PhD Life Lessons :: บทเรียนชีวิต 3 ข้อที่ได้จากการเรียนปริญญาเอก :: คอลัมน์แขกรับเชิญ :: ดร.กุลชัย กุลตวนิช

สวัสดีครับ ผม ดร.กุลชัย กุลตวนิช (บิ๊ก) ดุษฎีบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ ขอขอบคุณแอดมินที่ให้โอกาสมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในคอลัมน์ใหม่ “Life Lessons” จากการเรียนปริญญาเอก สิ่งที่อยากจะแบ่งปันต่อไปนี้เป็นบทเรียนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างการเรียนปริญญาเอก ดังนั้นอาจจะไม่ได้เล่าถึงประเด็นที่เกี่ยวกับเทคนิคการเรียนมากนักนะครับ

big6_n.jpg

Lesson 1: (W)ork and Life Balance

เนื่องจากผมเป็นคนที่ตัดสินใจเรียนปริญญาเอกในประเทศและใช้ทุนส่วนตัวในการจ่ายค่าเล่าเรียน ดังนั้น ผมเชื่อว่ามีเพื่อน ๆ หลายคนในนี้น่าจะเคยพบเจอกับภาวะเดียวกันกับผม คือ “นอนน้อย” เนื่องจากต้องทำงานและเรียนไปด้วย เหตุการณ์นี้เองที่ทำให้ชีวิตของผมเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน… ผมเองเป็นคนที่เชื่อมาตลอดว่า “งานหนักไม่ทำให้ใครตาย” ด้วยประโยคนี้ทำให้ผมเอาแต่ทำงานจนดึกดื่น พอเพิ่มโปรแกรมการเรียนซึ่งก็เลือกเรียนในเวลาราชการแบบปกติ ทำให้ตารางมันชนกันจนวุ่นวาย กว่าจะจัดสรรเวลาทุกสิ่งอย่างให้ลงตัวได้ก็ใช้เวลาปรับตัวนานหลายเดือน 

การที่เราจะทำสิ่งต่าง ๆ ให้ได้มากขึ้น โดยยังคงมีเวลา 24 ชม. ในหนึ่งวันเท่าเดิม ก็คือการยอมสละเวลาพักผ่อนตัวเองลง นั่นหมายความว่าหลังจากที่ผมเริ่มเรียน เวลานอนและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตของผมก็ลดลงจากเดิมที่นอนวันละ 6-8 ชม. ออกกำลังกายด้วยการเล่นแบดมินตันวันเว้นวัน เป็นนอนวันละ 3-4 ชม. ไม่มีเวลาไปออกกำลังกาย และถ้าหนักหน่อยบางวันก็ไม่ได้นอน เพราะต้องตรวจงานนักศึกษาที่สอนอยู่และตัวเองก็ต้องทำการบ้านส่งอาจารย์ให้ทันกำหนดเช่นเดียวกัน (ดูตลกดีนะครับเราตามทวงงานเด็กและก็ตัวเราเองก็ถูกทวงงานด้วย 555) 

ผลจากการใช้ชีวิตแบบนี้ทำให้สุขภาพของผมแย่ลงมากครับ อย่างแรกที่เห็นได้ชัดเลยคือ พอไม่ออกกำลังกายก็เกิดภาวะ “อ้วน” จากเดิมที่เป็นคนผอมมากน้ำหนัก 52 กก. ภายใน 1 เทอมน้ำหนักทะลุไปเป็น 62 กก. กลายเป็นคนเหนื่อยง่าย และบางครั้งก็รู้สึกร้อนวูบ ๆ ภายใน ปวดหัว นอนตื่นมาแล้วเพลีย แถมกลายเป็นคนนอนกรนอีกต่างหาก พออดหลับอดนอนมากเกินไป ร่างกายก็เลยทำการประท้วงครับ ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลกระทันหันด้วยอาการตับอักเสบเพราะพักผ่อนน้อยเกินไป 

หลังจากเหตุการณ์นี้ทำให้ผมเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพมากยิ่งขึ้น จึงตัดสินใจเลิกสอนหนังสือซึ่งเป็นงานหลัก โดยคงไว้แค่การรับงานพิเศษ เช่น ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ ทำสื่อต่าง ๆ เพื่อทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนมากขึ้น ใส่ใจกับอาหารการกินมากขึ้น พักผ่อนให้มากขึ้น และพยายามหาเวลามาออกกำลังกาย สารภาพว่าอาจจะยังจัดการตัวเองได้ไม่ดีนักแต่ก็ทำให้รอดชีวิตในการเรียนที่เหลือมาได้โดยไม่ป่วยหนักอีกครับ

