คอลัมน์แขกรับเชิญ :: คุยเรื่องเรียนด๊อกเตอร์กับด๊อกเตอร์ :: ดร.พอล อภิวัฒน์ หาญวงศ์ PhD In Social-Organizational Psychology, Teachers College, Columbia University, USA

Paul_Graduation

ทำไมถึงตัดสินใจเรียนปริญญาเอก ?

หลังจากจบปริญญาตรีทางด้านเศรษฐศาสตร์ ผมได้มีโอกาสทำงานขายซอฟแวร์ ในบริษัทแห่งหนึ่ง อันเป็นซอฟแวร์ที่ช่วยพัฒนาและคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในองค์กร ประสบการณ์ตรงนั้นเองเป็นจุดที่ทำให้ผมเริ่มสนใจเกี่ยวกับจิตวิทยาองค์กร (Organizational Psychology) ทำงานไปสักพักผมได้สอบทุน Fulbright และได้มีโอกาสไปเรียนต่อปริญญาโทที่ University of Tulsa ประเทศสหรัฐอเมริกา ผมบอกกับตัวเองว่า นี่คือบททดสอบบทหนึ่งของผม หากผมสามารถเอาตัวรอดใน หลักสูตรปริญญาโทที่เข้มข้นนี้ได้ ผมอาจจะมีโอกาสเรียนต่อถึงระดับปริญญาเอก

ช่วงที่เรียนปริญญาโทผมหาโอกาสทุกวิถีทางเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การทำวิจัย ผมช่วยทั้งอาจารย์และรุ่นพี่ที่คณะทำวิจัย ในขณะเดียวกันก็เข้าไปพูดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งท่านก็ให้คำแนะนำเกี่ยวกับงานวิจัยเป็นอย่างดี ประสบการณ์เหล่านี้เป็นตัวชี้นำว่าผมควรจะเรียนต่อระดับปริญญาเอกหรือไม่

แต่เอาเข้าจริง ๆ หากถามผมว่าทำไมตอนนั้นถึงคิดจะเรียนปริญญาเอก ผมว่าตอนนั้นผมตัดสินใจเรียน เพราะความเชื่อที่ว่าปริญญาเอกจะช่วยเปิดโอกาสในการทำงาน มีหน้าที่การงานที่ดี และคงจะทำให้ที่บ้านภูมิใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมเป็นสมาชิกคนแรกในครอบครัวที่เรียนถึงระดับปริญญาเอก

ผมคิดว่า ทุกคนมีเหตุผลในการเรียนปริญญาเอกแตกต่างกัน หากกลับมาถามผมตอนนี้ผมคิดว่า เหตุผลในการเรียนปริญญาเอกของผม ณ วันนั้นมันไม่ใช่เหตุผลที่ดีเสียทีเดียว และตอนนี้ผมก็เข้าใจแล้วว่า เหตุผลของการเรียนปริญญาเอกที่ถูกต้องนั้นคือเราต้องรักในการทำวิจัย  ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยของมหาวิทยาลัยหรือภาคเอกชนในอนาคตก็ตาม นี่แหละที่ผมคิดว่ามันควรจะเป็นเหตุผลหลักในการที่เราเลือกเรียนปริญญาเอก เหตุผลรอง ๆ ก็อาจจะมีอยู่บ้างซึ่งเป็นผลที่ได้ได้มาหลังจากที่เราได้เป็นดอกเตอร์หรือเป็นนักวิชาการนั่นก็คือ ความมั่นคงในหน้าที่การงาน (Job Security)  และความอิสระที่จะวิจัยในสิ่งที่เราสนใจ (Intellectual Freedom)

ทำ Thesis เกี่ยวกับอะไร  และทำไมถึงสนใจทำเรื่องนี้ ?

