ณัฐพงศ์ กิจสุวรรณ :: คอลัมน์แขกรับเชิญ :: คุยเรื่องเรียนด๊อกเตอร์กับด๊อกเตอร์ ::

วันนี้ “ก็แค่ปริญญาเอก” ขอเสียงกรี๊ดดังๆ ให้กับแขกรับเชิญคนเก่งของเราในวันนี้ บุคคลที่หลายๆ คนที่ชื่นชอบการไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น อาจจะคุ้นหน้าคุ้นตาเขาเป็นอย่างดีอยู่แล้ว

16977065_818276898310206_225066269_n.jpg

ดร.เบียร์ ณัฐพงศ์ กิจสุวรรณ หรือชื่อที่แฟนๆ จะรู้จักเขาดีในนาม “บีหรุซัง” เจ้าของ Youtube channel NineBeerJP รายการที่รวบรวมเรื่องราวหลากหลายจากต่างประเทศอย่างน่าสนใจ และมีแฟนคลับติดตามหนาแน่นที่สุดคนหนึ่งในโลกไซเบอร์   

วันนี้ ดร.เบียร์ สละเวลามาพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับชาว Just a PhD เกี่ยวกับประสบการณ์การเรียนปริญญาเอกของเขา ไปติดตามกัน…

สวัสดีค่ะ ช่วยแนะนำตัวนิดนึงค่ะ

สวัสดีครับ ชื่อ ณัฐพงศ์ กิจสุวรรณ (เบียร์) เรียนจบปริญญาเอกสาขา Information and Communication Engineering จาก The University of Electro-Communications โตเกียว ประเทศญี่ปุ่นครับ

วิทยานิพนธ์ที่ใช้จบชื่อเรื่องว่า Contention resolutions for optical networks เอาง่ายๆ ก็คือในระบบสื่อสารด้วยแสงจะจัดข้อมูลที่วิ่งในเน็ตเวิร์คยังไงให้ชนกันน้อยที่สุด

หลังจากจบปริญญาเอกแล้วก็ไปทำ Postdoc ที่มหาวิทยาลัย Trinity College Dublin ประเทศไอร์แลนด์ ตอนนั้นผมเข้าร่วมกับโปรเจคเกี่ยวกับ การออกแบบระบบอินเตอร์เน็ตในอนาคตให้กับยุโรป โดยในส่วนของผมเป็นการออกแบบการควบคุมอุปกรณ์ทุกอย่างในเน็ตเวิร์คแบบอัตโนมัติ โดยใช้โปรแกรม

16933371_818277358310160_1050607471_n.jpg

ทำไมถึงตัดสินใจมาเรียนปริญญาเอกคะ?

ก่อนหน้านี้ไม่คิดว่าตัวเองจะต้องเรียนให้จบถึงปริญญาเอก จบแค่ปริญญาโทก็โอเคแล้ว ความมุ่งหมายในชีวิตคืออยากท่องเที่ยวและเดินทางไปรอบโลก แต่จะทำยังไงให้ไปบรรลุความฝันได้ ถ้าทำงานในไทยเป็นพนักงานบริษัทได้เงินเดือนน้อย ทำไม่ได้แน่นอน ถ้าจะเปิดกิจการเป็นของตัวเอง ผมก็ไม่มีหัวทางการค้าเลย เลยคิดว่าต้องไปทำงานต่างประเทศ เพราะคิดว่าทำงานที่ต่างประเทศต้องได้เงินเยอะ แล้วเอาเงินที่ทำงานได้ไปเที่ยวรอบโลก

แต่จะทำยังไงให้ได้ไปทำงานต่างประเทศ อยู่ไทยจะสมัครโดยตรงไปต่างประเทศเลย มันก็ยากพอควร เค้ามีคนในประเทศอยู่แล้ว ทำไมเค้าไม่เอาคนที่อยู่ในประเทศเค้าเองล่ะ ผมเลยต้องหาวิธีทำให้ผมได้ไปอยู่ในต่างประเทศก่อน ซักระยะนึง แล้วถึงค่อยสมัครงาน วิธีไปอยู่ต่างประเทศของผม ที่ง่ายสุดคือการไปเรียนนั่นเอง

กว่าจะเรียนจบ ก็ใช้เวลาระยะนึง ซึ่งสามารถสมัครเข้าทำงานได้ แต่จะให้ใช้ทุนส่วนตัวผม ไม่มีแน่ๆ เลยใช้วิธีสมัครทุนไป แล้วผมก็ได้เป็น นักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ทุนมอนบุโช”

16933337_818277464976816_91082781_n

ระหว่างเรียนปริญญาเอก ได้พัฒนาทักษะอะไรบ้าง?

