คอลัมน์คุยเรื่องเรียนด๊อกเตอร์กับด๊อกเตอร์ ::: ดร.กิม PhD in Economics, Lund University ประเทศสวีเดน

สวัสดีค่ะ ช่วยแนะนำตัวและพูดถึงระบบการเรียนปริญญาเอกหน่อยค่ะ       

สวัสดีครับ ชื่อวิโรจน์ เจียรวัชระมงคล หรือกิมครับ จบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ (PhD in Economics) สาขาระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ที่ Lund University ประเทศสวีเดน เมื่อเมษายน 2014 ครับ

งานเลี้ยงฉลองหลังสอบจบกับเพื่อนและซุปเปอร์ไวเซอร์ที่ร้านอาหารไทยในโคเปนเฮเกน.jpg

ถ้าจะพูดถึงระบบการเรียนของที่สวีเดน ที่นี่ไม่ค่อยจะเครียดหรือกดดันเท่าไหร่ครับ อย่างตอนที่ผมเริ่มมาต่อโทที่สวีเดนเมื่อปี 2008 ที่ Jönköping International Business School ที่เมืองเยินเฌอปิง (Jönköping) ก็จะแบ่งวิชาเรียนเป็น 2 quarter ต่อหนึ่งเทอม แต่ละ quarter ก็จะมีวิชาเรียน 2 วิชาต่อสัปดาห์เท่านั้นเอง เวลาที่เหลือก็ทำรายงานหรืออ่านหนังสือไป พอมาต่อเอก ก็มีเรียนวิชาบังคับภายในสองปีแรก ส่วนวิชาเสริมก็เลือกเรียนตามที่มหาวิทยาลัยอื่นเปิดสอนตามต้องการเลย

การเรียนปริญญาเอกที่สวีเดนถือเป็นการจ้างงานโดยมหาวิทยาลัย ดังนั้น นักศึกษาจะมีสถานะเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัย ได้รับเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ ในลักษณะเดียวกันกับการทำงานในบริษัทเอกชน ไม่ว่าจะเป็นวันลา, เงินบำนาญ หรือกระทั่งการขึ้นเงินเดือนประจำปี (แต่มหาวิทยาลัยไม่มีโบนัสนะ) ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลกับเรื่องทุน นอกจากนั้น นักศึกษาป.เอก ยังสามารถไปงานสัมมนาในต่างประเทศได้ทุกปี ขึ้นอยู่กับว่ามีเงินทุนจากโปรเจคหรือได้ทุนสนับสนุนที่หาได้เองจากภายนอกเท่าไหร่ครับ

ซึ่งอันนี้ ผมว่าดีนะครับ ไม่ต้องเครียดว่า จะต้องเขียนโครงการขอเงินทุนสนับสนุนทุกๆ ปี ทำให้เราทุ่มเวลาได้เต็มที่กับการทำวิจัยและการสอน เนื่องจากเป็นการจ้างงาน เลยมีสัดส่วนงานสอนและตรวจวิทยานิพนธ์นักศึกษาป.โทราว 20-25% ของชั่วโมงทำงาน

สำหรับผมเอง โชคดีหน่อยตรงที่ได้ทุนให้เปล่าจากมูลนิธิ Torsten Söderberg เป็นเวลาสองปี เลยทำให้มีอิสระมากขึ้น ผมเลยตัดสินใจย้ายมหาวิทยาลัย จากที่ตอนแรกเรียนที่ Jönköping ก็ขอย้ายมาที่ Lund University เพราะซุปเปอร์ไวเซอร์ท่านเพิ่งย้ายมาประจำที่นี่ และด้วยทุนตรงนี้ทำให้ในช่วงครึ่งหลังของการทำป.เอกของผม ไม่ต้องมีภาระงานสอนเลย เลยทำให้ผมจบป.เอกเร็วหน่อย จากปรกติที่ส่วนใหญ่จะใช้เวลากัน 4-5 ปี ผมก็จบ 3 ปีครึ่ง ผมเริ่มเมื่อกันยายน 2010 จบเมษายน 2014 ครับ ส่วนหนึ่งเพราะคิดว่าอายุก็เริ่มจะเยอะแล้ว อยากจบไวๆ หน่อย

