ดร.ณัฐพงษ์ แสนจันทร์ ::: คอลัมน์แขกรับเชิญ ::: คุยเรื่องเรียนด๊อกเตอร์กับด๊อกเตอร์

แนะนำตัวนิดนึงค่ะ

ชื่อณัฐพงษ์ แสนจันทร์ ชื่อเล่น หนุ่มครับ เรียนจบปริญญาตรี สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง) จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา จบปริญญาโทสาขา Information Technology (Data Management) จาก Griffith University, Australia และปริญญาเอก PhD in Computer Science, The University of Sheffield, United Kingdom ครับ ปัจจุบันทำงานที่ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ทำไมถึงตัดสินใจมาเรียนปริญญาเอก

ทำตามความฝันครับ ในชีวิตผมมีความฝัน 2 อย่างคืออยากเรียนจบให้สูงที่สุด และอีกอย่างคืออยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยครับ หลังจากเรียนจบปริญญาโท ผมวางแผนว่า จะเรียนต่อปริญญาเอก จึงได้ไปสอบขอทุนเรียนต่อ ขณะนี้ เพิ่งกลับมาปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในสังกัดที่ได้สนับสนุนทุนเรียนต่อครับ

ทำ thesis เกี่ยวกับอะไร

ผมจบปริญญาเอก สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ หัวข้อวิทยานิพนธ์คือ Domain-Focused Summarization of Polarized Debates งานจะเกี่ยวข้องกับ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) การประมวลผลภาษาธรรมชาติ  (Natural Language Processing) และการทำเหมืองข้อความ (Text Mining) ครับ  

พูดถึงเรื่องสาขาวิชาที่ทำก่อนครับ เอาแบบให้เข้าใจง่ายที่สุด ผมทำเกี่ยวกับการสร้างระบบสรุปข้อความอัตโนมัติจากข้อมูลตัวอักษรครับ เช่น สมมติว่าเรามีเอกสารอยู่ 1 หน้ากระดาษ เป็นเอกสารภาษาอังกฤษ มีจำนวนทั้งหมด 100 ประโยคเราจะทำอย่างไรให้คอมพิวเตอร์สรุปข้อความที่มีใจความสำคัญมาให้เหลือ 20 ประโยค สิ่งสำคัญคือ คอมพิวเตอร์ไม่สามารถเข้าใจภาษามนุษย์ เราต้องมีวิธีการสอนให้คอมพิวเตอร์ฉลาดและสามารถสรุปใจความสำคัญให้ได้ครับ

แต่ข้อมูลที่ผมทำคือ ข้อมูลที่เอามาจาก​ Social Network ที่เกี่ยวข้องการการโต้แย้งกัน (Debate) ซึ่งจะมีข้อมูลที่แบ่งเป็นสองฝั่งคือฝั่งที่เห็นด้วย กับฝั่งที่ไม่เห็นด้วยในหัวข้อที่กำลังโต้แย้งกัน จำนวนข้อมูลที่ทำตอนเรียนนั้นมีจำนวนหลายร้อยคอมเมนต์ครับ คอมพิวเตอร์ต้องสรุปจากเนื้อหาทั้งหมด โดยให้ได้ใจความว่า ฝั่งไหนโต้แย้งว่าอะไร หัวข้อใดสำคัญบ้าง มีเรื่องใดบ้างที่มีความเห็นแตกต่างกัน และมีวิธีการที่จะนำเสนอผลลัพธ์ที่สรุปโดยคอมพิวเตอร์นั้นในรูปแบบใดบ้างครับ

ระยะเวลาทั้งหมดตั้งแต่เริ่มเรียน สอบ Confirmation Review ในปีแรก เขียนเล่มวิทยานิพนธ์ ส่งเล่ม รอสอบปากเปล่า สอบ แก้เล่ม และรออนุมัติจบ เป็นเวลาทั้งหมด 4 ปี 8 เดือน ครับ