ทักษะที่ได้หลักๆ เลย คือการเรียนรู้ด้วยตัวเอง การเรียนปริญญาเอกไม่ใช่เป็น การเรียนจากผู้สอน แต่เป็นการเรียนโดยค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ เอง อาจารย์จะไม่ถูกเรียกว่า Teacher หรือ Lecturer (ผู้สอน) แต่จะถูกเรียกว่า Advisor (ผู้ให้คำแนะนำปรึกษา)

อาจารย์ที่เป็น Teacher คืออาจารย์ที่มีความรู้อยู่แล้ว แล้วเอาความรู้นั้น มาบอกต่อ ให้คนที่ยังไม่มีความรู้ แต่ Advisor เค้าจะรู้เรื่อง ในสาขาที่ลูกศิษย์ทำระดับนึง ลูกศิษย์จะต้องเป็นคนค้นคว้าหาสิ่งใหม่ๆ เอา โดยอาจารย์จะเป็นคนแนะนำวิธีการ และปรับแนวให้เข้าร่องเข้ารอย

นอกจากนี้ ยังได้ทักษะการคิดแบบวิเคราะห์ แบบเป็นเหตุเป็นผลอีก ทักษะเหล่านี้ไม่ได้ใช่แค่ตอนเรียน แต่ยังเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้อีก

16997180_818277044976858_351451769_n.jpg

ระหว่างเรียน พบเจออุปสรรคอะไรบ้างไหมคะ?

อุปสรรคมีไว้ให้เจอครับ ทำอะไรทุกอย่างในชีวิตต้องมีอุปสรรคหมด การเรียนปริญญาเอกของผมก็เหมือนกัน ทุนที่ผมได้มีระยะเวลา 3 ปี ขยายระยะเวลาเพิ่มก็ไม่ได้ แล้วอาจารย์คนที่รับผมเข้ามาอยู่ด้วยก็มีกำหนดเกษียณ

ตอนที่ผมอยู่ปี 2 ครึ่ง อาจารย์ท่านนี้เป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียง มีงานเยอะมาก ผมมีเวลาคุยกับอาจารย์ไม่กี่ครั้งต่อเทอม งานผมก็ไม่ก้าวหน้า เหมือนอยู่ไปเรื่อยๆ พออาจารย์เกษียณ ผมก็ถูกโอนไปให้กับอาจารย์อีกท่านนึงที่เป็นแลปอยู่ในกลุ่มเดียวกัน แต่แลปนั้น ทำคนละเรื่องกับที่ผมทำอยู่ อาจารย์ก็แนะนำในเรื่องวิชาการที่เกี่ยวกับหัวข้อของผมไม่ได้

พอครบ 3 ปีทุนก็หมด ทางบ้านผมไม่มีเงินส่งผมเรียนอยู่แล้ว และผมยังต้องรับผิดชอบส่งเงินกลับไทยให้แม่อีก ผมต้องกระเสือกกระสนหางานพิเศษทำ ทำทุกอย่างไม่ว่าจะงานร้านอาหาร TA (ผู้ช่วยสอน) เขียนโปรแกรม ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย งานอีเวนท์ต่างๆ งานพิเศษตามบริษัท

ตอนนั้นเหมือนจะท้อแล้ว ยอมเรียนไม่จบกลับไทยดีกว่า เพราะไม่เห็นหนทางที่จะจบได้เลยจริงๆ

