ดร.ราม รัฐพล ศรุติรัตนวรกุล Ph.D. in Engineering and Public Policy, Carnegie Mellon University, USA และ Instituto Superior Tecnico, Tecnico Univercidade da Lisboa, Lisbon ประเทศโปรตุเกส ::: คอลัมน์แขกรับเชิญ ::: คุยเรื่องเรียนด๊อกเตอร์กับด๊อกเตอร์

วันนี้เพจก็แค่ปริญญาเอก ได้มีโอกาสพบปะและพูดคุยกับ ดร. รัฐพล ศรุติรัตนวรกุล หรือ ดร.ราม แขกรับเชิญคนล่าสุด ที่ยินดีมาแบ่งปันประสบการณ์การเรียนปริญญาเอกให้กับชาว Just a PhD

ram4

ดร.ราม แนะนำตัวเองหน่อยค่ะ

สวัสดีครับ ผมจบ Dual Ph.D. สาขา Engineering and Public Policy จาก Carnegie Mellon University, Pittsburgh, Pennsylvania ที่อเมริกา และจาก Instituto Superior Tecnico, Tecnico Univercidade da Lisboa, Lisbon ประเทศโปรตุเกส ครับ ทำ Disssertation เกี่ยวกับ Spectrum Management ใน Telecommunication Policy

ในการเรียนแบบ Dual Program ได้มีโอกาสเรียนทั้งสองมหาวิทยาลัยเลยใช่ไหมคะ

ใช่ครับ หลังจากที่ผมเริ่มเรียนที่อเมริกาแล้ว รัฐบาลโปรตุเกสก็ไปสร้างความร่วมมือและให้ทุนกับมหาวิทยาลัยกลุ่มนึงในอเมริกาครับ เช่น MIT, Harvard, Texas- Austin รวมถึง CMU ด้วย เพื่อส่งเสริมการศึกษาของประเทศเค้าครับ ผมมองว่าเป็นโอกาสที่ดีมากๆ ที่จะได้ไปใช้ชีวิตและเรียนรู้ในยุโรป ซึ่งก็ก้าวหน้าในหลายๆ ศาสตร์ครับ ก็เลยสมัครเข้าโครงการ และได้รับโอกาสที่ดีมากๆ ครับ

บรรยากาศการเรียนในประเทศโปรตุเกสเป็นอย่างไรบ้างคะ

ผมไปที่โปรตุเกสตอนที่เหลือแค่ทำวิจัยแล้ว เลยไม่ได้เข้าเรียนวิชาอะไรเพิ่มที่โปรตุเกสครับ ที่ประทับใจเกี่ยวกับชั้นเรียนก็คือการที่เค้าคิดถึงคนต่างชาติต่างภาษาในชั้นเรียนครับ ที่โปรตุเกสจะมีกฎอยู่ว่า ถ้ามีนักศึกษาที่ไม่สามารถพูดโปรตุเกสได้การเรียนการสอนจะต้องเป็นภาษาอังกฤษ

ผมได้เจอกับเพื่อนจากหลากหลายพื้นที่และวัฒนธรรมมากขึ้นจากที่เรียนที่อเมริกาอีกครับ เช่นมาจากยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง ผู้คนยิ้มแย้ม เป็นมิตร ค่าครองชีพไม่สูงมาก มีอาจารย์ที่ทำงานในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในภาคพื้นยุโรป คิดว่าเป็นอีกประเทศที่นักศึกษาจากทั่วโลกเข้ามาศึกษาต่อกันครับ

ram3.jpg

ย้อนถามถึงวันแรกที่คิดสมัครเรียนปริญญาเอก ทำไมถึงตัดสินใจไปเรียนคะ

มีหลายเหตุผลมากเลยครับ ก็จะมีทั้งที่ตอนนี้ฟังดูเข้าท่าและไม่ค่อยจะเข้าท่านะ ซึ่งผมเชื่อว่าคงมีรุ่นน้องจำนวนไม่น้อยที่คิดคล้ายๆ กับผมในตอนนั้น

