ว่าที่ร้อยตรี ดร. ภาณุพงศ์ ศิริ จบการศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรังสิต ในวัยเพียง 30ปี โดยได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรังสิต ชื่อทุนเรียนดี ประสิทธิ์-คุณหญิงพัฒนา อุไรรัตน์ ปัจจุบัน ดร.ภาณุพงศ์ เป็น ปลัดอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันนี้ ดร.ภาณุพงศ์ ยินดีมาแบ่งปันประสบการณ์การเรียนปริญญาเอกให้กับ Just a PhD Blog หลังจากติดตามเพจก็แค่ปริญญาเอกมานาน ไปติดตามเรื่องราวของปลัดหนุ่มคนนี้กันค่ะ ….
ทำไมถึงมาเรียนปริญญาเอก?
หากถามว่าทำไมถึงเรียนปริญญาเอก คงต้องขออนุญาตย้อนกลับไปสมัยเรียนระดับมัธยมศึกษาสักนิดนึงนะครับ คือ ผมจบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา สายวิทย์-คณิต เกรดเฉลี่ย 1.5 ซึ่งเรียกว่าห่วยสุดๆครับ กว่าจะจบ ม.6 ต้องแก้ 0 แล้วทำรายงานส่งอาจารย์หลายรอบกว่าจะสอบผ่าน จากนั้น พ่อผมจึงพูดประโยคนึง ว่า “ ลูกจะกล้ากลับมางานคืนสู่เหย้าของโรงเรียนไหม ถ้าลูกไม่มีการศึกษาที่ดี ไม่มีงานการทำที่ดี อายเพื่อนๆเขานะลูก” ซึ่งเป็นข้อคิดที่เปลี่ยนชีวิตของผมเลยครับ
จากนั้น ผมก็กลับมาตั้งใจเรียนในสายวิชาที่ชอบ นั่นคือ สายสังคมศาสตร์ ซึ่งผมก็เลือกเรียนในวิชาที่เกี่ยวกับรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เพราะมีความฝันอยากรับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอ ครับ และเมื่อผมได้เรียนในสาขาวิชาที่ใช่สำหรับตัวเราแล้ว จึงมีความมุ่งมั่นอยากจะเรียนต่อในระดับที่สูงที่สุดนั่นคือระดับปริญญาเอก ครับ เพื่อที่จะได้รู้ถึงแก่นแท้ของสาขาวิชาเหล่านี้ และเพื่อต้องการนำความรู้ไปเผยแพร่ต่อให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ผมทำงาน อีกทั้ง ผมชอบการสอนหนังสือ ก็จักได้นำเอาองค์ความรู้ในระดับปริญญาเอก ผนวกเข้ากับการปฏิบัติงานในพื้นที่จริง ไปสอนนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ด้วยครับ
ระหว่างเรียนปริญญาเอก ได้พัฒนาทักษะอะไรบ้าง?
ต้องขอบอกก่อนเลยนะครับว่า การเรียนในระดับปริญญาเอก ทักษะที่ผมใช้เสมอๆ ก็ดัดแปลงมาจากทักษะของนักปกครอง ตำแหน่งปลัดอำเภอ
ขอเล่าสู่กันฟังสัก 2 ทักษะ นั่นคือ
1. ทักษะเรื่องความอดทนอดกลั้นผมต้องฝึกความอดทน ทั้งอดทนจากการเรียนที่หนัก การอ่านหนังสือที่มาก อีกทั้ง ที่สำคัญที่สุดนั่นคือ การอดทนต่อแรงต้านจากบรรดาคณาจารย์ ครับ ซึ่งเป็นการฝึกทักษะในการยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่นและเปิดสมองให้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
2. ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ คือ การเรียนปริญญาเอกเราจะเรียนแบบตัวคนเดียวผมว่าไม่รอดครับ ต้องมีกลุ่มเพื่อนที่จะคอยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งเวลาใกล้สอบ และที่สำคัญเวลาเราท้อ เพื่อนฝูงนี่แหละครับที่จะเป็นแรงผลักดันให้แก่เรา อีกทั้ง เรื่องมนุษยสัมพันธ์ที่ผมใช้รวมไปถึงพี่ๆเจ้าหน้าที่ของหลักสูตร ไม่ว่าจะวันขึ้นปีใหม่ วันเกิด ฯลฯ ผมก็แสดงน้ำใจมีสิ่งของเล็กๆน้อยไปให้พี่ๆเจ้าหน้าที่ เพราะอย่ามองข้ามนะครับ บางทีจะเรียนจบหรือไม่ ปัจจัยหนึ่งก็มาจากพี่ๆเจ้าหน้าที่ ที่คอยอำนวยความสะดวกและติดต่อประสานงานคณาจารย์นะครับ อันนี้เทคนิคครับ
ระหว่างเรียน พบเจออุปสรรค ความท้าทายอะไรบ้าง?
