ในวงวิชาการปัจจุบันนี้วุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับอาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัยไปแล้ว (เมื่อเรียนจบรอดตายกลับมาก็แอบเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในบางมุม) ตัวเองก็เป็นคนหนึ่งที่จำเป็น ต้องลงเรียน “วิชาชีวิต” นี้เช่นเดียวกับหลายคนค่ะ ครั้งนี้นับเป็นโอกาสดีที่ เพจ “ก็แค่ปริญญาเอก” ชวนมาแลกเปลี่ยน ประสบการณ์ชีวิตของนักเรียนป.เอกไทยในกรุงโรม อิตาลี เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้นักสู้ท่านอื่นๆที่กำลังต่อสู้ อยู่ในสนามรบชีวิตนี้ ให้ได้สัมผัสมุมมองที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งด้านสว่างจ้าและมืดมนของชีวิต และสามารถฟันฝ่า อุปสรรคจนคว้าชัยชนะมาฝากตัวเองและคนรอบข้าง ที่รอคอยการกลับมาของเราอยู่ให้ได้เหมือนกันค่ะ
ย้อนกลับไปเมื่อสี่ปีที่แล้ว ทันทีที่รู้ว่าต้องไปเรียนต่อ ในหัวจึงเริ่มคิดแต่ “หัวข้อปังๆ ที่เราพอทำได้และกำหนด แนวทางวิชาการในอนาคตของเราต้องมาเสาะหาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญ และเลือกดูสถานที่เรียนที่คิดว่าตัวเองจะเรียน และใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไม่สุขไม่ทุกข์ถึงสี่ปี” ทีแรกยอมรับว่าไม่อยากอยู่เมืองใหญ่ (เพราะเคยอยู่ แต่เมืองต่างจังหวัดเล็กๆในประเทศอิตาลีมาตลอด) ด้วยเกรงจะโดนชักจูงจากคนรู้จักมากมาย ทั้งพี่น้องเพื่อนพ้อง ลูกศิษย์ลูกหา และคนไทยที่รู้จัก ที่อาจจะคอยหมั่นไปเยี่ยมเยียนหรือนัดพบจนไม่เป็นอันเรียน
ช่วงกลางปี พ.ศ. 2554 จึงเริ่มลองส่งใบสมัครเรียนไปสามมหาวิทยาลัย ทั้งที่อิตาลีและแคนาดา แต่ไม่มีใครรับเลย จนชักเสียความมั่นใจ แต่ผลสุดท้ายก็ได้ตอบรับเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติโรม “ตอร์ แวร์การ์ตา” ณ กรุงโรม อาณาจักรโรมัน ที่เคยรุ่งเรืองที่สุดในโลก จ้ะ…แรงมาก เพราะโรมเป็นเมืองหลวง เมืองท่องเที่ยวในฝันของคนทั่วโลก เมืองที่มีหน่วยงานราชการ ทั้งของไทยและอิตาลียึบยับ และเมืองที่มาพร้อมค่าครองชีพที่สูงมากจนแทบกินแกลบ
ขอเล่าถึงด้านการใช้ชีวิตที่โรมอย่างย่อๆ ก่อนที่จะเข้าสู่การเล่าถึงเรื่องเรียนป.เอก
อย่างน้อย อาจช่วยทำให้หลายคนได้เตรียมความพร้อมและคลายความกดดันลงบ้างก่อนที่จะไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ในวันที่ เราไม่ได้แค่ไปเที่ยวเท่านั้น เพราะชีวิตมันช่างแตกต่างกันมากทีเดียวค่ะ อย่างไรก็ตาม ขอเล่าแบบให้ภาพจริง ไม่บิดเบือนหรือฟุ้งโลกสวยนะคะ บางครั้งอาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่ามองโลกในแง่ร้ายหรือเป็นอาชญากรconscious (เพื่อนๆชอบตั้งฉายานี้ให้เพราะหาว่าวิตกเกินเหตุ จริงๆส่วนมากทำเก่งแซว แต่ลึกๆก็คงกลัวเหมือนกันทุกคน ฮ่าๆ) จนเกินไปบ้าง แต่ตัวเองจะคิดเสมอว่าการใช้ชีวิตต้องตั้งอยู่บนความไม่ประมาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ว่าสาวหรือหนุ่มที่ต้องไปอยู่ต่างแดนเพียงลำพังค่ะ
