แขกรับเชิญคนเก่งที่มาพูดคุยกับ เพจก็แค่ปริญญาเอก ในวันนี้คือ ดร.เก่ง สุรพงษ์ รัตนกุล PhD in Environmental Engineering, The University of Tokyo ประเทศญี่ปุ่น และปัจจุบันเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก (Post-doctoral researcher) ผู้เชี่ยวชาญด้านด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
ดร.เก่งฝากคำแนะนำเกี่ยวกับการเรียนปริญญาเอกไว้มากมาย ติดตามกันได้เลย…
ทำไมจึงตัดสินใจเรียนปริญญาเอก
ผมมีความรู้สึกที่อยากเรียนต่อ ป.เอก แบบจริงๆจังๆ ก็ตอนทำ project จบ ตอนเรียนอยู่ปริญญาตรี ปี 4 ครับ เพราะตอนนั้นคิดว่า ตัวเองยังมีความรู้ไม่พอที่จะอธิบายผลการทดลองที่ได้แบบเชิงลึก เลยตัดสินใจยื่นขอทุนเรียนต่อปริญญาโท และเลือกเรียนในสาขาวิชาที่เฉพาะทางมากขึ้น ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian institute of Technology) จนวันหนึ่ง ที่ภาควิชามีประกาศว่า มีการเปิดรับนักเรียนปริญญาเอกทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ในด้านที่เรากำลังทำวิจัยอยู่พอดี ตอนได้ยินข่าวนี่ตาโตเลยคับ ประมาณแบบ เฮ้ย ญี่ปุ่น ดินแดน แห่งการ์ตูนและอะนิเมะ เลยสมัครแบบไม่รอช้าเลยครับ
มีคำแนะนำสำหรับผู้สนใจสมัครทุนนี้อย่างไรบ้าง
การสมัครทุนรัฐบาลญี่ปุ่นจะมีสองประเภทครับ คือ ประเภทแรก สมัครผ่านทางสถานทูตญี่ปุ่น ในประเทศไทย และ ประเภทที่สอง ผ่านทางมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น สองประเภทนี้จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไปครับ
ทุนประเภทที่สมัครผ่านสถานทูต การแข่งขันจะค่อนข้างสูง เพราะโควตาในแต่ละปีมีไม่มาก คนที่สมัครผ่านทางนี้จะต้องเตรียมตัวให้มาก เพราะมีการสอบหลายขั้นตอน ข้อดีของทุนประเภทนี้คือ ผู้สมัครสามารถเลือก มหาวิทยาลัยและสาขาได้เอง แต่ผู้สมัครผ่านจะต้องเข้าไปเป็น Research student ก่อน แล้วต้องไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ตัวเองเลือกอีกครั้งครับ
ส่วนทุนประเภทที่สมัครผ่านมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยจะเป็นคนกรองผู้สมัครโดยตรง การแข่งขันจะค่อนข่างต่ำกว่า แต่ส่วนมาก สาขาวิชาที่เปิดรับจะค่อนข้างจำเพาะเจาะจง และจะไม่รับคนที่ไม่มี background ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาขาเลย ผู้ที่ได้ทุนประเภทนี้จะได้เริ่มเข้าศึกษาปริญญาโทหรือปริญญาเอกได้เลยครับ
สิ่งที่สำคัญสำหรับการสมัครทุนทั้งสองชนิดคือ การเขียนแผนงานวิจัย (Research plan) ครับ เพราะกรรมการจะให้พิจารณาจากตรงนี้เป็นหลัก โดยงานวิจัยที่ดูเป็นรูปธรรมและสามารถนำไปใช้จริง หรือต่อยอดได้ จะมีโอกาสสูงในการผ่านการคัดเลือกครับ รวมทั้งคะแนนภาษาอังกฤษก็มีส่วน ยิ่งใครมีคะแนน ภาษาญี่ปุ่นยื่นไปด้วย จะเพิ่มโอกาสได้ขึ้นอีกมากครับ ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยครับ บางแห่งไม่พิจารณาจากภาษาญี่ปุ่น แต่ต้องแอบกระซิบว่า มีไว้ยังไงก็ได้เปรียบครับ
ตอนเรียนปริญญาเอกทำวิจัยเรื่องอะไร