ที่จริงผมเริ่มสนใจหัวข้อ Thesis หลังได้มีโอกาสทำงานในบริษัทที่ปรึกษาซึ่งช่วยองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร โดยได้ช่วยวางแผนกลยุทธ์ประจำปี (Strategic Planning) ผมได้สังเกตว่า ถึงแม้ว่าเป้าหมายขององค์กรจะไม่หวังผลกำไร แต่ก็ยังมีความท้าทายมากมายในด้านการบริหารให้บรรลุเป้าหมายภารกิจทางสังคมกับความยั่งยืนทางการเงิน ประสบการณ์ในครั้งนั้นทำให้ผมตั้งคำถามว่า แล้วอะไรล่ะที่มีความสำคัญที่สุด ภาวะผู้นำหรือความสามารถขององค์กรในภาพรวม

หัวข้อ Thesis ของผมคือ Leadership Behavioral Complexity as an Antecedent to Scaling Social Impact and Financial Performance ซึ่งเป็นการดูความสำคัญของภาวะผู้นำในการช่วยองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร (Nonprofit and Social Enterprise) ให้บรรลุเป้าหมายทั้งทางด้านสังคมและการเงิน

ผลวิจัยได้ค้นสรุปได้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเติบโตขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรนั้น คือการวางโครงสร้างและระบบที่เสริมสร้างความสามารถขององค์กร มากกว่าความสามารถของผู้นำเพียงคนเดียว เช่น ความสามารถในการโน้มน้าวรัฐบาล ในการร่างกฎหมายให้เอื้อกับภารกิจขององค์กรที่ไม่หวังผลกำไร นอกจากนั้นยังมีคุณลักษณะขององค์กรในด้านอื่น ๆ เช่น ความสามารถในการขยายองค์กร (Replicable Model), ความสามารถในการสร้างรายได้ (Earnings Generation) และความสามารถในการกระตุ้นกลไกทางการตลาด (Stimulating Market Forces) เป็นต้น

ระหว่างที่เรียนได้พบเจอกับปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้าง 

อุปสรรคในการเรียนปริญญาเอกนั้นมักจะเกี่ยวกับอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นหลัก เหตุผลเพราะนักวิชาการยังใช้ระบบ Apprenticeship Model ในการถ่ายทอดความรู้ระหว่างอาจารย์ที่ปรึกษาและนักเรียนปริญญาเอก หากเราโชคดีเราก็ได้จะได้พบอาจารย์ที่ปรึกษาที่ให้ความสนใจจะช่วยแนะนำเรา และพยายามพัฒนาเรา

แต่หากเราโชคร้ายเราอาจจะเจอกับอาจารย์ที่ปรึกษาที่ที่ไม่ให้เวลาและความสำคัญกับเรา ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะให้ความสำคัญกับงานวิจัยของตัวท่านเองเป็นหลัก เพราะท่านอาจมีความกดดันที่จะต้องตีพิมพ์ผลงานของตัวท่านเองให้ได้ก่อน

ดังนั้นนักศึกษาปริญญาเอกจึงมีความท้าทายประการหนึ่ง ในการหาอาจารย์ที่ปรึกษาที่มีความสนใจในการทำวิจัยซึ่งสอดคล้องหรือไปในทิศทางเดียวกับเราและที่สำคัญอาจารย์ที่ปรึกษาต้องมีความสามารถในการช่วยพัฒนาศักยภาพของเราให้เป็นนักวิจัยที่ดี ดังนั้นเราจึงต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีกับอาจารย์ที่ปรึกษา และต้องมีความเชื่อมั่นระหว่างเรากับอาจารย์ที่ปรึกษาด้วย กล่าวคือต้องเชื่อมั่นว่าท่านจะช่วยพัฒนาเราได้ หากเราเจอคนที่ช่วยเราไม่ได้ เราก็อาจจะต้องหาทางเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษาคนใหม่

นอกจากประเด็นเรื่องอาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว เราก็อาจจะเจออุปสรรคมากมายระหว่างทาง อาทิเช่น การเขียน Literature Review, การออกแบบการวิจัย (Research Design), การเก็บข้อมูล, การวิเคราะห์ข้อมูลวิจัย, การนัดวันเสนอแผนวิจัย (Thesis Proposal) ไปจนกระทั่งการเสนอผลวิจัย  (Thesis Defense)

