สวัสดีครับ ผมชื่อ ภวัต ตรัยพัฒนากุล (โจ) จบปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมเครื่องกล จาก Hong Kong University of Science and Technology (HKUST) ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันนี้ผมจะมาแชร์และแบ่งปันชีวิตช่วงเรียน PhD ของผมครับ

เมื่อรู้เป้าหมาย ก็จะรู้เส้นทางเดิน
ชีวิตก็เหมือนกับการเดินทาง หากเราไม่รู้จุดหมายปลายทาง ก็ยากที่จะหาเส้นทางเพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางนั้นได้ การรู้เป้าหมายในชีวิตสำคัญมากๆ ที่จะทำให้เราเลือกเดินเส้นทางที่ถูกต้อง
การเรียนปริญญาเอกแม้จะไม่ใช่สำหรับคนทุกคน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณไม่เรียนปริญญาเอกแล้วคุณไม่เก่ง และการจบปริญญาเอก ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเก่งกว่าคนอื่นๆ ฉะนั้นอย่าเอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่นนะครับ เพราะแต่ละคนมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน เส้นทางการเดินก็ย่อมแตกต่างกันด้วย
สำหรับตัวผมนั้น ผมรู้ตัวเองตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาตรี ว่าเป้าหมายของผมคืออยากมาทำงานด้านการศึกษา อยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างทรัพยากรของชาติ แรงบันดาลใจน่าจะมาจากการที่ชอบสอนหนังสือให้เพื่อนๆและคนอื่นๆตั้งแต่ตอนยังเรียนปริญญาตรี ทำให้เห็นว่า ตัวเราเองมีความสุขทุกครั้งที่ได้แบ่งปันความรู้ ได้เห็นความก้าวหน้าในความรู้ของคนที่ผมสอน ตั้งแต่นั้นมาก็เลยมุ่งหน้ามุ่งตรงไปสู่เป้าหมาย เพราะรู้ว่า ดีกรีนี้มีความสำคัญในอาชีพที่อยากจะทำในอนาคต

ความอดทน และ ความมุ่งมั่น
จริงๆ แล้วไม่ใช่เพียงแค่การเรียนปริญญาเอก แต่คือการทำงานในทุกรูปแบบ สิ่งที่ต้องมีคือ ความอดทน และ ความมุ่งมั่น ไม่มีการทดลองหรือการทำงานที่ไหนหรอกครับที่จะไม่เจอความล้มเหลว การทดลองงานนึง อาจล้มเหลวเป็นสิบๆ ครั้งเลยก็ได้
ตอนเรียนปริญญาเอกผมก็ล้มเหลวกับการทดลองและงานวิจัยนับครั้งไม่ถ้วนครับ แต่สิ่งสำคัญคือ เราจะต่อสู้และฝ่าฟันความล้มเหลวเหล่านั้นไปได้ยังไง
ผมมองว่า ‘ความอดทน’ เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของความสำเร็จ และนอกเหนือจากนั้นแล้ว ก็คือ ‘ความมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ’ จะเป็นอีกตัวแปรหนึ่งของแรงผลักดัน ตัวผมเองนั้นไม่ใช่เด็กอัจฉริยะ ไม่ใช่เด็กเก่งตั้งแต่กำเนิด แต่ผมอาศัยสองสิ่งที่กล่าวไปข้างต้นนี้ ในการสำเร็จทั้งด้านการศึกษาและงานต่างๆที่ทำครับ และผมก็เชื่อว่า ถ้าทุกคนมีสิ่งเหล่านี้ ก็จะสำเร็จทุกสิ่งทำเช่นกัน

ใจรักในการค้นคว้า สร้างระบบความคิด
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะในการเรียนปริญญาเอกนั้น Coursework น้อยมากๆ แม้เราจะใช้คำว่า ‘การเรียนปริญญาเอก’ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นกึ่งการทำงานมากกว่า เวลาส่วนใหญ่จะมาจากการอ่านและค้นคว้าด้วยตัวเอง หากไม่รักการค้นคว้าด้วยตัวเอง การเรียนปริญญาเอกก็อาจเป็นงานที่หินพอสมควรเลย
ใจรักในการค้นคว้า มันอาจจะไม่ได้มาภายในปีสองปี แต่อาจต้องเริ่มสั่งสมมาตั้งแต่เรียนระดับปริญญาตรี หรือ ก่อนหน้า ส่วนการสร้างระบบความคิด ก็สามารถทำให้เราจัดการทำความเข้าใจกับองค์ความรู้ที่เรามีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำความรู้ที่มีไปสอนหรือถ่ายทอดคนอื่นได้ เป็นสิ่งที่คนที่คิดอยากจะเรียนปริญญาเอกพึงมีเป็นพื้นฐานครับ

