สวัสดีค่ะ แนะนำตัวหน่อยค่ะ
โฟส สุขพิชญา จรัญชล ค่ะ จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนศรียานุสรณ์ จ.จันทบุรี และจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตอนนี้กำลังศึกษาปริญญาเอก สาขาฟิสิกส์ ณ University of Alberta ประเทศแคนาดาค่ะ
ทำไมจึงตัดสินใจเรียนปริญญาเอกคะ
จุดเริ่มต้นเกิดจากในสมัยเด็กๆ โฟสชอบดูการ์ตูน และมีความใฝ่ฝันอยากที่จะเป็นนักบินอวกาศ หลังจากนั้นจึงได้ค้นพบว่าตนเองชอบวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะชอบสาขาไหน เมื่อโฟสเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทำให้โฟสได้ตกหลุมรักฟิสิกส์เข้าอย่างจัง หลังจากได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการสอวน.สาขาฟิสิกส์ หรือโครงการส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ค่ะ
พอจบระดับมัธยมศึกษา โฟสได้มีโอกาสรับทุนเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและโท จากโครงการพสวท. หรือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โฟสได้รับทุน แบบไม่มีข้อผูกมัด จากประเทศแคนาดา จึงตัดสินใจมาศึกษาต่อปริญญาเอกที่นี่ การเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่ต่างประเทศ เป็นอีกช่องทางในการเปิดโลกทัศน์มุมมองการทำวิจัยในระดับนานาชาติมากขึ้นค่ะ
โฟสเตรียมตัวเพื่อสมัครเรียนปริญญาเอกอย่างไรบ้างคะ
โฟสเริ่มด้วยการดูงานวิจัยของแลปต่างๆ ที่สอดคล้องกับงานที่ทำตอนที่เรียนปริญญาตรีและโทค่ะ โฟสคิดว่า หากได้มีโอกาสเรียนในประเทศที่ไม่เคยไป ก็ย่อมได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆมากขึ้นค่ะ โฟสจึงทำการค้นข้อมูลและพบว่า สถาบันนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศแคนาดา มีการทำวิจัยในด้านที่โฟสทำมาตั้งแต่ปริญญาตรี ซึ่งสถาบันนี้ตั้งอยู่ใน University of Alberta เป็นมหาลัยติดอันดับหนึ่งในห้าของประเทศแคนาดา เมื่อเข้าไปเช็คข้อมูลในเว็บภาควิชา พบว่า มีทุนมากมายเลยค่ะ จากนั้นโฟสจึงยื่นสมัครมาที่นี่ที่เดียว
ตอนยื่นสมัครต้องเตรียมตัวอย่างไร
ในด้านการเตรียมตัวนั้น โฟสก็เตรียมตัวสอบภาษาอังกฤษ และเตรียมเอกสารอื่นๆ ในเวลาเดียวกันค่ะ โดยเอกสารหลักๆ คือ คะแนนภาษา, CV, Statement of Purpose, Letter of recommendation 3 ฉบับ (ทางไปรษณีย์), Transcript เป็นต้น
