ดร.โป๊ป พงศ์พจน์ พุฒรังษี ::: ปริญญาเอก คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม (การจัดการสิ่งแวดล้อมเชิงสังคมและธุรกิจ) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ::: คอลัมน์แขกรับเชิญ ::: คุยเรื่องเรียนด๊อกเตอร์กับด๊อกเตอร์

สวัสดีค่ะ ช่วยแนะนำตัวนิดนึง  

ผมชื่อ พงศ์พจน์ พุฒรังษี  ชื่อเล่น โป๊ป จบการศึกษาปริญญาตรี จากสถาบันการศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด (เกียรตินิยมอันดับ 2) จบการศึกษาปริญญาโท จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สหสาขาวิชายุโรปศึกษา วิชาเอกเศรษฐศาสตร์ (ภาคภาษาอังกฤษ) และปริญญาโท จากวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการตลาด (ภาคภาษาอังกฤษ)

และปริญญาเอก จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม วิชาเอก การจัดการสิ่งแวดล้อมเชิงสังคมและธุรกิจ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอรับพระราชทานปริญญาบัตร ปัจจุบัน ทำงาน ตำแหน่ง วิทยากรระดับ 6 ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยครับ

ทำไมถึงตัดสินใจมาเรียนปริญญาเอก

เป็นความตั้งใจส่วนตัว เนื่องจาก ผมเรียนปริญญามาหลายใบแล้ว เลยคิดว่าถ้าเป็นไปได้ หากมีโอกาสก็อยากจะเรียนถึงระดับปริญญเอกไปเลยแต่ในช่วงแรกทางครอบครัวไม่ค่อยเห็นด้วย เนื่องจากทางครอบครัวกังวลว่า ผมจะสามารถเรียนปริญญาเอกจบได้มั้ยเพราะการเรียนปริญญาเอกต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก และการเรียนปริญญาเอกดูเป็นเรื่องยาก แต่ผมก็ยังตัดสินใจที่จะเรียนปริญญาเอกอยู่ดี

ซึ่งระหว่างตัดสินใจว่าจะเรียนด้านไหนดี คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อมสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดรับสมัครนักศึษาปริญญาเอก เลยลองสมัครดู เพราะผมทำงานที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งหากเรียนคณะดังกล่าว ผมน่าจะสามารถนำเอาความรู้ที่ได้จากการเรียนมาประยุกต์ใช้กับการทำงานได้เพราะการดำเนินงานขององค์กรต้องคำนึงถึงด้านการบริหารด้านสิ่งแวดล้อม จึงเป็นสาเหตุให้สมัครคณะดังกล่าว โดยระหว่างการศึกษาได้รับทุนการศึกษา และได้รับทุนสนับสนุนการทำและการตีพิมพ์วิทยานิพนธ์จากเงินงบประมาณแผ่นดิน

ทำ thesis เกี่ยวกับอะไร

รูปแบบการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่เหมาะสมในประเทศไทย (The appropriate model for power development fund management in Thailand)  โดยใช้เวลาในการศึกษาทั้งหมด 3 ปี 3 เดือน แบ่งเป็น เรียน Course Work  1 ปี และ ทำวิทยานิพนธ์ 2 ปี 3 เดือน

ระหว่างเรียนพบเจอปัญหาอะไรที่คิดว่าหนักที่สุด

ปัญหาการวิเคราะห์ปัญหาและการหาแนวทางในการแก้ปัญหาเพื่อสร้างเป็นรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับพัฒนาการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นสิ่งที่อยากที่สุดในการทำวิทยานิพนธ์ของผมเนื่องด้วยผมจำเป็นต้องลงพื้นที่ในหลายจังหวัด และเข้าไปเก็บข้อมูลกับผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญหลายกลุ่ม อาทิเช่นหน่วยงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่เจ้าหน้าที่กองทุนพัฒนาไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ ผู้นำชุมชน และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่การดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

ซึ่งจากการเก็บข้อมูลในแต่ละพื้นที่ พบว่า ประสบปัญหาที่แตกต่างกัน ทำให้ต้องมีการรวบรวมปัญหาต่างๆ เพื่อสร้างเป็นรูปแบบในการแก้ไขปัญหา และรูปแบบนั้นต้องสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกพื้นที่ ซึ่งในการหารูปแบบที่เหมาะสมนั้นค่อนข้างใช้เวลาพอสมควร เพราะต้องศึกษาหาทฤษฎีต่างๆ ให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในประเทศไทยด้วย

เคยรู้สึกท้อแท้หรือหมดหวังในการเรียนไหมคะ

ไม่เคยรู้สึกท้อแท้เลยครับ คิดอยู่เสมอว่า เราก้าวมาเส้นทางการเรียนปริญญาเอก เราจะถอยไม่ได้ครับ อุปสรรคอาจมีบ้าง แต่คิดว่า อุปสรรคเป็นแรงกระตุ้นให้ก้าวต่อไป และ ผลักดันให้ทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จครับ  สำหรับตัวผม วินัยเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนปริญญาเอกครับ ที่ผมเรียนจบได้ภายใน 3 ปี กับอีก 3 เดือน เพราะคำว่า วินัย เลยครับ