ช่วงสองสัปดาห์แรกที่ไปถึงโรม ถือเป็นบุญที่รู้จักผู้ใหญ่คนไทยท่านนึงให้ความช่วยเหลือเรื่องที่พักระหว่าง ที่ตัวเองกำลัง เร่งหาบ้านเช่า ด้วยความที่ไม่ใช่วัยใสเหมือนสมัยไปเรียนป.โท ไม่ใช่เวลาที่จะอยาก socializeกับใครมากนัก ไม่พร้อม ที่ต้องไปทะเลาะกับคนร่วมแชร์บ้านพัก จึงตัดสินใจว่าจะยอมจ่ายเงิน เพื่อเช่าสตูดิโออยู่คนเดียว (ภาษาอิตาเลียนเรียกว่า monolocale) เพื่อเร่งทำงานวิจัยและเขียนวิทยานิพนธ์ ให้เสร็จสมบูรณ์โดยเร็วที่สุด แต่แล้วความกดดันเกิดขึ้นหนักมาก เมื่อทราบราคาที่พักในย่านที่ดีที่สุดในโรม เพราะแพงมากจนตาลาย (เรื่องย่านในเมืองต่างๆของประเทศอิตาลีเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆในการหาที่พักเช่นเดียว กับประเทศอื่นๆทั่วโลก) แต่จำใจต้องกัดฟันยอมจ่าย เพราะชอบบ้านที่หา เจอมาก ห้องเล็กๆประมาณ 20 ตร.ม.ในคอนโด น่ารักไม่หรูหรา แต่สะอาด ตกแต่งใหม่ มีเครื่องใช้ทุกอย่างครบครัน ตั้งอยู่ในเขตที่พักอาศัย ที่มีคนอิตาเลียนแท้ๆ อยู่เป็นส่วนมาก
(ลักษณะของมหาวิทยาลัยในประเทศอิตาลี จะไม่มีการสร้างหอพักไว้รองรับ นักศึกษาเหมือนกับฝั่งอเมริกา อังกฤษ หรืออีกหลายประเทศ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย ในเมืองใหญ่ๆ เช่น โรม มิลาน ฟลอเรนซ์ ฯลฯ นักศึกษาจะต้องหาบ้านเช่าเอง แต่นั่นก็มีข้อดีมากๆคือ เราจะได้ใช้ชีวิตแบบคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ไม่มีการอยู่กับเพื่อนนักศึกษาในหอพักเลยค่ะ)
ก่อนหน้าจะหาห้องนี้เจอ ก็ฟูมฟายสติแตกให้คนทางเมืองไทย ฟังไปหลายยก ต้องขอขอบคุณ Skype ที่เป็นช่องทางให้บ่นได้เต็มที่ ไหนจะต้องเตรียมเงิน ที่ต้องไว้วางมัดจำ ไหนจะเรื่องต้องทำธุรกรรมต่างๆ เพราะอีกไม่กี่วันหลังจากได้บ้านมหาวิทยาลัยกำลังจะเริ่มเปิดภาคการศึกษาใหม่แล้ว อาจารย์ที่ภาควิชาจึงต้องการนัดประชุมเพื่อคุยเรื่องหัวข้อและจัดอาจารย์ที่ปรึกษาให้นักศึกษาป.เอกแต่ละคน สุดท้าย แล้วทุกปัญหามีทางออก เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางจึงรีบย้ายเข้าบ้านและเตรียมตัวพร้อมรับกับชีวิตนักศึกษาป.เอก ที่กำลังจะมาถึง