การจะจบปริญญาเอกที่สวีเดนได้นั้น จะต้องผ่านการนำเสนองานวิจัยสองรอบ รอบแรกเป็น Final Seminar เหมือนเป็นการซ้อมสอบจบ คือมีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาสอบถามเกี่ยวกับงานวิจัยและให้คำแนะนำ ทีนี้ เราก็จะมีเวลากลับมาแก้งาน เพื่อนำเสนอรอบที่สองเป็น Public Defense ที่จะมีคณะ Thesis committee ซักค้าน และเราจะโต้ตอบประเด็นต่างๆ เหล่านั้นต่อหน้าสาธารณชน จนในท้ายที่สุดองค์คณะก็จะตัดสินว่าเรามีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะได้เป็นดอกเตอร์หรือไม่ครับ หากสอบผ่าน ก็ถึงเวลาฉลองกันได้เลย

ทำไมถึงได้ตัดสินใจมาเรียนปริญญาเอก?

ตอนที่ผมกำลังเขียนวิทยานิพนธ์สำหรับปริญญาโทที่ Jönköping International Business School ทางซุปเปอร์ไวเซอร์บอกว่ามีตำแหน่งป.เอกเปิดอยู่ ถ้าสนใจก็ลองสมัครดู ผมคิดๆ ดูว่า ไหนๆ ก็จบโทแล้ว ลองต่อเอกอีกไม่กี่ปีก็คงไม่นานเท่าไหร่ เลยส่งใบสมัครไปครับ และก็ได้เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเดิมเลย โดยได้ซุปเปอร์ไวเซอร์ท่านเดิมด้วย

ตอนนั้น ยังไม่ได้หาข้อมูลเชิงลึก เลยไม่รู้ว่ามีหลายคนที่เครียดและกดดันมากถึงขนาดมี impostor syndrome หรือภาวะที่ไม่เชื่อมั่นตัวเอง คิดว่าตัวเองเป็นตัวปลอม ไม่คู่ควรกับการมาเรียนปริญญาเอกก็มี แต่เมื่อมาเรียนที่สวีเดนจริงๆ ก็ไม่เครียดหรือกดดันมากครับ เลยจบมาได้ด้วยดี

พักผ่อนริมชายหาดอิตาลีหลังนำเสนองานวิจัย.jpg

ระหว่างเรียนปริญญาเอก ได้พัฒนาทักษะอะไรบ้าง?

ผมคิดว่าการมาเรียนปริญญาเอกช่วยพัฒนาความคิด, ทักษะการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ, การทำงานด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องมี supervision มากนัก, การบริหารเวลา รวมไปถึงทักษะเชิงปริมาณ (quantitative analysis) ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ของผมโดยตรงครับ หัวข้อที่ทำปริญญาเอกของผมคือ What Drives Exports? Empirical Evidence at the Firm Level เป็นการวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการส่งออก โดยใช้ข้อมูลปริมาณมหาศาลจากทุกบริษัทในสวีเดน ซึ่งได้มาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติครับ

ถ้าจะพูดโดยสรุปง่ายๆ ในช่วงเวลาที่เราเรียนปริญญาตรีนั้น เราก็มักจะเรียนหลายๆ วิชาอย่างกว้างๆ ใช่ไหมครับ ต่อเมื่อมาเรียนปริญญาโท เราก็จะเรียนอย่างเจาะลึกในสาขานั้นๆ ลงไปอีก

