5 สิ่งที่ได้เรียนรู้ “เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดในตัวเอง” จนได้มาซึ่ง “ปริญญาเอก”

ตอนที่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่ประเทศอังกฤษ สิ่งที่ยากและท้าทายที่สุดสำหรับฉัน คือ การที่ไม่สามารถทำวิทยานิพนธ์ให้ก้าวหน้าไปได้เร็วเท่าใจอยาก ความรู้สึกผิดหวังและท้อแท้ก่อตัวและสะสมอยู่ในตัวเอง จนในช่วงหนึ่งนั้น ฉันถึงขนาดนอนซมทั้งวัน หมดพลังใจที่จะลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหา

ฉันผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้อย่างไร อะไรทำให้ฉันลุกขึ้นสู้ จนสามารถเขียนวิทยานิพนธ์ซึ่งมีความยาว 80,000 คำ เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน วันนี้ขอแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับ 5 สิ่งที่ได้เรียนรู้ “เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดในตัวเอง” จนได้มาซึ่ง “ปริญญาเอก”

104100191.เปิดใจยอมรับกับความล้มเหลวของตัวเอง

ความ “fail” หรือ “ความล้มเหลว” อาจเป็นคำที่ไม่สวยงามนัก ไม่มีใครอยากล้มเหลว เมื่อได้เริ่มต้นและทุ่มเททำอะไรลงไปแล้ว ทุกคนก็อยากสำเร็จทั้งนั้น ฉันเชื่อว่า หลายคนเมื่อได้รับการตอบรับเข้าเป็นนักศึกษาปริญญาเอกจะมีความภาคภูมิใจ และรู้สึกถึงการยอมรับจากคนรอบข้าง ที่ต่างแสดงความชื่นชม กับ “สถานะ” นักศึกษาปริญญาเอก !!

แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป กับระยะทางที่มองไม่เห็นปลายทาง ไม่รู้แม้กระทั่งว่า เราเดินมาไกลเพียงใด เหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ “ยาก” และ “ท้าทาย” สำหรับนักศึกษาปริญญาเอกทุกคน

สำหรับฉัน ความรู้สึกท้อแท้และสับสนก่อตัวขึ้นวันละเล็กละน้อย จนถึงจุดที่ฉันไม่รู้อีกต่อไปแล้วว่า ฉันรู้อะไรบ้าง ฉันเริ่มเบื่อหน่ายกับการเรียน วันๆ นอนซึมเซา เล่นอินเทอร์เน็ตทั้งวัน ในระหว่างนั้น รู้ตัวว่า กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ แต่เมื่อจะหันมาเขียนงานวิทยานิพนธ์ ก็มองไม่เห็นคำตอบว่า จะสามารถทำอะไรให้ดีขึ้นได้อย่างไร ความเครียด สับสน โกรธตัวเองอยู่ลึกๆ สะสมอยู่ในตัวมากมาย เมื่อเจอคนอื่นถามเกี่ยวกับงาน ก็อึดอัด ไม่สามารถพูดตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เรียกว่าอยู่ในจุดที่ “กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง” อย่างแท้จริง

แต่เพราะฉันมีพี่สาว (พี่พัด) ที่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่อังกฤษด้วยเช่นกัน ในวันที่ท้ออย่างหนัก ฉันยอมเปิดใจพูด แชร์ปัญหากับเขา บอกเล่าระบายทุกสิ่งที่แอบซ่อนอยู่ในใจ โดยเฉพาะความรู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำให้งานวิทยานิพนธ์ก้าวหน้ามาเป็นระยะเวลานานแล้ว

เมื่อได้ “เปิดใจ” ออกมา “ยอมรับ” กับความผิดพลาดทั้งหมดที่ผ่านมาของตัวเอง ฉันกลับรู้สึกโล่งใจที่ได้บอกกล่าว “ความลับ” ที่เก็บมานานกับใครสักคนที่ฉันไว้ใจได้เสมอ สิ่งนี้กลับทำให้ฉันลุกขึ้นมามีพลังอีกครั้ง

