‎ความสุขของการเรียนปริญญาเอก‬ :: ‪คอลัมน์แขกรับเชิญ‬

nickp

วันนี้ เพจก็แค่ปริญญาเอก ได้รับเกียรติจาก ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์วิจัย (Professorial Research Fellow) จาก University of Melbourne เเละ รองศาสตราจารย์วิจัย (Principle Research Fellow) จาก London School of Economics เจ้าของผลงานหนังสือ THE HAPPINESS EQUATION: THE SURPRISING ECONOMICS OF OUR MOST VALUABLE ASSET และ Ted Talk: The happiness equation ที่โด่งดัง

ดร. ณัฐวุฒิ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องความสุข จะมาแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับ ความสุขของการเรียนปริญญาเอก ให้กับพวกเรา ที่นี่ เชิญติดตามค่ะ

นิยามหรือมุมมองของอาจารย์เกี่ยวกับ “ความสุขของการเรียนปริญญาเอก” คืออะไรคะ?

ผมว่าความสุขของการเรียนปริญญาเอกของคนเเต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกันนะครับ ส่วนตัวเเล้ว ความสุขของการเรียนปริญญาเอกของผมคือ การที่ผมได้มีโอกาสทำงานวิจัยในหัวข้อที่ผมชอบ นั่นก็คืออะไรที่ทำให้คนมีความสุข

คือในตอนสี่เดือนเเรก ที่ผมเริ่มเรียนปริญญาเอกนั้น ผมไปเสียเวลากับการทำงานวิจัยในหัวข้อที่ผมไม่ชอบเลย เเต่ที่ผมเลือกทำในหัวข้อที่ผมไม่ชอบตอนเเรกๆ นั้น ก็เป็นเพราะว่า มันเป็นหัวข้อที่ผมทำวิจัยไปตอนเรียนปริญญาโท

ผมจำได้ว่า ผมไม่มีความสุขกับการเรียนปริญญาเอกในตอนสี่เดือนเเรกนั้นเลยเเม้เเต่นิดเดียว เเล้วอยู่มาวันหนึ่ง ผมก็ตั้งใจว่า ไม่เอาเเล้ว ทำไมเราจำเป็นต้องฝืนตัวเองในการทำในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบด้วย ผมก็เลยตัดสินใจเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษา เเละเลือกที่จะทำกับหัวข้อที่ผมชอบ ถึงเเม้ว่า ในตอนนั้น จะไม่มีใครสนใจเเละทำกัน

โชคดีที่อาจารย์ที่ปรึกษาคนใหม่ของผมดี เเละสนับสนุนผมมาตลอด เเละเท่าที่ผมจำได้ หลังจากที่ผมตัดสินใจเปลี่ยนหัวข้อวิจัยไปทำในสิ่งที่ผมชอบเเล้ว ก็เเทบที่จะไม่มีวันไหน ที่ผมไม่มีความสุขกับการเรียนปริญญาเอกเลย

สำหรับนักศึกษาปริญญาเอกที่อยากเพิ่ม “ความสุข” ในระหว่างการเรียนและการทำวิทยานิพนธ์ อาจารย์มีคำแนะนำอย่างไรคะ?

ผมว่า การจัดเเบ่งเวลาให้เป็นเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนปริญญาเอกอย่างมีความสุขนะครับ ผมจำได้ว่าผมตั้งใจว่าทุกวันจะเขียนอย่างน้อยวันละห้าบรรทัด ถ้าวันใดเขียนได้ห้าบรรทัดเร็ว ผมก็จะเสร็จเร็ว เเล้วก็เอาเวลาตรงนั้น ไปทำอย่างอื่นอย่างเช่นดูหนังบ้าง เตะบอลบ้าง

ผมเเทบไม่เคยบอกกับตัวเองเลยว่า วันนี้จะต้องนั่งอยู่ตรงหน้าคอมพ์จากเช้าจนเย็นนะ เเต่ผมจะมีเส้นชัยที่เห็นได้ชัดของเเต่ละวัน เเละจะพยายามไปให้ถึงเส้นชัยตรงนั้นให้ได้ เเต่มันต้องเป็นเส้นชัยที่ realistic นะครับ ผมรู้ว่าไม่ว่าจะเป็นยังไง เขียนวันละห้าบรรทัดมันน่าจะทำได้อยู่เเล้วในเเต่ละวัน

ผมทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆเป็นเวลาสามปีหลังจากเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษา กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เสร็จ thesis เเล้วครับ

อีกอย่างผมว่า เราต้องพยายามสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองทุกวัน ผมจำได้ว่าเพื่อนๆคนไทยของผมบางคนได้ทำการเตือนผมด้วยความหวังดีว่า เเน่ใจเเล้วเหรอที่เลือกหัวข้อวิจัยข้อนี้น่ะ มันไม่มีใครทำเลยนะ ระวังจบไปเดี๋ยวจะหางานลำบากนะ น่าจะทำหัวข้อที่มันเกี่ยวกับไฟเเนนซ์ดีกว่า

ซึ่งผมก็พอเข้าใจเเต่ก็ต้องบอกกับตัวเองอยู่ตลอดในขณะนั้นว่า การที่ไม่มีคนอื่นทำหัวข้อนี้เลยไม่ได้เเสดงว่ามันเป็นหัวข้อที่ไม่ดีนะ ขอให้มันเป็นสิ่งที่เราชอบเเละเป็นสิ่งที่เราคิดว่าเรามีความสามารถพอในการที่จะเอาความชอบตรงนี้ทำให้ตัวเองอยู่ในเเนวหน้าของ field ได้ก็พอ

ผมยังจำได้เลยว่า วันไหนที่ผมต้องเผชิญกับมรสุมอย่างงั้นเยอะๆ ผมจะกลับบ้านไปเเล้วบอกกับตัวเองว่า ถึงเเม้ว่าผมจะทำงานวิจัยที่ไม่เหมือนคนอื่นในเวลานั้นเลยเเม้เเต่นิดเดียว เเต่เอาเข้าจริงๆ ล่ะก็ ก็ไม่มีใครเลยในโลกนี้ ที่จะรู้ในเรื่องความสุขของคนเเอฟริกาใต้เท่ากับผม เพราะตอนนั้นผมเป็นคนเเรกๆ ของโลกที่ทำวิจัยเกี่ยวกับความสุขของคนในประเทศที่กำลังพัฒนาครับ

แล้วตอนนี้ “ความสุข” กับชีวิตหลังปริญญาเอกของอาจารย์คืออะไรคะ?

สำหรับตัวผม ความสุขกับชีวิตหลังปริญญาเอกก็คือ การที่ผมยังได้ทำงานวิจัยในสิ่งที่ผมชอบอยู่ ได้มีโอกาสตีพิมพ์เเละพูดเรื่องงานวิจัยของผมให้คนอื่นฟัง ได้สอนเด็กนักเรียนในสิ่งที่ผมรักมาตลอดสิบกว่าปี เเละการที่มีคนยอมจ่ายเงินเดือนให้ผมทำในสิ่งที่ผมชอบครับ

เพจก็แค่ปริญญาเอก‬ ขอขอบคุณ ดร. ณัฐวุฒิ เป็นอย่างมากที่สละเวลามาแบ่งปันแง่คิดดีๆ และทำให้เราทราบเลยว่า การเริ่มต้นงานวิจัยด้วยความรักและชอบ บวกกับ ระหว่างทาง แบ่งเวลาให้เป็น กำหนดเส้นชัยที่เห็นได้ชัด มีความตั้งใจ และเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ จะนำมาซึ่ง “ความสุข” และความสำเร็จ ทั้งบนเส้นทางปริญญาเอกและเส้นทางแห่งโลกวิชาการที่ยั่งยืน ดังเช่นที่ดร. ณัฐวุฒิ ได้ลงมือทำจนสำเร็จอย่างเป็นเลิศในเวทีระดับโลกมาแล้ว

คลิกไปฟัง Ted Talk: The happiness equation | Nick Powdthavee ได้ที่
https://www.youtube.com/watch?v=YwKUUYsjZ-I

และ สำหรับผู้ที่ต้องการแรงบันดาลใจในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการระดับนานาชาติ ต้องคลิกดูที่ไดอารี่ของการตีพิมพ์แต่ละฉบับ http://powdthavee.co.uk/diary.html

และที่เว็บไซต์ www.powdthavee.co.uk

ติดตาม เรื่องเล่าและคำแนะนำในการเรียนปริญญาเอก จากดร.ณัฐวุฒิ ต่อ ที่นี่ เร็วๆนี้ ค่ะ

‪#‎justaphd‬

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s