#คอลัมน์แขกรับเชิญ :::A Super Busy Day with a PhD Student ::: วันที่ยุ่งหัวฟูกับนักศึกษาปริญญาเอก ::: อัมรินทร์

ยินดีต้อนรับสู่ เพจก็แค่ปริญญาเอก ในฐานะแขกรับเชิญ ช่วยแนะนำตัวหน่อยค่ะ

สวัสดีครับ ผมชื่อ อัมรินทร์ เผ่าสวัสดิ์ ครับ ชื่อเล่นชื่อ อัม นะครับ ปัจจุบันเรียนปริญญาเอก ปีที่สาม สาขา Computer Science อยู่ University of Illinois at Urbana-Champaign ที่อเมริกาครับaum5

ก่อนมาที่นี่ผมจบปริญญาตรีที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสร็จแล้วไปทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ บริษัททอมสันรอยเตอร์ ประเทศไทยเป็นเวลา 2 ปีครับ เสร็จแล้วเรียนปริญญาโทที่ UCLA ประเทศอเมริกา หลังจบปริญญาโท ผมทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์บริษัท fedex อยู่ไม่ถึงปี แล้วย้ายไปทำงานให้ start up เล็กๆอีกประมาณ 2 ปีครับ สุดท้ายมาลงเอยที่ปริญญาเอกในปัจจุบันครับ

ทำไมถึงเลือกเรียนต่อปริญญาเอก และที่อเมริกา?

มีหลายๆเหตุผลที่ตัดสินใจเรียนปริญญาเอกครับ

…อย่างแรกคืออยากรู้ว่าเวลาเราตั้งใจจริงๆแล้วจะไปได้ไกลถึงไหน จะสามารถแก้ปัญหา(ที่เล็กมากๆๆๆๆๆๆ)ที่ยังไม่เคยมีใครในโลกนี้แก้ได้หรือเปล่า

…อย่างที่สองคือสาขาวิชาที่ผมสนใจเรียนนี่ บริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้มีงานด้านนี้ให้ทำ ถ้าผมไม่ได้มาเรียนป.เอก โอกาสที่ผมจะได้ทำงานด้านที่ผมสนใจนี้มีน้อยมาก

…อย่างที่สามคือผมชอบชีวิตนักเรียน/นักศึกษาครับ ได้เจอเพื่อนใหม่ตลอดเวลา มีการเล่นกีฬา เล่นเกม มีกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย สนุกดีครับ

…และอย่างสุดท้ายคือ ผมกลายเป็นหัวหน้าครอบครัวไปแล้ว ก่อนที่จะมาอเมริกา ก่อนแต่งงาน ผมไม่เคยพยายามทำอะไรจริงๆจังๆ แต่หลังแต่งงานแล้ว ผมรู้สึกว่าผมได้กลายเป็นหัวหน้าครอบครัวโดยอัตโนมัติไปแล้ว อยากจะมีประสบการณ์ชีวิตที่พร้อมสามารถดูแลครอบครัว (รวมทั้งคุณพ่อคุณแม่และพี่น้อง) ได้

ผมคิดว่าการเรียนป.เอก จะสอนให้เรารู้จักถ่อมตัว รู้จักแก้ปัญหา รู้จักหาความรู้ใหม่ รู้จักสังคม รู้จักเครียด รู้จักทำงานหนัก รู้จักแบ่งเวลา และรู้จักรับมือกับคนหลายประเภท ผมว่าเป็นทักษะที่เหมาะสำหรับคนที่จะต้องดูแลคนอื่นครับ

สาเหตุที่เลือกเรียนที่ประเทศอเมริกาเพราะว่า คุณพ่อคุณแม่ท่านจบจากอเมริกาแล้วท่านก็แนะนำให้เรียนต่อที่อเมริกาครับ
ตอนนั้นผมไม่ทันได้คิดเลยว่ายุโรป แคนาดา หรือญี่ปุ่นก็เป็นตัวเลือกด้วย ตอนนั้นผมก็เชื่อพ่อแม่ครับ ไม่ได้หาข้อมูลประเทศอื่นเลยครับ

aum2

ระบบการเรียนปริญญาเอกที่อเมริกาเป็นอย่างไรคะ

มหาวิทยาลัยของผม หลักสูตรคือ บังคับว่าต้องมี coursework (ก็คือต้องลงวิชาเรียน) จำนวนหนึ่ง และบังคับว่าต้องเป็น TA อย่างน้อยหนึ่งเทอมก่อนจบ นอกนั้นก็วิจัยอย่างเดียวครับ

