ช่วยแนะนำตัวหน่อยค่ะ
สวัสดีครับ ผม อาจารย์ ดร.วรเดช มโนสร้อย จบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสาขาวิศวกรรมการบินและอวกาศยานจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาโท วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิศวกรรมเครื่องกล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาเอก Doctor of Engineering สาขา Aerospace Engineering จาก University of Stuttgart ประเทศเยอรมัน ปัจจุบันทำงานเป็นอาจารย์อยู่ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครับ
ทำไมถึงตัดสินใจมาเรียนปริญญาเอก
เริ่มจากตอนช่วงสมัยเรียนปริญญาตรีผมมีความรู้สึกว่าอยากเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชอบสอนหนังสืออีกทั้งได้แรงบันดาลใจจากคุณพ่อคุณแม่ซึ่งพวกท่านเคยเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมาก่อน แต่ปัจจุบันท่านเกษียณแล้วครับ ได้ซึมซับเห็นการทำงานของพวกท่านตั้งแต่เด็ก ๆ ผมเลยตั้งเป้าหมายตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาตรีเลยว่าเรียนให้สูงถึงปริญญาเอกเพื่อเป็นอาจารย์ให้ได้ครับ
ทำ Thesis เกี่ยวกับอะไร
อย่างที่ทราบกันดีว่าการเรียนปริญญาเอกนั้นเป็นการเรียนที่เจาะลึกเฉพาะทางมาก ๆ ครับ ถ้าจะให้อธิบายง่าย ๆ คือผมทำเรื่องการระเหยของหยดเชื้อเพลิงเล็ก ๆ หยดเดียวในห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์เครื่องบิน จะเห็นได้ว่าจุดเล็กๆ ในเครื่องบินสามารถใช้เป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกได้ และนำไปวิจัยต่อยอดได้อีกมากครับ
แต่จุดเล็ก ๆ แค่นี้ผมใช้เวลารวมทั้งหมดจนถึงวันสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ (Defense) 7 ปีเต็ม ๆ ครับ ฟังไม่ผิดหรอกครับ 7 ปีเฉพาะปริญญาเอก ไม่ใช่โทควบเอกนะครับ ซึ่งถือว่าใช้เวลาเรียนนานมากๆ เป็นเรื่องปกติของนักศึกษาปริญญาเอกที่เยอรมันโดยเฉพาะทางด้านวิศวะทั้งคนต่างชาติหรือแม้แต่คนเยอรมันส่วนมากใช้เวลาเรียนนานครับ
หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่าทำไมนักศึกษาที่นั่นใช้เวลานาน สาเหตุหลัก ๆ เลยมาจากลักษณะการเรียนปริญญาเอกของเยอรมันครับ อาจารย์ที่ปรึกษาจะให้อิสระเราในการวิจัยมาก ไม่จำจี้จ้ำไช ต้องรับผิดชอบตัวเอง
สาเหตุอีกอย่างนึงคือ สมัยก่อนนั้นที่เยอรมันไม่จำกัดเวลาเรียนปริญญาเอกครับ บางคนจบปริญญาเอกใช้เวลาเกิน 10 ปีก็มีให้เห็นเป็นเรื่องปกติ รุ่นผมดีขึ้นมาหน่อยที่จำกัดเวลาที่ 8 ปี การให้เวลาเรียนนานมีข้อเสียคือทำให้นักศึกษาบางส่วนไม่กระตือรือร้นที่จะรีบจบ คนที่ล้มเลิกกลางคันก็มีเยอะมาก ๆ ครับ
ระหว่างเรียนปริญญาเอกเป็นอย่างไรบ้าง
อย่างที่ได้บอกไปว่าผมใช้เวลาเรียนนานมาก ช่วงปีที่ 1-2 ลองผิดลองถูกยังพอไหวเพราะเพิ่งเริ่มต้น ปีที่ 3-4 ไฟเริ่มมอดเริ่มท้อบ้างแล้วครับ ช่วงหลังปีที่ 5-6 นี่เครียดสุด ๆ ครับ เพราะเพื่อน ๆ คนรอบข้างเรียนปริญญาเอกทั้งที่ไทยและที่ประเทศอื่น ๆ บางคนนั้นเริ่มเรียนทีหลังผมด้วยซ้ำก็ทยอยจบกันแล้ว
พร้อมทั้งเจอกับคำถามจากคนรอบข้างว่าเมื่อไหร่จะจบซักที ผมก็ไม่รู้จะตอบยังไง ก็ได้แต่บอกไปว่า ใกล้แล้ว กำลังเร่งอยู่ พอเจอเพื่อนกลุ่มเดิมอีกปีให้หลังผมก็เจอคำถามเดิมจากเพื่อน ๆ ผมก็ตอบไปแบบเดิมจนผมมารู้ทีหลังว่า เพื่อนทั้งรำคาญทั้งหมั่นไส้ผมว่าจะเอายังไงเนี่ย เจอทีไรก็พูดแต่ว่าใกล้จะจบแล้ว แต่ยังไม่จบซักที ผมก็ไม่ถือสาโกรธพวกเขานะครับ เพราะผมรู้ดีครับว่าเพื่อนกลุ่มนั้นเขาไม่เข้าใจในสิ่งที่ผมกำลังเผชิญอยู่
