…วันนี้เพจก็แค่ปริญญาเอก ได้มีโอกาสพบกับ “ดร.สอ” ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกมาจากประเทศญี่ปุ่น “ดร.สอ” พกพาบรรยากาศที่สดชื่นสดใสของประเทศญี่ปุ่นที่เราหลายคนต่างคิดถึง พร้อมแชร์ประสบการณ์สนุก ๆ จากการเรียนของเขาที่นั่น ไปทำความรู้จักกับเขากัน…
สวัสดีค่ะ แนะนำตัวนิดนึงนะคะ
สวัสดีครับทุกคน สรพล กิจศิริสิน ชื่อเล่น “สอ” ครับ สอจบปริญญาตรี (B.Eng) และปริญญาโท (M.Eng) (รางวัลผลการศึกษาดีเด่น) สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน และจบปริญญาเอก (Doctor of Philosophy, PhD) สาขา Advanced Industrial Science (Computer Science and Electrical Engineering) จาก Kumamoto University ประเทศญี่ปุ่น
สอพึ่งเรียนจบปริญญาเอกเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารประจำภูมิภาคคิวชู และประธานนักเรียนไทยในจังหวัดคุมะโมโต้ ในสมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่นในพระบรมราชูปถัมภ์ ปัจจุบันเป็น Reviewer ให้กับวารสารวิชาการของต่างประเทศครับ
ทำไมถึงตัดสินใจมาเรียนปริญญาเอก
จุดเริ่มต้นที่ตัดสินใจมาเรียนปริญญาเอก เกิดขึ้นเมื่อตอนเรียนปริญญาตรีครับ ตอนนั้นรู้สึกตัวเองว่าอยากไปเรียนเมืองนอก แต่การไปเรียนเมืองนอกได้นั้น ภาษาอังกฤษต้องแข็งแรง และต้องสอบภาษาอังกฤษผ่านก่อน แต่ว่าช่วงนั้นภาษาอังกฤษของสอแย่มาก สื่อสารไม่ได้เลย ถือเป็นจุดอ่อนในชีวิตได้เลย เรียนมากเท่าไหร่ก็ไม่เคยเข้าใจสักนิด สอบได้คะแนนที่โหล่ของห้องตั้งแต่ประถมยันจบปริญญาตรีเรื่อยมา
แต่ว่าโชคชะตาเป็นใจหรืออย่างไรก็ไม่รู้ สอได้เรียนต่อในระดับปริญญาโท ในสาขาเดิมที่มหาวิทยาลัยเดิม ต่อมาได้เป็นนักวิจัยและผู้ช่วยสอนให้กับภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มีโอกาสสอนนิสิตในระดับปริญญาตรีกว่าพันคน และได้ไปนำเสนองานวิจัยในงานประชุมวิชาการนานาชาติที่ต่างประเทศเป็นครั้งแรกในชีวิตครับ
ตอนนั้นสอได้นำเสนอและฟังงานวิจัยของท่านอื่น แล้วมีความรู้สึกว่ายังมีเรื่องวิชาการมากมายที่สอยังไม่รู้ และการได้ถาม-ตอบเรื่องงานวิจัยนั้น สอเลยเกิด Passion และรู้สึกสนุกที่ได้นำเสนอผลงานตนเองให้ผู้อื่นได้รู้ รวมทั้งชอบการสอนเพื่อให้ความรู้นิสิตเรื่องวิศวกรรมไฟฟ้าไปด้วย อย่างไรก็ตามลึก ๆ ในใจแล้ว สอมีความรู้สึกอยู่ว่า สอยังอ่อนประสบการณ์ด้านวิจัย สอจำเป็นต้องพัฒนาความรู้วิชาการและภาษาอังกฤษของตัวเองให้ได้มากกว่านี้
หลังจากนั้นสอจึงตัดสินใจเรียนภาษาอังกฤษอย่างเข้มข้น ทำวิจัยส่วนตัวเรื่อยมาหลังเรียนจบปริญญาโท และได้เป็น Invited Guest Speaker นำเสนองานวิจัยในงานประชุมวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยสอตั้งใจว่าอยากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาระบบไฟฟ้าในประเทศไทย ดังนั้น สอจึงตัดสินใจว่า “สอต้องไป(เรียน)ต่อ”