เอาที่เข้าท่าก่อน คือผมคิดว่าการเรียนต่อปริญญาเอกจะช่วยให้ผมพัฒนาตัวเองไปได้อีก ที่คิดออกตอนนั้นคือเรื่องของกระบวนการคิด เรื่องภาษา เรื่องการได้เปิดโอกาสดีๆ ให้กับตัวเอง มีโอกาสทำงานกับคนเก่งๆ การทำงานในระดับนานาชาติ การได้มีโอกาสไปเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ในสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ครับ

ถามว่าตอนนั้นคิดถึงการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ สร้างประโยชน์ให้กับวงวิชาการบ้างไหม ก็มีบ้างครับแต่น้อยมาก ยอมรับเลยว่าตอนนั้นยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการทำวิจัยเท่าไหร่

ram2.jpg

แล้วในมุมที่ไม่เข้าท่าหล่ะคะ

จบเอกมามันก็ดูเท่ดีนะครับ ตอนนั้นหลังจบโทก็ทำงานมาพักนึงแล้ว คิดว่า ถึงเวลาที่จะเปลี่ยนบรรยากาศ ด้วยความที่อยู่ในแวดวงของคนเก่ง มั่นใจเลยว่าแป๊บเดียวก็จบชัวร์

ตรงนี้มันมีสิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือ สภาพแวดล้อมและคนรอบตัวเราสำคัญครับ การที่เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีคนเก่งๆ เพื่อนเรียนต่อปริญญาเอกกันเยอะมาก มันช่วยให้เรามั่นใจว่าเราก็ทำได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ช่วยให้เรามีพลัง กล้าเริ่มทำอะไรซักอย่าง

แต่ถ้าไม่มีสติก็อาจทำให้เราประเมินสิ่งที่อยู่ตรงหน้าต่ำไป ประมาณว่า ตอนนั้น คิดว่า อยู่ไป 3-4 ปี เรียนไปเที่ยวไป จบชัวร์ แบบสบายๆ (ยิ้ม)

ram7.jpg

ระหว่างเรียนปริญญาเอก ได้พัฒนาตัวเองเยอะไหมคะ

เยอะแยะและมากกว่าที่คิดไว้ตอนแรกอีกครับ ที่เห็นได้ชัดคือ การเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ๆ พื้นฐานผมจบตรีและโทในสายวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร พอมาต่อเอก ด้วยสาขาที่เลือกเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ทั้งในสายโทรคมนาคมที่ลึกขึ้น และศาสตร์ใหม่ๆ ทั้งด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การเงิน นโยบาย สนุกครับ เว้นแค่ตอนสอบช่วงเดียวที่ไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่  

ส่วนทักษะอื่นๆ ที่ก่อนเริ่มเรียนนึกไปไม่ถึง และการเรียนปริญญาเอกช่วยเร่งให้ผมได้ตระหนัก และเริ่มพัฒนาได้เร็วขึ้นก็เยอะครับ ทั้งการวางแผน การแก้ปัญหา การสื่อสารอย่างกระชับชัดเจนตรงประเด็นเหมาะกับผู้ฟัง การใช้ชีวิตและทำงานร่วมกับคนที่มาจากต่างที่ต่างวัฒนธรรมต่างความคิด

และที่สำคัญมากๆ คือการได้ยืนหยัดให้ตัวเองได้ทำในสิ่งที่ ณ เวลานั้นเราเองก็ยังไม่ชัดเจนว่า เราจะทำได้ยังไง รู้แต่ว่าเมื่อสำเร็จมันจะส่งผลดีกับเราครับ

ram10.jpg

แสดงว่า ตอนเรียนก็พบเจออุปสรรคอยู่บ้างไหมคะ

อุปสรรคก็มีนะครับ เกิดขึ้นระหว่างทาง และเมื่อข้ามมันไปได้ ก็ทำให้เราเก่งขึ้น แกร่งขึ้น พัฒนาขึ้น

