การสมัครเรียนต่อปริญญาเอกต่างประเทศ

วันนี้มีบทความดีๆ เกี่ยวกับการสมัครเรียนต่อปริญญาเอกต่างประเทศ (โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา) มานำเสนอค่ะ

ทางเพจได้รับความกรุณาจากนักศึกษาปริญญาเอก ที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นสมาชิกเพจ ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม แต่มีความตั้งใจดีอย่างที่สุด ที่อยากแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับ “ขั้นตอน กระบวนการ วิธีการ สมัครเรียนต่อปริญญาเอกต่างประเทศ” ให้กับสมาชิกในเพจนี้

แอดมินขอขอบคุณผู้เขียนบทความนี้สำหรับหัวใจที่งดงาม และการเขียนที่เป็นเลิศและมีประโยชน์มากมายนี้ค่ะ

เนื่องจากบทความนี้มีความยาวพอสมควร แอดมินจะขอแบ่งเนือหาของบทความออกเป็น 2 ตอน และจะขอลงต่อเนื่องใน 2 โพสท์ นะคะ

************************************

1. เริ่มตัดสินใจเรียนต่อและวางแผน

ก่อนอื่นขอให้คิดให้รอบคอบว่าอยากเรียนต่อปริญญาเอกเพราะอะไรและทำไมถึงอยากเรียนต่อต่างประเทศ สิ่งที่สำคัญคือความมุ่งมั่นที่จะเป็นแรงใจผลักดันให้เรียนจบได้ วันไหนที่คุณรู้สึกท้อแท้ก็จะยังมีพลังใจที่สู้ต่อ การได้รับเลือกให้เข้าเรียนไม่ได้หมายความว่าคุณดีพอแล้วที่จะเรียนจบ มันหมายความว่าคุณมีศักยภาพที่จะพัฒนาตัวเองจนเป็น PhD. ได้

อีกอย่างหนึ่งคือการเรียนปริญญาเอกถ้าไม่ชอบงานวิจัยหรือคิดว่าจบไปเพื่อทำเงิน, การจบแค่ปริญญาโทมากสุดก็พอ ขอให้หาข้อมูลให้ดี ๆ ถึงอนาคตว่าอยากจะทำอะไรหลังเรียนจบ การลงทุนมีความเสี่ยงและ PhD = permanent head-damage จริง ๆ แล้วใน statement of purpose (ที่จะกล่าวถึงทีหลัง) คณะกรรมการจะดูด้วยว่าคุณจบแล้วจะไปทำอะไร มีผลต่อการพิจารณารับเข้าเรียนต่ออย่างมาก

การวางแผนจะเรียนต่อปริญญาเอกแนะนำว่าวางแผนให้ไวที่สุด ยิ่งก่อนเริ่มเรียนปริญญาโทไม่ว่าจะที่ไทยหรือต่างประเทศยิ่งดี ควรจะบอกอ. ที่ปรึกษาปริญญาโทเลยว่าต้องการจะต่อปริญญาเอกโดยเฉพาะการต่อปริญญาเอกที่อเมริกา เพื่อที่จะได้มี publication เยอะ ๆ ตั้งแต่ตอนสมัคร มันมีผลกว่า GPA ของคุณซะอีก

สิ่งที่ควรคิดก่อนจะเริ่มวางแผนทำอะไรก็ตามคือเงิน ควรจะมีเงินเผื่อไว้อย่างน้อยที่จะจ่ายค่าเล่าเรียนและกินอยู่ได้อย่างน้อย ๆ 1 ปีเพราะปีแรกอาจจะไม่ได้งานทำเลยในทันทีและการทำงานนอกมหาวิทยาลัยผิดกฏหมาย หลังสอบ qualifying exam ผ่านมักจะเป็นช่วงที่อ. ที่ปรึกษาเริ่มให้ทุน ถ้าไม่มีทุนส่วนตัวพอควรจะหาทุนที่ไทยไปเช่นทุนก.พ. เป็นต้น แต่ดูให้ดี ๆ ว่ามีข้อผูกมัดต้องกลับมาทำงานใช้ทุนหรือเปล่า และอย่าลืมว่าค่าสมัครสอบและสมัครเรียนก็เป็นเงินมากพอสมควร

2. เตรียมตัวสมัคร สิ่งที่ต้องทำคือ

2.1 เขียน cover letter/resume ไปหา professor หลาย ๆ คน (ประมาณ 20-100 คน ไม่ได้พูดเล่น เพื่อนคนนึงทำจริง ๆ ถึง 100 คน)
2.2 เขียน statement of purpose
2.3 สอบภาษาอังกฤษ TOEFL/IELTS, GRE
2.4 recommendation letter จาก 3-4 professors เป็นอย่างน้อย
2.5 สมัครเรียนผ่านระบบออนไลน์

สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกก่อนเลยคือเปิดอินเตอร์เนตไปสำรวจ professor ที่ทำในหัวข้อที่เราสนใจจะทำแล้วส่ง email ไปแสดงความสนใจที่จะเรียน Ph.D. ต่อด้วย พร้อมแนบ cover letter กับ resume

ตรงนี้จะช่วยให้เรารู้ว่าเราควรจะสมัครเรียนที่นี่ดีไหม (ค่าสมัครแพงเมื่อคิดเป็นเงินไทย ตกราว ๆ $70-140) แม้ว่า professor อาจจะตอบมาแบบแบ่งรับแบ่งสู้ กึ่งสนใจแต่ขอดูไปก่อน บางครั้งเรามีจุดเด่นที่น่าสนใจแต่ GPA ไม่ผ่านเกณฑ์ ใบสมัครของเราก็จะโดนสกรีนออกโดยเลขาโดยที่ professor ไม่ได้แม้แต่จะเห็นใบสมัครเราด้วยซ้ำไป แต่ถ้า professor สนใจเราจาก email เขาสามารถที่จะดึงใบสมัครแล้วต่อรองกับภาควิชาเพื่อรับเราได้

มีครั้งนึงหลังจากสมัครออนไลน์ไปเสร็จอยู่ระหว่างรอผล มี professor คนนึงที่ไม่เคยติดต่อเลยจาก University of Illinois Urbana-Champaign ที่สมัครไป email มาขอ interview โดยเล่าว่า GPA ตอนป.ตรีต่ำกว่าเกณฑ์ที่ทางมหาลัยจะรับได้ซึ่งไม่ได้มีบอกในข้อมูลการสมัครแต่อย่างใด แกจึงจะอาศัยวิธีนี้ช่วยให้เข้าไปเรียนได้เพราะแกสนใจหัวข้อวิจัยที่เคยทำมา จึงทำให้รู้ว่า professor มีผลต่อการรับเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาเอกค่อนข้างมาก

ส่วน professor อีกคนนึงตอบว่าหัวข้อที่สนใจจะทำด้วยเป็นงานวิจัยที่ professor คนนี้เลิกทำไปแล้ว

Email ที่ส่งไปควรเขียนหัวข้อให้ชัดเจนและกระทัดรัดตรงไปตรงมาแต่สุภาพเพราะสำหรับทาง professor email ของเราคือ junk mail ของเขาที่ได้รับวันนึงมหาศาลมากโดยเฉพาะถ้าเป็นมหาวิทยาลัยชื่อดัง เนื้อความใน email ควรกระชับเช่นกันว่า email มาเพื่ออะไร ส่วนที่ต้องการโฆษณาหรือประวัติเราสามารถใส่ใน resume ได้โดยไม่ต้องพิมพ์ใน email ถ้าไม่จำเป็น
Statement of purpose

แนะนำว่าให้เขียนเองแล้วหาคนช่วย review ให้ จะมี website ต่าง ๆ ที่สมาชิกผลัดกัน review ให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สิ่งที่ควรเขียนใน SoP คือ

1. แนะนำตัวคร่าว ๆ พร้อมด้วยจบไปแล้วจะทำอะไรพร้อมด้วย motivation (ไม่ใช่เงินทอง ชื่อเสียงมหาลัย)

2. Research interests มีอะไรบ้าง แนะนำว่าอย่าเขียนเจาะจงหรือกว้างจนเกินไป

3. สิ่งที่ทำมาในอดีต แนะนำว่าอะไรที่มีใน transcript เช่น GPA อย่าเขียนซ้ำเพราะเสียเวลาอ่าน ยกเว้นแต่จะสำคัญจนต้องเน้นจริง ๆ
ขอเล่าเสริมนิดนึงว่า GPA บางทีก็บอกอะไรไม่ได้เลยเพราะมหาวิทยาลัยนอก USA มีมาตรฐานไม่เท่ากัน ที่ตลกที่สุดคือ professor ที่เป็นคณะกรรมการเคยบอกว่าไม่รู้จักมหาวิทยาลัยไทยเลยแม้แต่มหาลัยชื่อดังจนแกต้องไปเปิดอินเตอร์เนตเช็ค ranking ของมหาลัย!!

