คอลัมน์แขกรับเชิญ :: คุยเรื่องเรียนด๊อกเตอร์กับด๊อกเตอร์ :: ดร.วิกกี้ :: ประสบการณ์การเรียนปริญญาเอกในประเทศสวีเดน

วันนี้แขกรับเชิญ “คอลัมน์คุยเรื่องเรียนดอกเตอร์กับดอกเตอร์” ที่เพจก็แค่ปริญญาเอก ภูมิใจนำเสนอ คือ ดร. วิกกี้ วิภาวี พอลสัน ที่ปัจจุบันเป็นPostdoctoral researcher ในสาขา Business ที่  The Irish Centre for Cloud Computing and Commerce (IC4), Dublin City University ณ กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์

GraduationCere2

ดร.วิกกี้ เรียนจบทางด้านไหนมาค

เรียนจบปริญญาเอกทางระบบสารสนเทศ  (PhD in Information Systems) จากมหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund University) ซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองลุนด์ (Lund) ประเทศสวีเดนค่ะ

ก่อนที่จะมาเรียนต่อเอกนั้น ก็เรียนโทอยู่ที่สวีเดนอยู่แล้ว ที่มหาวิทยาลัยมาร์ลาดาเลน  (Marlardalen University College) ซึ่งจะอยู่อีกเมืองหนึ่งทางภาคกลางของสวีเดน แต่มหาวิทยาลัยลุนด์นี่อยู่ทางใต้ของสวีเดน ติดกับเดนมาร์ก โดยปริญญาโทนั้นเป็นทางด้าน IT Management ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในสายเดียวกันกับที่มาต่อปริญญาเอกนั่นเอง

ก่อนที่จะมาเรียนต่อที่สวีเดน ก็เรียนอยู่ที่ไทย จบปริญญาตรีทางด้านบัญชี หลักสูตรนานาชาติ หรือ BBA ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  หลังจากเรียนจบก็เข้าทำงานเป็นผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชีที่ PricewaterhouseCoopers  ได้เกือบสองปีก่อนไปเรียนต่อปริญญาโทและเอกที่สวีเดน

อยากให้เล่าเกี่ยวกับระบบการเรียนปริญญาเอกที่สวีเดนให้ฟังหน่อย 

ระบบการเรียนปริญญาเอกที่สวีเดนนั้น จริงๆไม่อยากให้ใช้คำว่า “เรียน” แต่อยากให้ใช้คำว่า “ทำวิจัย” มากกว่า เนื่องจากการเรียนปริญญาเอกที่สวีเดนนั้นไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน และยังได้รับเงินเดือนทุกเดือน

นักศึกษาปริญญาเอก ถือว่า เป็นพนักงานของมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง เพียงแต่มีระยะเวลาการจ้างงานที่ชัดเจน คือ 4-5 ปี แล้วแต่จำนวนและแหล่งที่มาของเงินทุน ซึ่งรายละเอียดตรงนี้ค่อนข้างซับซ้อน ขอยกยอดไว้คราวหน้าหากมีคนอื่นสนใจ

หน้าที่หลักๆ ของนักศึกษาปริญญาเอกที่สวีเดนก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า การเขียนวิทยานิพนธ์ให้เสร็จ ฟังๆดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่มันเป็นเรื่องที่หนักหนาเอาการเลยละ เนื่องจากเราต้องจัดการกับขบวนการต่างๆในทำวิจัยเป็นระยะเวลา 5  ปีด้วยตัวเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อ การหาข้อมูล การเลือกทฤษฎี และการเลือกวิธีในการทำวิจัย ซึ่งเราต้องมีเหตุผลมีสนับสนุนตลอดว่า ทำไมเราเลือกอย่างนั้นอย่างนี้

