฉพาะ และศัพท์เทคนิคเยอะมาก ทั้งในส่วนของทางด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์โทรคมนาคม และวิศวโทรคมนาคมค่ะ เรียกได้ว่า ต้องเรียนคำศัพท์จากสารานุกรมโลกของเราเป็นอันดับแรกๆ เลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะไม่งั้นจะไม่สามารถเข้าใจวิชาที่เรียนได้เลย

แต่ก็โชคดีที่เจอเพื่อนที่ดีมากๆ ขอย้ำเลยค่ะว่า ดีทุกคน เพราะถ้าไม่ได้เพื่อนๆ ในสาขาทุกคนช่วยกันแบ่งวิชาติวให้ อาจจะไม่จบปริญญาโทได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดค่ะ อีกอย่าง ได้เจ้าของบ้าน ทั้งสองคน สามีภรรยาที่เป็น รศ. ดร. จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดียวกันกับดิฉัน เป็นคนคอยช่วยตรวจภาษา และให้กำลังใจเป็นอย่างดีค่ะ

a3.jpg

ปัญหาอย่างที่สองก็เป็นเรื่องของ อาจารย์ที่ปรึกษา เนื่องจากเป็นสาขาค่อนข้างเฉพาะ ในฝรั่งเศสเองก็มีแค่มหาวิทยาลัยนี้ที่มีสาขานี้ค่ะ ดังนั้น อาจารย์ที่ปรึกษาก็เลยภาระกิจรัดตัว ไม่ค่อยอยู่ที่ปารีสเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะทำงานที่อื่นในยุโรป แอฟริกา หรือ เอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงค์โปร์

ดังนั้น จึงไม่สามารถคาดหวังได้ว่าจะเดินไปเจอและนัดคุยกันที่คณะ หรือส่งเมล์คุยกันถามตอบเหมือนคนอื่นๆ ปีๆ นึงเจอกันมากสุดแค่สองสามครั้งเท่านั้นแหละค่ะ ไม่มีการตามงาน ไม่มีการโทรถามสารทุกข์สุกดิบ เป็นตัวเราเองที่ต้องทำงานอย่างจริงจัง เพื่อที่จะเอางานไปคุยกับอาจารย์ให้ได้มากที่สุด

อาจารย์ที่ปรึกษาเคยบอกว่า อย่าคาดหวังว่า ผมจะให้อะไรคุณได้ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เป็นสิ่งที่ตัวคุณต้องศึกษาค้นคว้าวิจัยและเรียนรู้ด้วยตัวเอง อาจารย์มีหน้าที่อ่านและให้คำแนะนำในเรื่องที่มองแล้วว่า คุณจะหลุดออกจากกรอบหัวข้อที่คุยกันไว้เท่านั้น คนที่มีหน้าที่หลักที่ทำให้ thesis สมบูรณ์แบบมีแค่ตัวคุณเอง ท่านบอกแค่ว่า สงสัยประเด็นไหน ก็แค่เดินไปห้องสมุดอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และคุณจะได้คำตอบนั้นโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีผมเลยด้วยซ้ำ

คิดเลยค่ะว่า สิ่งที่ท่านพูดนั้น จริงมากๆ อย่าคาดหวังอะไรจากอาจารย์ที่ปรึกษามากเกินไป เพราะคนที่พึ่งได้มากและดีที่สุด คือตัวเราเอง มันเป็นงานของเราเองค่ะ

a7.jpg

ปัญหาสุดท้าย ก็คงเป็นเรื่องการทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยค่ะ ต้องแบ่งเวลาให้ได้ จริงๆ แล้วไม่อยากบอกว่า การทำงานเป็นปัญหานะคะ เพราะจริงๆ แล้วโดยส่วนตัวรู้สึกว่า มันไม่ใช่ปัญหาซะทีเดียว เพราะว่าทำงานต่างหากถึงรู้ว่า เวลามีค่า เวลาที่เหลือต้องแบ่งมาเขียนงานให้ได้ ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ก็จะทำเหมือนเดิมทุกอย่างค่ะ ทำงานด้วยเรียนด้วย อย่างที่บอกปริญญาเอกไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งในชีวิตเท่านั้น ในชีวิตของคนๆ นึง มีอะไรตั้งหลายอย่าง ที่เป็นปัจจัยที่สำคัญในชีวิต อย่าให้การเรียนปริญญาเอก มาพรากสิ่งอื่นที่เป็นสำหรับชีวิตไปนะคะ มันไม่คุ้มเลย ถ้าเรารู้จักบาล้านซ์ชีวิตให้ได้ ทุกอย่างก็อยู่ในคอนโทรลค่ะ ถ้าจะมีหลุดๆ ไปบ้างก็ปล่อยมันค่ะ มันคือเสน่ห์ของชีวิต

ผ่านช่วงเวลาที่ยากของด่านปริญญาเอกมาได้อย่างไร?