ผมทำวิจัยเรื่อง “การใช้รังสีอัลตร้าไวโอเลตร่วมกับสารคลอรีนเพื่อกำจัดเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนในน้ำ” ครับ เป็นการหาวิธีการฆ่าเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในน้ำประปา ต้องเกริ่นก่อนว่า ที่ประเทศญี่ปุ่นนั้นคนส่วนมาก ดื่มน้ำประปาเพราะกระบวนการผลิตของเขามีประสิทธิภาพ แต่ตอนนี้มีไวรัสชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก และ บางสายพันธุ์มีความต้านทานกับสารฆ่าเชื้อในน้ำด้วยวิธีเดิมสูง ถ้าเกิดปนเปื้อนในน้ำประปาอาจทำให้เกิดโรคระบาดได้ครับ เพราะฉะนั้น การหาวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงในการฆ่าเชื้อไวรัสจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากครับ
ส่วน Original Contribution ในงานวิจัยของผมก็คือ วิธีนี้ไม่เคยมีที่ไหนนำมาประยุกต์ใช้ในการฆ่าเชื้อครับ อีกทั้งผมยังค้นพบว่า ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อสูงมาก รวมทั้งกลไกในการฆ่าเชื้อไวรัส (Inactivation mechanisms) นั้น มีลักษณะพิเศษและแตกต่างจากวิธีทั่วๆไปอย่างมากครับ
สิ่งที่ยากที่สุดในการเรียนปริญญาเอกคืออะไร
ผมคิดว่า คือการเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่เคยทำครับ ซึ่งมันเป็นอุปสรรคใหญ่ ในการเรียนของผมเลยทีเดียว ต้องเกริ่นก่อนว่า งานวิจัยด้านที่ผมทำอยู่นั้น ผลที่ได้จากการทดลองนี่จะเป็นตัวกำหนดชะตาชีวิตเลยครับ และงานวิจัยตอน ป.เอก ของผมมันเกี่ยวกับพวกไวรัส ซึ่งส่วนตัวจบวิศวะมา มีพื้นฐานเกี่ยวกับพวกนี้น้อยมากๆ ครับ ทำให้ตอนแรกๆ ที่เริ่มทำการทดลองนั้น ผลการทดลองใช้ไม่ได้เลยครับ และเสียเวลาไป 1 ปีเต็มๆ
ตอนนั้นแอบเครียดมาก เพราะแค่เลี้ยงไวรัสให้โตยังทำไม่ได้เลย ถ้าใครที่เรียนมาด้านนี้จะรู้ว่า มันใช้เวลานาน และต้องระมัดระวังสุดๆ เพราะปนเปื้อนได้ง่าย มีวันนึงเครียดถึงขั้นเดินเล่นไปเรื่อยๆ จากมหาลัยร่วม 10 กิโล ไม่รู้เหมือนกันว่า ตอนนั้นคิดอะไรอยู่ครับ ฮ่าๆ แต่ในที่สุด ก็ผ่านมาได้ด้วยดีครับ
จุดที่เครียดที่สุดในการเรียนปริญญาเอกคือตอนไหน แล้วสภาพตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนเขียนเล่มครับ คือมีวันนึง ตอนปี 3 อาจารย์ส่งอีเมลล์มาบอกว่า นัดกรรมการกับหาวันสอบให้แล้วนะ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีวี่แววเลย ผมเลยทำแต่แลบ ในใจตอนนั้น ดีใจมากว่าได้สอบแล้ว แต่เล่มนี่เพิ่งเขียนไปได้คร่าวๆ นี่สิ หลังจากนั้นคือแบบลนมาก ผมนี่ต้องนับวันเลยว่า วันนึงต้องเขียนให้ได้กี่หน้าๆ ส่วนสภาพเหรอครับ ซอมบี้เดินได้ดีๆ นี่เอง
ผ่านพ้นอุปสรรคมาได้อย่างไร
หาวิธีคลายเครียดครับ และกิจกรรมหลักที่ผมทำบ่อยๆ คือ “เดินเข้าร้านตกตุ๊กตา” ถ้าใครเคยมาญี่ปุ่นจะรู้ว่า ร้านแบบนี้มีเยอะมาก ตอนมาแรกๆ ผมรู้สึกเฉยๆ จนได้มาลองเล่นตอนเครียดๆ ทำให้รู้สึกดีขึ้นมากครับ พอไม่เครียดแล้ว ทำให้ผมมีความคิดดีๆ หรือได้ไอเดียในการแก้ปัญหามาเยอะมากครับ
ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อนๆ ที่รู้ผมจัก ก็มีส่วนช่วยผมมาก เพราะผมมักได้รับคำแนะนำและข้อเสนอแนะจากเพื่อนๆ ที่มีความรู้เกี่ยวกับพวกไวรัสมากกว่าผมมาปรับใช้ในการวิจัยของผม และสุดท้ายผมคิดว่าผมโชคดีมากที่คนในครอบครัวเข้าใจและให้กำลังใจเสมอ
