เมื่อไหร่จะเรียนจบ? / เมื่อไรจะเป็นดร.? / เมื่อไรจะได้ไปงานรับปริญญา? / เป็นยังไงบ้าง ว่าที่ดร.คนใหม่? / งานวิจัยเป็นอย่างไรบ้าง?/ จบดร.แล้วจะมีข่าวดีเลยไหม (หมายถึงแต่งงานน่ะ)????
คำตอบที่มักจะได้ยินจากผู้เรียน:
ก็ดี/ โอเคอยู่ (พึมพำๆ แล้วตามด้วยยิ้มเจื่อนๆ)
สิ่งที่ผู้เรียนคิดอยู่ในใจ (และอยากจะตอบไปว่า):
เบื่อมากคำถามนี้/ เพิ่งเจอคำถามแบบเดียวกันนี้เมื่อ 2 นาทีที่แล้ว / มาเรียนด้วยกันไหม จะได้ไม่ต้องถาม/ เรื่องมันยาวและซับซ้อนนะ พอมีเวลาซัก 3 วันนั่งฟังไหม?
ความในใจที่ลึกที่สุด:
ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อไหร่จะจบ/ มันยากกว่าที่คิด/ ยังไปไม่ถึงไหนเลย/ เพิ่งโดนถล่มเละออกจากห้องสอบ/ หมดเวลาแล้ว/ ต้องต่ออายุอีก 6 เดือน/ อีก 6 เดือนก็ไม่รู้ว่าจะจบหรือเปล่าเลย/ อยากร้องไห้/ ขอซบไหล่ร้องไห้หน่อยเหอะ…
สาเหตุที่ผู้เรียนไม่อยากได้ยินและไม่อยากตอบคำถามพวกนี้:
เป็นเพราะผู้เรียนก็ไม่รู้คำตอบที่แน่ชัดว่าเมื่อไหร่จะเรียนจบ ยิ่งถูกถามยิ่งกลัว ยิ่งถูกถามยิ่งท้อถอย เป็นคำถามที่ตอกย้ำผู้เรียนให้เครียดหนักกว่าเดิม เพราะผู้เรียนเองก็ตั้งใจอยู่ เต็มที่อยู่ แต่ถึงเต็มที่แค่ไหน ก็ไม่มีใครตอบได้ว่าวันนั้นจะมาถึงหรือไม่
คำถามเหล่านี้ น่าจะเหมือนกับ คนที่ยังไม่มีแฟน ถูกถามว่า เมื่อไรจะมีแฟน? คนตกงาน ถูกถามว่า เมื่อไรจะได้งาน? หรือ คนที่แต่งงานแล้ว ถูกถามว่า เมื่อไรจะมีน้อง?
เพราะการเรียนปริญญาเอกไม่ใช่การเรียนแบบจบ 60 ชั่วโมงคอร์สเวิร์ค แล้วสอบผ่านก็สำเร็จการศึกษา แต่กินระยะเวลายาวนาน โดยต้องอาศัยความมุมานะและอุตสาหะอย่างต่อเนื่อง ว่าไปแล้ว การเรียนปริญญาเอกเป็นการทดสอบทางด้านจิตใจและอารมณ์ มากกว่าทางปัญญา
สิ่งที่จะมาตัดสินว่าผู้เรียนจะเรียนจบหรือไม่ ก็คือการที่กรรมการสอบและอาจารย์ที่ปรึกษาเห็นพ้องต้องกันว่านักศึกษาได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีคุณูปการเพียงพอให้กับสาขาวิชาที่ตนศึกษาอยู่ ด้วยเกณฑ์ที่กว้างเช่นนี้ ผู้เรียนจึงต้องดำรงชีวิตอยู่กับความไม่รู้ ความสงสัย และความไม่แน่นอนตลอดเวลาอยู่แล้ว การถูกกดดันจากผู้คนรอบข้างด้วยคำถามชุดเดียวกันกับที่ผู้เรียนก็แอบถามกับตัวเองอยู่คนเดียวลึกๆ จึงกลายเป็นความท้าทายยกกำลังสองสำหรับผู้เรียน
สิ่งที่ผู้เรียนควรทำ:
จริงๆ แล้ว เป็นเรื่องปกติที่ผู้เรียนจะถูกถามด้วยคำถามที่กล่าวมาข้างต้น ด้วยความอยากรู้ ห่วงใย และ ปรารถนาดีของคนรอบข้าง ผู้เรียนคงจะหลีกหนีคำถามเหล่านี้ไม่พ้นเป็นแน่
ถ้าเมื่อใดที่ผู้เรียนเจอคำถามข้างต้น แทนที่จะเลี่ยง เบี่ยง หลบ หรือ รำคาญ ผู้เรียนน่าจะได้พูดความในใจลึกๆออกไปบ้าง บอกไปเลยว่าตอนนี้คุณรู้สึกอะไรอยู่ เช่น แย่ ไม่มั่นใจ กังวลใจ กระวนกระวาย ฟุ้งซ่าน ว้าวุ่น หรือ ท้อแท้
เพราะการพูดความจริงคือสิ่งที่ดีที่สุด เพราะแท้จริงแล้วคุณไม่อยากหลอกคนอื่น และคุณก็ไม่อยากหลอกตัวเองด้วย การต้องพูดบิดเบือนความเป็นจริงเป็นการทำเรื่องที่ดูจะยากอยู่แล้ว (ในความรู้สึกของคุณ) ให้ซับซ้อนไปกว่าเดิม
ซื่อตรงต่อผู้อื่นและต่อตัวเอง บอกความจริงไปเลยว่า “ตอนนี้ฉันยังไม่โอเคนะ มีอาการฟุ้งซ่าน และกระวนกระวายอยู่” เชื่อว่าคนฟังจะเข้าใจได้ รับทราบและยอมรับกับข้อเท็จจริงนั้น
ถ้าคุณได้พูดสิ่งที่อยู่ในใจออกไปบ้าง คุณจะรู้สึกโล่งใจ เบาสบายสมอง คุณจะชอบตัวเองมากขึ้น ไม่หงุดหงิด ไม่รำคาญ และ สามารถไปทำงานต่อได้
แต่อย่าลืมจับความหวังไว้เบาๆ นะว่า จะมีวันหนึ่งวันนั้นที่คุณจะได้เป็นฝ่ายรุกที่จะเดินไปบอกคนรอบข้างเหล่านั้นเองว่า “ฉันทำสำเร็จแล้ว”
ท้ายสุด เราคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือควบคุมผู้อื่นได้ แต่ สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ คือ เราสามารถควบคุมและเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นได้ทุกวัน
#เพจก็แค่ปริญญาเอก #JustaPhD
Credit photo: from http://www.zazzle.ca/phd+student+tshirts