สิ่งสำคัญในตอนนั้น นอกจากเรื่องคะแนนภาษา ที่จะต้องได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว คือ การเช็คเรื่อง Letter of recommendation ค่ะ เพราะทางมหาวิทยาลัยต้องการเเบบส่งไปรษณีย์ โดยควรจะไปติดต่ออาจารย์เนิ่นๆ เพื่อจะได้มีเวลาและเอกสารส่งไปถึงมหาวิทยาลัยครบตามเวลาที่กำหนดค่ะ
โฟสกำลังเรียนปีสองของระดับปริญญาเอกค่ะ โดยกำลังเรียนวิชาตัวสุดท้ายในเทอมนี้ และผ่านการเรียนรู้กระบวนการต่างๆ ในแลปมากมาย จนเห็นภาพรวมของงานวิจัย แต่เนื่องจากงานวิจัยเป็นทางด้านชีวฟิสิกส์ จึงทำให้ต้องศึกษาเรื่องราวมากมายในทางด้านชีววิทยาและเคมี โดยเทอมที่แล้วค่อนข้างหนักมาก เพราะว่า โฟสเข้าแลปชีวเคมีทุกวันเลย ทั้งๆ ที่เป็นเด็กฟิสิกส์ แต่แล้วเมื่อเรียนรู้กับมันและเวลาผ่านไปก็พบว่า ชีวเคมีก็เป็นอะไรที่สนุกเช่นกันค่ะ
เมื่อมาเรียนปริญญาเอกแล้ว มีการแบ่งเวลาในชีวิตอย่างไรบ้างคะ
โฟสชอบคำพูดนึงที่มีใจความประมาณว่า “คนเราทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน เราสามารถแบ่งเวลาได้เป็น 8 ชั่วโมงสำหรับการนอน 8 ชั่วโมง สำหรับการเรียน และ ทำงาน และจะมีเวลาอื่นๆอีก 8 ชั่วโมง” โฟสก็พยายามใช้สูตรนี้เช่นกันค่ะ แต่ว่า บางครั้งช่วงเวลาสำหรับการเรียน และทำงานในแลปมันอาจมากกว่า 8 ชั่วโมง อย่างเทอมที่แล้วมีโหดสุดคือ ทำแลป 13 ชั่วโมงรวด มีเวลาพักรวมๆในนี้ประมาณเพียงครึ่งชม.เท่านั้น อีกวันก็ทำ 11 ชั่วโมงรวมสองวันทำแลป 24 ชั่วโมงพอดีเลยค่ะ
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หากดูตามสูตรเวลาข้างต้น แม้ว่าจะเรียนและทำงานถึง 13 ชั่วโมงก็แสดงว่า โฟสยังมีเวลาอื่นๆอีกถึง 3 ชั่วโมงค่ะ และมันก็คงไม่ได้โหดขนาดนี้ในทุกวัน เพราะปกติก็ประมาณ 10 ชั่วโมงกำลังดี
ดังนั้น การบริหารเวลาของโฟสในเทอมนี้ก็คือ 24 ชั่วโมงของวัน โฟสจะแบ่งเวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงเอาไว้สำหรับตนเองในทุกๆวัน เป็นของขวัญให้กับตนเองสำหรับสิ่งที่อยากทำ เช่น การร่วมกิจกรรมในมหาวิทยาลัยที่ช่วยเสริมสร้างประสบการณ์มุมมองใหม่ๆที่อาจมีประโยชน์ในอนาคต การสวดมนต์ทำสมาธิ การนั่งพักชมธรรมชาติให้สมองโลดแล่นในปาร์คข้างๆ แลป หรือการออกกำลังกายดูแลสุขภาพตนเอง โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะพยายามออกกำลังกายครั้งละครึ่งชั่วโมง สัปดาห์ละสองครั้ง โดยบางครั้งไอเดียดีๆ ในการทำแลปของโฟส มันก็มาจากตอนที่กำลังว่ายน้ำค่ะ
ถ้าเราเลือกที่จะจัดเวลาก่อน โฟสคิดว่า เราก็จะสามารถเป็นผู้เลือกและจัดการเวลา แทนที่ว่า เวลาจะจัดการเราค่ะ