อุปสรรคในขั้นตอนต่าง ๆ ที่ผมได้กล่าวมานี้ล้วนเกิดขึ้นแบบไม่มีใครมาบังคับขู่เข็ญ ไม่มีใครมาคอยตรวจงาน ดูความคืบหน้าในการทำงานของเรา ดังนั้นเราจึงต้องมีวินัย และสร้างแรงจูงใจที่จะผลักดันตัวเองให้สามารถพัฒนางานวิจัยและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ไปได้ด้วยตัวเราเอง

คิดแล้วก็ยังหัวเราะตัวเอง ผมยังจำวันเสนอผลงานวิจัยของผมได้ ผมนัด Committee ทั้ง 5 ท่านให้มาเข้าร่วมฟังกันตอนบ่ายสองโมงที่ห้องสมุด  ในตอนเที่ยงของวันนั้นเอง ทางห้องสมุดได้ประกาศว่าจะมีการฝึกซ้อมหนีไฟขึ้นมา ผมเลยต้องเลื่อนวันนัดใหม่ทั้งหมดและหาแผนสำรองมารองรับอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตามอุปสรรคที่เราผ่านมันมาเนี่ยแหละเป็นตัวช่วยในการพัฒนาตัวเราให้มีศักยภาพสูงขึ้น เป็นนักวิจัยที่ดีขึ้น และที่สำคัญได้รับปริญญากลับบ้าน

ผ่านพ้นอุปสรรคเหล่านั้นมาได้อย่างไร

หากถามผมว่า ผมก้าวข้ามอุปสรรคนั้นมาได้อย่างไร ผมว่าผมได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ และเครือข่ายของผมเป็นอย่างดี ผมได้ปรึกษาเพื่อน ๆ รวมไปถึงรุ่นพี่ในคณะ  บางทีก็รบกวนไปถึงเพื่อน ๆ ต่างคณะ หรือนอกมหาวิทยาลัยเลยก็มี  อย่างในช่วงที่ผมทำ Coursework เสร็จ ผมได้ออกไปฝึกงานที่บริษัทข้างนอก นี่ก็เป็นโอกาสที่ทำให้ผมได้เปิดหูเปิดตา และได้แรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในการทำวิจัย บางทีเวลาเรามัวแต่ยึดติดกับปัญหา หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง เราอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหานั้นได้ เราอาจจะต้องออกไปคุยกับคนข้างนอกบ้าง เพื่อที่จะได้มุมมองใหม่ ๆ ที่เราอาจจะไม่เคยนึกถึงมาก่อน และในที่สุดก็ทำให้เราฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นไปได้

จุดเปลี่ยนในมุมมองของผมอันหนึ่งที่อยากเล่าให้ฟังคือ วันที่ผมได้คุยกับรุ่นพี่ที่เพิ่งผ่านประสบการณ์การทำ Thesis มา วันหนึ่งผมได้ไปปาร์ตี้แล้วมีโอกาสพูดคุยกับรุ่นพี่คนนี้ ผมบอกรุ่นพี่ไปตรง ๆ ว่าช่วงนั้นผมรู้สึกว่างานไม่เดิน และไม่ค่อยมีความคืบหน้าในการทำ Thesis เลย คือมันเป็นช่วงก่อนเขียน Thesis Proposal  รุ่นพี่คนนี้เขาก็แนะนำว่า ผมควรที่จะมีโค้ชคอยให้คำปรึกษาเรา  แกเลยแนะนำให้ผมได้รู้จักกับโค้ชที่เค้าเคยใช้ หลังจากวันนั้นผมก็ลองปฏิบัติตามคำแนะนำ งานวิจัยของผมก็พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว

หลายคนอาจคิดว่า การเรียนปริญญาเอก จะต้องผ่านพ้นอุปสรรคตามลำพัง แต่จริง ๆ แล้วถ้าเราคิดอะไรไม่ออกก็ควรหาคนเป็นคู่คิดไม่ว่าจะเป็นรุ่นพี่หรือคนในรุ่นด้วยกัน หรืออาจจะเป็นโค้ชจากภายนอกอย่างที่ผมใช้