จะจบจากที่นี่ต้องมี journal ตีพิมพ์อย่างน้อย 2 ฉบับ แต่ก็มีอาจารย์ใหม่เข้ามาแทนตำแหน่งที่ว่างพอดี แล้วก็ทำทางด้านที่ผมทำด้วย อาจารย์คนที่ 2 เลยโอนผมให้อาจารย์คนใหม่ ผมก็ช่วยอาจารย์สร้างแลปใหม่ อาจารย์ก็แนะผมว่าเขียนเปเปอร์ยังไงไม่ให้โดน reject

ได้เทคนิคจากอาจารย์เยอะมาก แต่ก็โดนด่าเยอะเหมือนกันเนื่องจากเขียนไม่ได้เรื่องอยู่หลายครั้ง อาจารย์ก็ช่วยหาโปรเจคพิเศษให้ ทำ RA (ผู้ช่วยวิจัย) อีก เพื่อให้ผมได้มีเวลามาอยู่ในแลปมากขึ้น จะได้ไม่ต้องไปทำงานข้างนอกเกือบทั้งสัปดาห์ สุดท้ายก็จบตอนปี 5 ครึ่ง ด้วย Journal 4 ฉบับ

เรื่องทำงานพิเศษนี่ ผมทำตลอดจริงๆ คือวันก่อนสอบจบผมยังไปเสริฟอาหารอยู่เลย บางครั้งคิดงานไปด้วยทอดทอดมันให้ลูกค้าไปด้วย งานที่คิดได้ตอนทอดทอดมันได้รับรางวัลใน conference ที่ต่างประเทศอีก

16933336_818276938310202_689260643_n.jpg
คิดว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรียนสำเร็จมีอะไรบ้าง

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ความอดทน อย่าคิดว่าท้อแล้วเลิก เรื่องท้อ มันท้อกันทุกคน แต่เวลาผมท้อผมก็จะออกไปเที่ยว ออกไปหาอะไรกิน ไม่ก็นอนหลับ ตื่นมาแล้วเดี๋ยวมันจะดีขึ้นเอง

อีกอย่างที่สำคัญคือ การเข้าหาอาจารย์ อาจารย์จะไม่เป็นคนเข้าหานักเรียนอยู่แล้ว อาจารย์หลายคนจะไม่มี deadline ไม่มีกำหนดการณ์ meeting ให้นักเรียน ถ้าเจออาจารย์แบบนี้เราต้องวิ่งเข้าหาอาจารย์เอง

มีไอเดียอะไร ไม่ว่าจะแย่หรือดีขนาดไหน ก็เข้าไปคุยกับอาจารย์เลย หลังจากนั้นเราก็จะได้ความเห็นและคำแนะนำจากอาจารย์ อาจมีถูกด่าบ้าง แต่ก็อย่าไปสน เพราะสิ่งที่เราอยากได้คือคำแนะนำ พอได้ผลอะไรก็เอาไปให้อาจารย์ดู

เจอหลายคนที่กลัวอาจารย์มาก ขนาดที่ต้องคอยหลบหน้าอาจารย์อยู่ตลอด กลัวอาจารย์ถามเรื่องงานเพราะยังไม่มีอะไรคืบหน้า ใครที่เป็นแบบนี้ต้องเปลี่ยนใหม่แล้วนะ

16934285_818277308310165_1382416988_n.jpg
ปัจจุบันทำงานอะไร และได้ใช้ทักษะความรู้จากการเรียนมาประยุกต์ใช้กับงานหรือไม่?

ปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่ The University of Electro-Communications โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่เดียวกับที่เรียนจบมาครับ ตำแหน่งคือผู้ช่วยศาสตราจารย์ เป็น Technical program committee (TCP) ของ IEEE conference หลาย conference เป็น Associate editor ของ Journal ในต่างประเทศ

และงานอดิเรก (นี่แหละคือสิ่งที่ฝันไว้) เป็นเจ้าของ Youtube channel NineBeerJP พากินพาเที่ยวในต่างประเทศ

ทักษะที่ได้ตอนเรียนเอามาใช้ทั้งในที่ทำงานและใช้ในชีวิตประจำวันเลยครับ ทักษะที่ว่า ไม่ได้เกี่ยวกับวิชาการเลย เป็นทักษะทางด้านอื่นเช่นการเขียน การอธิบายยังไงให้เข้าใจได้ง่ายตามพื้นฐานของคนฟัง จัดการความคิดให้คิดเป็นขั้นเป็นตอน ตามสเต็ป