ส่วนตัวเองนั้น ปีแรกที่ไปเรียนไม่รู้เลยว่าจะทำข้อหัวอะไร มี key word อยู่คำเดียว คือ Enterprise resource planning (ERP) system  ซึ่งเป็นระบบเกี่ยวกับการจัดการธุรกิจในองค์กร แต่มันไม่มีมุมที่จะลงว่าด้านไหนของ ERP system นั้นที่น่าสนใจสำหรับการทำวิจัย กว่าจะได้หัวข้อที่ค่อนข้างนิ่งมากๆในการทำวิจัยก็หมดเวลาไปแล้วกว่า 2 ปี

อาจารย์ที่ปรึกษาที่สวีเดน มีอยู่สองคน คือ Head supervisor  กับ Co-supervisor  โดย Head supervisor จะเป็นคนหลักที่จ้างเราเข้ามาทำงาน แต่เขาอาจะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญโดยตรงมากๆที่เกี่ยวกับสาขาที่เราต้องการทำวิจัย  หรือมี แต่เขายุ่งสุดๆ แบบในกรณีของตัวเอง เพราะว่าเขาทำหน้าที่บริหารคณะควบคู่ไปกับงานวิชาการ

ดังนั้น  Co-supervisor จึงมีบทบาทในการเติมเต็มเรื่องต่างๆในการทำวิจัยให้ บางคนก็อาจจะมี co-supervisor  2 คน ขึ้นอยู่กับการตกลงกันมากกว่า  Co-supervisor จะเป็นอาจารย์ที่ไหนก็ได้ที่เขายินดีรับเราเป็นนักศึกษาในการดูแลของเรา โดยไม่มีความจำเป็นว่าต้องเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยในสวีเดน PublicDefense1

ที่สวีเดน จะไม่มีการเรียกไปรายงานความคืบหน้าทุกระยะๆ เหมือนทางฝั่งอเมริกา หรือ อังกฤษ แต่อาจารย์จะดูความคืบหน้าแบบง่ายๆ มากกว่า เช่น ตอนนี้เธอทำอะไรอยู่ แต่อย่างไรก็ตามมีสัมมนา 3 ครั้งหลักที่เกี่ยวกับงานวิจัย ซึ่งต้องทำก่อนที่จะไปนำเสนองานวิจัยจบได้ คือ Research proposal seminar, Mid-seminar  และ Final-seminar หากเรียนตามเวลา 5 ปีนั้น ความถี่ของการทำสัมมนาแต่ละครั้งจะอยู่ที่ 1 ปี, 2 ปี และ 1.5 ปีตามลำดับ   เผื่อหกเดือนสุดท้ายไว้แก้งานครั้งสุดท้ายก่อนนำเสนองานวิจัยจบครั้งสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ไม่มีกฎอะไรที่แน่นอนตายตัว เราเป็นผู้ตกลงกับอาจารย์ที่ปรึกษาว่าเราจะทำสัมมนาแต่ละครั้งเมื่อไหร่ดี

โดยระหว่างการเรียนนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาก็จะคอยชักชวน จริงๆจะว่า “กดดัน” ก็ได้ ให้ตีพิมพ์บทความ และนำบทความที่ทำวิจัยไปส่งกับงานประชุมทางวิทยาการระดับนานาชาติตลอดเวลา

การตีพิมพ์ ถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายมากสำหรับนักวิจัยหน้าใหม่ทุกคน ไหนจะเรื่องภาษาอังกฤษ ที่อย่างไรคนที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่นั้น จะทำได้ไม่ดีเท่าเจ้าของภาษาอย่างแน่นอน ไหนจะเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูล และการนำเสนอข้อมูลในบทความนั้นๆ อีก โดยผู้พิจารณาที่จะรับหรือไม่รับงานของเราเข้าตีพิมพ์ ส่วนมากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับโลก ในเรื่องที่เราทำวิจัย พวกเขาจะมีประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ ค่อนข้างมาก พอที่จะให้นักวิจัยระดับปริญญาเอกหน้าใหม่อย่างเราๆ “เหวอ” ไปได้เกือบทุกครั้ง ในความล้ำลึกของท่านในการวิจารณ์งานของเรา

