สวัสดีค่ะ ดร. แนน ณติกา ไชยานุพงศ์ นะคะ หลังจากห่างหายไปนานมากจากการเขียนครั้งที่ 1 ตอนจบใหม่ ๆ กับ เขียนครั้งที่ 2 เรื่องภาวะซึมเศร้า ครั้งมีมีอารมณ์ขีด ๆ เขียน ๆ เนื่องจากประสบปัญหาที่คาดว่าหลาย ๆ ท่านก็น่าจะเจอเหมือนกันคือหลังจากได้ปริญญาเอก เข้าสู่การทำงานด้วยภาระงานหลายๆอย่างที่บีบรัดตัวเราเหลือเกิน ไฟในการทำวิจัยหลาย ๆ คน น่าจะมอดไป เหมือนกับแนน (รึเปล่า) แบบใส่ถ่านสุมไฟ อย่างไรก็แทบจะไม่ติดเลย เพิ่งจะมามีประกายเมื่อไม่นานมานี้เอง
วันนี้เลยอยากจะเขียนมาแชร์ประสบการณ์ที่อาจจะเป็นประโยชน์ ไม่มากก็น้อย สำหรับผู้อ่านนะคะ ต้องย้อนกลับไปว่า การทำวิจัยไม่ใช่สิ่งที่แนนรักเท่าไหร่หรอกค่ะ แต่ในเมื่อมันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เราก็เลยทำใจให้รักมันนะคะ คราวนี้เราจะปรับตัวอย่างไร ให้อยู่กับมันให้ได้ และจุดไฟที่มอดไปแล้วให้มีประกายขึ้นมาใหม่
1. ทบทวน discipline ที่คุณเคยทำมาก่อน – สาเหตุที่ต้องทบทวนเนื่องจาก สำหรับหลายท่าน อาจจะเริ่มรู้สึกว่า สาขาที่คุณจบมาเริ่มตันในการหาทุนวิจัย หรือคุณเริ่มหมด passion ในการทำวิจัยในสาขาที่คุณทำอยู่ จึงจำเป็นที่คุณต้องทบทวนว่าจะพอแค่นี้หรือจะไปต่อ
2. Cross-disciplinary – หลังจากทบทวนได้แล้ว ขั้นนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคุณที่ สาขางานวิจัยของคุณไม่ได้ไปต่อค่ะ ปัจจุบันทำงานคนเดียวในสายหรือสาขาที่คุณจบมามัน out แล้ว ตอนนี้ผลการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้จริง คือสิ่งที่หลาย ๆ มหาวิทยาลัยต้องการ ซึ่งทำให้หลายๆสาขาเกิดปัญหาการหาแหล่งทุน การทำงานข้ามสาขาจะทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น เกิดความรู้ใหม่ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
3. ฟอร์ม Team Power Ranger หรือ Sailor Moon กันเถอะ (จองสีให้เรียบร้อย เพื่อลดความขัดแย้ง) – หลังจากคุณทำงานร่วมกับทีมเพียงครั้งหรือสองครั้ง คุณก็จะรู้แล้วค่ะ ว่ากลุ่มนี้ใช่กลุ่มที่ “ใช่” สำหรับคุณหรือไม่ ถ้าใช่ชวนคนเหล่านั้นมาตั้งก๊วนกันเถอะ
4. Stick to the Team – ถ้าคุณเจอทีมที่คุณรักแล้ว หรือเจอคนที่คุณทำงานด้วยอย่างเข้าขากันแล้วละก็ เกาะคนเหล่านั้นไว้ค่ะ อย่าปล่อยเขาไปไหน! (แม้ว่าเขาจะไม่รู้สึกแบบเดียวกับคุณก็ตาม -.-“ ล้อเล่นนะคะ) คนในทีมควรจะต้องรู้สึกแบบเดียวกันนะคะ แล้วเขาก็จะไม่อยากปล่อยมือจากคุณเช่นกัน
5. หาแหล่งทุนที่เรารู้สึกสนุก (ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับโจทย์ของมหาวิทยาลัย) – การทำวิจัยหนึ่งเรื่องก็เหมือนการทำวิทยานิพนธ์หนึ่งเล่ม และเหมือนกับการแต่งงานกับคนหนึ่งคน จงเลือกทำสิ่งที่คุณชอบและรักค่ะ มิเช่นนั้น คุณจะไม่มีความปราถนาที่อยากจะสัมผัสหรือชื่นชมงานของคุณเลย (อย่าคิดลึกนะคะ)
6. ทีมกระตุ้นคน คนกระตุ้นทีม – คนในทีมคือเครื่องมือที่สำคัญที่สุดที่จะคอยเติมเชื้อไฟให้เรามีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ในกลุ่มวิจัยเรา จงคัดสรร 1 คนที่มีความสามารถในการจิกกัดสมาชิก ให้ตื่นตัว ตรงเวลา ในการร่างโครงการวิจัย proposal หัวข้อวิจัย ตามงาน แล้วคุณจะมีงานวิจัยทุกปีแน่นอนค่ะ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ในการเติมเชื้อไฟ ให้คนที่กำลังจะหมดไฟหรือให้ไอเดียสำหรับหลายๆท่านในการหาหัวข้อวิจัยใหม่ๆ เพื่อการสร้างองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ และการทำวิจัยที่สนุกและมีความสุขของผู้ทำวิจัยต่อไปค่ะ
สุดท้ายนี้แนนได้เจอแก๊ง Sailor Moon ผู้พิทักษ์ของแนนแล้ว หวังว่าทุกท่านจะเจอก๊วน Power Ranger ของท่านเช่นกันนะคะ

———
#เพจก็แค่ปริญญาเอก ขอขอบคุณการแบ่งปันข้อคิดและมุมมองดี ๆ จาก ดร.แนน นะคะ อ่านจบแล้วมีไฟลุกขึ้นมาอีกครั้งเลย
#เพจก็แค่ปริญญาเอก ยินดีเปิดพื้นที่สำหรับการแบ่งปันประสบการณ์การเรียนปริญญาเอก เชิญชวน inbox มาหาเรา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ให้กับเพื่อน ๆ คนอื่นกัน