4. ถ้าจะเขียนอะไรให้มี support evidence/logics ด้วย เช่นจะเขียนว่างานวิจัยที่เคยทำมาสำคัญมากก็ต้องมีอะไรมายืนยันเช่นตีพิมพ์ในวารสารชื่อดังหรือมีการไปประยุกต์ใช้จริงในโปรเจคต์ต่าง ๆ เน้นเขียนเป็น facts อย่าเขียนแนว emotion

5. อย่าเขียนแนวไทย ๆ ที่วนไปวนมาน้ำท่วมทุ่งเพราะคณะกรรมการต้องอ่านใบสมัครเยอะมาก อาจจะเลิกอ่านกลางคันหรืออ่านด้วยอคติ

TOEFL/IELTS GRE

คำแนะนำคือถ้าเรียนสายวิทย์ สอบ GRE ส่วน quantitative ให้ได้เยอะที่สุด เกือบเต็มยิ่งดีเพราะคณะกรรมการจะเชื่อ GRE มากกว่า GPA ถ้าไม่ได้จบจากมหาลัยใน USA หรือชื่อดังในต่างประเทศ

สำหรับสายวิทย์ที่คิดว่า analytical skill ค่อนข้างดีจะสอบ TOEFL ได้เปรียบกว่า

IELTS จะเน้นทักษะภาษาล้วน ๆ แต่ TOEFL ต้องอาศัยการวิเคราะห์และสังเคราะห์ด้วย

ถ้าจะเรียนตามศูนย์ภาษาเพื่อสอบพวกนี้แนะนำว่าให้เรียนคลาสขนาดไม่เกิน 10-15 คนและมีคนไทยเรียนยิ่งน้อยยิ่งดีและควรจะเป็นคนต่างชาติสอน เหตุผลคือคุณไม่ได้เรียนภาษาเพียงเพื่อสอบให้ผ่านแต่ต้องไปใช้เรียนต่อและใช้ชีวิตด้วย ทักษะพวกนี้ได้จากการพูดคุยทำกิจกรรมระหว่างเรียน อ.ที่เป็นคนไทยอาจจะไม่ได้มีสำเนียงเหมือนอเมริกันและคนไทยในคลาสบางครั้งก็จับกลุ่มพูดแต่ภาษาไทยทำให้เราไม่ได้พัฒนา การสอบได้ TOEFL เกือบเต็มไม่ได้หมายความว่าทักษะภาษาอังกฤษของคุณดีพอแล้ว มีหลายคนที่สอบได้เกือบเต็มแต่มาเรียนก็ยังต้องปรับตัวเรียนรู้ภาษาอีกที

Recommendation letter

แนะนำว่าให้ศึกษาว่า letter ที่จะส่งไปมหาลัยในอเมริกาเขียนยังไง อะไรที่ควรจะบอกในจดหมายแนะนำ

สิ่งที่ professor ทางอเมริกาอยากรู้คือทักษะในการทำวิจัยโดยเฉพาะในฐานะ independent researcher , analytical skill, mathematical skill สำหรับสายวิทย์ อาจจะรวมถึงความอึดถึก, ความมุ่งมั่น, จิตใจเข็มแข็งไม่ล้มเลิกง่าย ๆ เพราะฉะนั้นในจดหมายควรมีสิ่งเหล่านี้พูดถึงอยู่ถ้าเรามีจุดเด่นด้านนั้น ๆ อยู่

Mentor skill กับ teaching skill/experience ที่เขียนไปอาจจะช่วยให้ได้ teaching assistant ง่ายขึ้น

อ. บางคนอาจจะขอให้คุณร่างจดหมายแนะนำให้เพราะฉะนั้นคุณก็ต้องศึกษาการเขียนเองด้วย

ถ้าอ. เขียนเองและให้คุณเช็คดูได้คุณก็ควรจะเช็คตามข้างต้น

สมัครเรียนออนไลน์

แนะนำว่าให้ควรสมัครเข้า Fall semester ซึ่งมักจะปิดรับประมาณก่อนสิ้นปี เช็ควันดี ๆ เพราะแต่ละมหาลัยจะมี deadline ไม่ตรงกันและควรจะเผื่อเวลาที่ต้องใช้ในการส่งจดหมายไปยังอเมริกาด้วย คุณจะสมัครเข้า Spring semester ก็ได้แต่เปิดรับน้อยกว่า

บางมหาลัยใช้ระบบ rolling basis นั่นหมายความว่ามาก่อนได้ก่อน ถ้าคุณดีพอเขาก็รับเลยโดยไม่รอจนหมดเขต เพราะฉะนั้นถ้าพร้อมแล้วก็รีบยืนใบสมัครไปให้เรียบร้อยเลย ไม่งั้นโควต้าอาจจะหมดก่อนหมดเขตรับสมัครและคุณจะพลาดโอกาสทันทีแม้ว่าเขาอยากจะรับคุณ

ติดตามอ่านตอนที่ 2 ในโพสท์หน้านะคะ

‪#‎เพจก็แค่ปริญญาเอก‬ ‪#‎JustaPhD‬
‪#‎ปันประสบการณ์‬ ‪#‎ร่วมกันสร้างcommunityดี๊ดี‬

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s