ดร.โอ๊ต ภูวนารถ เหมวิจิตร ::: คอลัมน์แขกรับเชิญ ::: คุยเรื่องเรียนด๊อกเตอร์กับด๊อกเตอร์

วันนี้ เพจก็แค่ปริญญาเอก ได้รับเกียรติจาก ดร.โอ๊ต ภูวนารถ เหมวิจิตร มาบอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการเรียนปริญญาเอก รับรองว่ามีข้อคิดและคำแนะนำดีๆ มากมายในบทสัมภาษณ์นี้ ไปทำความรู้จักกับดร.โอ๊ตกัน

แนะนำตัวหน่อยค่ะ

สวัสดีครับ ผมชื่อ ดร.ภูวนารถ เหมวิจิตร ชื่อเล่นว่า โอ๊ต จบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท MSc International Business Management, University of Kent ปริญญาโทอีกใบด้าน MSc Finance, University of St. Andrews และ ปริญญาเอก (Doctor of Philosophy) ด้าน Business Administration (Finance) หลักสูตรนานาชาติ ที่ National Institute of Development Administration (NIDA) ปัจจุบันทำงานตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจใหม่และนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท All Inspire Development จำกัด (มหาชน) ครับ

2

ทำไมถึงตัดสินใจมาเรียนปริญญาเอก

ตอนแรกที่ตัดสินใจเรียนปริญญาเอก เพราะคิดว่า รู้สึกอิ่มตัวกับการทำงาน เลยอยากหาประสบการณ์ความรู้เพิ่มเติม เลยเรียนต่อปริญญาเอก เพราะเราเองก็อยากนำเอาความรู้ไปใช้ในการพัฒนาองค์กรด้วยเหมือนกัน ซึ่งอาจจะต่างจากท่านอื่นๆ ตรงที่อยากจะเป็นอาจารย์ แต่ของผม อยากทำงานในบริษัทเอกชนครับ แต่อาจจะเป็นอาจารย์พาร์ทไทม์ วันหยุด เสาร์อาทิตย์แทน

ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไป ถ้าตอนนี้คิดแค่ว่าอยากเรียน เพราะเท่ห์ เก๋ ก็คงเรียนไม่จบแน่ๆ เพราะการเรียนปริญญาเอก อาจจะดูเจ๋ง ในช่วงแรกๆ เท่านั้น แต่พอเรียนๆไป ความเท่ห์ ความเจ๋งนั้น มันกลับกลายมาเป็นความท้อแท้ และความสิ้นหวังในทันทีครับ แรงผลักดันตรงนี้อาจจะไม่เพียงพอ ที่จะทำให้เราไปถึงจุดหมายได้

เพราะวันธรรมดาก็จะต้องทำงาน จันทร์ถึงศุกร์ ส่วนเสาร์อาทิตย์ บางช่วงเวลา เริ่มเรียน 8 โมงเลิก 3 ทุ่ม ซึ่งเราจะต้องมาให้เวลากับการอ่าน การค้นคว้าข้อมูล การเตรียมตัวสอบ การทำข้อมูลนำเสนอ (Presentation) รวมถึงการหาความรู้เพิ่มเติมต่างๆ และก็จะเจออุปสรรคระหว่างทางมากพอสมควรครับ

1.jpg

ทำ thesis เรื่องเกี่ยวกับอะไร

ผมเลือกที่จะทำในหัวข้อวิทยานิพนธ์ด้าน Bargaining Power in Mergers and Acquisitions and Its Linkage to Premiums เนื่องจากต้องการเป็นผู้เชี่ยวชาญ และมีความเข้าใจในด้านการควบรวมกิจการ (M&A) เพราะธุรกิจในปัจจุบัน หากต้องการขยายธุรกิจให้ได้เร็วที่สุด ก็จะเป็นวิธีการไปซื้อกิจการ หรือควบรวมมาบริหารเอา ซึ่งจะง่ายและเร็วกว่า แต่ต้องแลกกับการที่ต้องจ่าย Premium ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงกับอำนาจในการต่อรอง (Bargaining Power) ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในการกำหนดเป็นราคาซื้อขายในทันที เช่น บริษัทใหญ่ไปซื้อบริษัทเล็ก ทางบริษัทใหญ่อาจจะมีอำนาจในการต่อรองมากกว่าบริษัทเล็กก็เป็นได้