จุดนี้ถือว่าท้าทายมาก แต่ผลที่ได้รับตอบกลับมาก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะเราได้พัฒนาศักยภาพของตัวเราเยอะมาก นอกจากนั้น การที่มีบทความไปนำเสนอข้างนอกเยอะๆ ยังถือว่า เป็นเรื่องดีสำหรับเรา ในการเขียนวิทยานิพนธ์จบอีก เมื่อเทียบกับเพื่อนที่เลือกที่จะเขียนงานแบบเล่มเดียวจบเลย หรือที่เรียกว่า แบบเอกสารเฉพาะเรื่อง (Monograph)  เนื่องจากแต่ละงานที่เราออกไปนำเสนอข้างนอก จะเหมือนตราเครื่องหมายรับรองคุณภาพว่างานชิ้นนี้ของเรามีคุณภาพนะ เนื่องจากแวดวงวิชาการ ให้การยอมรับงานชิ้นนี้ พูดง่ายๆ คือ เราไม่หลงทางนั้นแหละ ซึ่งเพื่อนที่เลือกเขียนวิทยานิพนธ์แบบที่ไม่มีการตีพิมพ์เลยจะไม่มีโอกาสตรงนี้

นอกจากงานวิจัย ก็มีส่วนในการดูแลนักเรียนปริญญาโท ในการสัมมนา และไปบรรยายให้นักศึกษาปริญญาโทบ้าง เป็นครั้งคราว รวมถึงการเป็นที่ปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทด้วย

ทำไมถึงมาเรียนปริญญาเอกคะ

ตอบจริงๆ เลย คือ มาเรียนเพราะมีโอกาสมากกว่า ต้องเท้าความกลับไปว่าจริงๆก่อนที่จะมาเรียนต่อโทที่สวีเดนนั้นมีความคิดว่าจะเรียนปริญญาโทที่ยุโรป 2 ใบแล้วกลับไทย ไม่เคยมีความคิดที่จะเรียนปริญญาเอกในหัวเลย ซึ่งตอนนั้นก็ทำตามแผนทุกอย่าง สมัครเรียนโทใบที่สองไปตามเรื่องราว จนมาช่วงก่อนทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท อาจารย์ที่ดูแลโปรแกรมก็ส่งเมล์มาว่า นี่เธอ เขามีเปิดตำแหน่งนักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยที่เรียนโทตอนนั้นนะ (Malardalen University College) แล้วก็มีอีกที่จากลุนด์ด้วย เราก็สมัครไป ไม่ได้คิดอะไร เพราะลองคุยกับทางบ้านแล้วก็ไม่เสียหายอะไร ลองดู แต่ไม่ได้คิดว่าจะได้หรอก สมัครไปงั้นๆจริงๆ เพราะแผนของเราจริงๆคือไปเรียนโททาง  Real estate finance ใบที่สอง เนื่องจากเป็นสายที่ไปต่อยอดได้กับการเรียนจบบัญชีมา

ปรากฏว่าทางลุนด์ติดต่อมาว่าได้เรียนปริญญาเอก ซึ่งจริงๆตอนนั้นเพิ่งย้ายไปเรียนปริญญาโทใบที่สองที่ฟินแลนด์ได้อาทิตย์หนึ่งแล้ว จริงๆ ตอนนั้นอายุ 24 คิดอย่างเดียวว่า เอาเหอะ เรียนอีก 5 ปี เรียนจบก็ 29 ก่อน 30 นะ เผื่อทางนี้ไม่ใช่จริงๆคงยังไม่สายไปที่จะไปเลือกเดินทางอื่น