เริ่มจากกับอาจารย์ที่ปรึกษาของตัวเองก่อนเลย ตอนเริ่มผมต้องปรับตัวเรื่องการคิดวิเคราะห์ และการสื่อสารโดยเฉพาะการเขียนหนักมาก จำได้ว่า ตอนแรกอ่าน paper หรือนำเสนอไอเดียอะไรกับอาจารย์จะโดนจี้ถามหา assumption ถามหา main idea ทุกครั้ง และเราก็อึกอักแทบทุกครั้ง ตอบไม่ค่อยได้ ไม่คุ้นเลย ปกติจะมี regular meeting กับอาจารย์ทุกสัปดาห์ก็จะร้อนๆ หนาวๆ ทุกครั้ง

ส่วนเรื่องการเขียน จากที่เคยเป็นนิสิตตัวอย่าง เรื่องการเขียนตอนเรียนโท กลายเป็นโดน comment มาด้วยตัวแดงเต็มไปหมด ไม่ต้องถึงตัว paper หรอกครับ แค่ outline ก็แดงเถือกพร้อมมีคำถามเต็มไปหมด เช่น ทำไมคุณถึงเอาเรื่องนี้มาพูดตอนนี้ แล้วส่วนนั้น กับส่วนนี้ ทำไมมันมาอยู่ในหัวข้อนี้ เรียกได้ว่า อาจารย์ที่ปรึกษา ฝึกกระบวนการคิดให้อย่างหนักมาก 

ละด้วยความที่ทำปริญญาเอกที่สองมหาวิทยาลัยในสองทวีป ก็จะมีอาจารย์ที่ปรึกษาสองท่าน ซึ่งแต่ละท่านก็มีแนวทางการทำวิจัย มีรูปแบบการทำงานของตัวเอง ลำพังปรับตัวกับที่ปรึกษาคนเดียว ก็ท้าทายแล้ว นี่มีสองคนอยู่คนละประเทศ ก็ท้าทายขึ้นไปอีกครับ

ram6

เคยท้อจนอยากเลิกเรียนไปเลยไหมคะ

ถามว่าเคยท้อไหมจนอยากเลิกเรียนไหม ก็เคยนะครับ ตลอดเวลาที่เรียนก็หลายครั้งอยู่ เจองานโดนแก้บ่อย เสนอไอเดียอะไรไปอาจารย์ที่ปรึกษาก็ชี้ให้เห็นช่องโหว่ได้ทุกที ซึ่งจริงๆ นั่นคืองานของอาจารย์ ที่ท่านจะชี้ให้เราเห็น การตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบ และเพื่อนำไปสู่จุดที่ดีกว่า

มีงานต้องทำเพิ่ม ไม่เห็นแววว่าจะเสร็จตอนไหน ปัญหาที่กำลังแก้อยู่ คิดไม่ตก ดูไม่มีทางออก โอ้ย! paper โดน reject อีก เป็นต้น ก็มีท้อบ้างเป็นธรรมดา ส่วนอารมณ์อยากเลิกเรียนนี่มาตอนเราขาดสติครับ แต่ท้ายสุดก็ผ่านมาได้ด้วยดี

คิดว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรียนสำเร็จ

ความเชื่อว่าเราจบได้มาก่อนเลยครับ จากนั้นก็ความสม่ำเสมอในการทำงาน การพูดคุยสื่อสารกับอาจารย์ที่ปรึกษา และการใช้ resource ที่มีอยู่รอบตัวให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