หากจะกล่าวถึงอุปสรรคและความท้าทาย ไม่ว่าจะทำสิ่งใดในโลกนี้หากต้องการประสบความสำเร็จก็ต้องพบเจอกับอุปสรรคเป็นแน่แท้ครับ การเรียนปริญญาเอกก็เช่นกัน มีทั้งอุปสรรคและความท้าทาย ดังนี้ครับ
1.เรื่องความพร้อมของทั้งร่างกาย จิตใจ และปัจจัย(เงิน)ในการเรียน ซึ่งผมเองนั่นบอกก่อนเลยครับว่าต้องทำงานไปด้วยและส่งเสียตัวเองเรียนไปด้วย ดังนั้น นี่คืออุปสรรคและความท้าทายครับที่จะต้องหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายส่วนต่างที่นอกเหนือจากการได้ทุน ต่อมาเรื่องร่างกายจิตใจ บางทีมีท้อแท้ เหนื่อย เครียด ซึ่งเป็นปกติที่เราต้องพบเจอไม่ว่าจะทำอะไร แต่สำหรับผมที่ก้าวผ่านมาได้ ก็ด้วยการมองไปที่เป้าหมาย และเพื่อต้องการสร้างความสุขและความภูมิใจแก่ครอบครัว ครับ
2. เรื่องของการเอาชนะใจคณาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงทำดุษฎีนิพนธ์ ซึ่งถือเป็นช่วงปราบเซียนก็ว่าได้ เพราะเราต้องทำงานร่วมกับคณาจารย์อีก 5 ท่าน ซึ่งแต่ละท่านก็มีแนวคิดและคำแนะนำที่ต่างกันออกไป ทำอย่างไรเล่าครับที่จะเอาชนะใจอาจารย์และทำให้อาจารย์เมตตาแก่เรา อันนี้ก็เป็นเทคนิคส่วนบุคคลนะครับ แต่สำหรับผมมองว่า “อายครูบ่รู้วิชา” ดังนั้น ผมจะเข้าหาอาจารย์และติดต่ออาจารย์ทุกคนตลอดเวลา ท่านแนะนำอะไรก็ไปปรับแก้แล้วกลับมานำเสนอท่าน ไม่ใช่หายหน้าไปเป็นปีๆแล้วกลับมา จึงนับเป็นความท้าทายมากๆครับ เพราะอาจารย์แต่ละคนแนะนำไม่เหมือนกัน บางทีแก้ไปแล้วอีกท่านให้ปรับ แก้ไปแก้มาหลายๆสิบรอบ ดังนั้น ต้องเอาชนะใจอาจารย์ให้ได้ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อให้ท่านเหล่านั้นเห็นถึงความตั้งใจและสุดท้ายท่านเหล่านั้นจะมีเมตตาจิตในความเป็นครูครับ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรียนสำเร็จมีอะไรบ้าง
การเรียนปริญญาเอกให้สำเร็จ คงไม่มีสูตรตายตัวนะครับ แต่สำหรับผมแล้วนั่น มีปัจจัยหลายสิ่งอย่างที่ผนวกเข้ากัน เช่น เรื่องความพร้อมของร่างกายจิตใจ เวลา เงินทอง เพื่อนฝูงฯลฯ แต่ที่สำคัญที่สุดและเป็นแรงผลักดัน นั่นคือ “ปัจจัยด้านครอบครัว” ครับ ครอบครัวต้องเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไร เพราะบางทีเราต้องเบียดบังเวลาของครอบครัวไปใช้สำหรับการเรียน ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจ โดยเฉพาะใครที่มีภรรยาและลูกแบบผม ก็ต้องยิ่งทำความเข้าใจให้เขาเห็นถึงเป้าหมายของเราครับ และเมื่อครอบครัวเข้าใจที่นี่มันจะกลายเป็นแรงผลักดันให้เราไปสู่เป้าหมายความสำเร็จที่ตั้งใจไว้ครับ