การอ่าน และ การเขียนบทความภาษาอังกฤษ
สิ่งหนึ่งที่ผู้เรียนปริญญาเอกต้องมีและหนีไม่พ้นคือ ทักษะการอ่านและการเขียนภาษาอังกฤษ การค้นคว้าวิจัยเรื่องนึง ต้องค้นคว้าอ่านบทความงานวิจัยเก่าๆเยอะแยะมากมาย นอกจากนั้นการเขียนเชิงวิชาการก็ต้องใช้เวลาฝึกฝนและเข้าใจธรรมชาติของภาษา และที่สำคัญ ต้องเขียนให้คนอ่านอ่านรู้เรื่อง ซึ่งก็ต้องอาศัยการจัดระเบียบความคิดที่ดี ยิ่งจัดระเบียบความคิดได้ดีเท่าไหร่ การเขียนก็จะออกมาดีและใช้เวลาไม่มาก
ผมจำได้ว่างานชิ้นแรกที่ผมตีพิมพ์ ผมใช้เวลาเขียนจนเสร็จตั้งเกือบ 2-3 เดือนครับ งานชิ้นที่สองใช้เวลาเขียนประมาณเดือนครึ่ง และก็ใช้เวลาน้อยลงมาเรื่อยๆเป็นลำดับ จนถึงงานชิ้นล่าสุดก่อนเรียนจบซึ่งเป็นชิ้นที่ 5 ใช้เวลาเขียนบทความวิจัยส่งเพียงแค่ไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็เสร็จ ดังนั้น หากได้ใช้บ่อยๆทักษะการอ่านและการเขียนก็จะพัฒนาขึ้น ซึ่งผมมองว่านี่คือกำไรจากการเรียนปริญญาเอกครับ

อาจารย์ที่ปรึกษา ตัวแปรสำคัญ
นอกจากตัวแปรภายในซึ่งก็คือตัวเราเองแล้วนั้น ตัวแปรภายนอกที่มีส่วนทำให้ประสบความสำเร็จในการเรียนปริญญาเอก และมีความสำคัญมากถึงมากที่สุดสิ่งนึงเลยคือ ‘อาจารย์ที่ปรึกษา’ ได้อาจารย์ที่ปรึกษาดี เหมือนโบนัสของชีวิตครับ เกณฑ์การจบของอาจารย์ที่ปรึกษาแต่ละคนไม่เท่ากัน อาจารย์บางท่านคาดหวังให้เด็กตีพิมพ์งานวิจัยแค่เพียง 2-3 งานเท่านั้น แต่ในขณะอาจารย์ที่ปรึกษาบางท่าน คาดหวังให้เด็กตีพิมพ์งาน 5-6 งานขึ้นไปถึงจะจบ
อาจารย์ที่ปรึกษาบางท่านให้อิสระในชีวิตกับนักเรียน ในขณะที่อาจารย์บางท่าน มีการกำหนดเวลาให้เด็กเข้ามาทำวิจัย เช่น ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงสองทุ่มของวันจันทร์ถึงเสาร์ แบบนี้ก็มี และอย่าลืมว่าอาจารย์ที่ปรึกษาไม่ได้เป็นเพียงแค่คนเซ็นให้เราจบปริญญาเอกเท่านั้น แต่จะเป็นคนเขียน Recommendation Letter ให้กับตัวเราในการไปสมัครงานในอนาคตด้วย
ก่อนเลือกเข้าไปเรียนปริญญาเอก ก็ต้องดูให้ดีก่อนว่า อาจารย์ที่ปรึกษาคนนี้เป็นยังไง เป็นคนที่คอย Support นักเรียนของเค้าดีรึเปล่า เป็นที่รักของนักเรียนรึเปล่า แต่ก็พอเข้าใจครับว่า เรื่องแบบนี้บางทีก็ดูยากถ้าไม่รู้จักคนข้างในมาก่อน แต่ก็ลองหาข้อมูลให้ดีที่สุดครับ และที่สำคัญที่สุดสำคัญมากๆ หลีกเลี่ยงการทะเลาะกับอาจารย์ที่ปรึกษาจะเป็นการดีที่สุด
ในส่วนของตัวผมนั้น ผมถือว่าตัวเองโชคดีมากครับเพราะอาจารย์ที่ปรึกษาของผมเป็นคนที่สนับสนุนเด็กนักเรียนของเค้ามาก และให้อิสระในการใช้ชีวิตระหว่างเรียนปริญญาเอก แต่ก็ต้องมีความก้าวหน้าในงานวิจัยที่ทำ และผมก็ได้รับโอกาสจากอาจารย์ที่ปรึกษา ให้เป็นคนเขียนขอทุนประจำปีของรัฐบาล เพื่อสะสมเงินทุนวิจัยในกลุ่มวิจัยให้มากขึ้น อันนี้ก็จะเป็นประสบการณ์ที่ดีหากใครมีโอกาสได้ลองก็ควรลองดูครับ แม้จะกินเวลางานของตัวเองเยอะมากเพราะเนื้อหาที่เขียนไม่ใช่งานวิจัยของตัวเองที่ทำในตอนนั้นเลย แต่ก็จะได้ประสบการณ์การเขียนขอทุน ซึ่งจะมีประโยชน์ในอนาคตครับ

