‪‎PhD Survival Tips‬ ‪::: No.8‬ ‪::: ‎Be Original‬ ::: ‎Be You‬ ‪::: ‎Be Your Thesis‬

copy2ข้อเรียกร้องสำคัญข้อหนึ่งในการทำวิจัยระดับปริญญาเอกคือ การสร้างสรรค์งานวิจัยให้ใหม่ ไม่ซ้ำใคร มีลักษณะริเริ่ม และ แตกต่าง (original work) อีกทั้งต้องเป็นงานที่ให้ประโยชน์อย่างยิ่งในแง่องค์ความรู้ทางวิชาการ (significant contribution to knowledge)

ในระดับปริญญาเอก คำว่า ‘originality’ ‘significance’ และ ‘contribution to knowledge’ เป็นข้อเรียกร้องสำคัญหนึ่งที่มักจะถูกใช้ในการตัดสินงานวิจัยของผู้เรียน

อย่างไรก็ดี คำเหล่านี้ก็ยังคงมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน หลายครั้งความคลุมเครือนี้ ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความกลัว ความขลาด ตีความข้อเรียกร้องเหล่านี้ผิด บ้างว่า ยาก ทำไม่ได้ และหลายครั้งพยายามที่จะลืม ละเลย หลีกหนี หรือ ไม่ให้ความสำคัญ

เป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้น ที่ผู้วิจัยอาจยังมองงานของตัวเองไม่ขาด อาจยังไม่เห็นว่าท้ายสุดที่ปลายทาง เขาหรือเธอจะสร้างสรรค์ องค์ความรู้ใหม่ ที่แตกต่าง และเป็นประโยชน์อย่างสำคัญนั้นได้อย่างไร เพราะจริงๆแล้ว ข้อเรียกร้องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีและไม่เคยได้ทำอย่างจริงๆจังๆ มาก่อนในการศึกษาระดับก่อนหน้า

แต่หากไปถาม ผู้ที่ผ่านการสรรค์สร้างงานวิจัยระดับปริญญาเอกมาแล้ว เขาหรือเธอเหล่านั้น จะมีความรู้ชัดว่า ข้อเรียกร้องที่ปริญญาเอกต้องการข้างต้นนั้นหมายถึงอะไร และส่วนใหญ่จะเข้าใจตรงกันว่า ‘originality’ ‘significance’ และ ‘contribution to knowledge’ ใน ดุษฎีนิพนธ์ นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่การสร้างทฤษฎีใหม่ หรือ การปฏิวัติแวดวงวิชาการ แบบที่หลายๆคนอาจจินตนาการไว้ในช่วงแรก

แท้จริงแล้ว องค์ความรู้ใหม่ที่ว่านี้ ก็คือ การต่อยอดองค์ความรู้ขึ้นมาจากองค์ความรู้เดิมๆที่มีอยู่ เป็นเพียงจุดเล็กๆจุดหนึ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาที่แน่นอนต้องมีความใหม่ สำคัญ และสร้างประโยชน์ในแง่องค์ความรู้ต่อสาขาวิชาของผู้เรียน

หากแต่ ความใหม่ สำคัญ และเป็นประโยชน์ในแง่องค์ความรู้นั้น จะมีลักษณะที่ค่อนข้างเล็ก สะท้อนซึ่ง ความพอประมาณ ไม่มากมาย ไม่โอ้อวด สงบเสงี่ยม อ่อนน้อม สุภาพ เรียบง่าย แต่ลึกๆ ก็แฝงไว้ซึ่งความเป็นตัวจริง หนักแน่น หนึ่งเดียว ของแท้ ไม่มีปลอม และไม่มีก๊อปปี้

การจะสร้างจุดเล็กๆ ที่จะนำมาซึ่งความภูมิใจลึกๆ จุดนั้นได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป หากผู้เรียนทุ่มเทและพยายามเพียงพอ

วิถีของการสรรค์สร้างสิ่งใหม่ในงานวิจัย ก็คือ ผู้วิจัย ต้องรู้จัก เข้าใจ ทั้งงานของนักวิจัยคนอื่นๆ และ งานของตัวเอง อย่างลึกซึ้ง เพราะงานวิจัยไม่ได้เป็นงานที่ทำขึ้นแบบโดดเดี่ยวไม่เกี่ยวข้องกับใคร กับอะไร แต่เป็นการสร้างสรรค์งานท่ามกลางงานชิ้นอื่นๆ ของนักวิจัยคนอื่น ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง

ในที่นี้ ผู้เรียน จำเป็นต้องอ่านทบทวนงานดั้งเดิมที่มีอยู่แล้ว ทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ไล่เรียงลำดับ สั่งสมองค์ความรู้ขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่ง สามารถเชื่อมโยง ประสาน วรรณกรรมต่างๆที่มีอยู่เดิมเข้าด้วยกัน และในขณะเดียวกันก็ศึกษางานวิจัยของตัวเองไปด้วย และเมื่อทุกอย่างสุกงอม พอเพียง นักวิจัยจะเริ่มมองเห็นความเป็นแบบฉบับเฉพาะตัวของงานวิจัยตนเอง จะมองเห็นจุดที่งอกออกมา เพิ่มเติมออกมา จากงานอื่นๆ ซึ่งอาจจะเพิ่มในหลายมิติ หรือ ในมิติเดียวก็ได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น การสร้างความแตกต่างและความใหม่ที่สมบูรณ์ลงตัวนี้ ต้องอาศัยภูมิปัญญา และความพยายามของผู้วิจัยเป็นอย่างมาก เพราะความใหม่ในที่นี้ ไม่ใช่แค่การหยิบข้อถกเถียง และข้อมูลหลักฐานของคนโน้นมาผสมกับของคนนี้ ตัดแปะ เชื่อมต่อแล้วออกมาเป็นความใหม่ของเรา เพราะการก๊อปปี้ ตัดแปะ ความคิดของนักวิจัยอื่น เป็นการสร้างความแตกต่างแบบผิวเผิน ฉาบฉวย และไม่เพียงพอกับการเป็นความรู้ในระดับปริญญาเอก

ผู้วิจัยต้องทุ่มเทเป็นอย่างมาก ในการค้นพบแก่นแท้ของงานตนเอง ให้ความสำคัญ ละเอียดลึกซึ้งในจุดเล็กๆขององค์ความรู้ และในจุดเล็กๆนั้น เพ่งให้ทะลุลงไปจนเห็นองค์ความรู้ที่ไม่เหมือนใคร รวมถึงสามารถที่จะดึงองค์ความรู้ที่ค้นพบใหม่นี้ ออกมาเรียบเรียง สื่อสาร อย่างเรียบง่าย ให้เกิดความชัดเจน มีความโดดเด่น เฉพาะตัว

ในที่สุดแล้ว ถึงแม้สิ่งที่ค้นพบนั้นจะเล็กมาก และ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาระดับชาติหรือระดับโลกได้ แต่ในที่สุดเมื่อนำไปรวมกับองค์ความรู้อื่นๆ ก็จะสามารถนำสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี หรือ นำสู่ความเข้าใจในปรากฎการณ์ต่างๆในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นได้

ตัวอย่างของ original work ในงานวิจัยระดับปริญญาเอก อาจมีดังนี้

…มีข้อค้นพบเชิงประจักษ์ ที่ไม่เคยมีใครค้นพบหรือศึกษามาก่อน

…มีการผสมผสานวรรณกรรม องค์ความรู้จากสาขาวิชาต่างๆ แบบที่ไม่เคยมีใครศึกษามาก่อน

…มีการนำเทคนิค ทฤษฎี หรือ โมเดลบางอันที่มีอยู่ นำไปศึกษาในบริบทใหม่ สถานการณ์ใหม่ พื้นที่ใหม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อขึ้นชื่อว่า ใหม่ ไม่ซ้ำใคร รูปแบบที่ตายตัวเลยนั้นย่อมไม่มี ธีสิสแต่ละเล่มย่อมมีความแตกต่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาของนักวิจัยที่จะมองเห็น ตระหนักรู้ และ นำเสนอ ความใหม่ เหล่านั้นออกมา

โดยสรุป การเรียนปริญญาเอก ต้องสรรค์สร้างความแตกต่างที่เป็นประโยชน์ จะเกิดขึ้นได้ ต้องใส่ใจศึกษาความรู้ภูมิปัญญารอบตัวที่มีอยู่เดิม ผนวกกับ การยกระดับภูมิปัญญาภายในตัวเองจนกระทั่งสามารถสร้างงานดังที่ว่าได้

ในทิศทางเดียวกัน เมื่อหันมามองชีวิตหนึ่งของมนุษย์ การมองเห็นสิ่งดีๆในตัวผู้อื่นเป็นเรื่องดี แต่อย่ามัวทุ่มเวลาทั้งชีวิต มองหาสิ่งดีๆของผู้อื่น และ เฝ้าเดินตามแบบขาดสติ ในการคิด วิเคราะห์ ไตร่ตรอง หมั่นใช้เวลาของชีวิตในการมองเห็น ตระหนักรู้ และชื่มชม สิ่งดีๆ ภายในตัวเองตามความเป็นจริงด้วย เพราะการเข้าใจและยอมรับตัวเอง รวมถึงเข้าใจและยอมรับคนอื่นได้อย่างลึกซึ้ง คือ ปัจจัยสำคัญของการมีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุขแท้จริง copy

และเมื่อใดก็ตามที่การศึกษา (ไม่ว่าจะระดับใด หรือ รูปแบบใด) สามารถทำให้ผู้เรียนเกิดความมั่นใจ เห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นตัวเองที่ไม่ต้องเหมือนใคร เป็นตัวจริง ที่ หยั่งรู้ถึงความเรียบง่าย ถ่อมตน พอประมาณ มีความสุขภายในลึกๆ ที่อิ่มเต็ม และเมื่อคนเหล่านั้น ได้มาอยู่ร่วมกันในสิ่งแวดล้อมดีดีก็ย่อมสามารถสร้างประโยชน์ให้โลกใบนี้ได้อีกมากมาย….

‪#‎ก็แค่ปริญญาเอก‬ ‪#‎justaphd‬

Credit photos: http://jannastyleblog.com/;http://allquotesandsayings.tumblr.com/post/64048117361

1 ความเห็น

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s