“ไม่สุกอย่าบ่ม” ให้เวลากับความคิด ::: แอ้ม เล้า*


พ่อสอนฉันเสมอ อย่าเร่งตัวเอง “ไม่สุกอย่าบ่ม”

ฉันไม่เข้าใจคำๆนี้ จนเวลาผ่านไปหลายปี จนเรียนจบ PhD ได้เขียนหนังสือ และมาทำงานเป็นอาจารย์

แต่เล็กจนโตฉันเป็นคนวางเป้าหมายให้กับชีวิต ฉันคิดว่าคนเราต้องวางแผนไว้สูงๆ พยายามมากๆ และอะไรๆก็จะประสบความสำเร็จเอง ฉันเป็นคนช่างฝัน แต่ก็ไม่ได้เพ้อเจ้อมากนักเพราะทุกๆครั้งก็จะพยายามทำเต็มที่ เพื่อให้บรรลุฝันนั้น

ส่วนมากของชีวิตวัยรุ่น วัยเรียน ก็ผ่านมาได้ด้วยความมุ่งมั่นแบบนี้

จนถึงวันหนึ่งที่เรียนปริญญาเอกและกลับมาเก็บข้อมูลภาคสนามที่ประเทศไทย โลกความเป็นจริงไม่เหมือนการเรียนในห้องเรียน ไม่ได้มีการสอบมิดเทอม ไม่มีการสอบปลายภาค

การเป็นเด็กเกรดดีไม่ได้เตรียมตัวฉันสำหรับการเก็บข้อมูลหนึ่งปีที่เมืองไทย งานวิจัยของฉันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของกระแสโลกาภิวัฒน์และระบบประกันคุณภาพของอุดมศึกษาไทย

ฉันสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ ข้าราชการ นักวิชาการ พนักงานมหาวิทยาลัย มากกว่า 80 คน ฉันได้รับความช่วยเหลือ เมตตา และมิตรภาพจากผู้ใหญ่ใจดีหลากหลายท่าน และได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆมากมาย

กระนั้นการเก็บข้อมูลเป็นช่วงเวลาที่ยากมาก ฉันมักเล่าติดตลกว่า มันเป็นสิบสองเดือนที่เลวร้ายที่สุดในชีวิต ฉันไม่ชินกับระบบที่ต้องพินอบพิเทา พยายามเข้าหาผู้ใหญ่เพื่อให้ได้มาถึง “ข้อมูล”

ฉันร้องไห้บ่อยมาก และถามตัวเองว่ามันคุ้มไหมที่จะต้องฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านี้ เพื่อให้ได้เป็น ดร. ความท้อแท้ทำให้ฉันคิดอะไรไม่ออก ไม่อยากวิเคราะห์ ไม่อยากฟังเทปเหล่านั้น

ฉันเครียด

พ่อแม่พูดย้ำแล้วย้ำเล่า “แอ้มพักเถอะลูก คิดไม่ออกไม่ต้องคิดอย่าบ่ม หยุดพัก ไปเที่ยว ขอร้องอย่างเดียวอย่าลาออก” แม่ให้กำลังใจว่า “ทำเพื่อตัวหนูเองนะลูก”

ฉันดื้อ

ฉันบินกลับไปนิวยอร์กเพื่อบอกกับอาจารย์ที่ปรึกษา ศาสตราจารย์ Gita Steiner-Khamsi ณ Teachers College มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ว่าฉันไม่สามารถเขียนได้ สิ่งที่เจอในเมืองไทยไม่ตรงทฤษฎีที่เราวางไว้ ที่ปรึกษาฉันเป็นผู้ที่เคร่งครัดในหลักการ และเป็นคนที่ทุ่มเททุกอย่างเต็มตัว ท่านผลักดันให้ฉันทำงานหนัก หนักมาก จนบางครั้งหนักเกินไป

ท่านมองหน้าฉันบอกว่า “ถ้าทฤษฎีที่คิดไว้ไม่ได้อธิบายเมืองไทย เธอก็ใช้อันที่เธอคิดว่าเหมาะสม”

แต่ฉันก็ไม่รู้จะเริ่มที่ไหนอยู่ดี

ท่านถามต่อว่า คุยไปกี่คน กี่มหาวิทยาลัย อะไรเป็นประเด็นสำคัญ อะไรไม่เหมือนที่คิดไว้

ฉันตอบได้เป็นฉากๆ

อาจารย์บอกว่า “นี่ไง เริ่มจากบท 3 วิธีการวิจัย”

ก่อนลาจากอาจารย์ ท่านบอกว่า “แอ้ม ไปเที่ยวสิ พักบ้าง หายเหนื่อยแล้วค่อยเริ่ม ไม่ต้องรีบ”


ฉันตัดสินใจกลับไปที่ Institute of Education, University of London เพื่อเป็น visiting scholar ฉันเรียนจบปริญญาโทที่นี่ และฉันคุ้นชินกับบรรยากาศวิชาการที่นั่น ระหว่างนั้น ฉันได้ไปปรึกษางานกับProfessor Jennifer Ozga ที่มหาวิทยาลัย ออกฟอร์ด ผู้เชียวชาญด้าน รัฐ และ คุณภาพการศึกษา ท่านสอนว่า “แอ้ม ไม่ต้องเขียนทุกอย่างที่เธอเจอ ไม่ต้องใช้ทุกทฤษฎี ตอบให้ตรงคำถามเขียนให้จบ ความคิดค่อยๆพัฒนาหลังจากนั้น”

ฉันมั่นใจมากขึ้นและใช้เวลาอีกไม่นานในการเขียน หลังจากเรียนจบฉันได้ทำงานเป็น Post Doctoral Fellow ที่ มหาวิทยาลัยฮ่องกง และได้ต่อยอดทางความคิดจากวิทยานิพนธ์มาเป็น หนังสือ A Critical Study of Thailand’s Higher Education Reforms: The culture of borrowing ซึ่งได้รับการตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ Routledge ในปี 2015

ฉันขอบคุณ พ่อ แม่ น้องอุ้ม น้องอ๋อม ครอบครัว เพื่อนๆ และอาจารย์ทุกท่านที่ชี้แนะและให้กำลังใจเสมอมา ขอบคุณที่ให้ “เวลา” ที่ฉันจะได้ค่อยๆพัฒนาความคิดของตน

เรียนจบเอกแล้วแต่ชีวิตของการทำงานวิชาการเพิ่งจะเริ่มต้น

“ไม่สุกอย่าบ่ม” คุณให้เวลากับความคิดมากพอหรือยัง?

* แอ้ม เล้า หรือ ดร รัตนา แซ่เล้า ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ไปศึกษาต่อปริญญาโท ด้านนโยบายการพัฒนา London School of Economics and Political Science (LSE), ปริญญาโทด้านการวิจัยทางสังคมและการศึกษา UCL Institute of Education, University of Londonจบ ปริญญาเอกด้าน การศึกษาเปรียบเทียบ Comparative and International Education, Teachers College มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ต่อจากนั้นได้เข้าทำงานเป็น Post Doctoral Fellow ณ มหาวิทยาลัยฮ่องกง เป็นผู้แต่งหนังสือเรื่อง A Critical Study of Thailand’s Higher Education Reforms: The culture of borrowing ปัจจุบันเป็น อาจารย์ วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ติดตามอ่าน Blog ประสบการณ์การเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตได้ที่

http://amplao.com

สารคดีหนังสือ A Critical Study of Thailand’s Higher Education Reforms: The culture of borrowing ได้ที่

 

 

 

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s