ระหว่างเรียนพบเจอปัญหาอะไรที่คิดว่าหนักที่สุด

ถามว่าหนักที่สุดก็คงตอบได้ว่า คงเป็นความกดดันจากหลายๆ ด้านครับ ทั้งกระบวนการทำวิจัย เนื้อหาวิชา เวลา และอื่นๆ ครับ ขอเริ่มที่เรื่องแรกครับ เรื่องของการทำวิจัย ผมเรียนจบโทในสาขาคนละสาขากับตอนที่เรียน ป.เอก อีกทั้งตอนเรียน ป.โท นั้นผมเรียนแบบ Coursework เน้นไปทำโปรเจค ไม่ได้เรียนแบบเน้นไปที่การทำวิทยานิพนธ์โดยเฉพาะ เพราะฉะนั้น ผมจึงไม่มีพื้นฐานการทำวิจัยเลยครับ ระบบการเรียนที่อังกฤษจะเน้นไปที่การทำวิจัยเป็นหลัก ต้องออกแบบและทำผลการทดลองเอง ซึ่งการที่จะทำตรงนั้นได้ ต้องอ่านและเข้าใจงานในด้านทฤษฎีและงานของคนอื่นให้ได้มาก เพื่อที่จะได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ได้ ซึ่งผมคิดว่า เป็นปัญหาสำหรับผมในช่วงแรกๆ ครับ

อย่างที่ผมเล่าไว้ว่า ไม่เคยทำวิจัยมาก่อน ผมต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด ผมไม่เคยเขียน Paper มาก่อนครับ ในปีแรก งานผมมีผลที่ได้จากการทำ Preliminary Investigation เป็นผลที่สามารถนำไปตีพิมพ์เป็น Paper ได้ ผมได้ส่งไปที่ Conference แห่งหนึ่ง แต่ได้รับการปฏิเสธมาครับ แน่นอนว่า มันเป็นงานชิ้นแรก เราก็ต้องมีความคาดหวังไว้สูงเหมือนกัน  ในขณะที่เพื่อนในห้องแล็บทุกคน ประมาณ 20 คน ขอย้ำว่า ทุกคน ได้รับการตอบรับจาก Conference ทุกคนก็จะมีคำถามว่า ได้ไปนำเสนอผลงานที่ไหน ประเทศอะไร ผมเป็นคนเดียวในห้องแล็บที่ไม่ได้ไปนำเสนอผลงาน

ความรู้สึกตอนนั้นกดดันมากครับ ผมเข้าใจนะครับว่า เราไม่ควรเอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่น แต่มันก็อดคิดไม่ได้ว่า เราไม่เก่งขนาดนั้นเลยเหรอ งานเราไม่ดีเลยเหรอ เราไม่ได้ตั้งใจทำรึเปล่า มันมีคำถามแบบนี้ในหัวตลอด 

ในตอนนั้น อาจารย์ที่ปรึกษาก็ให้เข้าพบ ผมยังจำได้เลยครับ เค้าก็บอกว่าการเรียน ป.เอกทุกคนได้หัวข้อวิจัยไม่เหมือนกัน ความยากง่ายแตกต่างกันออกไป จะไปวัดว่าใครเก่งกว่าใครไม่ได้ทีเดียวหรอก และที่ Sheffield นี้ ไม่ได้วัดประเมินว่าคุณเก่งกว่าใคร เค้าดูที่ว่าคุณที่ได้เรียนรู้มากแค่ไหน พัฒนาไปได้เท่าไหร่ คนเรามันมีจุดเริ่มต้นต่างกัน ความรู้ทุกคนมีไม่เท่ากัน

หลังจากการพบอาจารย์ครั้งนั้น เหมือนได้กำลังใจที่จะเรียนต่อครับ ผมก็พยายามให้มากขึ้น ขยันมากขึ้น ตั้งใจให้มากกว่าเดิม เข้าแล็บบ่อยขึ้น ลองผิดลองถูก ผมส่งงานชิ้นเดิมโดยได้ปรับแก้เนื้อหาบางส่วนตามคำแนะนำของกรรมการ  ผมส่งไปอีก Conference นึง ผลคือผมถูกปฏิเสธ 