ราวปลายสัปดาห์ที่สามที่อยู่โรม ขิมได้ย้ายเข้าบ้านใหม่ และเริ่มเข้าพบอาจารย์ประธานหลักสูตรฯ ที่คณะอักษรศาสตร์และปรัชญา มหาวิทยาลัยแห่งชาติโรม “ตอร์ แวร์การ์ตา” พร้อมทั้งได้พบอาจารย์ที่ปรึกษา ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลการวิจัยและกำกับการเขียนวิทยานิพนธ์ อาจารย์ท่านนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มอาจารย์ที่เคย สอบสัมภาษณ์และสนใจหัวข้อธีสิสของเรามาตั้งแต่ตอนนั้น และอาจารย์เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ อิตาเลียนในยุคฟาสซิสต์ซึ่งตรงกับงานวิจัยของเรามาก
ทันทีที่เริ่มคุยรายละเอียดการทำงาน อาจารย์ก็สั่ง ปรับโครงร่างวิจัยใหม่กว่า 40% วันนั้นจำได้ว่าสติแตกจนนั่งรถเมล์เลยป้ายแถวบ้านได้แล้วกัน เมื่อความเครียดเริ่มครอบงำ เราจะไม่มีสติและสมาธิในการทำงาน ณ จุดนั้น ขอแนะนำว่าทุกคนควรมองหาหนทางผ่อนคลาย ความตึงเครียดของตัวเองให้ได้ว่าทำอะไรแล้วสบายใจ ซึ่งไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องเหมือนกัน โดยส่วนตัว ชอบไปนั่งในบาร์ จิบกาแฟ มองดูผู้คน แอบฟังสำเนียงอิตาเลียนหลากหลายและเรื่องราวชีวิต ที่แตกต่างของคนที่แวะเวียนเข้ามาในร้าน ดีกว่าหมกตัวร้องไห้หรือคลั่งอยู่คนเดียวในห้องแคบๆเพื่อคิดงานให้ออกเดี๋ยวนั้น
(คำว่า “บาร์” ในวัฒนธรรมอิตาเลียน หมายถึง ร้านกาแฟ ไม่ใช่ผับหรือบาร์ สถานที่อโคจร ตามที่คนไทยเรียกขาน แต่อย่างที่ทราบกันว่าวัฒนธรรมกินดื่มแบบอิตาเลียนนั้น การจิบไวน์และเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ระหว่างมื้ออาหารเป็นเรื่องปกติ)
เมื่อความคิดและความรู้สึกสงบลง รีบกลับบ้านไปลองคุยกับผู้ที่มี ประสบการณ์ในการเรียนป.เอกมาก่อน แม้ว่าบางคนจะเรียนต่างศาสตร์หรือต่างประเทศกัน แต่ก็อาจได้รับคำแนะนำที่ดี และพอเป็นแนวทางให้เราเดินต่อไปได้อย่างไม่อ้างว้างนัก
จำได้ว่าพอความคิดตกผลึกในวันรุ่งขึ้น โครงร่างวิจัยใหม่ ก็สำเร็จและส่งไปให้อาจารย์อ่านก่อนไปขอเข้าพบในวันถัดไป ทุกอย่างผ่านเรียบร้อย อาจารย์บอกว่าค่อยๆปรับกันไป ในรายละเอียดตลอดเวลาสามปี พร้อมทั้งให้รายการหนังสือพื้นฐานที่ต้องอ่านประมาณ 30 เล่ม (ไม่เคยใช้ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเลยเพราะอยู่ไกลจากบ้านมาก ต้องนั่งรถไฟใต้ดินจนไปชานเมืองและต่อรถเมล์ เสียเวลามาก เลยเลือกไปค้นหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติใกล้ๆบ้านแทน โชคดีที่มีครบแทบทุกเล่ม)
ปีที่ 1 ของการเรียน โดยทั่วไปเหมือนกันทุกหลักสูตรคือ การทำ literature review อ่านหนังสือ และค้นเอกสารเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อธีสิสของตัวเองจากทุกแหล่ง หอสมุดแห่งชาติ ร้านขายหนังสือ ทั้งใหม่และเก่ามือสอง เว็บไซต์ต่างๆ เพื่อสกัดใจความสำคัญของผู้เขียนแต่ละคนออกมาให้ได้ การเรียนป.เอก ที่ประเทศอิตาลี โดยเฉพาะทางด้านมนุษยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยฝั่งยุโรป จะไม่มีการเรียน course work เหมือนใน สหรัฐอเมริกาหรือไทย
