1. การสอบสัมภาษณ์เข้าเรียนปริญญาเอกมีความสำคัญ ถึงแม้มหาวิทยาลัยจะพิจารณาเอกสารการสมัครอื่นๆ เช่น ประวัติการเรียน การทำงาน เค้าโครงการวิจัย หรือ ผลการสอบภาษาอังกฤษ ควบคู่ไปด้วย แต่การสอบสัมภาษณ์นับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่มหาวิทยาลัยหรืออาจารย์ที่ปรึกษาจะได้พบปะพูดคุย พร้อมกับประเมินความสามารถและศักยภาพของผู้สมัคร ซึ่งโดยส่วนใหญ่มีผลมากกับการรับเข้าเรียน
2. ระหว่างการสัมภาษณ์ หน้าที่ของคณะกรรมการหรืออาจารย์ที่ปรึกษา คือ ประเมินความเป็นไปได้ว่าผู้สมัครคนนี้จะสามารถศึกษาในระดับปริญญาเอกสำเร็จ ภายใต้ข้อกำหนดต่างๆของมหาวิทยาลัย อีกทั้งต้องประเมินว่าคณะวิชาของตนนั้น มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ สามารถให้คำปรึกษาในหัวข้อการวิจัยที่ผู้สมัครสนใจได้
3. รูปแบบการสอบสัมภาษณ์เข้าเรียนปริญญาเอก มีความแตกต่างกันในแต่ละสถาบัน สาขาวิชา และประเทศ มีทั้งรูปแบบที่เป็นทางการ เช่น ผู้สมัครต้องนำเสนอเค้าโครงการวิจัย ตอบคำถามกับคณะกรรมการฯ และคณะกรรมการฯประเมินผลการตัดสินร่วมกัน และ รูปแบบที่ไม่เป็นทางการ เช่น ผู้สมัครอาจเพียงแค่พบปะพูดคุยกับว่าที่อาจารย์ที่ปรึกษาในบรรยากาศที่รีแลกซ์ เช่น ในร้านกาแฟภายในมหาวิทยาลัย เป็นต้น
4. ไม่ว่าการสัมภาษณ์จะเกิดขึ้นในบรรยากาศแบบใด ผู้สมัครจำเป็นต้องเตรียมประเด็นการพูดคุย ซักซ้อมการนำเสนอ หรือ การถาม-ตอบให้พร้อม อย่าประเมินค่าความสำคัญของการพบปะพูดคุย และสัมภาษณ์ ไว้ต่ำจนเกินไป เนื้อหาสาระของบทสนทนาล้วนมีความสำคัญ เพราะจะเป็นสิ่งที่คณะกรรมการฯ และอาจารย์ใช้เพื่อประเมินศักยภาพ ความรู้ และทักษะของผู้เรียนว่าเพียงพอหรือไม่ที่จะเรียนและทำงานวิจัยในสาขาวิชานั้นๆ ได้สำเร็จ เพราะมหาวิทยาลัยหรืออาจารย์ที่ปรึกษาเองก็จะต้องพิจารณาด้วยว่า การลงทุน ลงแรง และเวลา ในการให้คำปรึกษา ดูแลโครงการวิจัยกับผู้สมัครคนนี้จะคุ้มค่า และในที่สุดจะสามารถสร้างคุณค่าและคุณประโยชน์ให้กับสาขาวิชาและแวดวงวิชาการได้
5. ประเด็นที่ผู้สมัครน่าจะต้องเตรียมเพื่อตอบคำถาม ได้แก่ ประวัติการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน เหตุผลในการเรียนต่อ เป้าหมายหรือแผนภายหลังการจบปริญญาเอก ความสนใจในงานวิชาการ ประสบการณ์การวิจัย สรุปงานวิจัยที่เคยทำมาในอดีต เช่น งานวิจัยในระดับปริญญาโท และเค้าโครงงานวิจัยที่สนใจในระดับปริญญาเอก นอกจากนี้ ถ้าเป็นไปได้ ผู้เรียนควรจะทบทวนงานวิจัยต่างๆในสาขาวิชาที่สมัครเรียน โดยเฉพาะงานวิจัยใหม่ๆ รวมถึงอ่านงานวิจัยของอาจารย์ที่ปรึกษา (ในกรณีที่ทราบว่าเป็นใคร) เพื่อแสดงว่าสนใจในสิ่งที่อาจารย์ทำ การทบทวนรายละเอียดเหล่านี้ไปล่วงหน้า จะทำให้ผู้สมัครสามารถพูดคุยในประเด็นต่างๆ ด้วยความมั่นใจ