ในตอนนั้น พี่พัดได้ให้กำลังใจว่า เป็นเรื่องปกติ ผู้เรียนปริญญาเอกทุกคนมีปัญหาไม่ต่างกัน และได้เล่าถึงปัญหาของการเรียนปริญญาเอกในแง่มุมต่างๆที่เคยได้ยินได้ฟังมา ซึ่งที่ผ่านมาฉันไม่เคยรู้เลย ฉันไปทำอะไรอยู่ ฉันมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับความทุกข์ของตัวเอง ฉันนึกว่าคนอื่นเก่งกว่าฉัน และเขาคงไม่มีปัญหางี่เง่าอะไรเหมือนฉันหรอก

ในที่สุด ใจที่คลายทุกข์ ก็เริ่มเปิดรับความคิดใหม่ เป็นการเปลี่ยนความคิดที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน ความทุกข์หายไป ฉันกลับมามีความสุข และเริ่มมีพลังกลับมาสู้กับการเรียนอีกครั้ง
10400011
2.เปลี่ยนความรู้สึกเป็น “ผู้ควบคุมสถานการณ์” 

ย้อนกลับไปเมื่อเริ่มต้นเรียนปริญญาเอก ฉันไม่ได้รู้สึกเป็นผู้ควบคุมทิศทางการทำวิทยานิพนธ์ของตัวเอง ด้วยความเคยชินจากรูปแบบการศึกษาที่ผ่านมา ฉันมักจะรู้สึกว่าต้องเชื่อฟังอาจารย์ และรอให้อาจารย์เป็นผู้ชี้นำ เมื่อเริ่มเรียนปริญญาเอกฉันก็ติดอยู่กับกรอบความคิดแบบเดิมนั้น คืออาจารย์บอกให้ทำอะไร ฉันจะทำในสิ่งนั้นและเพียงเท่านั้น ไม่เคยคิดว่าจะต้องเป็นผู้ริเริ่ม ขุดคุ้ย กรุยทาง สู่ปริญญาเอกด้วยตนเอง

แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ฉันยิ่งรู้สึกเคว้งคว้าง ไร้ทิศทาง เหมือนเรือที่แล่นไปในทะเล แต่ไม่ได้รู้สึกเป็นผู้ควบคุมเรือนั้น ฉันปล่อยให้เรือลำนี้แล่นไปตามคำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษา โดยที่ฉันไม่ได้ลุกขึ้นมาควบคุมเรือลำนั้นด้วยตัวเอง

สาเหตุของปัญหาอยู่ตรงที่ เพราะฉันไม่เข้าใจธรรมชาติของการเรียนปริญญาเอกอย่างเพียงพอ เมื่อฉันปรับเปลี่ยนความคิด และเกิดความเข้าใจว่า การจะก้าวไปข้างหน้าได้ ฉันต้องเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์นี้เอง

จากวันที่ฉันเปลี่ยนความคิดมาเป็น “ผู้ควบคุม” ฉันมีความรู้สึกมั่นใจมากขึ้น เพราะไม่ว่าทิศทางของเรือนี้จะดำเนินไปอย่างไรขึ้นอยู่กับตัวฉันร้อยเปอร์เซ็นต์ และฉันคนเดียวที่เป็นผู้รับผิดชอบกับผลของสิ่งที่ตนเองทำลงไป

IMG_0146
3. รับฟัง แลกเปลี่ยน และ แบ่งปันมุมมองกับคนรอบข้าง

แน่นอนว่า ในการทำวิทยานิพนธ์ เราต้องเป็นคนทำงานนี้คนเดียวเท่านั้น แต่บางครั้ง มุมมองและคำแนะนำจากคนรอบข้าง ก็เป็นประโยชน์มาก และช่วยย่อระยะเวลาของเราลง บางครั้งคำแนะนำดีๆ ก็เกิดขึ้นแบบไม่คาดฝัน ถ้าเรารู้จักหยิบฉวยมุมมองความคิดของคนรอบตัวที่ให้แง่คิดอันหลากหลายกับเรา เราอาจจะมองเห็นงานของตัวเองได้ชัดขึ้น