ฉะนั้น หลักสูตรป.เอกลักษณะนี้ จึงเป็นลักษณะ Dottorato di ricerca (Research doctorates) อย่างแท้จริง ในความหมายที่ว่า นักศึกษาค้นคว้าวิจัยด้วยตนเองและพบอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อขอคำแนะนำ และช่วยตบตีให้ธีสิสพัฒนาต่อไปได้ในแนวทางที่ควรจะเป็นตามหลักวิชาการ แต่นั่นก็หมายถึงว่า เรากำลังเดินทาง บนทางสายเปลี่ยวแห่งวิชาการตามลำพังด้วย ยิ่งไปกว่านนั้นถนนสายนี้ยังเริ่มรกไปด้วยข้อมูล ข้อจำกัด อุปสรรคทั้งจากตัวเองและผู้อื่น อารมณ์ ความรู้สึกที่รบกวนจิตใจ ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังต้องแบ่งหัวสมองมาเผชิญ กับเรื่องราวปั่นป่วนในการติดต่อเรื่องเอกสารทางราชการ ทั้งของมหาวิทยาลัยและส่วนตัว เช่น การขอใบอนุญาต เข้าพำนักในสาธารณรัฐอิตาลีเมื่ออยู่เกิน 1 เดือน หรือที่พวกเรารู้จักกันดีในนาม Permesso di soggiorno ซึ่งมีขั้นตอนการขอและทำเอกสารต่างด้าวนี้วุ่นวายทีเดียว โดยเฉพาะในเมืองหลวงที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ อย่างกรุงโรมนี้ แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี ความรู้สึกดี… รักโรมมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมาพร้อมกับความเหงา เมื่อย่างเข้าเดือนที่สี่ โปรแกรม Skype facebook youtube ช่วยคลายความคิดถึงพ่อแม่ญาติมิตรได้บ้าง
แต่เราชักเริ่มต้องการสังคมแล้ว จากที่เคยอยากอยู่เงียบๆคนเดียว กลายเป็นอยากเมาท์ กินข้าว ช้อปปิ้ง ปรับทุกข์ด้วยภาษาไทยที่นี่บ้าง เริ่มเฝ้าคอยให้คนจากเมืองไทยที่แจ้งว่าจะมาเยี่ยมที่โรม เพราะเพื่อนอิตาเลียน ที่เรียนอยู่ด้วยกันในหลักสูตรฯ ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่ทำงานเป็นผู้กำกับหนัง คอลัมน์นิสต์ และมีแฟนหมดแล้ว เพื่อนผู้หญิงคนเดียวที่อาจารย์ให้สนิทกันไว้ก็เดินทางบ่อยไปต่างประเทศบ่อยเพราะกำลังจะแต่งงานกับแฟนที่ไม่ได้อยู่ที่อิตาลี ทุกคนจึงรีบก้มหน้าทำงานของตัวเองและไม่ได้เที่ยวเล่นด้วยกันเหมือนเพื่อนสมัยป.โท (ในขณะนั้นเราเป็น นักเรียนไทยคนเดียวที่เรียนป.เอกในคณะอักษรศาสตร์และปรัชญา ที่เหลือเป็นนักศึกษาอิตาเลียนหมด)
เดชะบุญ! ในความเป็นอาจารย์มาเหยียบสิบปีก่อนจะไปเรียนต่อ ทำให้มีลูกศิษย์ลูกหาและคนรู้จักมากมายหลายมุมเมือง บางคนเคยเรียนภาษาอิตาเลียนกับตัวเองที่จุฬาฯก่อนมาด้วยซ้ำ เลยได้มีโอกาสเจอเพื่อนพี่น้องคนไทยที่อยู่ในกรุงโรม ซึ่งล้วนเป็นคนในวงโคจรชีวิตเต็มไปหมด ทุกคนน่ารักและให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลในทุกทาง ทำให้ชีวิตตอนนั้นดีมากขึ้น ได้ทั้งเพื่อน ได้ทั้งงาน ได้ทั้งเงิน เพราะเริ่มรับทำงานล่ามให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในกรุงโรม และคณะข้าราชการไทยที่เดินทางมาอิตาลีด้วย (งานที่ภูมิใจงานหนึ่งคือ ได้เป็นล่ามให้ท่านเอกอัครราชทูตไทยในกรุงโรม เมื่อครั้งที่ท่านต้องแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองของไทย ช่วงกลางปีพ.