มองย้อนกลับไปก็คิดว่าความคิดตอนนั้นมันอ่อนต่อโลกไปนิดหนึ่ง คือเราเข้ามาแบบไม่ได้เข้าใจเลยว่าการเรียนปริญญาเอกคืออะไร  ตอนเรียนปริญญาโทได้เกรด A เกือบทุกตัวก็จริงแต่เราไม่ได้เข้าใจหรอกว่าการทำวิจัยคืออะไร และเราไม่เคยเป็นคนมีความฝันว่า เออ ชาตินี้เราอยากเป็นอาจารย์ เป็นนักวิจัยนะ ซึ่งพี่ๆบางคนที่เคยได้คุยด้วยเขามีความฝันมาตั้งแต่  ป.2  เลยว่าอยากเรียนปริญญาเอก อยากเป็นด็อกเตอร์ เราค่อนข้างจะมีประทับใจกับคนอย่างนี้มากๆ เพราะเราไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย เป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่คิดว่าเรียนให้เก่ง ได้ทำงานบริษัทดีๆก็พอ  พูดเลยว่าสำหรับตัวเองการเข้ามาเรียนปริญญาเอกนั้นเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตที่สำคัญมาก จากอยู่ดีๆที่อยู่สายบัญชี การเงิน ก็เปลี่ยนมาทางการบริหารสาระสนเทศแบบดื้อๆ จากที่ไม่คิดว่าจะทำงานราชการ คิดแต่จะทำงานเอกชน ก็ย้ายมาทำงานราชการให้มหาวิทยาลัย

PublicDefense2

ระหว่างเรียนปริญญาเอกได้พัฒนาทักษะอะไรบ้าง 

ทักษะที่พัฒนาระหว่างการเรียนปริญญาเอกนั้นมีหลายด้านมาก แต่ขอเลือกเอาสองด้านหลักตามความคิดของตัวเองแล้วกัน

ด้านแรก คือ ทักษะทางด้านการบริหารจัดการโครงการ  (Project) ซึ่งก็คืองานวิจัยของเราเองนั่นแหละ   พูดง่ายๆเลย คือ เขาโยนเงินมาให้เราก้อนหนึ่งเพื่อเป็นเงินเดือนของเราจำนวน 5 ปี แล้วก็ให้ key word มาคำหนึ่งว่าต้องทำวิจัยเรื่องนี้  ไปทำวิจัยมาให้เสร็จให้จบปริญญาเอกให้ได้ก็พอ  แต่เรื่องอื่นๆเราต้องจัดการเองหมดอย่างที่บอกไปแต่ต้นทั้งการหาหัวข้อ การเก็บข้อมูล ฯลฯ  อาจารย์ที่ปรึกษาที่สวีเดนก็จะไม่ใช่แนวอาจารย์ที่บอกให้เราทำเรื่องวิจัยนั้นเรื่องนั้นเรื่องนี้ อย่างนี้อย่างนั้นนะ แต่เขาจะเป็นแค่ผู้ให้คำแนะนำมากกว่า เหมือนบอกว่า เออเรื่องประมาณนี้มันน่าสนใจแต่ด้านไหนเธอต้องไปอ่าน คิดเอาเอง แล้วเอาเรื่องที่เธอคิดว่าน่าสนใจมาคุยกัน  ซึ่งเราอาจไม่เชื่อฟังคำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษาเราก็ได้ เราสามารถเอาความคิดของเราไปคุยกับนักวิจัยคนอื่นๆหมด มันเป็นแนวพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดระหว่างนักวิจัย

เท่าที่รู้ ตรงนี้จะต่างจากทางอเมริกา ที่อาจารย์ที่ปรึกษาจะมีบทบาทมากในการกำหนดทิศทางในการวิจัย ที่สวีเดนนั้นเรามีอิสระอย่างเต็มที่ ซึ่งจริงๆมันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากแต่มันก็เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับนักวิจัยมือฝึกหัด เพราะความอิสระนั้นก็มากับความเป็นไปได้ที่สูงขึ้นว่าคุณจะหลงทางจนเรียนไม่จบ อย่างที่เขาว่า With Great Power Comes Great Responsibility