มีอะไรที่ประทับใจเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยหรือการใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาปริญญาเอกมาเล่าให้ฟังบ้างคะ

ผมว่าการเป็นนักศึกษาปริญญาเอกเป็นช่วงที่ทำให้เรามีเวลาอยู่กับตัวเองมาก และมีโอกาสที่จะได้คิดในเรื่องต่างๆที่เราสนใจ โดยลักษณะของงานวิจัยที่เราได้ทำ มันทำให้เราต้องใช้ความคิดอย่างมากตลอดเวลา เราต้องใช้เวลาอยู่ห้องสมุด คิดทบทวนพูดคุยกับตัวเองว่าตัวเรายังต้องพัฒนาแก้ไขอะไรอีกบ้าง มันเป็นช่วงชีวิตที่มีอิสระอย่างมากที่จะทำอะไรต่างๆที่เราอาจไม่ค่อยมีโอกาสทำ

การที่ผมอยู่ที่นิวยอร์กนั้น ผมเพียงแค่นั่งรถไฟใต้ดินลงมาดาวน์ทาวน์ก็เจออะไรมากมาย ผมได้ถือโอกาสนี้เรียนสิ่งต่าง ๆ ที่ตัวเองอยากทำ

ช่วงนั้นผมได้เรียนทั้ง การพัฒนาการพูดในที่สาธารณะ (Improv, Public Speaking) การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และ Startup Entrepreneurship ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ได้สัมผัสในคณะ Organizational Psychology ที่เราเรียน ผมรู้สึกดีใจที่ได้ลองเรียนรู้อย่างเต็มที่ทั้ง ๆ ที่บางทีมันอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับงานหลักโดยตรงของเรา แต่มันช่วยเปิดโลกทัศน์ของเราให้กว้างขึ้น และเป็นโอกาสที่เรารู้ว่าอาจจะหาทำได้ยากตอนกลับมาเมืองไทย

ได้นำเอาสิ่งที่ได้จากปริญญาเอกมาใช้อย่างไรในปัจจุบัน

ปัจจุบันผมเป็นอาจารย์ที่คณะโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมสอนหลักสูตรปริญญาตรีและได้มีโอกาสช่วยนักศึกษาปริญญาโททางด้านงานวิจัย ดังนั้นงานหลักของผมจึงได้มีโอกาสที่ให้ผมได้ใช้สิ่งที่ได้เรียนจากปริญญาเอกแบบเต็ม

อีกอย่างที่ได้คือวิธีคิดและวิธีแก้ปัญหาที่เป็นระบบ  รวมไปถึงมุมมองของเรา ที่จะเปลี่ยนไปตามสายวิชาที่เราเรียน โดยคณะที่ผมเรียนนั้น เค้าเน้นมุมมองทางจิตวิทยา, กระบวนการกลุ่ม (Group Dynamics), และการพัฒนาองค์กร (Organizational Development) ซึ่งมันสอนให้ผมรู้ว่าการทำงานในองค์กรนั้น จะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ อำนาจในการสั่งการ (Power & Authority), การมีอิทธิพล (Influence), ความสำคัญของจิตวิทยา และความท้าทายในการทำงานเป็นกลุ่ม สิ่งเหล่านี้ทำให้เราใส่ใจเรื่องวัฒธรรมในองค์การ (Organizational Culture) การบริหารบุคคล (Human Resource Management) และภาวะผู้นำ (Leadership) มากขึ้น

นอกจากนั้นเพื่อนผมคนหนึ่งจากประเทศ อียิปต์ได้ให้มุมมองอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจไว้ว่า ประเทศของเขามองว่าคนที่จบปริญญาเอก ไม่ว่าจะจากสาขาไหนก็ตาม เป็นคนที่จะสามารถเรียนรู้อะไรก็ได้เพิ่มเติมด้วยตัวเอง