ช่วยนิยามคำว่า Super Busy ในแบบของนักศึกษาปริญญาเอกหน่อยค่ะ
ขอแบ่ง Super Busy เป็นสองแบบค่ะคือ หนึ่ง “Super Busy” ที่ใจด้วยความคิดมโนต่างๆ และ สอง “Super Busy” ด้วยการทำสิ่งต่างๆมากมาย โดยการลงมือทำ
โฟสนึกถึงคำพูดนึงของ อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวมีใจความประมาณว่า “ถ้าข้าพเจ้ามีเวลา 6 ชั่วโมงในการตัดต้นไม้ ข้าพเจ้าจะใช้ 4 ชั่วโมงแรกไว้ลับขวาน”และในวันนี้ที่เรากำลังบอกตนเองว่า “Super Busy” นั้น เรากำลัง “Super Busy” กับการใช้เวลาทั้ง 6 ชั่วโมงในการตัดต้นไม้อยู่หรือเปล่า
โฟสเชื่อว่า คนเราทุกคนมีศักยภาพที่จะผ่านเรื่องราวมากมายไปได้ ขอเพียงแค่มีสติ มีการวางแผนที่ดี วางแผนที่เฉียบคมมองเห็นเป็นรูปธรรม จากนั้นก็ตั้งหน้าตั้งตาลงมือทำ ณ วินาที อย่างมีความสุข
ถึงแม้ว่าจะดูว่าตัวเราจะ “Super Busy” จากการทำสิ่งต่างๆมากมาย แต่เราจะไม่ “Super Busy” ที่ใจด้วยความคิด มโนภาพมากมายถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ลงมือทำไปอย่างเต็มที่ทุกวินาทีตรงนี้ ด้วยใจที่เบาๆ แล้วผลจะเป็นอย่างไร นั่นแหละค่ะ ของจริง
คิดว่าสิ่งที่ยากในการเรียนปริญญาเอกคืออะไรคะ
สิ่งที่ยากในการเรียนปริญญาเอกสำหรับโฟสคือ “การชนะใจตนเอง”ค่ะ
โฟสขอขอบคุณที่งานวิจัยที่ทำ ทำให้สัมผัสถึงการทำงานแบบจริงๆ โฟสได้คลุกคลีกับพี่ๆ นักวิจัยอาวุโสและพี่ๆ ที่มาทำวิจัยหลังปริญญาเอกมากมาย
แลปของโฟสค่อนข้างเป็นทางด้านบูรณาการ จึงได้เรียนรู้เรื่องราวมากมายตั้งแต่ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ไปจนกระทั่งถึงการเขียนโปรแกรม ในเวลาไม่ถึงปีแรกของการทำแลป โฟสใช้สมุดแลปเล่มใหญ่ 200 หน้าไปหมดเกลี้ยงเลยค่ะ เป็นเด็กฟิสิกส์ แต่ก็ต้องมาเรียนรู้เรื่องการสังเคราะห์โปรตีน การทำปฎิกิริยาต่างๆ และอื่นๆ
รุ่นพี่ก็มีเรียนจบปริญญาเอกภายใต้อาจารย์ที่ปรึกษาทั้งสิ้น 3 คน และใช้เวลาอย่างต่ำ 6 ปีกันทั้งนั้น
ในตอนแรกๆ ที่มาเรียนนั้น มันดูเหมือนว่า อะไรมันก็ดูยากไปซะหมด ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านเนื้อหาวิชาการ การลงมือทำแลป การแก้ปัญหาในแลป การเรียนในสถานที่ต่างภาษาและวัฒนธรรม
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ความยากทั้งหมดที่ผ่านมานั้น มันจะไม่ยากเลย ถ้าหากเราชนะใจตนเองค่ะ ค่อยๆทำไป ค่อยๆเรียนรู้ไปด้วยใจเบาๆสบายๆ ตราบใดที่ยังมีลมหายใจและไม่หยุดเดิน อะไรๆ มันก็สามารถที่จะเป็นไปได้ค่ะ