แต่ในทางกลับกัน หากบริษัทเล็กนั้น มีแต่คนสนใจที่จะเข้ามาซื้อ บริษัทเล็ก ก็อาจจะเรียกราคาแพงๆ หรือมีคนเสนอซื้อ แย่งชิงเพื่อให้ได้มา ก็เป็นไปได้อีกเช่นกัน ดังนั้น ผมจึงมีความสนใจ อยากจะรู้ว่าอะไรเป็นตัวแปร หรือปัจจัยสำคัญในการพิจารณาราคาซื้อขาย โดยอาศัยตัวแปรจากอำนาจในการต่อรองนั้นๆ

ผมใช้เวลาเรียนทั้งสิ้น 4 ปี กับอีก 9 เดือนครับ ในช่วง 1 ปีครึ่ง จะเป็นช่วง Coursework ที่จะต้องเรียนรู้วิชาใหม่ๆ ให้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนอีกครึ่งปีหลัง จะเป็นช่วงที่จะต้องเตรียมตัวสอบทุกวิชา ที่เขาเรียกกันว่า Qualifying Examination (QE) ซึ่งตรงนี้แหละ จะเป็นตัวด่านแรกที่จะผ่านไปให้ได้ เพื่อไปสู่ Stage ต่อไปคือ การทำ Proposal Defense เพื่อดูว่า วัตถุประสงค์ของงานวิจัยเรา ทำไปเพื่ออะไร มี Contribution อะไรให้กับงานวิจัยและสังคมบ้าง หรือพูดง่ายๆ ก็คือว่า คนอื่นจะสามารถนำงานเราไปพัฒนาต่อยอดอะไรได้บ้าง หลังจากผ่าน Stage นี้เสร็จ ก็เป็น Stage ระยะยาวคือ การเขียนวิทยานิพนธ์ซึ่งเป็นระยะที่สำคัญที่สุดของการเรียนปริญญาเอก

3.jpg

ระหว่างเรียนพบเจอปัญหาอะไรที่คิดว่าหนักที่สุด 

ปัญหาที่ใหญ่และหนักที่สุด สำหรับคนที่ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย คงจะเป็นเรื่องของการแบ่งเวลา (Time Management) เพราะทุกช่วงเวลาที่เรียน จะเหนื่อย และหนักมากๆ ต้องต่อสู้กับจิตใจ และสภาวะที่ต้องรับแรงกัดดันสูงอยู่ตลอดเวลา เพราะตลอดระยะเวลาที่เรียนปริญญาเอก จะมีอุปสรรคมาบั่นทอนจิตใจเราเยอะมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องสอบ เรื่องแบ่งเวลาเรียน การอ่าน Paper และ Journal ต่างๆ รวมถึงต้องเตรียมตัวสอบ Quiz, Midterm และปลายภาค ในแต่ละรายวิชา พร้อมๆ กัน

นอกจากนี้ ยังมีการทำ Presentation นำเสนออาจารย์ในแต่ละวิชา เพื่อเก็บคะแนน นอกจากนี้ ยังต้องสอบวัดผลอีก และที่สำคัญ บางคนจะไม่ยอมเขียนวิทยานิพนธ์ต่อ และทิ้งไปดื้อๆ เลยก็มี เพราะไม่มีใครมาบังคับ นอกจากตัวเราเอง อาจารย์ที่ปรึกษา ก็อาจจะมีทั้งแบบที่เอาใจใส่อย่างละเอียด เนื่องจากอาจารย์สนใจในหัวข้อนี้ ซึ่งเราต้องวิ่งตามอาจารย์ให้ทัน อาจารย์สั่งให้อ่านเปเปอร์ ก็ต้องอ่าน และต้องขวนขวายหาคำตอบมาให้อาจารย์เสมอๆ ส่วนอาจารย์บางท่าน อาจจะยุ่งมาก เลยไม่ค่อยมีเวลาให้ เนื่องจากอาจารย์ไม่ค่อยสนใจในหัวข้อนี้ แต่นักศึกษาเลือกที่จะทำในหัวข้อนี้เอง ซึ่งอันนี้ก็จะเหนื่อยอีกแบบนึง ตรงที่เราต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเองตลอดเวลา

5.jpg

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะบอกตัวเองว่าอย่างไร

หากย้อนเวลากลับไปได้ ก็คงอยากจะบอกกับตัวเองว่า ถ้าเจอปัญหาและอุปสรรค ให้สู้ต่อ วิ่งไปเรื่อยๆ อย่าหยุด ถ้าเหนื่อยก็พัก แล้วค่อยกลับมาวิ่งต่อ อย่าท้อถอย และหยุดวิ่งเด็ดขาด เพราะระยะเวลาและอุปสรรคที่เจอในระหว่างเรียน หรือทำวิทยานิพนธ์ รวมถึงการเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลนั้น ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวบั่นทอนความมั่นใจและกำลังใจมากๆ

เพราะฉะนั้นต้องพยายามสู้ต่อ ระยะเวลาตรงจุดนั้น คือ เราไม่รู้ตัวเองเลย ว่าเราวิ่งมาไกลแค่ไหนแล้ว และเหลือระยะทางอีกเท่าไรกว่าจะถึงเส้นชัย เพราะถ้าหากยังไม่เจอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เราก็ต้องวิ่งไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอแสงสว่างนั้น

เพราะการเรียนปริญญาเอก มีแค่ 1 กับ 0 คือ จบกับไม่จบ เท่านั้น ในช่วงปีแรกๆ ที่เรียนปริญญาเอก จำความรู้สึกได้ว่า รู้สึกภูมิใจมากเวลาคนอื่นถามแล้วเราบอกว่า กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ แต่พอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ เข้าปีที่ 3 ปีที่ 4 ตอนนั้น ก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะจบเมื่อไร ก็เริ่มรู้สึกว่า ไม่อยากบอกใครว่ากำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ เพราะว่าเรียนนานมาก กลัวเขาจะรู้ว่าโง่ ไม่เอาไหน ป่านนี้ยังเรียนไม่จบอีก (หัวเราะ)

9.jpg

คิดว่าเพราะปัจจัยอะไรที่ทำให้คุณเรียนสำเร็จ

มีหลายปัจจัยเลยทีเดียวครับ แต่ปัจจัยหลักๆ คือ ความพยายาม ความตั้งใจ ความมุ่งมั่น ความทุ่มเท ความอึด ถึกและอดทน ที่สำคัญคือ กำลังใจจากครอบครัว ตรงนี้มีส่วนสำคัญมากๆ ตอนช่วงที่กำลังเขียนวิทยานิพนธ์อยู่ ก็ได้คุณพ่อคุณแม่ คอยช่วยผลักดัน ถามไถ่อยู่เสมอ ว่าตอนนี้ทำไปถึงไหนแล้ว ตอนนั้นรู้สึกแอบกดดันเล็กๆ แต่ตอนนี้ต้องบอกว่า ขอขอบคุณคุณพ่อคุณแม่มาก ที่ช่วยกดดันผม ไม่งั้นป่านนี้ก็คงไม่จบแน่นอน