และเมื่อเรามาต่อปริญญาเอก คราวนี้ เราก็จะเรียนรู้และวิจัยในหัวข้อเฉพาะทาง เพื่อตอบประเด็นปัญหาหนึ่งๆ ที่อาจจะยังไม่เคยมีใครเคยตอบมาก่อน หรือที่ยังไม่มีข้อสรุปที่กระจ่าง ทีนี้ เราก็จะใช้ความรู้ประกอบกับทักษะต่างๆ ที่ร่ำเรียนมาเพื่อวิจัยค้นคว้าหาคำตอบเหล่านั้นด้วยตัวเอง ด้วยระเบียบวิธีวิจัยที่เป็นระบบ ภายใต้เวลาที่มีจำกัด (4-5 ปี ตามแต่สัญญา) มีผู้เชี่ยวชาญมาซักไซ้ไล่เรียงอย่างเข้มข้นในตอนท้าย (สอบจบ) เพื่อพิสูจน์ว่าเรานั้นมีความรู้ความสามารถในการวิจัยอย่างแท้จริง ทักษะด้านการวิจัยเหล่านี้เองที่ผมได้เรียนรู้จากการศึกษาปริญญาเอกครับ

ระหว่างเรียน พบเจออุปสรรค ความท้าทายอะไรบ้าง?

ความท้าทายอันดับแรกที่เจอเลยคือ สภาพอากาศครับ เพราะที่นี่หนาวกว่าที่ไทยมาก ผมยังคงไม่ชินกับการที่พระอาทิตย์ตกบ่ายสามบ่ายสี่ในหน้าหนาว และพระอาทิตย์ตกห้าทุ่มในหน้าร้อนเลยครับ

ส่วนอุปสรรคที่เกี่ยวกับการเรียน จะเป็นเรื่องที่ซุปเปอร์ไวเซอร์ไม่ค่อยว่างและไม่ค่อยมีเวลาให้กับเราเท่าไหร่ครับ ถึงแม้ว่าผมจะมีซุปเปอร์ไวเซอร์ถึงสามท่าน แต่แต่ละท่านก็มีภาระหน้าที่รัดตัว ทำให้ต้องปรับตัวด้วยการพยายามนัดวันล่วงหน้า พร้อมกับนำเสนอความคืบหน้าอยู่เป็นระยะๆ ครับ

ส่วนด้านสังคม ในระยะแรกๆ ก็อาจจะรู้สึกเหงาๆ บ้าง เพราะสวีเดนมีประชากรเบาบางอยู่แล้ว แต่เมื่อรู้จักเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกัน ก็เริ่มปรับตัวได้มากขึ้น ได้เรียนรู้วัฒนธรรม, แนวคิด และประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เราหาไม่ได้จากที่อื่นครับ

ผ่านพ้นความยากลำบากต่างๆมาได้อย่างไร

กำลังใจจากเพื่อนๆ ทั้งที่ไทยและที่สวีเดนและทางบ้านครับ แต่ที่สำคัญที่สุดคือเป้าหมายของตัวเอง ที่พยายามบอกตัวเองเสมอๆ ว่า มีโอกาสแล้วก็ต้องทำให้เต็มที่ นอกจากนี้ ก็พยายามหางานอดิเรกทำแก้เครียดครับ ผมชอบท่องเที่ยว, ถ่ายภาพ และดูหนัง เลยใช้เวลาว่างๆ กับงานอดิเรกเหล่านี้ครับ

นอกจากนี้ ซุปเปอร์ไวเซอร์เองก็คอยให้คำแนะนำดีๆ อยู่เสมอครับ แต่ละท่านมีความเป็นกันเอง คุยกันได้ง่าย เลยทำให้เราไม่กดดันหรือเครียดมากนักครับ แต่ส่วนหนึ่ง ตัวเราเองก็ควรจะไม่ทำให้ท่านผิดหวัง คือมีความคืบหน้า และมีข้อเสนอหรือข้อคิดเห็นด้วย ไม่ใช่ว่าจะรอฟีดแบคจากท่านเพียงอย่างเดียวครับ

ส่วนในด้านงานวิจัย ไม่ค่อยจะมีปัญหามากนักครับ เพราะผมเริ่มวิจัยตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่มาเลย เลยพอจะคุ้นทาง และมีเวลาแก้ไขหรือปรับตัวทัน อันนี้ก็ต้องยกความดีความชอบให้กับซุปเปอร์ไวเซอร์ครับ ที่อยากให้ผมเคยชินกับข้อมูลแต่เนิ่นๆ ด้วยความที่ผมมีข้อมูลมหาศาลให้ได้ศึกษาวิจัยแต่ต้นๆ โดยที่ไม่ต้องไปเก็บข้อมูลด้วยตัวเอง เลยได้ทุ่มเวลากับการวิจัยได้เต็มที่ครับหลังจากนำเสนองานวิจัยก็มีเวลาได้พักผ่อนกันกับหัวหน้าภาค.jpg

ปัจจุบันทำอะไร และได้ใช้ทักษะ ความรู้จากการเรียนมาประยุกต์ใช้กับงานหรือไม่ อย่างไรบ้าง?