ทำ thesis เกี่ยวกับอะไรและใช้เวลาทั้งหมดกี่ปีในการเรียนปริญญาเอก
Thesis Dissertation ปริญญาเอกของสอ เกี่ยวกับด้าน AI (Artificial Intelligence) การพัฒนาและคิดค้น Algorithm และแนวทางวิธีใหม่สำหรับ Unit Commitment ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการนำ AI ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใช้ในการตัดสินใจเลือกใช้เครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าและกำหนดขนาดของการผลิตพลังงานไฟฟ้าให้เหมาะสมที่สุด จุดประสงค์เพื่อประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้าให้ได้มากที่สุด (Power System Operation and Economics) ใช้ระยะเวลาเรียนปริญญาเอกใน Coursework และ PhD Thesis Dissertation รวมทั้งสิ้น 3 ปี ครับ
ระหว่างเรียนพบเจอปัญหาอะไรที่คิดว่าหนักที่สุด
ช่วงระหว่างเรียนและใช้ชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น สอเจอปัญหาค่อนข้างเยอะ หนัก-เบา ปะปนกันไป สอขอแยกเป็น 3 ประเด็นหลักดังนี้ครับ
เรื่องความแตกต่างของวัฒนธรรม – ช่วงไปแรกๆมีปัญหาอย่างมากเกี่ยวกับการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมญี่ปุ่น หลายวัฒนธรรมของญี่ปุ่นค่อนข้างแตกต่างกับวัฒนธรรมไทย บางครั้งเกิด Culture Shock ที่สอไม่เคยรู้มาก่อน แม้ว่าสอจะมาเที่ยวญี่ปุ่นก่อนหน้ามาเรียนหลายครั้ง ดังนั้นสอใช้เวลาในการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมญี่ปุ่นอยู่พักนึงเลยครับ
เรื่องภาษา – แม้ว่าก่อนไปเรียนนั้น สอมีความมั่นใจทักษะภาษาอังกฤษของตนเองเพราะมีผลคะแนน TOEFL และผ่านเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยกำหนดไว้ แต่เมื่อเจอสถานการณ์สนทนาสื่อสารจริงกับผู้อื่น สอได้เจอปัญหาหลายอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน เช่น เจอสำเนียงภาษาที่ไม่คุ้นเคย พูดคุยกันเร็วมาก (ฟังไม่ทัน) ศัพท์แสลงต่างๆ เป็นต้น จากสอเป็นคนที่มีความมั่นใจในทักษะภาษา กลับทำให้สอพูดไม่ออก สับสนไปหมด และไม่สามารถสื่อสารกับใครได้ สอต้องใช้เวลาในการปรับตัวในเรื่องนี้นานหลายเดือนเลยครับ
เรื่องการเรียนและวิจัย – ถือว่าเป็นเรื่องที่สอยกให้เป็นเรื่องที่หนักที่สุด เรื่องรูปแบบการเรียนการสอนที่โดยปกติแล้วสอยังชิน และคุ้นเคยกับการรอให้อาจารย์บอกให้ทำอะไร แล้วสอก็จะทำตามขอบเขตตามที่อาจารย์ได้บอกไว้ แต่รูปแบบการเรียนการสอนของญี่ปุ่นนั้น อาจารย์รายวิชา Coursework และอาจารย์ที่ปรึกษาของเราเป็นแค่คนให้ข้อเสนอแนะเท่านั้น และทุกโจทย์ปัญหานั้น อาจารย์ให้สอหาคำตอบด้วยตนเอง