คิดว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรียนสำเร็จมีอะไรบ้าง

ปัจจัยที่ทำให้ประสบผลสำเร็จในการเรียนปริญญาเอก ปัจจัยแรกคือ ระเบียบวินัยในการทำวิทยานิพนธ์

ผมให้เวลากับการทำวิทยานิพนธ์ค่อนข้างมาก ตัวอย่างเช่น ทุกวันจันทร์ วันพุธ ในทุกสัปดาห์ หลังเลิกงาน ผมจะเดินทางจากที่ทำงาน ไปที่ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เพื่อนัดพบอาจารย์ที่ปรึกษา โดยจะเข้าไปขอคำปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ หรือ บางครั้งเอาวิทยานิพนธ์ที่ทำไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาตรวจ เมื่อคำนวณระยะทางจากที่ทำงานไปที่ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ผมพบอาจารย์ที่ปรึกษาใช้ระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง แต่ผมก็ยังทำแบบนั้นตลอดระยะเวลาในการเรียนปริญญาเอก ผมคิดว่ามันก็คุ้มนะ กับความสำเร็จที่ได้รับ

ส่วนใน วันอังคาร และ วันพฤหัสบดี  หลังเลิกงาน จะหาร้านกาแฟใกล้ที่ทำงาน นั่งทำวิทยานิพนธ์ โดยจะเริ่มทำตั้งแต่ 18.00  ไปจนถึงร้านปิด ประมาณ 21.00 ส่วนในวันศุกร์จะให้เป็นเวลาส่วนตัวในการทำกิจกรรมอื่นๆ หลังเลิกงาน อาทิเช่น ดูหนัง อ่านหนังสือ เป็นต้น  

ส่วนใน วันเสาร์ และ อาทิตย์ ก็จะเริ่มทำวิทยานิพนธ์ ตั้งแต่ 9.00 – 17.00 น. หรืออาจจะนัดพบอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นครั้งคราวเพื่อส่งงานให้อาจารย์ตรวจ  

ปัจจัยที่สองคืออาจารย์ที่ปรึกษา นอกจากผู้เรียนที่ต้องทุ่มเทความรู้ ความสามารถในการทำวิทยานิพนธ์แล้ว อาจารย์ที่ปรึกษาก็เป็นปัจจัยที่มีส่วนช่วยผู้เรียนประสบความสำเร็จในการเรียนปริญญาเอกได้ หากอาจารย์ที่ปรึกษาไม่เอาใจใส่งานของลูกศิษย์ มันก็เป็นเรื่องยากที่ลูกศิษย์คนนั้นจะประสบความสำเร็จได้

สำหรับผมนั้น ผมขอยกเครดิตความสำเร็จให้อาจารย์ที่ปรึกษาของผม ศ.ดร.วิสาขา ภู่จินดา ที่เอาใจใส่ คอยให้คำปรึกษา ตั้งแต่วันแรกในการเรียนปริญญาเอก ไปจนถึงวันที่ผมประสบผลสำเร็จในการเรียนปริญญาเอก ผมถือว่าโชคดีมากๆ ที่ได้อาจารย์ท่านนี้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

มีข้อคิดอะไรอยากฝากถึงผู้ที่กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่

สมัยก่อนผมไม่ใช่คนเก่ง ผมไม่ได้หัวดี สอบได้ที่โหล่ของห้องเป็นประจำ สมัยเรียนมัธยม ผมเคยได้เกรดเฉลี่ยแค่ 1.91 แต่วันนี้ผมสามารถประสบความสำเร็จในการเรียนปริญญาเอกได้ ผมเชื่อว่า ที่ผมประสบความสำเร็จในวันนี้ได้เพราะผมมีความพยายาม มุ่งมั่น และมีวินัย ผมไม่จมอยู่กับความล้มเหลวในอดีต เอาความล้มเหลวเป็นแรงผลักดัน พัฒนาตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ จนประสบความสำเร็จได้

ส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนปริญญาเอกได้นะ ขอแค่คุณมีความมุ่งมั่น และ ตั้งใจจริง ที่สำคัญ ไม่มีใครแก่เกินเรียนครับ

สิ่งที่เรียนรู้จาก “ปริญญาเอก”

มีเรื่องที่เรายังไม่รู้อีกมากครับ ดังนั้น อย่าหยุดพัฒนาตนเองครับ

เพจก็แค่ปริญญาเอก ขอแสดงความยินดีกับ ดร.โป๊ป และขอขอบคุณสำหรับการแบ่งปันข้อคิด และประสบการณ์อันมีค่า

เพจก็แค่ปริญญาเอก ยินดีเปิดพื้นที่สำหรับการแบ่งปันประสบการณ์การเรียนปริญญาเอก เชิญชวน inbox มาหาเรา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ให้กับเพื่อนๆคนอื่นกันค่ะ

1 ความเห็น

  1. ผมชอบตรงที่บอกว่า “ต้องมีวินัยกับตัวเอง” มันเป็นอะไรที่ยากมากๆ แต่คนที่จะประสบความสำเร็จเรื่องนี้สำคัญมากๆเลยครับ ยินดีกับ ดร.ทุกคนด้วยนะครับ

    ถูกใจ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s