ผมเคยมีความคิดว่าอยากจะเลิกเรียน นับร้อยๆครั้ง จริงๆ นะ แทบจะทุกครั้งที่เข้านอน และตื่นนอน หรือแม้กระทั่งเวลาขับรถ เพราะว่ามันเหนื่อย มันท้อ รู้สึกว่าเรียนไปแล้วก็อาจจะไม่ได้อะไร สู้ไปเที่ยวกับเพื่อนดีกว่า วันเสาร์อาทิตย์ แต่นี่เราต้องมานั่งอ่านเปเปอร์ แทนที่จะได้ไปเที่ยวต่างจังหวัด และได้ไปสังสรรค์กับเพื่อนๆ

4

ช่วงเวลาที่เขียนวิทยานิพนธ์อยู่นั้น เคยมีช่วงนึงที่คิดค้นโมเดลมา ใช้เวลาอยู่เกือบปี เก็บข้อมูลมาทั้งหมดเกี่ยวกับตัวแปรในโมเดลทั้งหมด แต่ปรากฎว่า พอมารันข้อมูล ไม่มีตัวแปรไหนเลยที่มีนัยสำคัญ (Significance) ทีนี้ล่ะงานเข้าเลย ต้องขยำโมเดลทิ้งไปประมาณ 50 หน้า และก็รู้สึกท้อ จึงหยุดทำต่อไปดื้อๆเลยอีกประมาณครึ่งปี

แต่ว่ามีจุดเปลี่ยนตรงที่ ตอนนั้นได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราอยากจะเป็นคนขี้แพ้หรอ หรือว่าเราอยากจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ ที่จะสามารถเอาชนะอุปสรรคได้ สุดท้ายก็เลยตัดสินใจลุยต่อ ไม่สนใจว่าจะเจอตัวแปรที่ส่งผลต่อโมเดลหรือไม่ แต่ก็ดั้นด้นคิดค้นโมเดลต่อไปเรื่อยๆ และเก็บข้อมูลมารัน

จนกระทั่งในที่สุด ก็เจอตัวแปรที่มีนัยสำคัญเข้าจนได้ ตอนนั้นดีใจมาก เพราะเหมือนเห็นแสงสว่างแล้วจริงๆ นั่นคือความรู้สึกในตอนนั้น แต่ถ้าในทางกลับกัน ในช่วงที่เราล้มลงไป แล้วเราท้อ เราอยากจะล้มเลิกกลางคัน ป่านนี้เราคงจะเป็นอีกคนนึงที่ไม่สามารถผ่านอุปสรรคนี้ไปได้ ต้องขอบคุณกำลังใจจากคุณพ่อคุณแม่ ที่ช่วยผลักดันตลอด ขอบคุณมากครับที่ทำให้ผมมีวันนี้

7.jpg

ปัจจุบัน ได้ใช้ทักษะ ความรู้จากการเรียนมาประยุกต์ใช้กับงานหรือไม่ อย่างไรบ้าง

ข้อดีอย่างหนึ่งเลยที่เห็นได้ชัด คือ จะสามารถคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และตกผลึก ได้ดีกว่า ถ้าเทียบกับตัวเองตอนที่ยังไม่ได้เรียน ความรู้จากการเรียน ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานได้เป็นอย่างดี เนื่องจากว่า เราเคยเจออะไรยากๆมาแล้ว แต่พอมาเจอเรื่องทั่วไป ก็มองว่าเป็นเรื่องง่าย

แต่ก่อนอาจจะ Derive สูตร โมเดล หรือสมการ เยอะมากๆ จนผมมีความเชื่อว่า ทุกอย่างบนโลกใบนี้สามารถเขียนเป็นโมเดล หรือสมการออกมาได้ มันเลยสามารถสรุปความคิด และเข้าใจได้ดีกว่าตอนที่ยังไม่ได้เรียน