ยิ่งกว่านั้นสอเปลี่ยนแนวเรื่องวิจัยไปเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยทำและไม่มีความรู้ด้าน AI และ Algorithm มาก่อน ซึ่งการเปลี่ยนหัวข้อวิจัยนั้นเป็นช่วงหลังเข้าไปเรียนแล้วเกือบปี ทำให้เสียเวลาอย่างมาก และเริ่มทำวิจัยช้ากว่าคนอื่น ยิ่งกว่านั้นการนำเสนอความก้าวหน้าของงานวิจัยของสอให้อาจารย์ที่ปรึกษาได้ฟัง สอมีเวลาเพียงประมาณ 30 นาทีใน 1 อาทิตย์ใน Lab Meeting เท่านั้น ซึ่งสอต้องใช้เวลานี้ให้มีค่ามากที่สุด เพราะด้วยระยะเวลาเรียนที่จำกัดและเวลานั้นถ้าผ่านไปแล้ว ก็ผ่านไปเลย จะย้อนเวลากลับมาไม่ได้ ซึ่งตลอดระยะเวลาเรียนปริญญาเอกนั้น สออ่านบทความวิชาการเยอะมาก สมองคิดเรื่องวิจัยตลอดเวลาแม้กระทั่งตอนนอน และบางครั้งยังเข้าฝันอีกด้วย
แต่เมื่อวันที่บทความวิชาการของสอได้ Accepted และได้สอบ Thesis Dissertation Defense เสร็จเรียบร้อยแล้ว กรรมการสอบและอาจารย์ที่ปรึกษาของสอได้บอกว่า “คุณสอบผ่านแล้ว” ตอนนั้นสอน้ำตาไหลโดยไม่รู้ตัว ความรู้สึกว่างเปล่า โล่งอก และได้ตะโกน (ในใจ) อย่างปลดปล่อยว่า “สำเร็จสักที เรียนจบแล้วโว้ยยยยย”
ถ้าสอสามารถย้อนเวลากลับไปได้ สอจะพูดกับตัวเองว่า “ทุกปัญหา ทุกความล้มเหลว ทุกก้าวเดิน ทุกความพยายาม ความอดทน และความอดกลั้นนั้นคือ ประสบการณ์ที่มีค่าและสั่งสอนให้เราเก่งขึ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้แค่ครั้งเดียว สู้ๆ และสนุกกับมันซะ!”
คิดว่าเพราะปัจจัยอะไรที่ทำให้คุณเรียนสำเร็จ
สอคิดว่ามี 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้สอเรียนจบปริญญาเอกได้สำเร็จ
ปัจจัยแรก คือ พลังคิดบวกและกำลังใจจากครอบครัว แม้ว่าการทำวิจัยของสอจะประสบความล้มเหลวอยู่บ่อยครั้ง (ไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง) ในบางครั้งสอทำวิจัยและใช้เวลาทดสอบมานาน แต่ก็ยังไม่เห็นผลลัพธ์และทำต่อไปไม่ได้ แต่ว่าความล้มเหลวนั้น สอได้ใช้พลังคิดบวกเข้าสู้กับความล้มเหลวนั้น พร้อมด้วยความอดทน อดกลั้น ไม่ย่อท้อ เหนื่อยก็พัก รีชาร์จพลังโดยการออกไปทำกิจกรรมที่เราชอบ เช่น ชอปปิ้ง ดูหนัง ท่องเที่ยว หรือหาอาหารอร่อยๆ ทานตามร้านอาหารทานบ้าง และกลับมาเริ่มทำงานวิจัยใหม่ให้เร็วที่สุด สอใช้วิธีลืมความล้มเหลวที่ผ่านมา ตัดเรื่องต่าง ๆ นานา ที่ไม่จำเป็นและไม่สำคัญจากชีวิตออกไป ให้สมองโล่งพร้อมรับกับปัญหาและความท้าทายของวิจัยเรื่องใหม่ที่จะต้องเจอต่อไป ยิ่งกว่านั้นการได้กำลังใจจากครอบครัวเป็นเรื่องที่สำคัญ การได้พูดคุยเรื่องต่าง ๆ นานา กับครอบครัว บางเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่มีสาระ แต่ทำให้สอได้ผ่อนคลายสมองได้เยอะครับ