ศ. 2557 ให้นักข่าวอิตาเลียนทราบ ดีใจที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถอันน้อยนิดช่วยงานของประเทศ)
ปลายปีการศึกษาแรก เมื่อทุกอย่างเข้าที่และมีภาพการทำงานที่ชัดเจนขึ้น จึงขอลาอาจารย์ที่ปรึกษากลับมาเก็บข้อมูล ที่ประเทศไทยและสิงคโปร์ ก่อนจะกลับไปเริ่มเขียนธีสิสบทแรกและเริ่มเข้าสู่ปีที่ 2 ของการเรียนค่ะ
สิ่งที่ตกผลึกได้จากการเรียนป.เอกในปีแรก ไม่ใช่แค่ข้อมูลที่ใช้ในงานวิจัยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความใจเย็น ความอดทน การต่อสู้กับภาวะกดดันต่างๆที่มีมากยิ่งขึ้น เราจะเรียนรู้ว่า “เมื่อสติมาปัญญาเกิดจริงๆ” เพราะบางอย่าง กรี๊ดแตกไปให้ตายก็ไม่ได้สิ่งที่หวังตามใจต้องการในทันที อีกทั้งการได้เห็นโลกใหม่ที่มีผู้คนหน้าใหม่ๆหลากหลาย ทั้งไทยเทศ ทำให้เข้าใจชีวิตและปมปัญหาของตนและคนอื่นได้กระจ่างขึ้น ลดอัตตา (ซึ่งปกติไม่บ้ามั่นใจและอวดตัวเอง แต่จะมั่นใจในข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานเท่านั้น) เพราะเชื่อเสมอว่าที่มีทุกวันนี้ได้ไม่ใช่เพราะตัวเองคนเดียว แต่คนในชีวิตรอบตัวเราที่รักใคร่หวังดีช่วยเหลือกัน ที่สำคัญ ชั้นบรรยากาศมีหลายชั้น เหนือฟ้าย่อมมีฟ้าเสมอ…
กลับเมืองไทยและไปสิงคโปร์เพื่อเก็บข้อมูลได้มากพอสมควร เมื่อกลับอิตาลีจึงเริ่มลงมือเขียนธีสิสบทแรกเป็น ดราฟท์แรก ในขณะเดียวกันก็ตามเก็บดูภาพยนตร์ที่อาจารย์แนะนำให้ครบ นอกจากนี้ ด้วยความที่อาจารย์ที่ปรึกษามี สอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยของเราพอดี เลยให้เข้าไป sit-in กับนักศึกษาป.โทเพื่อศึกษาเพิ่มเติม เมื่อดราฟท์แรก เสร็จสมบูรณ์เท่าที่กำลังความสามารถของเรามีในระดับหนึ่ง ควรรีบส่งให้อาจารย์อ่าน เพราะบรรดาอาจารย์ที่ปรึกษา ทั้งหลายทั่วโลกมักจะไม่ค่อยมีเวลามากนัก ยิ่งดังยิ่งหาตัวยาก หรือพวกกำลังจะเทิร์นโปรเป็นโปรเฟสเซอร์
กลุ่มนักศึกษาป.เอกจะพบความยากลำบากในการตามล่าหาอาจารย์ทุกเดือน อย่าลืมว่าต้องให้เวลาอาจารย์พอสมควร ในการตรวจด้วย ระหว่างนั้นเราควรลงมือเขียนงานต่อไปเรื่อยๆ สิ่งที่ได้รับจากการเขียนธีสิสบทแรกๆคือ เขียนไป อย่าหยุด อย่าเที่ยวไกลๆและนานๆบ่อยจนเกินไป เพราะถ้าขาดตอนกว่าจะสตาร์ทเครื่องติดใหม่มักใช้เวลาอย่างน้อย 10 วัน บางคนที่แบ่งเวลาเก่งและเป็นคนเก่งก็อาจพอทำได้บ้าง