ดังนั้น สิ่งที่ได้จากปริญญาเอกอีกอย่างหนึ่งคือความเชื่อที่ว่า ถึงแม้เราต้องเจอวิชาใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ตรงกับสายที่เราเรียนมา เราก็สามารถนำวิธีคิดและวิธีแก้ปํญหาที่เป็นระบบมาประยุกต์ใช้ เพียงเราใส่ใจที่จะเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ ๆ เราจะเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมก็ได้ ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันผมสนใจเรื่อง Entrepreneurial Expertise and Effectuation ซึ่งเป็นสายวิชาที่ไม่ได้ตรงกับที่ผมทำวิจัยมาในช่วงที่เรียนปริญญาเอกแต่ผมก็สามารถที่จะค้นคว้าและนำความรู้มาปฏิบัติใช้งานได้เอง

เมื่อเรียนจบมาแล้ว มองย้อนหลังประสบการณ์ที่ผ่านมา มีข้อคิดหรือมุมมองอะไรที่อยากฝากสำหรับคนที่กำลังเรียนอยู่บ้าง

ข้อแรก เราไม่จำเป็นต้องผ่านพ้นอุปสรรคทุกอย่างตามลำพัง เรื่องนี้อาจจะเป็นบทเรียนส่วนตัวของผมก็ได้ ในฐานะที่ผมเป็นลูกคนเดียว ผมสังเกตว่าหลายคนเรียนจนถึงระดับปริญญาเอกจะเก่งและฉลาดกันทั้งนั้น และอาจจะมีความเชื่อว่า “เราต้องเก่งด้วยตัวเอง” แต่อันที่จริงแล้ว คนที่สามารถที่จะสร้างเครือข่ายรอบ ๆ ตัวเอง (Social Support Network) ได้นั้น พวกเขาจะผ่านพ้นอุปสรรคได้เร็วขึ้นและไม่เครียดมาก

ข้อที่สอง ผมเชื่อว่าทุกคนมีเหตุผลส่วนตัวที่จะเรียนปริญญาเอก แต่ไม่ใช่ว่าเหตุผลของทุกคนจะถูกต้อง แท้ที่จริงแล้วการเรียนปริญญาเอกนั้นแปลว่าเราต้องการที่จะเป็นนักวิจัย เรามีคำถามในใจที่เราอยากหาคำตอบ หากผมย้อนเวลาได้ ผมจะกลับไปทบทวนว่าเหตุผลต่าง ๆ ที่เราอยากจะเรียนปริญญาเอกของผมนั้นมันเหมาะสมแค่ไหน การเรียนเพื่อทำให้พ่อแม่ภูมิใจก็เข้าใจได้ แต่ที่จริงแล้วเราต้องเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ยิ่งไปกว่านั้นหากถามว่าการเรียนปริญญาเอกนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายชีวิตเราแค่ไหน จะให้ดีก็ควรใช้วิธีคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์ที่ต้องคิดถึงต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) เพราะการที่เราทุ่มเทให้กับการเรียนปริญญาเอกตั้งหลายปี แปลว่าเราอาจจะเสียโอกาสทำงานหรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นประโยช์นกับเรามากมาย ดังนั้นเราจึงต้องคิดวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่าผลที่ได้จะคุ้มกับเวลาที่เราลงทุนไหม

ข้อที่สาม หากใครได้มาเรียนแล้ว ทำ Coursework ไปจนเสร็จ แล้วรู้สึกว่าตนเองถอยหลังไม่ได้ ผมก็ขอฝากคำคมที่ได้มาจากรุ่นพี่และอาจารย์ อันได้แก่ “The Best Thesis Is A Done Thesis”