ส่วนที่เอามาประยุกต์ใช้ในงานก็ทั้งหมดเลยครับ เพราะผมทำงานตรงสายเป๊ะเลย เอาประสบการณ์ที่ตัวเองเจอ มาสอนนักศึกษา

16996554_818277251643504_2077668330_n.jpg
สุดท้าย มีข้อคิดอะไรอยากฝากอะไรไว้ให้ผู้ที่กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่บ้าง

 ถ้าปีนเขาไม่ถึงจุดสูงสุด ก็จะไม่เห็นทางลง ความหมายก็คือ การที่เรายังไม่ทำอะไรถึงสุดๆ แล้วเราก็จะไม่เจอทางออก

ทางออก(ทางลง)มันมีหลายทาง แต่มันถูกสันเขาบังอยู่ทำให้เรามองไม่เห็น แต่พอเราขึ้นไปยืนอยู่บนสันเขาได้แล้วเราจะมองเห็นวิวที่สวยงาม มองเห็นทางลงหลายทาง เวลาลง ก็จะลงเร็วกว่าตอนขึ้น

แล้วก็ให้รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ อย่าไปเอาคำพูดคนรอบข้างมากดดันตัวเอง

ตอนที่ผมเรียนเกินปีที่ 3 มีคนถามว่า ไหนว่าเก่งไง ทำไมยังไม่จบซักที คนในหมู่บ้านก็ถามอยู่นั่นแล้วว่า เห็นไปนานแล้ว เมื่อไหร่จะจบบางคนถามผมอีกว่า เรียนจบปริญญาเอกแล้วได้อะไร ไปขายก๋วยเตี๋ยวอาจรวยกว่าเสียอีก คำพูดพวกนี้ไม่ทำให้ประโยชน์ให้กับคุณเลย ฟังข้ามๆ ไป

คนที่พูดแบบนี้เพราะเค้านึกว่า การเรียนปริญญาเอกเหมือนการเรียนทั่วๆ ไปที่ฟังครูสอนในห้อง แล้วจำไปสอบให้ผ่าน หรือทำรายงานส่งครู 2 ฉบับก็จบได้ แต่การจะจบปริญญาเอก คืองานของคุณต้องถูกยอมรับโดยคนในสาขาวิชาเดียวกันก่อน ถ้าใครที่ไม่ได้เรียนเองเค้าก็จะไม่รู้

เคยเจออีกคนนึงคิดว่า ตัวเองเป็นตัวแทนประเทศไทย(กรณีนักเรียนที่ได้ทุนมาเรียนต่างประเทศ) เพราะอยู่ที่ไทยสอบได้ที่ 1 ตลอด ได้เกียรตินิยม สอบชิงทุนได้ แต่พอเค้ามาอยู่ที่ที่คนได้ที่ 1 จากทั่วโลกมารวมกัน แล้วเค้าไม่ได้ที่ 1 ก็เริ่มอาการเครียด มีความกดดันมาก ซึ่งความกดดันเหล่านี้เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาด้วยตัวเองทั้งนั้น สรุปคือทำอะไรให้สุดๆและอย่าสร้างความกดดันให้ตัวเอง

……..

เพจ “ก็แค่ปริญญาเอก” ขอขอบคุณการแบ่งปันและข้อคิด-คำแนะนำจาก ดร.เบียร์ เชื่อว่าประสบการณ์จาก ดร.เบียร์จะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่สนใจ หรือกำลังศึกษาปริญญาเอกอยู่

เพจก็แค่ปริญญาเอก ยินดีเปิดพื้นที่สำหรับการแบ่งปันประสบการณ์การเรียนปริญญาเอก เชิญชวน inbox มาหาเรา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ให้กับเพื่อนๆ คนอื่นกันค่ะ

แขกรับเชิญคนต่อไปจะเป็นใคร ติดตามได้ที่นี่ ที่เดียว!!

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s