สำหรับบทเรียนนี้สอนให้ผมรู้ว่า การจะเป็น PhD นั้นมันมีอะไรมากกว่าการเรียนอย่างหนักหน่วงเพียงอย่างเดียว ถ้าเราเรียนมากไปโดยไม่ใส่ใจกับสุขภาพ เราจะกลายเป็น “PHD: Permanent Health Damage” แทนครับ อิอิ

Big2_n.jpg

Lesson 2: (I)nterpersonal Skill

ผมเชื่อว่าส่วนมากคนที่มาเรียนต่อจนถึงในระดับปริญญาเอกมักจะเป็น Independent Learners ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และอยากจะบรรลุเป้าหมายในการศึกษาขั้นสูงสุด ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในคนที่มีความคิดแบบนี้ครับ ว่าการเรียนระดับสูงขนาดนี้เป็นการพึ่งพาและพัฒนาตนเองให้มากๆ ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาอันมีค่าไปกับเรื่องไร้สาระของคนอื่น แต่ที่จริงแล้วมันเป็นความคิดที่ผิดมาก ๆ เลยครับการรู้จักเข้าหาคนอื่นทำให้ชีวิตของผมเปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน การเรียนในระดับปริญญาเอกทำให้ผมรู้จักการเข้าสังคมมากยิ่งขึ้น ไม่ได้หมายความว่า ผมเป็นคนมีปัญหาด้านมิตรสัมพันธ์นะครับ แต่ผมมักจะเป็นคนที่ชอบทำอะไรด้วยตัวเองคนเดียว เพราะเชื่อเสมอว่าเราทำได้ แต่การเรียนในระดับนี้มันมีอะไรมากกว่าท่องจำ และการที่ผมใช้เวลากับตัวเองมากเกินไป ทำให้ยึดติดกับมุมมองเดิม ๆ พอถึงจุดนึงมันจะเริ่มตันครับ และเกิดอาการไปต่อไม่ถูก จนต้องบากหน้าไปหาอาจารย์เป็นครั้งแรก สารภาพเลยว่า ปกติผมมีนิสัยเสียอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่ชอบถามอาจารย์ เพราะกลัวถูกมองว่าโง่ แต่มันเป็นอัตตาที่ผิดมาก ๆ ครับ

“การถามไม่ใช่ถามเพราะเราโง่ แต่เพราะเรามองแล้วไม่เข้าใจ ก็ต้องหาคนที่มีความรู้ที่เราขาดมาช่วยมอง ในบางครั้งคนที่ให้คำตอบในบางเรื่องก็อาจจะกลายเป็นผู้ถามในบางเรื่องเช่นเดียวกัน” นี่คือบทเรียนที่ผมเรียนรู้มาครับ การเรียนก็เหมือนต่อจิ๊กซอว์ไปเรื่อย ๆ แต่ละคนก็มีจิ๊กซอว์ไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเอามาต่อกันก็จะได้ภาพที่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ การเข้าหาคนอื่นก็เหมือนการสะสมแลกเปลี่ยนจิ๊กซอว์เหล่านี้

การแลกเปลี่ยนนอกจากจะให้สัมพันธภาพระหว่างเราและคนรอบข้างดีขึ้น ยังทำให้เราได้มีโอกาสฝึกตัวเองช่วยแก้ปัญหา หรือช่วยทำงานบางอย่างให้ผู้อื่น ที่ล้วนแต่ได้ประสบการณ์ทั้งนั้น ซึ่งเราจะกลายเป็นที่ยอมรับขึ้นเรื่อย ๆ จากพี่น้องและอาจารย์ครับ และเชื่อไหมว่าสัมพันธ์ภาพเหล่านี้ยังส่งผลยาวมาถึงชีวิตทำงานหลังปริญญาเอกด้วยซ้ำ การเรียนถ้าได้ใบปริญญามาก็ถือว่าได้ทุนคืนครับ แต่สิ่งอื่น ๆ ที่แต่ละคนมีไม่เท่ากันก็คือ “กำไร” ในรูปของมิตรภาพและการฝึกประสบการณ์ที่หาได้ระหว่างเรียน สิ่งนี้ก็เป็นบทเรียนชีวิตและทำให้ผมเปลี่ยนแนวทางการดำเนินชีวิตไปมากทีเดียว

big4_n.jpg

Lesson 3: (N)ever Give up!

ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของการเรียนก็คือความกลัวที่พร่ำเพรื่อ ซึ่งมันไม่สร้างสรรค์สิ่งดีๆ อะไรในชีวิตเลย ผมเคยกลัวที่จะลงมือทำ ระแวงนู่นนี่ กลัวว่ามันจะไม่ดีบ้าง กลัวว่ากรรมการสอบจะไม่โอเคบ้าง และทุกครั้งที่กลัว เราจะท้อแท้และหยุดทำ ผมเรียกจุดนั้นว่า “ห้วงเวลาที่สูญเปล่า” ไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะเรามัวเอาเวลาไปคิดมาก บ่น โวยวาย แล้วก็ไม่ได้ลงมือทำสักที ความกลัวมักเกิดจากการที่เราคาดเดาเหตุการณ์ในอนาคตแล้วไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คนที่คิดลบมักจะประเมินเหตุการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ไว้ก่อน พอคิดแบบนี้ความกลัวก็จะเกิดขึ้น บางคนอาจกลายเป็นโรคกลัวการเข้าหาอาจารย์ หรือมองอาจารย์เป็นศัตรูไปเลยก็มี ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบคิดมาก จึงทำ ๆ หยุด ๆ งานตัวเองอยู่หลายครั้ง ซึ่งตรงนี้แหล่ะที่ทำให้ผมเรียนรู้ในภายหลังว่าการคิดมากและโวยวายไปก็ไม่ได้ช่วยอะไรนอกจากทำให้เราสูญเวลา และจบช้าลงไปเรื่อย ๆ การหยุดไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่มันเป็นเพียงการผ่อนเวลาที่จะเผชิญความจริงเท่านั้น การกลัวโดยไม่ลงมือทำอะไร ก็เหมือนกับการผ่อนดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ ไม่ถึงเงินต้นสักที

“วิทยานิพนธ์สำเร็จได้ด้วยการลงมือทำ” สิ่งนี้เป็นสัจจะธรรมที่อาจารย์สอนผม มันไม่เพียงแค่วิทยานิพนธ์เท่านั้น แต่มันเป็นบทเรียนที่สอนให้เราไม่ว่าจะเจองานหรือปัญหาใด ๆ จงอย่าหยุดที่จะทำ เพราะการลงมือทำและหันหน้าเข้าหาปัญหา เป็นวิธีเดียวที่สามารถผ่อนดอกเบี้ยไปพร้อม ๆ กับเงินต้นได้ การผ่านวิทยานิพนธ์มันเหมือนการผ่านบททดสอบแห่งจิตใจบางอย่างที่เมื่อเราผ่านไปแล้วจะมีความทนทานและแข็งแกร่งต่อปัญหาต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ทุกอย่างเสร็จและสำเร็จได้ครับ ขอแค่อย่าหนีปัญหา ให้เผชิญหน้ากับมันแล้วจะพบว่าทางออกที่จริงมีมากกว่า 1 เสมอครับ ขอแค่ไม่ยอมแพ้

Big1_n

นี่เป็นบทเรียนชีวิต 3 ประการที่ผมคิดว่ามีคุณค่าและได้รับจากการเรียนปริญญาเอกครับ
ที่จริงมันมีเรื่องที่ผมอยากเล่ามากกว่านี้ แต่ผมคิดว่า 3 ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตของผมที่ได้รับมาระหว่างเรียนครับ 

การมีใจที่เข้มแข็ง เปิดใจรับความรู้จากผู้อื่นอยู่เสมอ และที่สำคัญคือรู้จักดูแลตัวเอง จะทำให้คุณ WIN ในเกมของตัวเองครับ เป็นกำลังใจให้เพื่อน ๆ และสมาชิกทุกคนครับ และผมเชื่อว่าทุกท่านก็มีบทเรียนชีวิตอันมีค่ามากเช่นเดียวกัน มาช่วยกันแบ่งปันสิ่งดี ๆ เหล่านี้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจกันนะครับ

—————-
Credit Text: ดร.กุลชัย กุลตวนิช

เพจก็แค่ปริญญาเอก ยินดีเปิดพื้นที่สำหรับการแบ่งปัน “PhD Life Lessons บทเรียนชีวิตที่ได้จากการเรียนปริญญาเอก” 

มาร่วมแบ่งปัน ช่วยกันสร้างชุมชนดีดี

1 ความเห็น

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s