ด้านที่สอง คือ ทักษะทางด้านการคิดให้เป็นเหตุเป็นผล และความสามารถในการคิดวิเคราะห์เชิงลึก ซึ่งทั้งหมดนั้นจะสะท้อนออกมาในงานเขียนของเรา หรือการนำเสนอผลงานต่างๆของเราที่ต้องเป็นตามหลักเหตุผลทั้งหมด เราจะคิดตลอดถ้า A แล้วมันต้อง B นะ มันจะข้ามไป C ไม่ได้เลยนะ คือถ้าจะข้ามไปเลยก็ต้องมีเหตุมาสนับสนุนว่าทำไมหละ ทำไมมันต้องไป C เลย พอเราคิดอย่างนี้บ่อยๆ เราจะเห็นได้ชัดเลยว่าใครที่ไม่ได้คิดตามหลักเหตุผล แล้วเขาข้ามอะไรตรงไหนไปบ้าง

ระหว่างเรียนปริญญาเอกมีอุปสรรคอะไรบ้าง 

อุปสรรคหลักๆตอนเรียนปริญญาเอก คือ การหาข้อมูล อย่างที่บอกว่าเราต้องจัดการงานของเราทั้งหมดเอง ซึ่งรวมไปถึงการหาข้อมูลด้วย และด้วยเนื้อหาที่ทำวิจัยต้องไปสัมภาษณ์บริษัทที่มีการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์นั้นจริงๆ มันค่อนข้างเป็นการยากในการเข้าถึงองค์กรที่จะให้เราไปสัมภาษณ์  ซึ่งจริงๆทางอาจารย์อยากให้เราไปคลุกคลีกับองค์กรใดองค์กรหนึ่งมากๆ เช่น ไปคุยกับคนในบริษัทนั้นสัก 20 คน  แต่เราไม่สามารถหาบริษัทที่ตอบรับได้อย่างนั้น เพราะเราก็เข้าใจว่าหน้างานตรงนั้นมันก็มีข้อมูลความลับทางธุรกิจเยอะเหมือนกัน เขาคงไม่อยากให้ใครที่ไหนก็ไม่รู้ไปคลุกคลีอยู่นานๆ ซึ่งสุดท้ายก็มาลงตัวว่าให้ใช้เป็นสัมภาษณ์บริษัทหลายๆที่เอา โดยไม่ต้องลึกมากในแต่ละที่ ตอนนั้นก็ได้ผู้มีพระคุณหลายๆท่าน และเพื่อนหลายๆคนที่ช่วยใช้คนรู้จักติดต่อบริษัทให้ ต้องขอขอบคุณท่านๆ และเพื่อนๆเหล่านั้นมาจนถึงทุกวันนี้

อุปสรรคเรื่องที่สอง คือ การปรับตัวให้เข้ากับสังคมสวีเดน มองกลับไปก็คือตอนนั้นเราก็ค่อนข้างใช้เวลาในการปรับตัวนานอยู่เหมือนกัน คือตอนเรียนโท เราไม่ได้ตั้งใจจะอยู่สวีเดน เราก็ใช้ชีวิตแบบเด็กต่างชาติทั่วๆไป ไม่ได้เรียนภาษาสวีเดน ไม่รู้ว่าคนสวีเดนเขาเป็นอย่างไรจริงๆ ไม่ได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมของเขา รวมไปถึงวิธีคิดของคนสวีเดน พอมาเริ่มเรียนปริญญาเอก ทั้งคณะมีเราเป็นหัวดำอยู่คนเดียว พูดภาษาสวีเดนก็ไม่ได้ ตอนนั้นก็ยังไม่ค่อยมีนักศึกษาปริญญาเอกต่างชาติเท่าไรในคณะ ไม่ใครปรับทุกข์ด้วย หัวเดียวกระเทียมเลียบอยู่สักพักกว่าจะปรับตัวได้