ในมุมมองของโฟส การเรียนปริญญาเอกก็เปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้ยืนต้นค่ะ ซึ่งย่อมใช้เวลาไม่น้อย กว่าที่ต้นไม้ต้นนั้นจะเติบใหญ่ ต้นไม้ยืนต้น ในยามที่เป็นต้นกล้าก่อนที่จะเเข็งแรงสามารถลงดินได้นั้น เราย่อมดูแลมัน ค่อยๆรดน้ำเบาๆ ไม่มากไป ไม่น้อยไป ไม่ให้โดนแดดแรงจัด เหมือนโฟสในช่วงปีแรกที่มาเรียนปริญญาเอก ขอขอบคุณกำลังใจจากครอบครัวและเพื่อนๆทุกๆคน ในช่วงแรกๆ โน่นก็ไม่เข้าใจ นี่ก็ไม่เข้าใจ มีการปรับตัวมากมาย และในเรื่องเนื้อหาวิชาการก็เน้นทยอยอ่าน ทยอยเรียนโดยรู้กำลังตน เหมือนกับการรดน้ำต้นไม้ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากไปหรือน้อยไป ใส่ปุ๋ยบ้าง แล้ววันนึงต้นไม้ก็จะโตและแข็งแรงขึ้นค่ะ
เมื่อปีแรกผ่านไป ต้นกล้าต้นนี้ก็สูง ลำต้นพอตั้งได้ดี ก็สามารถลงดินได้ สิ่งที่เราทำเสมอเพื่อให้ต้นไม้โตขึ้น ก็คือการรดน้ำใส่ปุ๋ย ในปริมาณที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม ต้นไม้ต้นนี้ก็จะเติบใหญ่ แข็งแรง มั่นคง สามารถเป็นที่พักพิงและมอบอากาศบริสุทธิ์แด่เหล่าสิ่งมีชีวิตมากมาย
ซึ่งการที่เราจะทำมันได้อย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่นาน ในมุมมองของโฟสก็คือ การสนุกกับมันหรือการรู้ว่าผลลัพธ์มันจะมีประโยชน์ต่อผู้คนมากมาย
ในเส้นทางการเรียนปริญญาเอกนั้น มันค่อนข้างใช้เวลาหลายปี แต่หากเราสนุกกับมันแล้ว เราย่อมทำมันได้เรื่อยๆอย่างมีความสุขค่ะ ในทุกวันนี้เวลาโฟสทำแลป บางครั้งก็ฟังเพลงไปด้วย หากไม่มีคนอยู่ในแลปก็อาจร้องเพลง แทบเรียกได้ว่า เกือบเปิดคอนเสิร์ตกันได้เลย จึงทำให้บางครั้งเพลิน ดึกดื่นจนลืมเวลาเลยทีเดียวค่ะ
เมื่อจบปริญญาเอกแล้ว คิดว่าจะทำอะไรเป็นอย่างแรกคะ
สิ่งแรกที่โฟสจะทำหลังจากจบปริญญาเอกคือ จะไปขอบคุณผู้ชายและผู้หญิงคู่นึงที่รักโฟสและโฟสรัก ซึ่งคือ คุณพ่อและคุณแม่ค่ะ หากไม่มีท่านทั้งสองคน ก็คงไม่มีโฟสในวันนี้ ขอบคุณการเลี้ยงดู การอบรมสั่งสอนจนเติบใหญ่ ขอบคุณกำลังใจในทุกๆเวลา และขอบคุณที่ให้โฟสได้เกิดมาเป็นลูกของพ่อกับแม่ค่ะ
ฝากอะไรถึงชาว Just a PhD หน่อยค่ะ
โฟสขอส่งกำลังใจให้กับทุกๆท่านนะคะ ค่อยๆทำไป ค่อยๆเรียนรู้ไปด้วยใจเบาๆสบายๆ ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ อะไรๆมันก็สามารถที่จะเป็นไปได้ค่ะ
เพจก็แค่ปริญญาเอก ขอขอบคุณโฟส กับมุมมองและข้อคิดดีๆ ในการเรียนปริญญาเอก ที่มาแบ่งปันกับเราที่นี่ แขกรับเชิญคนต่อไปจะเป็นใคร ติดตามได้ที่นี่ที่เดียว