แต่สำหรับบางคนทำไม่ได้ กรณีของตัวเองคืออย่างหลัง โชคดีที่โดยนิสัยไม่ใช่คนชอบเที่ยวมาก จะไปเมื่ออยากไปบางเมืองจริงๆ ประสบการณ์ชีวิตไม่ต้องรีบหาในช่วงสี่ปีนี้ก็ได้ เพราะนอกจากจะใช้เงินไม่น้อยแล้ว ยังใช้เวลามาก เลยมักจะคิดว่า เที่ยว…? ไม่ตายมาเที่ยวใหม่สบายๆก็ได้ แต่ถ้าเรียนไม่จบหรือจบช้ามากในไม่กี่ปีนี้ ความลำบากจะไม่ได้เกิดกับเราคนเดียว โดยเฉพาะตัวเองซึ่งลาราชการ มาเรียนต่อ ยังมีอะไรหลายอย่างรออยู่ บางคนมีห่วงพ่อแม่พี่น้อง สามี ภรรยา ลูก หรือแฟนที่อยู่ห่างกัน ต้องเตรียมวางแผนจัดการชีวิตให้ดี จะได้ไม่เสียใจภายหลัง
การเขียนธีสิสดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ แต่การแก้งานส่งคืนของอาจารย์ที่ปรึกษาเริ่มไม่สม่ำเสมอ เพราะอาจารย์จะยุ่งเป็นพักๆ และมีเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อบรรยายทางวิชาการและทำวิจัยของตัวเองด้วย บางครั้งต้องงัดยุทธวิธีคอยตามทวง ยิ่งเร่งเร้ามากไป ก็พาลจะเป็น เรื่องราวได้ ฉะนั้น หากมีเวลาเหลือ ตัวเองก็ต้องพักบ้าง โดยเฉพาะช่วงที่มีคนมาเยี่ยม ชวนกันไปเที่ยวเล็กน้อย ช้อปปิ้งบำบัดเครียด และออกกำลังกาย
ผ่านไปสามปียังเขียนงานไม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติเพราะไม่มีใครจบตรงเป๊ะภายในสามปี อย่างน้อยต้องรอการแก้ไขจากผู้อ่านระยะหนึ่ง (ตามระบบการเรียนป.เอกของอิตาลี เมื่องานเสร็จสมบูรณ์ และอาจารย์ที่ปรึกษายอมรับงานแล้ว จะส่งต่อให้ readers 2 ท่าน ซึ่งเป็นอาจารย์หรือนักวิชาการที่เชี่ยวชาญ จากมหาวิทยาลัยอื่นๆอ่านและวิจารณ์ผลงานเพื่อให้แก้ไขก่อนส่งส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ให้กรรมการ และรอนัด สอบป้องกันวิทยานิพนธ์ การเรียนป.เอกที่นี่จะไม่มีโอกาสได้แก้ไขวิทยานิพนธ์หลังจากผ่านการสอบป้องการแล้ว)
ช่วงก่อนจบเกิดความปั่นป่วนในชีวิตมาก เพราะเอาเข้าจริงๆทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามปฏิทินชีวิตและฝีมือของเรา ทั้งหมด ต้องทำใจให้สงบและยืดหยุ่นเผื่อความผิดพลาดพลิกโผไว้บ้าง แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากถึงมากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของตัวเอง เช่น รอคอยให้ผู้อ่านแจ้งกลับมาว่าควรปรับแก้ตรงไหนบ้าง รอคอยว่าอาจารย์จะคืนงานที่นำไปตรวจอีกครั้งก่อนอนุมัติให้ส่งเล่มสมบูรณ์ได้ทันเดดไลน์ของมหาวิทยาลัยหรือไม่ ฯลฯ มันคือช่วงเวลาที่ทรมานมาก เข้าใจเลยว่าการเรียนให้จบปริญญาเอก ทั้งจิตใจและร่างกายต้องแข็งแกร่งมากพอ เพราะมันหวิดจะสติแตกได้ง่ายมาก ตอน final lap นั้นต้องการกำลังใจมาก โชคดีที่พ่อแม่ อาจารย์ทางเมืองไทย และเพื่อนบางคน ยอมอดทนฟัง และให้กำลังใจในการต่อสู้ยกสุดท้าย