ปัจจุบัน ผมเป็น Visiting Assistant Professor ที่คณะ Quantitative and Applied Economics ที่มหาวิทยาลัย Nottingham แคมปัส Ningbo ประเทศจีนครับ โดยเริ่มมาสอนเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และล่าสุดกำลังจะสอนวิชา Public Economics ในภาคฤดูใบไม้ผลินี้ครับ ขณะเดียวกันก็กำลังเขียนงานวิจัยร่วมกันกับ coauthor ที่สวีเดนเกี่ยวกับ survival analysis of newly-established firms ครับ

ประสบการณ์การสอนจากที่สวีเดนก็เอามาใช้กับการจัดการสอนที่นี่ได้ดี แม้ว่าจะแตกต่างกันในด้านรูปแบบบ้าง คือที่สวีเดนจะผ่อนคลายกว่า ส่วนที่จีนก็จะระบบเดียวกับ Nottingham จากอังกฤษ ดูจะ strict กว่าครับ ส่วนในด้านการวิจัยก็ใช้ทักษะด้านการวิจัยเชิงปริมาณต่อเนื่องจากตอนที่ทำปริญญาเอกครับ

สุดท้าย อยากฝากอะไรไว้ให้ผู้ที่กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่บ้าง?

อยากจะฝากไว้ว่า พยายามวางแผนแต่เนิ่นๆ ในช่วงแรกๆ จะมีเวลาได้คุยกับซุปเปอร์ไวเซอร์เยอะหน่อย (honeymoon period) ก็ตักตวงโอกาสนี้ไว้ให้มากที่สุด เพราะหลังจากนี้ จะไม่ค่อยมีเวลา ทั้งเรียน, ทั้งสอน (ถ้ามีภาระงานสอน), ทั้งเขียนงานวิจัย และถ้าเกิดมีปัญหาอะไร จะได้เห็นและปรับแก้ได้แต่เนิ่นๆ ครับ

นอกจากนั้น ก็อยากจะให้พยายามสื่อสารกับซุปเปอร์ไวเซอร์ให้ตรงประเด็น มีปัญหาสงสัยหรือไม่แน่ใจ ก็ควรจะสอบถามทันที เพื่อจะได้ไม่ค้างคาไว้ก่อประเด็นปัญหาในภายหลังได้ ถ้าอยากจะให้ท่านอ่านตรวจทาน ก็ขอตรงๆ ว่ามีเวลาหรือไม่ ช่วงใดได้บ้าง และคอยหาโอกาสไปนำเสนอผลงานตามงานสัมมนาบ้าง ส่วนหนึ่งก็เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ และเราก็จะได้รับคำวิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญที่มีความสนใจเดียวกันหรือต่างกันเอามาปรับปรุงครับ

ท้ายนี้ ก็ขอให้ทุกคนมุ่งมั่นและฝ่าฟันไปสู่ความสำเร็จกันทุกคนนะครับ

รับปริญญา.jpg

“เพจก็แค่ปริญญาเอก” ขอขอบคุณ ดร.กิม ที่มาแบ่งปันประสบการณ์ให้กับเราที่นี้ เชื่อว่าผู้เรียนสามารถนำไปคิดต่อ และ ใช้เป็นแนวทางในการเรียนของตนได้แน่นอน

เรายินดีเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เรียนจบแล้ว หรือกำลังเรียนอยู่ แชร์ประสบการณ์การเรียนปริญญาเอกของท่านได้ที่นี่

แขกรับเชิญท่านต่อไปจะเป็นใคร เชิญติดตามได้ที่นี่ที่เดียว

 

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s