การบริหารจัดการเวลา
ตอนเรียนปริญญาเอก ผมไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่แต่ในแล็บหรืออ่านบทความทั้งวันครับ เพราะผมเชื่อเสมอว่า ถึงแม้เราจะเรียนเอก ไม่ได้หมายความว่า ชีวิตต้องทุ่ม 100% ให้กับการค้นคว้าวิจัยเสมอไป ควรหาอะไรอย่างอื่นทำบ้าง เป็นการ Balance ระหว่าง Life และ Work
สิ่งหนึ่งที่ผมเลือกทำโดยที่ไม่เคยทำมาก่อน นั่นก็คือการเริ่มถ่ายรูปครับ ผมเริ่มถ่ายรูปจริงจังตอนที่อยู่ปลายปีที่หนึ่งของการเรียนปริญญาเอก เพราะต้องการหาอะไรทำเพื่อผ่อนคลายสมอง จากความรู้ที่มีเป็นศูนย์ด้านการถ่ายรูป แต่ก็ใช้ความอดทนในการศึกษาด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการศึกษาคู่ขนานไปกับการเรียนปริญญาเอก
โดยผมแบ่งเวลาให้กับการฝึกถ่ายรูปเป็นช่วงเช้าตรู่ และ ช่วงเย็นของบางวัน ส่วนเวลาอื่นๆของทั้งวันก็จะนั่งทำงานวิจัยครับ ส่วนใหญ่ผมจะตื่นมาตอนตีห้า มานั่งรอพระอาทิตย์ขึ้น ด้วยการที่มหาวิทยาลัยอยู่บนภูเขาและติดทะเล ทำให้การได้เห็นและได้ถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นเป็นเหมือนกิจวัตรอย่างหนึ่งของผม จนทำให้งานอดิเรกชิ้นนี้แปรเปลี่ยนเป็น Passion ของชีวิตไปเลย
ผมมีโอกาสได้ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดและได้รางวัลชนะเลิศ ของมหาวิทยาลัย และ ของนิตยสาร ‘ดิฉัน’ และในตอนปี 4 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการเรียนปริญญาเอก ผมได้รับรางวัล Student Life Award จนได้มีนิทรรศการภาพถ่ายของตัวเองเกิดขึ้นโดยทางมหาวิทยาลัยสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดครับ ผมเคยได้ถูกเชิญเขียนลงในคอลัมน์หนึ่งของมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการถ่ายภาพและการบริหารจัดการเวลาระหว่างเรียนปริญญาเอกของผม ตามลิงค์นี้เลยครับ (campusup.ust.hk/dec2017-cover-story-joe)

นอกเหนือจากการถ่ายรูปแล้ว ตอนจบปีสอง ตัวผมเองได้รับเลือกเป็น Hall Tutor ซึ่งจะได้ไปพักในหอเดียวกับนักเรียนปริญญาตรี และทำหน้าที่ในการดูแลและจัดกิจกรรมให้กับนักเรียนปริญญาตรีในหอพัก ซึ่งผมทำเรื่อยมาจนเรียนจบ หน้าที่และความรับผิดชอบนี้ ถามว่า กินเวลางานวิจัยผมไปเยอะไหม บอกได้เลยว่าเยอะมากถึงมากที่สุด แต่ถ้าเราสามารถบริหารจัดการเวลาได้ สิ่งนี้ก็คงไม่ใช่ปัญหา และยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ได้กลับมา คือ มิตรภาพจากน้องๆและเพื่อนร่วมงานที่อยู่หอพักเดียวกัน ผมได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่างจากน้องๆและเพื่อนๆที่อยู่ด้วยกัน หากใครเรียนปริญญาเอกอยู่ หรือ มีความตั้งใจว่าจะเรียนปริญญาเอก ลองมองหากิจกรรมยามว่างทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยทำด้วยนะครับ
การเรียนปริญญาเอกของผมนั้น สิ่งที่ผมได้กลับมา ไม่ใช่แค่เพียงใบปริญญา แต่ผมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆทั้งในตำราและนอกตำรา ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ได้พัฒนาทักษะของตัวเองทั้งด้านภาษาและด้านงานวิจัย ได้ค้นพบ Passion ใหม่ของชีวิต ได้มีมิตรภาพที่ดีมากๆทั้งในและนอกห้องเรียน เป็น PhD Life Lesson ที่จะจำไม่มีวันลืม และ ก็อยากแบ่งปันให้กับทุกคนครับ

ภวัต ตรัยพัฒนากุล (โจ)
ประวัติการศึกษา:
ปริญญาตรี: สาขาวิศวกรรมเครื่องกล (เหรียญทอง เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) (นักเรียนทุน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ปริญญาโท: สาขา พลังงาน (นักเรียนทุนพระราชทาน) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)
ปริญญาเอก: สาขา วิศวกรรมเครื่องกล (นักเรียนทุน) Hong Kong University of Science and Technology (HKUST)