6. อย่างไรก็ดี อย่ากังวลมากจนเกินไป การรับเข้าเรียนนั้น ไม่ได้หมายความว่าผู้สมัครจะต้องแสดงซึ่งความเชี่ยวชาญ หรือ ความเป็นผู้รู้ในสาขาวิชาอย่างแตกฉาน เพราะในทางหนึ่ง ยังมีระยะเวลาอีกหลายปีที่ผู้สมัครจะได้ฝึกฝนตนเองให้มีความเป็นผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญ โดยผ่านการเรียนปริญญาเอก การสัมภาษณ์จึงเป็นเพียงด่านทดสอบด่านแรกที่มหาวิทยาลัยและอาจารย์ใช้พิจารณาความสามารถ ความตั้งใจ และความใส่ใจของผู้สมัครที่จะพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญในเชิงวิชาการนั้นๆ
7. ผู้สมัครควรพิจารณาการแต่งกายให้สุภาพ และเตรียมเอกสารที่จำเป็นไปให้พร้อม เช่น เค้าโครงร่างการวิจัย เอกสารการสมัครอื่นๆ รวมถึงสมุดบันทึก และปากกา
8. หากผู้สมัครเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยเพื่อทำการสอบสัมภาษณ์ ใช้โอกาสนี้ในการเยี่ยมชมมหาวิทยาลัย ห้องสมุด และ สถานที่โดยรอบ เพราะการสมัครเรียนปริญญาเอกในสถาบันหนึ่งๆนั้น คือ การที่ผู้สมัครไว้วางใจในสถาบัน ในอาจารย์ที่ปรึกษา และตัดสินใจแล้วว่าจะทุ่มเทเวลา พลังกาย พลังใจ และทรัพยากรต่างๆ ในการศึกษาวิจัย โดยร่วมมือกับสถาบันนี้ อาจารย์ที่ปรึกษาคนนี้ ดังนั้นในโอกาสที่ได้เข้าไปในมหาวิทยาลัย ใช้เวลาในการเยี่ยมชม ทัวร์มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่พูดคุยกับนักศึกษาปริญญาเอกรุ่นพี่ เพื่อที่จะได้เรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของสถาบันได้โดยเร็ว
9. อย่าเป็นผู้ถูกถามเพียงผู้เดียว ควรเตรียมคำถามที่ดีไว้ถามคู่สนทนาด้วย เพื่อแสดงถึงความสนใจและความกระตือรือล้นในการเรียน เช่น คำถามที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก รูปแบบการให้คำปรึกษา คอร์สอบรมเพื่อฝึกฝนทักษะต่างๆ ควบคู่ไปกับการทำวิจัย โอกาสในการสอน การนำเสนอผลงาน และ การตีพิมพ์ผลงานระหว่างการเรียน หรือ โอกาสในการสมัครรับทุนต่างๆ ที่อาจมี ในช่วงระหว่างเรียน เป็นต้น
10. หากเป็นการสอบสัมภาษณ์เพื่อแข่งขันรับทุนเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ควรมีการเตรียมตัวตอบคำถามในประเด็นต่างๆให้พร้อมที่สุด
11. ท้ายที่สุด ทักษะ ความรู้ และความชำนาญ มีความสำคัญ แต่ไม่เท่ากับทัศนคติและความตั้งใจที่ดี