ในช่วงที่เขียน Literature Review นักศึกษาปริญญาเอกทุกคน (รวมถึงตัวผมเองด้วย) มักจะคิดว่า Thesis ตัวเองต้องมีคำถามที่ลึกซึ้งและมีผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ในสายงาน แต่ที่จริงแล้ว Thesis ของเราไม่จำเป็นต้องใหญ่โต มันอาจจะเป็นหัวข้อเล็ก ๆ ที่ให้ประโยชน์ในวงแคบ แต่เราทำมันให้เสร็จให้ได้ เราได้ปริญญาเอกมาแล้ว ค่อยทำวิจัยที่มีผลกระทบที่กว้างใหญ่ไพศาล มันก็ยังไม่สาย และสำหรับคนที่จะสมัครเข้า Research University เขาสนใจผลงานตีพิมพ์ที่เรามีมากกว่า Thesis ที่เราเขียน เพราะฉะนั้น ทำ Thesis ให้เสร็จ เรายังมีเวลาทำวิจัยเพิ่มเติมอีกเยอะหลังจบปริญญาเอก

สุดท้ายผมขอแนะนำทุกคนที่คิดจะเรียนปริญญาเอก ให้ฝึกอ่านและเขียนให้มากๆ  ทักษะการเขียนเป็นสำคัญมาก ตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนทางคณะก็ให้เราเขียน Statement of Purpose จนถึงวันที่เราจัดทำ Thesis Defense เราจะต้องเขียนอีกเยอะมาก ๆ

เพราะฉะนั้น การเขียนในเชิงวิชาการจะเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดที่เราควรจะต้องพัฒนา โดยเริ่มจากการอ่าน Journal ในสายวิชาของเรา บางทีอาจถามตัวเองว่า ถ้าเรามีหัวข้อวิจัยแบบนี้เราจะใช้ กระบวนการวิจัย (Methodology) อย่างไร จะเก็บข้อมูลแบบไหน และทำไมจึงคิดทำแบบนั้น 

ความท้าทายอันยิ่งใหญ่ในการเรียนปริญญาเอกคือการเปลี่ยนวิธีคิด ตั้งแต่เราเรียนประถม มัธยม ปริญญาตรี มาจนถึงปริญญาโท เรามักจะคุ้นเคยกับการรับความรู้ แต่พอมาถึงการเรียนปริญญาเอกเรากลายมาเป็นผู้ที่จะต้องผลิตองค์ความรู้ใหม่ ๆ แทน สิ่งที่ท้าทายคือการเปลี่ยนวิธีคิด กล่าวคือจากการที่มุ่ง หาคำตอบกลายมาเป็นการที่เราจะต้องพยายาม ตั้งคำถามเราต้องสามารถตั้งคำถามที่ยังไม่มีคำตอบในโลกใบนี้ จากนั้นเราจะต้องทำวิจัยเพื่อที่จะหาคำตอบของคำถามที่เราตั้งไว้ ด้วยเหตุผลนี้กระมัง มันจึงทำให้กรอบความคิดของเราในการเรียนรู้เปลี่ยนไป

 ……

ดร.พอล อภิวัฒน์ หาญวงศ์

ปัจจุบัน:

  • อาจารย์ประจำ วิทยาลัยโลกคดีศึกษา คณะ Global Studies and Social Entrepreneurship (GSSE) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ผู้เชี่ยวชาญด้าน จิตวิทยาองค์กรและการพัฒนาองค์กร Organizational Development
  • ปัจจุบันสนใจงานวิจัยทางด้าน Effectuation และ Entrepreneurship
  • ประสบการณ์:
  • วิทยานิพนธ์ เรื่อง ‘Leadership Behavioral Complexity as an Antecedent to Scaling Social Impact and Financial Performance’ จากมหาวิทยาลัย Teachers College, Columbia University ประเทศสหรัฐอเมริกา

Paul Apivat Hanvongse, Ph.D.
I’m currently on faculty at the School of Global Studies at Thammasat University where I teach human communications and organizational psychology at the B.A. in Global Studies and Social Entrepreneurship (GSSE). I have also advised graduate students on their independent research projects. I am a practitioner-scholar with interests in entrepreneurship and effectuation. Social footprints:LinkedIn: https://th.linkedin.com/in/apivath
Dissertation: http://academiccommons.columbia.edu/catalog/ac:175460
Tumblr: http://phdpurpose.tumblr.com/

แขกรับเชิญคนต่อไปของเพจก็แค่ปริญญาเอกจะเป็นใคร ติดตามได้ที่นี่ที่เดียว

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s