ปัจจุบันทำงานอะไรอยู่ และใช้ทักษะที่ได้ในการเรียนปริญญาเอกมาประยุกต์ใช้อย่างไร 

ตอนนี้เป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก สาขาธุรกิจ ที่  The Irish Centre for Cloud Computing and Commerce (IC4) ที่ Dublin City University อยู่ที่ดับลิน ไอร์แลนด์ โดยรับผิดชอบทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง Cloud computing ที่เกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลต่างๆบนโลกอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่การเรียกใช้โปรแกรมต่างๆผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนใหม่มากในวงการวิจัย

เดาได้ไม่ยากจากชื่อตำแหน่งงานว่า ความรู้ความสามารถทางด้านการวิจัยนั้นได้นำมาใช้ต่ออย่างเต็มที่ สำหรับงานนักวิจัยหลังปริญญาเอกนี้ จริงๆจะว่ามันเป็นการเรียนปริญญาเอกใบที่สองก็ได้ แต่ด้วยความที่คุณมีประสบการณ์มาแล้ว คุณต้องทำวิจัยได้ดีขึ้น เร็วขึ้นกว่าเดิม  เราต้องออกแบบงานวิจัยทั้งกระบวนการ และทำวิจัยเองทั้งหมด เป้าหมายคือ สักพักเราต้องมีเด็กมาช่วยเราทำวิจัย เราจะได้ทำงานได้หลายๆโปรเจค ซึ่งตอนนี้ยังไปไม่ถึง ยังอยู่ในขั้นตอนการออกแบบงานวิจัยอยู่

GraducationCere1

อยากฝากอะไรให้ผู้ที่เรียนปริญญาเอกอยู่บ้าง  

ตัวเองนั้น สรุปประสบการณ์การเรียนปริญญาเอกว่า เหมือนการเดินเข้าถ้ำแห่งหนึ่ง เรารู้ก่อนเดินเข้าว่า ถ้ำนี้มันมีทางเข้าหนึ่งทาง แต่มีทางออกหลายทาง แต่มันอยู่ตรงไหน จะเจอเมื่อไหร่ มันไม่รู้เท่านั้นเอง เดินผ่านทางเข้ามา ยิ่งลึกมันก็เริ่มมืดขึ้นเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี ถ้าเหนื่อยเราก็พักได้ แต่ต้องเดินต่อไปนะ ต้องท่องในใจเสมอว่า เดี๋ยวมันก็มีทางออก เดี๋ยวเราจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เดี๋ยวเราจะเจอทางออกสักทาง สักวัน ถ้าคุณคิดว่า คุณกำลังอยู่กลางถ้ำที่มืดมิด หาทางออกไม่ได้ ต้องเชื่อไว้เสมอว่า ทางออกยังมี และต้องพยายามต่อไป

การเรียนปริญญาเอกไม่ได้หาคนที่ฉลาดที่สุด แต่เป็นวัดว่า คุณมีความมุ่งมั่นในการจัดการกับอุปสรรคต่างๆในการทำวิจัยได้หรือไม่  ซึ่งรับรองได้ว่า ในเส้นทางการวิจัยของทุกๆคนก็จะมีอุปสรรคที่แตกต่างกันไป ถ้าคุณมีความพยายาม และความต้องการในการทำตามความมุ่งมั่นมากพอ ปริญญาเอกนั้นไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถอย่างแน่นอน

เพจก็แค่ปริญญาเอกขอขอบคุณดร.วิกกี้ ที่มาแชร์ประสบการณ์และมุมมองที่ยอดเยี่ยมให้กับเรา
แขกรับเชิญที่จะมาแชร์ประสบการณ์การเรียนต่อปริญญาเอกทั้งในและต่างประเทศจะเป็นใคร เชิญติดตามได้ที่ Just a PhD Blog ที่นี่ที่เดียว

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s