ส่วนการสอบใหญ่ๆหลักๆมี 3 อย่าง คือ

(1) สอบ qualifying exam เป็นข้อสอบที่วัดว่า เราเหมาะสมจะเป็นนักวิจัยหรือไม่
โดยเค้าพยายามทดสอบทักษะหลายๆอย่าง ก็คือ
– ต้องมีความรู้พื้นฐาน และเข้าใจ “paper บังคับ” ที่ทุกคนในสาขาต้องเคยอ่าน ให้ได้
– ต้องอ่าน paper เป็น สรุปความคิดหลัก ข้อดี ข้อเสียเมื่อเทียบกับ paper อื่นได้
– ต้อง present paper รู้เรื่อง ตอบคำถามเกี่ยวกับงานที่ present ได้
อันนี้แต่ละมหาวิทยาลัยเข้าใจว่ามี format ที่ต่างกันไป สำหรับ format ของมหาวิทยาลัยของผมคือเค้าจะให้ paper บังคับ มาประมาณ 20 paper ที่ต้องไปทำความเข้าใจ แล้วตอบคำถาม committee ให้ได้  บวกกับ paper พิเศษที่คล้ายกับงานวิจัยที่เราทำอยู่ เราจะต้อง present paper และพูดคุยเรื่องรายละเอียด ข้อดีข้อเสียของ paper นั้นกับ committee

(2) preliminary exam

เรียกง่ายๆว่าคือ thesis proposal คือเราเสนอคณาจารย์ ว่า project ปริญญาเอกของเรา คืออะไร และเกี่ยวกับอะไร
ทักษะที่มหาวิทยาลัยและคณาจารย์พยายามจะทดสอบคือทักษะการเขียน proposal

ในอเมริกา (ที่อื่นก็อาจจะเป็นเหมือนกัน) นักวิจัยมักจะต้องเขียน proposal พยายามขายไอเดียเพื่อองค์กรหรือรัฐบาล เพื่อจะได้เงินสนับสนุน เพื่อไปทำไอเดียนั้นให้เป็นจริง ในการสอบนี้ คณาจารย์จะให้ feedback ซึ่งจะทำให้โปรเจคของเราดีขึ้น
สำหรับ format การสอบของมหาวิทยาลัยของผมคือ เป็นการ present ให้ committee ฟัง คล้ายๆกับ qualifying exam แต่ตัดเรื่องการวัดความรู้พื้นฐานทิ้ง และงานวิจัยที่เสนอก็คืองานวิจัยของเราเองแล้ว ไม่ใช่เอา paper คนอื่นมา present

(3) defense

คือการเสนอผลงานที่เราทำมาตลอดให้โลกรู้ มาถึงจุดนี้ เราได้ทำงานงานวิจัยโปรเจคย่อยๆหลายๆโปรเจค
เราเอามารวมกันเป็นโปรเจคใหญ่ แล้วแชร์ความรู้เราให้คนฟัง คนที่เข้ามาฟังก็จะมีคณาจารย์และใครก็ได้ที่สนใจ
(แต่เท่าที่เคยนั่งมา หลักๆก็มีแต่นักศึกษาคนอื่น เพื่อนๆมาให้กำลังใจ) คิดว่าอันนี้คงจะเหมือนกันทุกมหาวิทยาลัย

aum4

โปรเจ็คเล็กๆ ย่อยๆที่ว่า ทำตั้งแต่ปี 1 เลยใช่ไหมคะ? แล้วไปรวบเป็น dissertation อย่างไร? วัดผลตอน defense ท้ายสุด วัดจากอะไรคะ ?