ผมกลับมาลองอีกครั้ง ทำใหม่ วิเคราะห์ผลใหม่ ปรับอีก แก้ใหม่และส่งไปอีก Conference ที่ 3 ผลคือยังไม่ได้  ความรู้สึกตอนนั้นท้อมาก แต่ก็ต้องสู้ครับ บอกตัวเองว่าข้ามน้ำข้ามทะเลมาแล้วต้องเรียนให้จบ ผมกลับมาทำอีกครั้ง ตั้งใจอีกรอบ ผมทำให้มันดีกว่าเดิม สมบูรณ์กว่าเดิม

และในที่สุด Conference ที่ 4 ที่ผมส่งไป เขาตอบรับกลับมาให้ผมตีพิมพ์งานชิ้นแรกในชีวิตใน Journal ฉบับนึง  หลังจากรู้ผล ผมดีใจมากครับ เป็นงานวิจัยชิ้นแรกในชีวิตที่ มันแสดงถึงความพยายามที่เราพยายามมาอย่างหนัก เราได้ทำได้อย่างเต็มความสามารถ ผลที่ได้กลับมามันคือสิ่งตอบแทนที่เราได้ทุ่มเทลงไปทั้งหมด มันทำให้เรามีกำลังใจที่จะทำงานชิ้นต่อ ๆ ไปให้ดีกว่าเดิมด้วยครับ

หลังจากนั้นผลงานชิ้นที่ 2 ที่ผมได้ทำต่อจากชิ้นแรก ผมได้ทำมันให้ดีขึ้น ตั้งใจทำมากขึ้น ละเอียดมากขึ้น ทำให้มันดีที่สุดเท่าที่ตัวเองทำได้ และผมได้รับข่าวดีคือ งานวิจัยชิ้นที่ 2 ในชีวิตของผม ได้รับรางวัล Best Paper (1st Place) ที่ Conference แห่งนึง

มันเป็นความภาคภูมิใจที่มันไม่รู้จะอธิบายเป็นคำพูดยังไง ผมเริ่มต้นจากศูนย์ ผมไม่เคยเขียน Paper สิ่งที่ผมมีคือผมสู้ ผมพยายาม ผมท้อ แต่ผมลุกขึ้นมาใหม่ พยายามใหม่ ทำให้ทุกอย่างมันดีกว่าเดิม ผมเชื่อว่าถ้าคนเราพยายามยังไงมันก็ต้องสำเร็จ

และในที่สุด ผมเรียนจบ ป.เอกโดยใช้เวลาประมาณ 4 ปี 8 เดือน เริ่มต้นจากสาขาที่ไม่เคยเรียนมาก่อน ไม่มีพื้นฐานการทำวิจัย  ผมได้ตีพิมพ์ผลงานไป 3 ฉบับ และหนึ่งในนั้นเป็น Best Paper Award ซึ่งเป็นงานวิจัยฉบับที่ 2 ในชีวิต ถ้าย้อนเวลากลับไปคงบอกกับตัวเองว่าให้พยายามเข้าไว้ ให้กำลังใจตัวเอง คงไม่ไปเปลี่ยนอะไรมากกว่านี้ เพราะถ้าไม่มีวันที่เราได้พยายามอย่างเต็มความสามารถ อาจจะไม่มีวันนี้เลยก็ได้ครับ

คิดว่าเพราะปัจจัยอะไรที่ทำให้คุณเรียนสำเร็จ

คิดว่ากำลังใจครับ กำลังใจจากเพื่อน ครอบครัว และคนรอบข้าง ทำให้เรามีแรงที่จะทำทุกอย่างให้เต็มที่ ล้มก็ลุกขึ้นมา  ทำใหม่ให้มันดีขึ้นกว่าเดิม ในเมื่อผมได้มีโอกาสให้ถ่ายทอดความรู้สึกตรงนี้แล้ว ผมอยากส่งต่อในสิ่งที่ผมเคยได้รับมา 

ผมอยากจะบอกผู้ใหญ่ทุก ๆ คนว่า เมื่อเรามีโอกาสได้สอนเด็ก ๆ เช่น สอนการบ้านน้อง ๆ อยากให้ค่อยๆ สอนเค้า ค่อยๆ อธิบาย ให้กำลังใจเค้า ถ้าเค้าทำได้ ก็ให้คำชมเชย ถ้าเค้าทำไม่ได้ค่อยๆ สอน ใจเย็นๆ กับเด็ก เด็กจะได้มีกำลังใจที่จะทำต่อไป รู้สึกมีความสุขที่ได้เรียน แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเราไปว่า บ่น ดุด่า  เช่น แค่นี้ก็ทำไม่ได้! ทำไม่ทำไม่ได้เลย! เด็กจะไม่มีความสุขที่จะทำต่อไป ไม่อยากทำ เบื่อ