และแล้ว… ในปีที่ 3 เดือนที่ 5 ทุกอย่างก็เรียบร้อย ได้รับนัดสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 เมื่อสอบเสร็จ กรรมการทั้งสามท่านจะเชิญให้ Ph.D candidate (ภาษาอิตาเลียนเรียกว่า la dottoranda) ออกไปรอนอกห้องสอบเหมือนที่หลายคนเคยเล่าไว้ และถัดจากนั้นไม่นานนักก็เชิญให้กลับเข้าไปฟังผลในห้อง ทันทีที่ ประธานกรรมการประกาศว่าเราเรียนจบแล้วและขอรับรองให้เป็น Dottoressa di ricerca (Doctorate) น้ำตาแตกกระจาย วิ่งไปกอดขอบคุณทั้งกรรมการและอาจารย์ที่ปรึกษา นี่คงเป็นวันที่ยกภูเขาแอลป์ออกจากอก หลังจากนั้น พ่อแม่โทรมาดีใจและรอคอยการกลับไทยของเรา เพื่อนหลายคนที่เมืองไทยและที่อิตาลีดีใจกันมาก เรียกว่าโซเชียลมีเดียระเบิดในเย็นวันนั้น มันทำให้รู้ว่า บนเส้นทางสายวิชาการเราภูมิใจกับปริญญาใบนี้ เพราะเขียนเองกับมือ
แต่เราต้องไม่ลืมว่า บนเส้นทางแห่งชีวิตนี้เราไม่ได้เดินมาถึงจุดหมายปลายทางเพียงลำพัง เรามีคนเดินมาด้วยมากมาย ไม่ควรลืมน้ำใจ ความช่วยเหลือ ความรัก และที่สำคัญคือ ความกตัญญู เพราะสุดท้ายแล้วกระดาษและเกียรติยศ พร้อมคำเรียกขานใหม่ว่า อาจารย์ ดร.ปาจรีย์ ทาชาติ เป็นเพียงแค่คำแทนตัวตนของเราแค่นั้น…
ประวัติ
อาจารย์ ดร. ปาจรีย์ ทาชาติ
อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันตก สาขาวิชาภาษาอิตาเลียน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย
คุณวุฒิ
– อักษรศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) ภาษาอิตาเลียน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2542
– ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิชายุโรปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2544
– ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (อีราสมุส มุนดุส) สาขาวิชาการศึกษาข้ามวัฒนธรรมยุโรป มหาวิทยาลัยแบร์กาโม อิตาลีและมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ สก็อตแลนด์ พ.ศ. 2551
– ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอิตาเลียนศึกษา (ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อิตาเลียน) มหาวิทยาลัยแห่งชาติโรม “ตอร์ แวร์การ์ตา” พ.ศ. 2558
หัวข้อวิทยานิพนธ์: Il cinema di propaganda italiano e thailandese dal 1934 al 1943 (ภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่ออิตาเลียนและไทย ตั้งแต่ค.ศ. 1934 ถึง 1943)
*** ติดตามเรื่องราวของแขกรับเชิญคนต่อไปของเพจก็แค่ปริญญาเอก ที่จะมาแบ่งปันสาระ ความรู้ ประสบการณ์ที่มีค่าในการเรียนต่อระดับปริญญาเอก ได้ที่นี่ ที่เดียวเท่านั้น *** https://www.facebook.com/justaphd/