ปัจจุบันทำงานอะไร และได้ใช้ทักษะ ความรู้จากการเรียนมาประยุกต์ใช้กับงานหรือไม่ อย่างไรบ้าง?
ผมรับราชการ ในตำแหน่ง ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) สังกัดที่ทำการปกครองอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยรับผิดชอบงานศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ครับ อีกทั้งยังเป็นอาจารย์ (พิเศษ) ในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน หลายแห่ง สอนในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ในสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ครับ
ซึ่งความรู้ที่ได้รับจากการเรียนในระดับปริญญาเอก ผมได้นำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานทั้งในเรื่องของการนำเอาทฤษฎีมาสู่การปฏิบัติ เพราะ งานที่ผมทำคืองานราชการนับว่าเป็นงานที่ต้องเป็นกลไกแขนขาของรัฐบาล ซึ่งความรู้จากทฤษฎีในการเรียนปริญญาเอก นำมาเป็นพื้นฐานในการทำงานภาคปฏิบัติ อีกทั้งเรื่องของการนำเอาความรู้ไปเผยแพร่บริการวิชาการแก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตย การให้ความรู้แก่บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯลฯ ซึ่งผมเองก็ภาคภูมิใจครับ ที่ว่าเราได้ทำงานรับใช้ประเทศชาติบ้านเมือง และรับใช้ประชาชน บนพื้นฐานขององค์ความรู้ ครับ
สุดท้าย อยากฝากอะไรไว้ให้ผู้ที่กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่บ้าง?
สำหรับผู้ที่กำลังเรียนปริญญาเอก คงไม่มีอะไรฝากทิ้งท้าย นอกจากคำว่า “อดทน อดทน และอดทน” ผมเชื่อเหลือเกินครับว่า คนเก่งมาเรียนปริญญาเอกอาจจะไม่จบก็ได้ แต่คนที่อดทนและอึดเท่านั้นครับที่จะฝ่าฟันและคว้าใบปริญญาเอกมาครอบครองได้ ดั่งเช่นผมที่ไม่ใช่คนเก่ง แต่ผมมีแรงผลักดันเพื่อครอบครัว พ่อแม่ และความอดทน ดังนั้น คิดถึงพ่อแม่ ครอบครัวให้มากๆเวลาท้อแท้ครับ แล้วท่านจะมีแรงฮึดสู้…แล้วสุดท้าย ท่านจะได้ตะโกนดังๆเสียทีเมื่อเรียนจบ ว่า… “ก็แค่ปริญญาเอก” ครับ
ขอบคุณการแบ่งปันประสบการณ์กับเราที่นี่ค่ะ เพจก็แค่ปริญญาเอก ยินดีเป็นพื้นที่แห่งการแบ่งปันประสบการณ์การเรียนปริญญาเอก
แขกรับเชิญคนต่อไปจะเป็นใคร ติดตามได้ที่นี่ที่เดียว