โปรเจคย่อยๆมักจะได้ทำหลังจากได้ advisor แล้ว (กรณีของผมนี่คือปี 2 กว่าจะหา advisor เจอ) เพราะว่าหลังจากได้ advisor เรามักจะทำงานวิจัยแนวเดิมๆ แล้วการทำ dissertation จะต้องมี theme ที่จะเชื่อมโปรเจคย่อยๆด้วยกันได้

ถ้าเป็นโปรเจคแนวเดิมๆก็สามารถเอามาเชื่อมกันได้ง่าย ในทางกลับกันถ้าทำโปรเจคที่ไม่เกี่ยวกันโดยตรงกับ theme งานวิจัย ก็อาจจะเอามาเชื่อมกันไม่ได้

ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยหลักเป็น theme เรื่องการลดการติดเชื้อในอาหาร โปรเจคประมาณว่า การกรองน้ำฆ่าแบคทีเรีย หรือลดเชื้อราในอาหารนี่อาจจะเข้ากันได้ แต่โปรเจคเรื่องวัสดุการทำกล่องใส่อาหารที่ทนไฟได้ อาจจะเอาไปรวมได้ยาก

โปรเจคย่อยนึงมักจะจบด้วยการได้ publish paper ใน conference (สำหรับ computer science ในอเมริกานี่ conference สำคัญกว่า journal) พอ publish ที่ดีๆประมาณ 3-4 ที่ หรือที่ทอปๆ 2-3 ที่ ก็ถือว่าความสามารถเหมาะจะจบไปเป็นนักวิจัยได้แล้ว

เรื่องจำนวน paper ไม่มีข้อกำหนดตายตัว แต่เป็นสิ่งที่ผมสังเกต สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เอามาวัดผลว่าจะจบหรือไม่จบก็คือ คณาจารย์ต้องมีความเห็นว่า ผู้ที่เรียนจบป.เอก สามารถออกไปทำงานวิจัยคนเดียวได้ ซึ่งวิธีพิสูจน์ว่าเราทำงานวิจัยคนเดียวได้ก็คือการ publish paper ดีๆหลายๆอันนั่นเอง

เข้าใจมาว่า ตัว advisor เอง จะพอรู้ว่าเท่าไรถึงจะถือว่าพอ advisor จะไม่ปล่อยให้ defense ถ้ายังไม่พร้อม
ไม่อย่างนั้น คนที่เสียชื่อและเสียหน้ายิ่งกว่าก็คือตัว advisor เอง

สำหรับตัว dissertation เอง ส่วนตัวผมว่าไม่สำคัญเท่าผลงานวิจัยและฝีมือการ present เพื่อทำให้ committee พอใจ
เพราะอาจารย์ทุกคนใน committee มักจะไม่มีเวลาอ่านบทความ 100-300 หน้าอย่างละเอียด มีแต่ตัว advisor ที่น่าจะอ่าน dissertation เยอะที่สุดแล้ว และถ้า advisor ปล่อยให้เรา defense ก็แปลว่าเค้าพอใจกับผลงานวิจัยเราแล้ว ผมไม่เคยเจอคน defense ผ่าน แต่ dissertation ไม่ผ่าน แต่อาจจะมีก็ได้

แต่เรื่องการเขียน dissertation ให้ดีนี่ก็สำคัญเพราะว่า งานของเราอาจจะถูกอ่านโดยผู้อื่นในอนาคต หน้าที่ของนักวิจัยคือพัฒนาความรู้มนุษย์ ถ้าเราสามารถทำให้งานของเราเข้าใจได้โดยมนุษย์คนอื่น จะมีประโยชน์มากกว่าครับ

ที่เรียนมา ชอบช่วงไหนที่สุด เพราะอะไร

เท่าที่ผ่านมา(เพิ่งจะแค่สองปี)ผมชอบมาตลอดเลย สาเหตุหลักๆคือตลอดสองปีที่ผ่านมา ผมได้เพื่อนที่สนิทๆด้วยใหม่
แต่ละเทอมก็จะมีความทรงจำดีๆกับคนเหล่านี้เข้ามาโดยตลอด

ผมขออนุญาตแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวนิดนึงครับ คิดว่ามันก็เกี่ยวๆกับคำถามนี้ และอาจจะมอบมุมมองดีๆให้กับเพื่อนๆได้หลังจากผมมีอายุเริ่มซักช่วงนึง (อาจจะประมาณอายุ 25 เป็นต้นไป)
แต่ละปีก็เริ่มจะมีคนจากเราไปทีละคน คุณตา คุณยาย ค่อยๆหายไปจากชีวิต
มีเหตุการณ์ที่ภรรยาเกือบเสียชีวิต คุณแม่เกือบเสียชีวิตด้วย
มีญาติที่แม่เป็นอัลไซเมอร์ มีเพื่อนที่เกือบจะหย่ากับภรรยา
และเร็วๆนี้เพื่อนผมก็เพิ่งเสียชีวิตไปจากมะเร็ง ทิ้งลูกสามคนกับภรรยาให้อยู่ในโลกนี้ต่อไป
พอผ่านเหตุการณ์พวกนี้เยอะๆ จะเริ่มรู้แล้วว่าการใช้เวลากับคนรอบข้างให้คุ้มมันสำคัญกว่าการเรียน

ตอนนี้วันๆหนึ่งผมก็จะมีเป้าหมายว่า เราได้ติดต่อสัมพันธ์กับคนรอบข้างบ้างหรือยัง
ผมทั้ง text facetime ส่งรูปให้ภรรยาวันนึงเป็นสิบๆ
ทุกๆวันหยุดยาว ผมก็จะบินไปหาภรรยา จะเป็นช่วงที่สนุกมาก
(ผมกับภรรยาตอนนี้อยู่กันคนละรัฐ ผมเรียนป.เอก ขณะที่เค้าทำงานอยู่อีกรัฐหนึ่ง)
พ่อแม่ตอนนี้ผมก็ facetime ประมาณสัปดาห์ละครั้ง (แต่จริงๆอยากถี่กว่านี้ กำลังปรับปรุง)
วันไหนที่ไม่มีการเล่นกีฬา เล่นดนตรี หรือกินข้าวกับเพื่อน อย่างน้อยก็จะมีการ text กันเล็กน้อย

จากการเห็นคนเสียชีวิตจากไปหรือเจอเหตุการณ์แย่ๆ
ทำให้รู้ว่าการเรียนป.เอก มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเอาพลังงานไปเครียดกับมันมาก
เรียนจบก็ดี แต่เรียนไม่จบลาออก หรือแม้แต่โดนไล่ออก เอาจริงๆมันก็ไม่มีใครตาย แถมเราก็ได้ประสบการณ์ดีๆ กับเพื่อนใหม่ๆก่อนที่จะออกไป ไม่ได้มาเสียเปล่าซักหน่อย

ด้วยมุมมองอย่างนี้ ทำให้ผมไม่ได้เครียดกับปริญญาเอกเท่าไร ผลสรุปก็คือเวลาสองปีที่ผ่านมาชอบมาโดยตลอดครับ

ช่วงไหนของการเรียนที่ท้าทายความสามารถที่สุด เพราะอะไร และ ผ่านมาได้อย่างไรคะ

ช่วงสอบ qualifying exam ครับ เพิ่งจะผ่านมาเมื่อครึ่งปีที่แล้วนี่เอง นึกถึงแล้วก็ยังตกใจว่าตัวเองรอดมาได้ยังไง ตลอดชีวิตผมไม่เคยโดนบังคับให้ขยัน พอผมต้องมาอ่าน paper ยากๆ 20 paper บวกกับต้องเตรียม presentation อีก ผมก็เลยหืดนิดนึงครับ
ต้องมาบังคับตัวเองให้ขยัน

ผมใช้เวลาเตรียมเต็มที่จริงๆประมาณ 1 เดือนเศษๆ จริงๆมีเวลาเตรียมตัวมากกว่านี้หลายเดือน แต่ผมวางแผนไม่ดีเลยไม่ได้อ่านล่วงหน้า พอมีเวลาเท่านี้ เป้าหมายแต่ละวันคือ ต้องเข้าใจ paper 1 paper และมีเวลากลับมาทบทวนอีกหนึ่งรอบก่อนสอบ แต่เอาเข้าจริงๆ paper มันเข้าใจยาก ใช้เวลามากกว่าหนึ่งวัน สุดท้ายไม่ได้ทบทวนเท่าที่อยาก เป็นหนึ่งเดือนที่ผมไม่ได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนๆเลย อย่างมากก็ text คุยกันบ้าง ที่คุยเต็มที่ก็มีกับภรรยาคนเดียว