ช่วงเวลาที่ยากที่สุดก็น่าจะเป็นช่วงเวลาที่รออาจารย์อ่านงาน ปีนึงเต็มๆ จริงๆ ถือว่า เรียนจบตามเกณฑ์เนื่องจากเขียนเล่มเสร็จตอนปีสามพอดี ส่งเล่มทั้งหมดให้ อาจารย์อ่าน อาจารย์ใช้เวลาอ่านปีนึงเต็มๆ ก่อนสอบ เพราะท่านไม่ค่อยอยู่ปารีสไม่ค่อยมีเวลา ช่วงระหว่างปีนึงที่รอนั้น ก็มีฟุ้งซ่านค่ะ แต่ก็ยังดีที่มีอะไรให้ทำตลอด อีกทั้งคนรอบข้างก็เข้าใจเป็นอย่างดีค่ะ ต้องขอบคุณคนรอบข้างทุกคนค่ะที่อยู่ด้วยกันเสมอมา

คิดว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้คุณเรียนสำเร็จ

ทุกอย่างที่ผ่านมาในชีวิตเลยค่ะ ที่มีส่วนให้เรียนจบ มันไม่มีปัจจัยอะไรที่สามารถเฉพาะเจาะจงได้ขนาดนั้น ทุกๆปัจจัยไม่ว่าจะดีหรือร้ายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ล้วนส่งผลต่อการเรียนไม่มากก็น้อยค่ะ สุดท้ายก็อยู่ที่มุมมองของเรานะคะว่า เราเลือกที่จะมองให้มันท้อแท้และหยุดไป หรือจะมองให้มันเป็นแรงผลักดัน ให้เราเดินหน้าต่อไป เพราะคนที่สามารถไปแตะความสำเร็จได้นั้น ไม่ใช่ใครนอกจากตัวเราเองค่ะ

a6

สุดท้า มีข้อคิดอะไรอยากฝากอะไรไว้ให้ผู้ที่กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่บ้าง

ข้อคิดที่อยากบอกเพื่อนๆ ก็คงไม่พ้น คำว่า จงใช้ชีวิตในเเต่ละวันให้มีความสุขค่ะ เพราะระหว่างทางสำคัญกว่าจะถึงปลายทาง ยังคงยืนยันนะคะว่า ปริญญาเอกไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต โดยส่วนตัว ปริญญาเอกทำให้เราได้เรียนรู้ถึงข้อจำกัดและศักยภาพของตัวเองเท่านั้น อย่าเอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับใครค่ะ เพราะในชีวิตการเรียน ปริญญาเอก มันไม่สามารถวัดความเก่งกันได้ คุณจะวัดความเก่งจากอะไรในเมื่อหัวข้อของแต่ละคนมันไม่ซ้ำกัน ทุกคนมีจังหวะและสไตล์การเขียนของตัวเอง

ไม่มีชีวิตไหนของมนุษย์ที่ perfect  thesisก็เช่นกัน ความ perfect ในการเขียน thesis ไม่มีอยู่จริงค่ะ มันมีแค่ถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาใส่กระดาษ โดยมีทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง และแหล่งที่มาที่สามารถอ้างอิงได้เท่านั้น สิ่งที่ต้องทำ ก็แค่จัดตารางเวลาของตัวเอง และทำตามตารางนั้น ให้ได้ก็พอค่ะ และอย่าลืมปล่อยให้ชีวิตออกไปตามหาแรงบันดาลใจอื่นๆ ด้วยนะคะ อย่าปล่อยให้เวลาสามสี่ปี หมดไปกับการเรียนปริญญาเอกเพียงอย่างเดียวนะคะ ขอให้ทุกคนสนุกกับการใช้ชีวิตค่ะ

a4.jpg

เพจก็แค่ปริญญาเอกขอขอบคุณ ดร.เตย อรัชมน สำหรับการแบ่งปันแนวคิดดีๆ และประสบการณ์ที่มีค่าในการเรียนปริญญาเอกค่ะ

เพจก็แค่ปริญญาเอก ยินดีเปิดพื้นที่สำหรับการแบ่งปันประสบการณ์การเรียนปริญญาเอก เชิญชวน inbox มาหาเรา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ให้กับเพื่อนๆคนอื่นกันค่ะ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s