ผมคิดว่านะ คำพูดแค่ไม่กี่คำก็เป็นพลังให้คนอื่นได้ครับ กำลังใจที่ผมได้เป็นส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่ามีผลมาก มันเป็นพลังบวกที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ผมอยากส่งต่อสิ่งเหล่านี้ที่ผมเคยได้รับ เพื่อที่ทุกคนจะได้สร้างกำลังใจให้กันและกัน และแล้วก้าวไปสู่สิ่งที่ตั้งใจไว้ครับ

อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการเรียนปริญญาเอก

ผมคิดว่าแต่ละคนจะเจอปัญหาที่แตกต่างกัน ความยากแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน สำหรับผมแล้ว นอกจากเรื่องที่กล่าวข้างต้นแล้ว ส่วนที่ยากที่สุดของผมคือผมไม่ได้เรียนจบในสาขาเดิมที่ผมเรียน ป.โท ผมมาเริ่มเรียนอีกสาขา เพราะฉะนั้น ความรู้ที่ได้มันจะต้องมาเริ่มเรียนรู้ใหม่เกือบทั้งหมด และที่สำคัญคือ ผมเป็นคนที่ไม่ชอบเรียนเลขมาตั้งแต่เด็ก ต้องมาเจอเลขเยอะมาก ต้องทำความเข้าใจซึ่งใช้เวลามากกว่าคนอื่น ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผมครับ

ปัจจุบัน ได้ใช้ทักษะ ความรู้จากการเรียนมาประยุกต์ใช้กับงานอย่างไรบ้าง

ปัจจุบันกำลังงานตามที่เคยฝันไว้ครับ ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ความรู้ที่เรียนมา ได้เอามาใช้สอนนักศึกษาในห้อง ทักษะการค้นคว้า คำแนะนำต่างๆ ที่เคยได้รับมาจากอาจารย์ที่ปรึกษา ก็เอามาแนะนำนักศึกษาครับ นอกจากนี้ ก็กำลังทำวิจัยในสาขาที่เรียนจบมาครับ

มีข้อคิดอะไรอยากฝากอะไรไว้ให้ผู้ที่กำลังเรียนปริญญาเอก

สำหรับคนที่กำลังเรียนปริญญาเอก ก็อยากให้เที่ยว พักผ่อนให้พร้อมก่อนเริ่มเรียน พกความตั้งใจมาเยอะ ๆ และทำทุกวันที่เรียนให้สนุก มีความสุข เราจะได้อยู่กับมันนาน ๆ ได้ และใครที่กำลังเรียนอยู่ก็อยากจะให้ทำทุกวันให้ดีที่สุดครับ เหนื่อยก็พักบ้างครับ มีบ้างที่ผมคิดงานไม่ออก นั่งเท่าไหร่ก็คิดไม่ออก ผมใช้วิธีออกไปข้างนอกพักผ่อน ออกกำลังกาย ดูหนัง หาอะไรอร่อย ๆ กิน เดินดูนั่น ดูนี่ พอสมองผ่อนคลายแล้วค่อยกลับมาทำต่อ หรือบางครั้งมันคิดออกตอนที่กำลังเดินเที่ยวอยู่ก็มีครับ

ส่วนตัวผมมีคำพูดนึงที่ยึดถือไว้ตลอดคือ Practice and Responsibility Make Me Perfect ความรับผิดชอบและการฝึกฝน ทำให้คนเก่งกล้า สุดท้ายขอให้นักศึกษาปริญญาเอกทุกท่านประสบความสำเร็จแลได้ก้าวไปสู่สิ่งที่หวังไว้  ผมหวังว่าเรื่องที่ผมได้เล่าในวันนี้ คงเป็นกำลังใจเล็กๆ ที่ช่วยสร้างพลังให้ทุกท่าน ขอให้โชคดีครับ


ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s