ฉันได้รับคำแนะนำและมุมมองดีๆมากมายจากอาจารย์และเพื่อน แต่คนสำคัญที่จะลืมไม่ได้คือพี่สาวของฉัน ฉันโชคดีที่มีพี่พัด เพราะเราเป็นพี่น้องที่คุยกันได้ทุกเรื่อง เทคนิคที่เราใช้ คือเราจะสับเปลี่ยนกันเล่าหัวข้อของเราให้กันฟัง ทั้งภาพใหญ่ เช่นเรื่องโครงสร้างของวิทยานิพนธ์ทั้งเล่ม หรือภาพเล็ก เช่นข้อถกเถียงในบางประเด็นที่เราติดอยู่

ฉันจะเล่าให้พี่พัดฟังว่า งานของฉันเป็นแบบนี้ ฉันกำลังสร้างข้อถกเถียงแบบนี้อยู่ แล้วพี่พัดก็จะฟัง แล้วให้มุมมองที่ฉันอาจมองข้าม บางครั้งการที่เราจมอยู่กับข้อมูลนานๆ มองข้อมูลนั้นด้วยมุมมองที่ใกล้ชิดเกินไป ฉันจะมองไม่เห็นว่างานนั้นขาด (หรือเกิน) ในส่วนไหน

การแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างฉันกับพี่พัด มีข้อดีมาก เพราะทำให้ฉันได้เห็นข้อถกเถียงแบบใหม่ที่สั้น ง่าย ได้ใจความกว่าเดิม ประหยัดเวลาในการถกเถียงอยู่กับตัวเองไปได้เยอะ

4. มุ่งมั่น โฟกัส จดจ่ออยู่ที่เป้าหมาย

หลังจากคลี่คลายความรู้สึกผิดหวังในตัวเองออกไป ฉันเหมือนได้เกิดใหม่อีกครั้ง คราวนี้เกิดความรู้สึกมุ่งมั่นมาก ใจจดจ่ออยู่ที่เป้าหมายความสำเร็จ ใจของฉันไม่สนใจอะไรอย่างอื่นนอกจากการเขียนวิทยานิพนธ์ ถ้อยคำและข้อถกเถียงต่างๆวิ่งแล่นอยู่ในหัว ฉันพยายามคิดว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งที่เขียนและอธิบายอยู่ เขียนได้ดีและชัดเจนขึ้นกว่าเดิม แม้ตอนหลับฉันก็ยังฝันถึงภาพโปรแกรม Microsoft Word ที่ปรากฏถ้อยคำต่างๆเลื่อนขึ้นเลื่อนลงอยู่ตลอดเวลา

ยิ่งทำ ก็ยิ่งเห็นความก้าวหน้าของงาน กำลังใจก็ดีขึ้น การจะไปให้ถึงปลายทาง คือ การลงมือทำอย่างหนัก ฉันมุ่งมั่น ตั้งใจแบบสุดๆ คำทุกคำ ประโยคทุกประโยค ที่เรียงร้อย ช่างมีความหมาย มีคุณค่า

รู้เลยว่าการใช้ใจที่มุ่งมั่นกับงานที่อยู่ตรงหน้า ได้ให้ “รางวัล” เป็นความรู้สึกอิ่มเต็มอยู่ภายใน ที่อธิบายได้ยาก ตอนนั้น ฉันรู้เลยว่า ฉันทำวิทยานิพนธ์นี้สำเร็จได้อย่างแน่นอน ความรู้สึกมั่นคงในจิตใจเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ฉันไม่รู้สึกเหนื่อยยากกับการเขียนงานวิทยานิพนธ์อย่างต่อเนื่องในทุกวัน

IMG_0011

5. ไม่ลืมที่จะมีความสุข

ความสุขเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำวิทยานิพนธ์ แม้ในช่วงเวลาของการทำงานอย่างหนัก ฉันกลับมีความสุขในทุกวันที่ตื่นขึ้นมา เป็นความสุขที่เรียบง่ายอย่างที่สุด ฉันจะใส่เสื้อผ้าตัวแรกที่คว้าเจอในตู้ ใช้เกือบทุกเวลานาทีหน้าคอมพ์ ทำงานแบบลืมวันลืมคืน อาหารหมดจากตู้เย็นและตู้เสบียงเมื่อไหร่ จึงค่อยก้าวเท้าออกจากบ้าน