ปัจจัยที่สอง ก็คือ อาจารย์ที่ปรึกษา – หรือ เซนเซ ส่วนตัวมองว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ด้วยประสบการณ์ ทักษะ และความรู้ของอาจารย์จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้ อาจารย์มองออกว่านักศึกษาคนไหนต้องสอนแบบไหน เพื่อดึงศักยภาพของลูกศิษย์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เราจะได้รู้ถึงศักยภาพของตัวเองอย่างแท้จริง ตอนสอส่งบทความวิชาการไปยังสำนักพิมพ์หนึ่ง สอโดน Rejected จากรีวิวเวอร์ท่านนึง โดยให้เหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งสอก็ไม่รู้จะตอบกลับรีวิวเวอร์ท่านนั้นอย่างไรดี อาจารย์ได้ให้ข้อเสนอแนะสำหรับการตอบคำถามให้สอ จนในที่สุดได้ Accepted จาก Editor ซึ่งสอเข้าใจเลยว่าในบางสถานการณ์ เราต้องพึ่งความเก๋าเกมส์และประสบการณ์ของอาจารย์ที่ปรึกษาของเรา เพื่อนำไปสู่ประสบความสำเร็จครับ
ปัจจุบันได้ใช้ทักษะ/ความรู้จากการเรียนมาประยุกต์ใช้กับงานอย่างไรบ้างคะ
ด้วยรายละเอียดงานที่สอทำงานอยู่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย ดังนั้นสอได้นำความรู้ แนวคิด และประสบการณ์ช่วงเรียนปริญญาเอก รีวิว ตรวจสอบ บทความวิชาการที่ได้รับจากวารสารวิชาการจากสำนักพิมพ์ต่างๆ และสอทำวิจัยส่วนตัวโดยการนำ AI ไปประยุกต์และปรับใช้ในการอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้าเพื่อสร้างระบบไฟฟ้าอัจฉริยะในประเทศไทย สอได้สร้างองค์ความรู้นวัตกรรมใหม่ๆ และผลิตผลงานบทความวิชาการไปยังวารสารวิชาการตามสำนักพิมพ์ต่างๆ และการประชุมระดับนานาชาติครับ
สุดท้าย มีข้อคิดอะไรอยากฝากอะไรไว้ให้ผู้ที่กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่หรือผู้ที่สนใจเรียนปริญญาเอกไหมคะ
“There is nothing that Perseverance cannot win – ไม่มีอะไรที่ความมานะพากเพียรไม่สามารถชนะได้”
สิ่งสำคัญในการเรียนปริญญาเอกนั้น ต้องลืมอดีตไปว่าเราเก่ง หรือเราไม่เก่ง สอมองว่าการเรียนปริญญาเอกนั้นไม่ได้วัดความรู้ ความสามารถ หรือเกรดที่เคยได้รับมา ทุกสิ่งอย่างคือการเริ่มต้นใหม่ สอนั้นเคยเป็นเด็กหลังห้อง สอบได้อันดับบ๊วย สอบตกภาษาอังกฤษ ได้ฟิสิกส์เกรด 0 มาก่อน ในวันนี้สอสามารถพูดได้เต็มปากเลยว่า “ปริญญาเอกนั้น เป็นปริญญาที่วัดความมานะ ความพากเพียร ความอดทน และความพยายามของผู้เรียน ล้มแล้วต้องลุกให้ได้ และให้เร็วที่สุด” กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน กระหายความรู้อยู่เสมอ และที่สำคัญต้องบริหารจัดการความเครียดของตนเองให้ได้ เพราะ “ปริญญาเอกนั้นยาก แต่ไม่ยากที่จะคว้ามัน หากตั้งใจ”
เพจก็แค่ปริญญาเอก ขอแสดงความยินดีกับ “ดร.สอ” กับความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจยิ่งนะคะ และขอบคุณสำหรับการแบ่งปันประสบการณ์ที่มีค่ายิ่งค่ะ
เพจก็แค่ปริญญาเอก ยินดีเปิดพื้นที่สำหรับการแบ่งปัน เชิญชวน inbox มาหาเรา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การเรียนปริญญาเอกให้กับเพื่อน ๆ คนอื่นกันนะคะ