ระหว่างเรียนพบเจอปัญหาอะไรที่คิดว่าหนักที่สุด
ปัญหาที่หนักที่สุดน่าจะเป็นเรื่องการวางแผนบริหารจัดการเวลาในการเรียนครับ ที่ผมใช้เวลาเรียนนานผมไม่โทษใครทั้งนั้น ผมโทษตัวเองนี่แหละครับ สาเหตุที่ผมเรียนนานหลัก ๆ เลยมาจากการวางแผนบริหารจัดการเวลาที่ผิดพลาดและต้องใช้เวลาปรับตัวให้เข้ากับลักษณะการทำงานของคนเยอรมันซึ่งแตกต่างจากคนไทย ทำให้เสียเวลาไปมาก
การเรียนปริญญาเอกนั้นเราต้องเก่งหลายอย่างครับ ทั้งวิชาการ ทฤษฎี การวางแผนบริหารจัดการในการทดลองทำวิจัยต้องรัดกุม ที่เยอรมันจะต้องเรียนรู้ ลองผิดลองถูกเอง อาจารย์ที่ปรึกษาจะให้อิสระเรามาก ๆ และคอยดูอยู่ห่าง ๆ ถ้าเราได้ก็ได้ หลุดก็คือไปเลย
ของผมช่วงปีที่ 6 รู้สึกได้เลยว่าไม่ไหวแล้ว เบื่อไม่มีกะจิตกะใจทำอะไรเลยครับ เพราะทำเท่าไหร่ก็ไม่เห็นแสงที่ปลายทางซักที ผมคิดอยากจะล้มเลิกบ่อยมาก ถ้าย้อนเวลากลับไปได้อยากจะไปบอกสิ่งที่ตัวเองได้ทำผิดพลาดในช่วงปีแรก ๆ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาและความรู้สึกมากครับ
ผ่านช่วงเวลาที่ยากของด่านปริญญาเอกมาได้อย่างไร?
ช่วงที่ผมท้อจนถึงขั้นอยากเลิกเรียนผมพยายามนึกถึงคนในครอบครัวคนรอบข้างที่ตั้งความหวังไว้กับผม กำลังใจจากคนรอบข้างรวมทั้งคำสบประมาทคำดูถูกทั้งหลายมาเป็นแรงฮึดสู้ และพยายามนึกถึงความสำเร็จที่ปลายทางไว้เพื่อเป็นแรงผลักดันให้เดินต่อไปจนถึงเป้าหมายครับ
คิดว่าเพราะปัจจัยอะไรที่ทำให้คุณเรียนสำเร็จ
หลัก ๆ มาจากใจที่สู้จนถึงที่สุดครับ ผมคิดตลอดว่า ถ้าอาจารย์ไม่ไล่ผมออก ก็จะขอสู้ขอทำจนถึงที่สุด บางครั้งผมยอมรับว่า อาจจะมีท้อเครียดเบื่อ แต่สุดท้ายผมก็ลุกขึ้นสู้ครับ
ปัจจุบัน ได้ใช้ทักษะ ความรู้จากการเรียนมาประยุกต์ใช้กับงานหรือไม่ อย่างไรบ้าง
การเรียนปริญญาเอกเป็นการฝึกเราให้เป็นนักวิจัยครับ ซึ่งงานอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะมี 2 ส่วนหลัก ๆ คืองานสอนกับงานวิจัย ปัจจุบันผมได้ใช้ทักษะการทำวิจัยจากการเรียนปริญญาเอกเป็นอย่างมากเลยครับ
มีข้อคิดอะไรอยากฝากอะไรไว้ให้ผู้ที่กำลังเรียนปริญญาเอก
สำหรับคนที่คิดกำลังจะเรียนปริญญาเอกผมขอให้คิดตัดสินใจให้ดี ๆ หาข้อมูลให้รอบด้าน ทั้งลักษณะการเรียนปริญญาเอกและลักษณะการเรียนของประเทศที่เราจะไปเรียนว่าเป็นอย่างไร อีกทั้งตรวจสอบความมุ่งมั่นในใจเราให้ชัดเจนก่อน
สำหรับคนที่เรียนอยู่ผมขอเป็นกำลังใจให้นะครับ ปริญญาเอกไม่ใช่สิ่งที่ง่าย การจะเรียนให้สำเร็จต้องใช้ทักษะหลายอย่าง ทั้งวิชาการ ทฤษฎี การวางแผนบริหารจัดการเวลา ที่สำคัญที่สุด คือใจครับ
ถ้าเป็นคนเก่ง แต่ใจไม่สู้ ก็ไม่มีทางสำเร็จครับ ขอให้ทุกท่านนึกถึงความสำเร็จที่จุดหมายปลายทางนั้น ที่จะทำให้มีแรงฮึดสู้ และเดินไป จนถึงได้ในที่สุดครับ
——-
เพจก็แค่ปริญญาเอก ขอขอบคุณการแบ่งปันข้อคิดและประสบการณ์จากดร.วรเดช ที่เป็นแรงบันดาลใจที่ดียิ่งให้ใครอีกหลายคนที่สนใจหรือกำลังเดินอยู่บนเส้นทางการเรียนปริญญาเอก
เพจก็แค่ปริญญาเอก ยินดีเปิดพื้นที่สำหรับการแบ่งปันประสบการณ์การเรียนปริญญาเอก เชิญชวน inbox มาหาเรา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ให้กับเพื่อนๆ คนอื่นกันค่ะ