ถามจากเพื่อนบ้าง อาจารย์บ้าง ซึ่งหลายครั้งคนที่เราถาม เราอาจไม่ได้รู้จัก ไม่เคยเรียนด้วยนะครับ แต่เราก็หาว่า เรามีคำถามใน field ไหน เรื่องอะไร แล้วก็หาดูว่าใครทำงานใน field นั้นบ้าง แล้วก็ส่งอีเมล์ไปถามครับถือเป็นการ networking และเพิ่มความรู้จากคนรู้จริงไปในตัว
ทุกงานสำเร็จด้วยการทำงานร่วมกับผู้อื่นครับ แต่ละคนไม่ได้เก่ง ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง ประสานกำลังใช้ประโยชน์จากสิ่งที่คนรอบๆ ตัวเราถนัดครับ ต่างคนต่างก็ได้ช่วยกัน

ram11.jpg

ปัจจุบันทำงานอะไร และได้ใช้ทักษะ ความรู้จากการเรียนมาประยุกต์ใช้กับงานอย่างไรบ้างคะ

งานประจำปัจจุบัน เป็น specialist ทำด้าน strategic policy development ที่ทรูคอร์ปอเรชั่น และด้าน sustainability ของสำนักความยั่งยืน เครือเจริญโภคภัณฑ์ครับ นอกนั้น ก็เป็นอาจารย์พิเศษ มีไปคุยแชร์ประสบการณ์กับนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ มีสอนเปียโนนิดหน่อย

ทักษะที่ได้ระหว่างเรียนนี่ได้ใช้มากเลยครับ โดยเฉพาะ soft skill คือไม่ได้เกี่ยวโดยตรงกับเนื้อหาวิชาที่เรียนมา เช่นการสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มผู้ฟัง ยกตัวอย่างนะครับ ถ้าเราสรุปข้อมูลให้ผู้บริหาร ก็ต้องกระชับและได้ใจความที่สุด เพราะผู้บริหารเวลาจะรัดตัวมาก หรือถ้าเตรียมหัวข้อ สำหรับอธิบายคนที่อยู่ใน field นั้น เนื้อหาก็จะต่างจากที่ไปอธิบายคนที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องนั้นๆ ครับ

นอกจากนั้น ก็เป็นการบริหารเวลา การประสานการทำงานกับคนที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบต่างกันมีมุมมองแตกต่างและหลากหลายครับ เช่น บางโครงการเราอาจจะ ต้องคุยกับทั้ง กฎหมาย การเงิน บัญชี วิศวกรรม รวมทั้ง ผู้บริหาร ที่ได้ให้แนวทางการทำงานมาด้วยครับ

ram8
สุดท้าย อยากฝากอะไรสำหรับผู้ที่กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่บ้างคะ

ขอเป็นกำลังใจให้คนที่เรียนปริญญาเอกอยู่นะครับ พวกเรากำลังเลือกทำสิ่งที่ต้องฝ่าฟัน ต้องมุ่งมั่น ต้องใช้พลังทั้งกายและใจ พูดได้เลยว่า มหาศาล แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ครับ แค่เราเชื่อมั่นว่าเราทำได้

กว่าจะตัดสินใจเรียนกัน ผมเชื่อว่า พวกเราคิดมาอย่างดีแล้ว ว่าผลลัพธ์ที่ได้มันน่าจะดี เพราะฉะนั้น อย่ายอมแพ้ครับ ระหว่างทาง เป็นกระบวนการที่เราจะได้เก่งขึ้น อย่ามองเป็นอุปสรรคให้มองเป็นสิ่งที่ยังไงเราก็ต้องผ่าน เพื่อพัฒนาตัวเอง  สู้ๆ ทุกคนทำได้ครับ “It will be OK at the end. If it’s not OK, then it’s not the end

ram1

เพจก็แค่ปริญญาเอก ขอขอบคุณ ดร.รามที่มาแบ่งปันประสบการณ์และข้อคิดดีๆ กับเราที่นี่ค่ะ


เพจก็แค่ปริญญาเอก ยินดีเปิดพื้นที่สำหรับการแบ่งปันประสบการณ์การเรียนปริญญาเอก เชิญชวน Inbox มาหาเรา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ กันค่ะ


แขกรับเชิญคนต่อไปจะเป็นใคร ติดตามได้ ที่นี่ ที่เดียว 

 

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s