เมื่อเรียนจบมาแล้ว มีข้อคิดหรือมุมมองอะไรที่อยากฝากสำหรับคนที่กำลังเรียนอยู่บ้าง
สิ่งที่ผมอยากฝากถึงเพื่อนๆที่กำลังเรียนอยู่ คือ “ให้มองโลกในแง่ดี เวลาประสบปัญหาครับ” ไม่ใช่ว่าให้เป็นคนโลกสวยนะครับ ฮ่าๆ แต่อยากให้มองในด้านดีของปัญหาที่กำลังพบว่า มันเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง การเรียนปริญญาเอก ผมเชื่อว่า ไม่มีใครไม่มีปัญหาระหว่างการทำวิจัย ไม่งั้นทุกคนต้องจบเอกกันง่ายๆแล้วสิเนอะ แต่ถ้าเราผ่านมันไปได้มันจะทำให้เราแกร่งและเก่งขึ้น ซึ่งปกติผมมักท่องในใจเสมอๆว่า เดี๋ยวทุกอย่างจะโอเคเอง Everything will be fine
คำแนะนำที่จะฝากไว้เกี่ยวกับการทำวิทยานิพนธ์คืออะไร
คงเป็นเรื่องการออกแบบและการวางแผนการทำการทดลองครับ การออกแบบการทดลองที่ดี ผมว่าเราควรอ่าน Literature ให้เยอะๆ เพราะตรงนี้จะช่วยลดข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการทำการทดลองจากปัจจัยอื่นๆที่เราควบคุมไม่ได้ ให้น้อยลงได้ครับ และเราควรมีแผนสำรอง (Back-up plan) ด้วย พูดง่ายๆ คือ เราควรคิดไปถึงผลการทดลองที่จะได้ ในกรณีที่ผลออกมาแล้วมันไม่ใช่ตามที่เราคาดหวัง
การเรียนปริญญาเอก คือ การศึกษาและเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของมันอย่างลึกซึ้ง ฉะนั้น ผมคิดว่า ไม่มีใครเดาได้หรอกครับว่าอะไรจะเกิดขึ้น การมีแผนสำรองที่ดี จะช่วยทำให้เราไม่เสียเวลาไปเปล่าๆ ครับ
สิ่งที่ได้จากปริญญาเอกได้นำมาใช้ในปัจจุบันอย่างไร
ปัจจุบันผมเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก (Post-doctoral researcher) ซึ่งได้เอาความรู้ที่ได้จากปริญญาเอก มาต่อยอดในการทำวิจัยด้านอื่นๆ ได้มากขึ้น อีกทั้งเนื่องด้วยงานผมเป็นเชิงประยุกต์ใช้ (Application) ผลงานที่ได้จากตอน ป.เอก ก็กำลังจะไปประยุกต์ใช้จริงกับบางโรงงานในประเทศญี่ปุ่น และไม่แค่ผลงานวิจัยเท่านั้น ทัศนคติและประสบการณ์ที่ได้ตอนเรียน ป.เอก เช่น การไม่คิดมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นก็ช่วยให้ชีวิตการเป็นนักวิจัยของผมในตอนนี้ มีความสุขมากขึ้นครับ
ทำอย่างไรจึงได้มาทำ post–doc ต่อ? การทำ post-doc ต่างจากตอนเรียนปริญญาเอกอย่างไร?
ผมมีแพลนในการทำ post-doc ตั้งแต่ตอนที่ใกล้ๆจบแล้วครับ ฉะนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การหาทุนวิจัยครับ ซึ่งมีการแข่งขันค่อนข้างสูงมากครับ ฉะนั้น research proposal จะต้องมี impact สูงมาก หลังจากนั้นก็ลองสมัครอยู่หลายๆทุนครับ จนได้มาในที่สุด
การทำ post-doc จะต่างจากตอนเรียนคือ ตอนนี้อาจารย์เขาจะไม่ยุ่งกับเราแล้วครับทุกอย่างเราต้องคิดเอง ทำเอง เพราะเขาถือว่าเราไม่ใช่เด็กแล้ว
การที่จบ Ph.D. ได้คือ คุณพร้อมที่จะเดินได้ด้วยตัวคุณเองในสายงานนี้แล้ว ผมว่าก็สนุกดีนะ มีอิสระในทางความคิดดี บางทีได้ไอเดียอะไรใหม่ๆก็ลงมือทำเองได้เลยครับ
————————-
เพจก็แค่ปริญญาเอกขอขอบคุณ ดร.เก่ง ที่เก่งสมชื่อมากๆ ค่ะ
แขกรับเชิญคนต่อไปจะเป็นใคร ติดตามได้ที่นี่ เร็วๆนี้