แวะเวียนมาเจอกันอีกครั้ง กับคอลัมน์แขกรับเชิญของเพจก็แค่ปริญญาเอก วันนี้เราเปิดบ้านต้อนรับ ดร.ศิรส ทองเชื้อ ปริญญาเอกสาขา Agricultural Economics (เศรษฐศาสตร์เกษตร) จาก University of New England ประเทศออสเตรเลีย และปัจจุบัน เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์เกษตรและการประกอบการ คณะเกษตรและชีวภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ไปทำความรู้จักกับเขากัน
ทำไมถึงตัดสินใจมาเรียนปริญญาเอก
จริงๆ ต้องขอย้อนไปถึงตอนจบ ปริญญาตรีนะครับ สมัย ปริญญาตรี ผมเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนโครงการของ UNESCO ไปดูงานที่ Kyoto University ประเทศญี่ปุ่น และไปฝึกงานที่ University of Kentucky ประเทศอเมริกา ซึ่งตอนจบมา ผมคิดว่าผมเจ๋งแล้วครับ แต่ปรากฏว่าผมถูกปฏิเสธการรับเข้าทำงานจากบริษัทที่ผมต้องการครับ ทรุดเลยครับ
เพราะการที่เราคิดว่าเราเจ๋ง คือเรากำลังทำลายตัวเองครับ เลยตัดสินใจเรียนต่อ และมุ่งมั่นว่า ต้องทำยังไงก็ได้ ให้ได้เรียน ปริญญาเอก โดยต้องได้รับทุนด้วยครับ แต่ด้วยผลการเรียนปริญญาตรี ได้แค่ 2.85 เลยไม่มีที่ไหนให้ทุน ปริญญาเอก ครับ
ณ ตอนนั้นผมรู้แต่ว่าโอกาสที่จะได้ทุน ปริญญาเอก มี อีก 2 แหล่ง คือ งานราชการ และ อาจารย์มหาวิทยาลัย ผมจึงเลือกสมัครมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยครับ และไปเรียน ปริญญาเอกด้วยทุนมหาวิทยาลัยครับ
ทำ thesis เกี่ยวกับเรื่องอะไร
เกี่ยวกับ การทดสอบการทำ Contract Farming ของการผลิตมันสำปะหลังสำหรับผลิตเอทานอลเพื่อเป็นพลังงานทดแทน จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ว่าส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและรายได้ของเกษตรกรอย่างไรครับ
ระหว่างเรียนปริญญาเอก ได้พัฒนาทักษะอะไรบ้าง
ครับ ที่แน่ๆ คือทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ แต่ตอนนี้ลืมหมดแล้ว ฮ่าๆๆ และทักษะการคิดที่เป็นระบบ มีเหตุผล และทักษะการใช้ชีวิตบนโลกที่มีความหลากหลาย บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันในสังคมครับ ด้วยความที่ประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีการผสมผสานทั้งภาษา วัฒนธรรม เชื้อชาติ สัญชาติ ทำให้เรายอมรับในความแตกต่างของกันและกันครับ
ชีวิตตอนที่เรียนอยู่ที่ออสเตรเลียเป็นอย่างไรบ้าง
เนื่องจากผมได้รับทุนการศึกษาไม่พอต่อการเรียนและการดำรงชีพครับ เลยตัดสินใจกับพี่คนไทยที่มาเรียน ปริญญาเอก อีกคนว่า จะเปิดร้านอาหาร อย่างน้อย เพื่อลดต้นทุนค่าอาหาร เลยได้เริ่มทำธุรกิจร้านอาหารไทยครับ เหนื่อยมากครับ แต่ก็สนุกครับ
กิจกรรมระหว่างเรียนคือทำงานครับ นอกจากนั้นก็เที่ยวครับ ภูเขา น้ำตก ทะเล ไปหมดครับ แล้วก็งานประจำปีต่างๆ ครับ อีกอย่างคือ เราได้มีโอกาสจัดกิจกรรมหาเงินทุนเพื่อมอบให้กับโรงเรียนในจังหวัดกาญจบุรีครับ ด้วยการจัดการแสดงแบบไทยและมีอาหารไทยเลี้ยง ซึ่งฝรั่งชื่นชอบและสนุกสนานกับกิจกรรมมากๆ ครับ
เจอปัญหาอะไรที่หนักที่สุด
มีครับ ปัญหาที่หนักที่สุดคือ ช่วงแรกๆ เลยครับ อาจารย์ที่ปรึกษาไล่ให้กลับประเทศครับ เพราะผมไม่สามารถตอบคำถามที่เขาต้องการได้ จากนั้นความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนไม่น่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้ ครับ
ตอนที่อาจารย์ไล่ให้กลับประเทศ คิดอะไรอยู่