ความบันเทิงอย่างเดียวในตอนนั้นดูจะเป็นคืนวันศุกร์ที่ฉันจะเดินออกไปทาน Sandwich ร้านอร่อย เดินซื้ออาหารใน Supermarket และแวะนั่งร้านกาแฟ พร้อมนั่งอ่านและทบทวนงานที่ทำมา เพื่อหาข้อแก้ไขต่อไป

ความรู้สึกในตอนนั้นดีกว่าเมื่อตอนเริ่มต้นเรียนปริญญาเอก ที่ฉันยังคงร่าเริง เวิ่นเว้อ ไปท่องเที่ยวที่โน่น ที่นี่  หรือ ตอนที่นอนซมหลบหนีความเครียดมาก ความรู้สึกของการได้ทำงานอย่างเต็มที่ในทุกๆ วัน  ความรู้สึกถึงความก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้นในทุกๆวัน และความรู้สึกถึงความสำเร็จที่ใกล้เป็นจริงมากขึ้นในทุกๆวัน ช่างดีกว่าความรู้สึกสุขแบบปลอมๆ ที่สร้างขึ้นมาหลอกตัวเองในตอนต้นมากนัก
…………………………………

…ฉันใช้เวลาเรียนปริญญาเอก 4 ปี แต่เมื่อมองย้อนกลับไป ระยะเวลา 6 เดือนสุดท้าย จากวันที่ท้อแท้อย่างหนักจนหมดพลัง จนถึงวันที่ฉันปรับเปลี่ยนความคิดใหม่และลุกขึ้นมาทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จสิ้น จนสามารถสอบป้องกันผ่านไปด้วยดีนั้น เป็นช่วงเวลาที่ฉันได้เรียนรู้อย่างมากมายเกี่ยวกับ “การก้าวข้ามข้อจำกัดในตัวเอง” และ “การเอาชนะตัวเอง”

อย่างไรก็ตาม ขอฝากเป็นข้อคิด เรื่องของการบริหารจัดการเวลา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการเรียนปริญญาเอก ในกรณีของฉัน ต้องยอมรับว่า ฉันบริหารเวลาได้ไม่ดี เพราะมาเร่งทำในตอนท้าย แทนที่จะทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้น ฉันเผชิญกับ “ปัญหา” และ “ความล้มเหลว” ในแบบของฉัน และฉันได้เรียนรู้ “วิธี” ก้าวข้ามสิ่งนั้นในแบบของฉัน หวังว่าประสบการณ์นี้ อาจเป็นประโยชน์กับใครหลายคนที่กำลังอยู่บนเส้นทางนี้

อย่างไรก็ตาม บนเส้นทางการเรียนปริญญาเอก ปัญหาและอุปสรรคที่แต่ละคนต้องเผชิญนั้นไม่เหมือนกัน หลายครั้งเราต้องเผชิญหน้ากับความผิดหวังและเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันมากมาย

ขอส่งกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังเรียนอยู่ “ค้นพบ” วิธีการในแบบของตัวเอง ก้าวข้ามข้อจำกัดบางอย่างที่ตนเองมีอยู่ เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายของคุณค่ะ


ดร.พัน ฉัตรไชยยันต์
ผู้ก่อตั้งเพจก็แค่ปริญญาเอก

———————————-
ติดตามข้อคิดเกี่ยวกับการเรียนปริญญาเอกจาก ดร.พัด และ ดร.พัน ได้ที่ เพจก็แค่ปริญญาเอก
อ่านบทความย้อนหลังทั้งหมดที่ www.justaphdblog.com

3 ความเห็น

  1. ขอบคุณสำหรับแรงบันดาลใจนะครับ
    ชีวิตก่อนมาเป็นนักศึกษาจนถึงช่วงแรก ผมเหมือนพี่เลย
    จะนำวิธีพี่ไปใช้ด้วยนะครับ

    ถูกใจ

  2. ขอบคุณมากค่ะ สำหรับบทความนี้ ได้เข้ามาในนี้โดยบังเอิญ ตอนนี้กำลังเรียนเอกอยู่และอยู่ในช่วงท้อถอย เลยรู้สึกมีกำลังใจขึ้นมากเลยค่ะ หวังว่าจะมีกำลังใจและพลังงานบวกให้ตัวเองได้ในเร็ววัน

    Liked by 1 person

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s