นอกจากนี้แล้ว ข้อดีอีกอย่างหนึ่งเลยคือ คนอื่นๆ จะรับฟังในสิ่งที่เราพูด แม้ว่าเราอายุยังน้อยกว่าก็ตาม ทำให้เราได้มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ แต่ก็มีเรื่องที่จะต้องระวังอยู่อย่างหนึ่งคือ คนอื่นจะมองว่าเราเก่ง ทั้งๆที่เราอาจจะไม่ได้เก่งที่เรียนจนจบ เพียงแต่เราแค่พยายามมากกว่าคนอื่น ทำให้มี Expectation สูงมากๆ หากเราพูดอะไรที่มันฟังแล้วไม่ Make sense จะโดนมองว่าไม่รู้เรื่องได้ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะพูดอะไรออกไป จะต้องคิดให้ดีๆ ต้องตกผลึกทางความคิดก่อน และต้องระมัดระวังในการวิจารณ์งานคนอื่นมากๆ เพราะคนที่เรียนปริญญาเอก จะถูกสอนให้กล้าแสดงความคิด กล้าเห็นต่าง กล้าวิพากษ์ วิจารณ์ผลงานคนอื่นอยู่เสมอ

10.jpg

มีข้อคิดอะไรอยากฝากอะไรไว้ให้ผู้ที่กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ 

การเรียนปริญญาเอกนั้น ไม่ต้องไปคิดว่าจะสู้กับใครเลย สู้กับตัวเองล้วนๆ ถ้าหากเจออุปสรรค ขอให้คิดว่าเป็นบททดสอบหนึ่งในชีวิต ที่สุดท้ายแล้ว ยังไงเราก็จะผ่านไปได้อยู่ดี บางครั้ง ในสภาวะกดดันที่เราเจอ มันอาจจะเป็นแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของชีวิต อยากให้มองอุปสรรคเปรียบเสมือนบันได ที่จะต้องค่อยๆ ก้าวไปทีละขั้น อย่ามองว่า เราจะก้าวทีเดียวเลยไปสู่จุดหมายเลย เพราะหากเราคิดว่าจะก้าวทีเดียวให้ผ่านพ้นไป เราก็จะไม่มีทางผ่านมันไปแน่ๆ เพราะเวลาที่เราล้ม แล้วเราจะท้อหนักมาก แต่ให้มองว่า ทุกๆขั้นบันไดที่เราก้าว ระยะทางไปสู่จุดหมายปลายทางมันค่อยๆลดลงเรื่อยๆ แต่ตอนนั้นคุณเอง ก็คงยังไม่รู้หรอก ว่าระยะทางมันเหลืออีกเท่าไร ขอให้วิ่งต่อไปเรื่อยๆ เหมือนวิ่งมาราธอน หากเปรียบกับการวิ่ง 10 กิโลเมตร ในช่วงระยะทาง 6-7 กิโลเมตร เราจะเหนื่อยและอ่อนล้ามาก แต่เราจะกลับมามีพลังฮึดสู้ต่ออีกทีนึง ในช่วงระยะทางที่ 9 กิโลเมตร

ในช่วงการทำวิทยานิพนธ์ของผม ผมใช้ระยะเวลาเขียนจริงๆจังๆ อยู่เพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น นับหลังจากที่เจอตัวแปรที่มีนัยสำคัญ เก็บข้อมูล และเขียนบทวิเคราะห์ บทสรุป จนกระทั่งจบการศึกษา แต่ก่อนหน้าที่จะเจอ ก็ใช้เวลาไปประมาณ 2 ปีกว่า ที่ไม่เจออะไรเลย ดังนั้น ผมเลยอยากจะให้กำลังใจทุกๆคน ที่กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ ว่าอยากให้เชื่อมั่นใจตัวเองว่า ยังไงถ้าคุณยังพยายามอย่างต่อเนื่อง ยังไงก็ต้องประสบความสำเร็จแน่นอนครับ

ท้ายสุดท้ายนี้ อยากฝากนิดนึงว่า “If you fail to plan, you are planning to fail” เพราะฉะนั้น การทำอะไรบางอย่าง ต้องวางแผนให้ดีๆ คิดให้รอบคอบ แล้วลงมือทำเลย แล้วคุณจะประสบความสำเร็จลุล่วงอย่างแน่นอนครับ

11.jpg

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s