ตอนนั้นคิดอย่างเดียวครับว่า “ไม่กลับ” เพราะก่อนที่เราจะเดินทางไปเรียน เราต้องสอบและส่ง ข้อเสนอการวิจัย ในการทำวิทยานิพนธ์มาก่อน เพื่อให้อาจารย์ที่สนใจในงานและความคิดของเราพิจารณา ซึ่งอาจารย์คนดังกล่าว ก็ตัดสินใจเลือกและรับเราเข้ามาเรียนด้วยตัวเค้าเอง เราเลยรู้สึกว่า มันไม่ยุติธรรมเลยครับ ทั้งๆ ที่เค้ารู้ข้อมูลของเรา ทั้งประวัติการเรียนตั้งแต่ ปริญญาตรี ปริญญาโท คะแนนภาษาอังกฤษ จะมาไล่ให้เรากลับไทยง่ายๆ ไม่ได้
จึงทำหนังสือขอเปลี่ยนแปลงอาจารย์ที่ปรึกษาครับ และรู้สึกว่า ยังไง School และ มหาวิทยาลัยต้องแก้ไขเรื่องนี้ให้เราได้ครับ แต่อาจารย์ที่ปรึกษาท่านนั้น ไม่ยอมให้ผมเปลี่ยนที่ปรึกษาครับ เขาบอกให้ผมพยายาม และผมได้เข้าใจคำว่า “ความพยายาม”จริงๆ ครับ เพราะท้ายสุด ท่าน Happy กับงานที่เราทำครับ
ตอนที่กลับมา “พยายาม” ใหม่อีกครั้ง ต้องฮึดสู้อย่างไรบ้างคะ เปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไรบ้าง
ครับ หลังจากมีการตกลงกันว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว จึงรู้ว่าอาจารย์ที่ปรึกษาเค้ามีเกณฑ์สูงมากครับ เราต้องทำให้ถึงเกณฑ์ที่เค้าต้องการถึงจะได้รับการยอมรับ ทำให้ขยันมากขึ้นครับ
ช่วงนั้นคือ เข้ามหาวิทยาลัยตั้งแต่ 9 โมงเช้า กลับอีกที 3-4 ทุ่มเลยครับ อ่านทั้งหนังสือที่เป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ อ่านงานที่อาจารย์ที่ปรึกษาเคยทำ ทฤษฎีมากมายที่เกี่ยวข้อง อ่านหมดเลยครับ รู้เลยครับว่า เราสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่ตัวเองคิด โทรมาขอความช่วยเหลืออาจารย์ที่ไทยด้วยครับ คือทำทุกอย่างที่ทำให้เราเข้าใจ และตอบคำถามที่อาจารย์ที่ปรึกษาต้องการให้ได้ครับ
คิดว่าตัวเองผ่านช่วงเวลาที่ยากของปริญญาเอกมาได้อย่างไร
จริงๆ อยู่ที่ใจของเราคนเดียวเลยครับ เหมือนเราเลือกที่จะลงเรือเพื่อพายไปอีกฝั่งหนึ่งครับ ถ้าเรายอมแพ้ คือการทิ้งเรือ และว่ายน้ำกลับฝั่ง ตัวเปียกหรืออาจจมน้ำ เราจะไม่ได้อะไรเลยครับ แต่ถ้าเราพายไปเรื่อยๆ ยังไงเราก็ถึงฝั่งครับ เราไม่ยอมแพ้ซะอย่าง ก็ไม่มีใครหรืออะไรมาทำลายความฝันของเราได้ครับ
แล้วยังมีคนที่เขารักเราอีกมากมาย ที่เป็นทั้งกำลังใจ เป็นทั้งความหวัง เราต้องนำพาความสำเร็จของเรา ไปเป็นของขวัญให้ทุกคนเหล่านั้นครับ
คิดว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรียนสำเร็จมีอะไรบ้าง
หลักๆ มี 2 คนเองครับ ตัวเราเอง กับ อาจารย์ที่ปรึกษาครับ คือถ้าเราเต็มที่ ตั้งใจ มุ่งมั่น พยายาม เราไม่ยอมแพ้ ยังไงเราก็จะสำเร็จครับ ส่วนอาจารย์ที่ปรึกษา ผมเชื่อว่าด้วยประสบการณ์เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า เขาเก่งกว่าเรามากครับ เชื่อเขาเถอะครับ แหะๆ เถียงทีไร แพ้ทุกที
ปัจจุบันทำงานอะไร และได้ใช้ทักษะ ความรู้จากการเรียนมาประยุกต์ใช้กับงานหรือไม่ อย่างไรบ้าง?
ปัจจุบันกลับมาเป็นอาจารย์ ที่สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เกษตรและการประกอบการ คณะเกษตรและชีวภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ครับ
ได้ใช้ทั้งทักษะและความรู้ที่เรียนมาทั้งกับงานและการดำเนินชีวิตครับ ไม่ว่าจะด้านการสอน การบริการวิชาการ และที่สำคัญทักษะการทำวิจัยครับ รวมถึงได้มีโอกาสถ่ายทอดประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต ทั้งที่ดีและไม่ดีให้กับนักศึกษาครับ
สุดท้าย มีข้อคิดอะไรอยากฝากอะไรไว้ให้ผู้ที่กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่บ้าง?
สำหรับผู้ที่กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่นะครับ สู้ๆ ครับ ท้อได้ ถอยได้ ล้มก็ได้ครับ แต่ต้องลุกขึ้นสู้ใหม่ครับ ไม่มีเด็กคนไหนบนโลกที่ไม่เคยหกล้มครับ การเรียน ปริญญาเอกก็เช่นกันครับ รอยแผลเป็นจะสร้างให้เราแข็งแกร่งครับ “ปลูกต้นไม้มันเหนื่อย แต่ผลของมันหอมหวานเสมอ” ครับ