เก็บตัวอยู่บ้านตลอด อ่านแต่ paper ซื้อ cereal bar สั่งอาหารใส่กล่องกลับบ้านทุกวัน เพื่อประหยัดเวลา ไม่เล่นเกม ไม่ดูซีรี่ส์เกาหลี ไม่เล่น youtube ไม่เล่นกีฬา ซ้อม present กับเพื่อนๆไป 3 รอบ บางรอบก็โดนถล่มเละ ต้องกลับไปแก้ slide เยอะ สุดท้ายก็ผ่านมันไปได้ครับ

aum3

ผมขอยก credit ให้ภรรยาของผมครับ เค้าให้กำลังใจผมเป็นพิเศษตลอดมา เค้าคอยบอกผมตลอดมาว่า เค้าเชื่อว่าผมจะทำได้ ผมก็ขยันเพราะผมอยากได้ยินเสียงดีใจของเค้าตอนที่ผมสอบผ่าน

และอีกส่วนนึงที่ทำให้สอบผ่าน ผมคิดว่าเป็นการที่ผมรู้ตัวว่าไม่ใช่คนที่เก่ง พอรู้ตัวว่าไม่ได้เก่ง ก็จะไม่อายที่จะไปถามคนอื่น
ผมอ่าน paper ไหนไม่รู้เรื่อง ผมถามเพื่อนแหลกเลย ให้เค้าช่วยสรุปให้ จังหวะนี้จะมามัวแต่มีศักดิ์ศรีพยายามเรียนรู้เข้าใจด้วยตัวเองมันก็ไม่ทันสอบพอดี

ต่อจากนี้จะต้องเจอด่านอะไรอีกบ้างคะ

เทอมนี้ผมเรียน coursework จะครบแล้ว ตราบใดที่อาจารย์ไม่สร้าง course อะไรที่น่าสนใจขึ้นมา ผมคงจะทำวิจัยรัวๆ แล้วครับ หนึ่งปีที่ผ่านมา ผมต้องทิ้งโปรเจคเดิม เพราะทำแล้วไม่มีผลอะไรออกมาน่าพอใจ

ตอนนี้ผมกำลังเริ่มโปรเจคใหม่ ที่หวังว่าจะมีผลงานออกมาบ้าง แล้วค่อยว่ากันครับ ถ้าโปรเจคดูมีอนาคต ก็รอไปเจอ prelim กับ defense ครับ ถ้าเกิดเรียนไม่รอด ก็ออกมา แล้วหางานทำครับ

ท้ายสุดอยากฝากอะไรให้เพื่อนๆ แฟนเพจที่กำลังเรียนป.เอก กันอยู่ในหลายๆประเทศทั่วโลกคะ

อยากบอกว่า การเรียนปริญญาเอก นอกจากเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ ยังเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมจะสร้างเพื่อนใหม่อย่างยิ่ง อย่าเครียดกับปริญญาเอกเกินไปครับ เอาเวลาไปสร้างเพื่อนใหม่เยอะๆ แล้วการเรียนจะไม่เครียดครับ

aum1

…ขอบคุณ อัม ที่มาแชร์ประสบการณ์การเรียนปริญญาเอกกับเราที่นี่ ช่างเป็นมุมมองแบบชิวล์ๆ และมองโลกในแง่ดี แบบไม่เครียดจนเกินไป ที่เวิร์คมากค่ะ #ก็แค่ปริญญาเอก ขออวยพรให้ อัม ประสบความสำเร็จ และมีความสุขในการเรียนในทุกวันนะคะ 

…เราเชื่อว่าการได้เปิดรับฟังประสบการณ์ที่หลากหลายจากเพื่อนร่วมทาง จะทำให้การเดินทางสู่ความสำเร็จของผู้ที่กำลังเรียนปริญญาเอกไม่เดียวดายจนเกินไป

หากใครมีมุมมองเกี่ยวกับปริญญาเอกที่อยากแชร์ ทางเพจยินดีเป็นพื้นที่กลาง ส่งผ่านประสบการณ์กันมาได้หลังไมค์นะคะ

1 ความเห็น

  1. […] วันก่อนผมได้อ่านบล็อกของอัม น้องคนนึงที่เคยเล่นดนตรีด้วยกันและตอนนี้กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ที่อเมริกา […]

    ถูกใจ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s